สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เอสแอลอี(SLE)

SLE ย่อมาจาก systemic lupus erythematosus เป็นความผิดปกติของอวัยวะหลายระบบพร้อมกัน เช่น ผิวหนัง ข้อกระดูก ไต ปอด หัวใจ เลือด สมอง เป็นต้น อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้หากเป็นแบบรุนแรง มักพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในช่วงอายุ 20-45 ปีเอสแอลอี

สาเหตุ
สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่าเป็นผลมากจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองที่ผิดปกติต่อเชื้อดรคหรือสารแคมีบางอย่าง ทำให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อต่างๆ จึงจัดเป็นโรคภูมิต้านตนเองเช่นเดียวกับโรคปวดข้อรูมาตอยด์

บางครั้งอาการกำเริบจากสาเหตุการถูกแดด การกระทบกระเทือนทางจิตใจ การตั้งครรภ์ การใช้ยาบางชนิด เช่น ซัลฟา ไฮดราลาซีน เมทิลโดพา โปรเคนเอไมด์ ไอเอ็นเอช คลอร์โพรมาซีน ควินิดีน เฟนิโทอิน ไทโอยูราซิล เป็นต้น

เนื่องจากพบโรคนี้ได้มากในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยก่อนหมดประจำเดือนจึงสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง และกรรมพันธุ์จากประวัติผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้

อาการ
มีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดและบวมตามข้อต่างๆ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ปวดทั้งสองข้างคล้ายโรคปวดข้อรูมาตอยด์ แต่ต่างกันที่ไม่มีลักษณะหงิกงอ ข้อพิการ ทำให้กำมือได้ลำบาก จะมีอาการดังกล่าวเรื้อรังเป็นแรมเดือน และผู้ป่วยมักจะมีผื่นหรือฝ้าแดงที่ข้างจมูกทั้งสองข้าง มีลักษณะเหมือนปีกผีเสื้อ ที่เรียกว่า ผื่นปีกผีเสื้อ

อาจมีอาการแพ้แดดในบางราย คือเมื่อถูกแดดผิวหนังจะมีผื่นแดง และผื่นแดงที่ข้างจมูกเกิดขึ้นชัดเจน มีอาการไข้และปวดข้อรุนแรงมากขึ้น อาการเริ่มแรกของโรคนี้ก่อนเกิดอาการอื่นๆ ให้เห็นชัดเจน เช่น อาจมีจุดแดง มีประจำเดือนมากกว่าปกติ ในบางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นไอทีพีก็ได้ และในบางรายจะมีอาการผมร่วงมาก มีจ้ำแดงๆ ที่ฝ่ามือ นิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น หรือมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

อาจมีอาการบวมทั้งตัว หายใจหอบ ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ ในรายที่เป็นรุนแรง หรืออาจทำให้มีอาการทางประสาท เช่น เสียสติ ซึม เพ้อ ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง ตาเหล่ ชัก หมดสติ และตายได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ในรายที่มีการอักเสบของหลอดเลือดในสมอง

โรคนี้มักมีอาการเป็นๆ หายๆ กำเริบเรื้อรังเป็นปีๆ

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบมีอาการไข้ ผื่นปีกผีเสื้อที่บริเวณแก้ม อาจพบมีจุดแดง ภาวะซีด ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าบวมแดง อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต ตับและม้ามโต

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดภาวะติดเชื้อร้ายแรงแทรกซ้อน มีความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ไตอักเสบ ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ หัวใจวาย ไตวาย

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เมื่อตรวจเลือดจะพบว่า ค่าอีเอสอาร์ สูง พบแอนตินิวเคลียร์แฟกเตอร์และแอลอีเซลล์ อาจพบสารไข่ขาวและเม็ดเลือดแดงจากการตรวจปัสสาวะ หรืออาจทำการตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจและตรวจพิเศษอื่นๆ

ในรายที่เป็นไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ปวดข้อ มีผื่นขึ้นที่หน้า อาจให้การรักษาด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้ใช้ไฮดรอกซีคลอโรควีน วันละ 1-2 เม็ด เพื่อช่วยลดอาการ

เพื่อลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์อาจให้สตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน ขนาด 8-12 เม็ด/วัน ติดต่อกันเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และปรับลดยาลงเมื่ออาการดีขึ้น ให้ยาในขนาดต่ำเพื่อควบคุมอาการไปเรื่อยๆ กว่าจะปลอดภัยอาจจะนานเป็นปีๆ แต่ถ้าไม่ได้ผลให้ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ อะซาไทโอพรีน ซึ่งเป็นยาอันตรายอาจทำให้ผมร่วงหรือศีรษะล้านได้ และผมจะงอกขึ้นมาใหม่ได้เมื่อหยุดยา

และอาจให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาบำรุงโลหิต ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาตามอาการได้

ผลการรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลา ความรุนแรงของโรคและสภาพของผู้ป่วย บางรายอาจเสียชีวิตในเวลาไม่นานด้วยโรคแทรกซ้อน

อาจมีอาการกำเริบแทรกซ้อนเป็นครั้งคราวในบางราย ถ้ามีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปีจากภาวะแทรกซ้อน โรคจะไม่กำเริบรุนแรง และค่อยๆ สงบไปได้ นานๆ ถึงจะมีกำเริบบ้างแต่อาการไม่รุนแรง สามารถมีชีวิตเช่นคนปกติทั่วไปได้

ข้อแนะนำ
1. อาการของโรคนี้มีหลายแบบ เช่น มีไข้เรื้อรังคล้ายมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค มีจุดแดงขึ้นคล้ายไอทีพี บวมคล้ายโรคไต เนโฟรติก ชักหรือหมดสติคล้ายสมองอักเสบ เสียสติ เพ้อคลั่งคล้ายคนวิกลจริต เป็นต้น ดังนั้นควรนึกถึงโรคนี้หากพบผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นที่ระบบใดของร่างกายโดยที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

2. ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ติดต่อรักษาอย่างต่อเนื่องและจริงจังก็สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและมีชีวิตยืนยาวได้แม้โรคจะมีความรุนแรง

3. การทำจิตใจให้สบาย ไม่วิตกกังวลเกินไป หลีกเลี่ยงภาวะที่จะทำให้เกิดอาการของโรคกำเริบ เช่น ถ้าแพ้แดดง่ายก็ไม่ควรออกกลางแดด ถ้าจำเป็นควรกางร่มใส่หมวกใส่เสื้อแขนยาวเพื่อป้องกัน

4. ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น ไม่ดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ไม่สะอาด ไม่อยู่ในที่แออัด ไม่เข้าใกล้คนที่ไม่สบาย เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรรีบไปพบแพทย์ทุกครั้งที่รู้สึกว่าไม่สบายหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า