สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แผลแอฟทัส(Apthous ulcers)

แผลเปื่อยที่ปาก (Mouth sore)
ปากเจ็บหรือปากเป็นแผล ไม่ใช่โรคร้ายแรง แม้ไม่ได้รับการรักษาก็อาจหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ มักเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย

สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลปากเปื่อยที่ปากที่พบได้บ่อย คือ แผลแอฟทัส แผลเปื่อยจากการบาดเจ็บ แผลเริมในช่องปาก ปากนกกระจอก โรคเชื้อราในช่องปาก มะเร็งช่องปากแผลแอฟทัส

แผลแอฟทัส(Apthous ulcers)
เป็นสาเหตุของแผลเปื่อยในปากที่พบบ่อยในคนทั่วไป มักเป็นครั้งแรกในวัยหนุ่มสาว ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง มักเป็นๆ หายๆ จะเป็นห่างออกไปหรือหายขาดได้เมื่ออายุมากขึ้น

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านท่านของร่างกาย การถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาการมักเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น แต่พบว่าสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบ ได้แก่
-ความเครียด
-การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก
-การมีประจำเดือน
-การใช้ยาสีฟันที่เจือปนสาร sodium lauryl sulfate หรือ sodium lauroyl sarcosinate
-การแพ้อาหาร
-การใช้ยา
-การเลิกบุหรี่
-ภาวะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี
-ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

อาการ
เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด อาจทำให้เกิดแผลเปื่อยในปากเป็นๆ หายๆ หรืออาจเป็นโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นใดๆ เลยก็ได้

ใน 2-3 วันแรกจะมีอาการเจ็บแผลมาก เมื่อกินอาหารรสเผ็ดจัดเปรี้ยวจัดจะรู้สึกปวดแสบ และอาจพูดไม่ถนัดหรือกลืนเจ็บมากเวลากลืนอาหารถ้ามีแผลเปื่อยขนาดใหญ่

ส่วนใหญ่พบแผลในปากจะเป็นแผลตื้นๆ ลักษณะกลมหรือรูปไข่สีขาวหรือเหลืองจะกลายเป็นสีเทาเมื่อใกล้หาย ขนาดไม่เกิน 1 ซม. มีวงสีแดงรอบแผล ขอบแผลบวมเล็กน้อย มักพบที่กระพุ้งแก้มและลิ้น ริมฝีปาก เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย พื้นปาก แต่มักไม่พบที่เหงือก เพดานแข็ง ลิ้น อาจเป็นแผลเดียวหรือหลายๆ แผล เรียกว่า แผลแอฟทัสเล็ก(minor aphthous ulcers) อาการเจ็บปวดไม่รุนแรง มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน อาจกำเริบได้ทุก 1-4 เดือน ส่วนใหญ่มักไม่เป็นแผลเป็น ส่วนแผลแอฟทัสใหญ่(major aphthous ulcers) มีขนาด 1 ซม.ขึ้นไป มีลักษณะเดียวกับแผลแอฟทัสเล็ก ขอบแผลบวม เจ็บปวดรุนแรงกว่า นอกเหนือจากตำแหน่งที่พบในแผลแอฟทัสเล็กแล้วยังอาจพบที่เพดานแข็งและลิ้นได้อีก แผลหายช้า อาจเป็นแผลเป็นและกำเริบได้บ่อยมาก

อาจพบแผลแอฟทัสชนิดคล้ายเริมแต่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริม พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ลักษณะจะขึ้นเป็นตุ่มใสเล็กหลายตุ่มในระยะแรก แล้วแตกแผ่รวมเป็นแผลขนาดใหญ่ เจ็บปวดรุนแรง พบได้ตำแหน่งในช่องปากแบบเดียวกับแผลแอฟทัสใหญ่ อาจใช้เวลานานถึง 2เดือน แผลจึงจะหาย มักไม่มีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ต่อน้ำเหลืองโต และอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

การรักษา
1. ให้การรักษาตามอาการ ดังนี้
-หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดที่ทำให้ระคายเคืองแผล
-บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง
-ให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำเย็น ถ้ามีอาการปวด
-ให้พาราเซตามอลเพื่อบรรเทาหากมีอาการปวดมาก
โรนี้จะหายได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งยา หรืออาจใช้ยาแก้ปวดบ้างเป็นครั้งคราว

2. ป้ายแผลด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้วันละ 2-4 ครั้ง ถ้าต้องการให้แผลหายเร็ว หรือปวดรุนแรง
-สตีรอยด์ เช่น ครีมป้ายปากไตรแอมชิโนโลนอะเซโทไนด์
-ควรบอกสาเหตุในรายที่เป็นๆ หาย และให้การแก้ไขโดย ให้ยาบำรุงโลหิตในรายที่โลหิตจางจากภาวะขาดเหล็ก ให้กรดโฟลิกหรือวิตามินบีในรายที่ขาด หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ยาสีฟันและยาตัวที่เป็นตัวกระตุ้น ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ใช้ปากถูกกระแทกควรใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและขนนุ่ม

4. ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมถ้าเป็นครั้งแรกในคน 40 ปีขึ้นไป เป็นรุนแรง หรือแผลไม่หายภายใน 3 สัปดาห์

ในรายที่เป็นแผลแอฟฟัสชนิดคล้ายเริม รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล อาจต้องช่วยลดอาการปวดและแผลให้หายเร็วขึ้นด้วย
เตตราไซคลีน 250 มก. ผสมน้ำ 180มล.
ดอกซีไซคลีน 100 มก. ผสมน้ำ 10 มล
ทั้งสองชนิดนี้ใช้กลั้วคอ 3 นาที วันละ 4 ครั้ง นาน 5 วัน

ข้อแนะนำ
1. ผู้เป็นโรคนี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติเพราะไม่ใช่โรคติดต่อ

2. หากไม่แน่ใจว่าเป็นโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้สตีรอยด์ป้ายปาก เพราะถ้าเป็นเริมอาจทำให้โรคลุกลามได้ ควรแยกออกจากเริมในช่องปากชนิดกำเริบซ้ำซึ่งมักเป็นแผลเดียวที่เหงือกหรือเพดานแข็ง อาจมีไข้ร่วมด้วย ให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

3. ควรตรวจหาสาเหตุของโรคอื่นหากตรวจพบอาการไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต หรือความผิดปกตินอกช่องปากร่วมด้วย

4. แผลแอฟทัสมักกำเริบในผู้หญิงเวลามีประจำเดือน แต่หญิงตั้งครรภ์มักไม่มีอาการกำเริบจนกว่าจะคลอด

5. มักเป็นโรคนี้ครั้งแรกในวัยหนุ่มสาว จะเป็นๆ หายๆ บ่อย เมื่ออายุมากก็จะเป็นห่างออกไปจนหายขาดในที่สุด แต่ถ้าเป็นครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจหาสาเหตุอื่นๆ

6. ในรายที่เป็นแผลแอฟทัสใหญ่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรตรวจหาสาเหตุ ซึ่งบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำร่วมด้วย และอาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งช่องปากระยะแรกหากเป็นนานเกิน 3 สัปดาห์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า