สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แผลปริที่ปากทวาร(Anal fissure)

ลักษณะตรงปากทวารหนักเป็นแผลปริแยกบริเวณเยื่ออ่อน พบเป็นมากตรงแนวกึ่งกลางของผนังทวารด้านหลังมีเลือดไปเลี้ยงน้อยจึงมีความอ่อนแอมากกว่าแผลปริที่ปากทวาร

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการเจ็บปวดในคนทั่วไปขณะถ่ายอุจจาระ และถ่ายเป็นเลือดในทารก พบเป็นมากในวัยหนุ่มสาว โรคนี้อาจเป็นเรื้อรังแต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง มักหายได้เอง

สาเหตุ
มักพบในผู้มีอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ก้อนโต อาการท้องเดินเรื้อรัง ใช้ยาระบายเป็นประจำ ทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำๆ จากก้อนอุจจาระที่แข็งหรือการขับเคลื่อนของลำไส้ใหญ่

การบาดเจ็บยังอาจเกิดจากการใช้เครื่องมือส่องตรวจทวารหนัก การร่วมเพศทางทวารหนักก็เป็นได้ แผลปริที่เกิดขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหูรูดเกร็งตัว หลอดเลือดเกิดการหดตัว เลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นลดลงทำให้แผลหายช้า

อาการ
ขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระมักเจ็บปวดเหมือนโดนบาดบริเวณทวารหนัก มักปวดอยู่นาน อาจเป็นชั่วโมง หรือกำเริบขึ้นเมื่อถ่ายอุจจาระ พบมากจากภาวะเลือดสดออกมาปนอยู่ที่ผิวอุจจาระหรือกระดาษชำระ ส่วนที่ออกเป็นหยดเลือด 2-3 หยดพบได้น้อยและสามารถหยุดได้เอง บางคนปวดมากจนกลัวการถ่ายอุจจาระทำให้ท้องผูกถ่ายยาก ซึ่งอาจทำให้โรคกำเริบหรือเรื้อรังได้ อาจมีอาการคันร่วมด้วยในบางราย ใน 2-4 สัปดาห์แผลมักจะหายได้เอง แต่หากนานเกิน 6 สัปดาห์ถือว่าเป็นชนิดเรื้อรัง โรคนี้สามารถกำเริบซ้ำได้อีกแม้จะหายไปแล้ว

สิ่งตรวจพบ
มักพบรอยแผลที่ปากทวารตามแนวยาวตรงแนวกึ่งกลางของผนังทวารด้านหลัง หรืออาจพบที่ผนังทวารด้านหน้าในบางราย ความยาวประมาณ 5 มม. ไม่ควรใช้นิ้วมือสอดใส่ทวารหนักเพราะปากทวารหนักจะหดเกร็งมีอาการเจ็บปวดมาก อาจพบปุ่มบวมของเนื้อเยื่อที่แผล หรือหัวริดสีดวงข้างใต้รอยแผลในรายที่เป็นเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อน
แผลจะเกิดพังผืดเป็นติ่งเนื้อคล้ายริดสีดวงทวารในรายที่เป็นเรื้อรัง หรืออาจเกิดฝีรอบทวารหนักเกิดขึ้น

การรักษา
1. การดูแลรักษาเมื่อเป็นแผลปริแตกที่ปากทวาร
-ให้ยาระบาย-อีแอลพี หรือสารเพิ่มกากใยถ้ามีอาการท้องผูก
-หลังถ่ายอุจจาระทุกครั้งควรแช่น้ำอุ่นจัดๆ ประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อทวารหนักคลายตัว ลดอาการเจ็บปวด เพิ่มเลือดไปเลี้ยงแผลให้มากขึ้นซึ่งจะกระตุ้นให้แผลหายเร็ว
-เพื่อลดการอักเสบและช่วยหล่อลื่นของแผล ในตอนเช้า ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระควรทาแผลด้วยวาสลินเพื่อหล่อลื่น ครีมสตีรอยด์ ขี้ผึ้งพร็อกโตซีดิล ขี้ผึ้งเชอร์ริพร็อกต์ ซึ่งมีสตีรอยด์ผสมอยู่
-ให้ยาแก้ปวดเมื่อปวดมาก ยาแก้ปวดที่เข้าสารฝิ่นหรืออนุพันธ์ของฝิ่นอาจทำให้ท้องผูกจึงควรหลีกเลี่ยง

 

2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือพบรอยปรินอกแนวกึ่งกลางของผนังด้านหลังหรือด้านนอกใน 4 สัปดาห์ ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ มะเร็ง เป็นต้น

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้การรักษาด้วยการฉีดสารโบทูลินเข้าไปในหูรูดชั้นในเพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวในรายที่เป็นแผลปริปากทวารหนักแบบเรื้อรัง แต่หลังจากรักษาด้วยยานี้ 3 เดือนแล้วอาการเกิดกำเริบอาจต้องผ่าตัดแก้ไข ส่วนใหญ่มักจะหายขาดได้

ข้อแนะนำ
ป้องกันอาการท้องผูกด้วยการกินอาหารที่มีกากใยสูง สารเพิ่มกากใย ดื่มน้ำวันละ 10-12 แก้ว หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ท้องผูก อย่าอั้นเมื่อปวดถ่ายอุจจาระ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า