สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเหยียดตัวแบบพีเอ็นเอฟ(PNF Stretching)

หรือโพรพริโอเซ็พทีฟ นิวโรมัสคูลาร์ ฟาซิลลิเทชั่น(Proprioceptive Neuromuscular Facilitation) เป็นเทคนิคการยืดเส้นยืดสายที่เป็นการบำบัดที่ให้การศึกษาใหม่แก่กล้ามเนื้อ โดยการหลอกโพรพริโอเซ็พเตอร์ในร่างกายเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายตามที่ต้องการ

โพรพริโอเซ็พเตอร์เป็นกลไกการรับรู้ทางประสาทที่ตั้งอยู่ทั่วร่างกาย ในส่วนเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มจะพบได้มาก แต่ที่บริเวณภายในและรอบๆ ข้อต่อก็สามารถพบได้เช่นกัน

วัตถุประสงค์ของโพรพริโอเซ็พเตอร์ คือการกำกับควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายหมดทุกอย่าง ในระดับจิตใต้สำนึกนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจะถูกส่งผ่านระบบประสาทไปยังสมอง ทำให้รู้ได้ว่าขณะนั้นร่างกายตั้งอยู่ที่ตรงไหน

โพรพริโอเซ็พเตอร์ในเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มจะถ่ายทอดข้อมูลไปให้สมองได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อมูลที่ว่า กล้ามเนื้อยาวหรือสั้นเพียงใด ภาวะการหดตัวเป็นอย่างไร และมีความตึงเกิดกับเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อมากแค่ไหน ส่วนโพรพริโอเซ็พเตอร์ที่ข้อต่อต่างๆ จะบอกให้รู้ว่าข้อต่อกำลังเอียงบิดเป็นมุมกว้างแคบแค่ไหน และมีแรงกดลงที่ข้อต่อมากเพียงไร

ข้อมูลทั้งหมดนี้ เวลาที่เราจะเคลื่อนไหวก็จะได้นำไปใช้ โดยโพรพริโอเซ็พเตอร์จะบอกทุกอย่างที่สมองจำเป็นต้องรู้เพื่อการเคลื่อนไหวที่ประสานสอดคล้องตามที่เราต้องการ

คนเราจะรู้สึกเหมือนเคว้งคว้าง ไม่รู้จุดยืนจุดครองตัวเอง และไม่สามารถประกอบภารกิจประจำวันปกติได้เลยถ้าไม่มีข้อมูลจากโพรพริโอเซ็พเตอร์

ศักยภาพมหาศาลของร่างกายมนุษย์ ทำให้สามารถกระทำการอย่างยืดหยุ่นคล่องแคล่ว ขยับเขยื้อนในท่าพิสดารซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยทำกันได้ ตัวอย่างของคนที่ได้สำรวจหาขอบเขตการเคลื่อนไหวที่ทำได้อย่างเต็มที่ก็อย่างเช่น นักยิมนาสติค หรือนักการกรรมดัดตน เป็นต้น

โพรพริโอเซ็พทีฟ นิวโรมัสคูลาร์ ฟาซิลลิเทชั่น เป็นเทคนิคกายภาพบำบัดที่นำมาใช้รักษาคนที่มีความบกพร่องทางประสาท ที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1940 และ 1950

เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และปรับปรุงการเคลื่อนไหว การเหยียดยืดตัวแบบ พีเอ็นเอฟ จึงถูกนำมาใช้เพื่อหลอก โพรพริโอเซ็พเตอร์ เช่น ผู้ให้การบำบัดจะให้ลูกค้าเหยียดยืดไปอย่างที่รู้สึกสบาย แล้วยืดตัวลูกค้าให้อยู่ในท่านั้นเอาไว้โดยที่ให้ลูกค้าพยายามขืนหรือดันออกไป กล้ามเนื้อก็จะตึงหรือเกร็งในระหว่างที่ดึงเหยียด เมื่อปล่อยให้หายตึงหรือหายเกร็ง กล้ามเนื้อก็จะสามารถเหยียดไปได้มากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และจะทำซ้ำเช่นนี้ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งกล้ามเนื้อก็จะเหยียดออกไปได้มากขึ้นเล็กน้อยโดยมีแรงขืนหรือขัดน้อยลง

เราสามารถฝึกโพรพริเซ็พเตอร์โดยอาศัยกลไกบางอย่าง เพื่อให้มันยอมรับโอกาสความเป็นไปได้ในการเหยียดกล้ามเนื้อให้ไกลออกไปจากเดิมได้มากยิ่งขึ้น แต่ในวันหนึ่งๆ ก็มีขีดจำกัดอยู่ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงไร ซึ่งความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นนี้อาจจะไม่ถาวรเสมอไป

การยืดเหยียดแบบพีเอ็นเอฟ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกายภาพบำบัดแบบอื่นๆ ได้อีก โดยสามารถนำมาเป็นเครื่องมือปลดล็อกข้อต่อที่ได้รับบาดเจ็บ และยังนำมาใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยที่พิการได้ด้วย

เทคนิคนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์นอกข่ายของกายภาพบำบัดเช่นกัน ปัจจุบันนี้การนวดเพื่อการกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาก็ใช้เทคนิคนี้กันอย่างกว้างขวาง

ก่อนการแข่งขันของนักกีฬาสามารถใช้การเหยียดแบบพีเอ็นเอฟนี้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพได้ หรือป้องกันมิให้กล้ามเนื้อรัดตัวหลังจากการแข่งขัน โดยที่มันจะช่วยให้รู้สึกว่าร่างกายเบาขึ้นเล็กน้อย ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้สะดวกคล่องตัวขึ้น และช่วยให้มีโอกาสชนะการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า