สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เหงือกอักเสบ(Gingivitis)

เหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ รำมะนาด พบบ่อยในผู้ที่ขาดการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยโรคเอดส์เหงือกอักเสบ

สาเหตุ
เกิดการสะสมของแผ่นคราบฟันและหินปูนในช่องปากเนื่องจากรักษาความสะอาดไม่ดีพอ เชื้อแบคที่เรียที่มีเป็นจำนวนมากจะปล่อยสารพิษออกมาซึมอยู่บนผิวเหงือกส่วนที่ติดกับฟัน ทำให้เหงือกเกิดการอักเสบและบวม ถ้าปล่อยไว้นานๆ เข้าแผ่นคราบฟันและหินปูนจะค่อยๆ เจาะลึกลงในซอกเหงือกและฟัน เกิดการทำลายกระดูกเบ้ารากฟัน ทำให้เกิดฟันโยก เกิดถุงหนองในกระดูกเบ้ารากฟัน ที่เรียกกันว่า ฝีรำมะนาด หรือฝีปริทันต์

อาการ
เวลาแปรงฟันจะมีเลือดออกง่าย ขอบเหงือกที่ติดกับฟันมีอาการบวมแดง แต่ไม่เจ็บ จะพบว่ามีเหงือกร่นคล้ายฟันยื่นยาวขึ้นเมื่ออาการเกิดลุกลามมากขึ้นแล้ว และในรายที่เป็นขั้นรุนแรงจะมีอาการปวดเหงือกและมีเลือดออก มีกลิ่นปาก มีไข้

สิ่งตรวจพบ
อาจมีไข้ในบางราย ขอบเหงือกมีอาการบวมแดง เหงือกร่น

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เหงือกและฟันเสียได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง
ถ้าเป็นมากจนถึงขั้นเกิดถุงหนองในกระดูกเบ้ารากฟัน อาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ หรือเนื้อเยื่อใต้ขากรรไกรและใต้ลิ้นอักเสบรุนแรง หรือที่เรียกว่า ลุดวิกแองไจนา เกิดขึ้นได้

การรักษา
หากไม่แน่ใจว่าจะเกิดโรคควรปรึกษาทันตแพทย์
อาจรักษาด้วยการขูดหินปูนและใช้ยาบ้วนปากที่ผสมยาฆ่าเชื้อโรคถ้าเป็นยังไม่มาก แต่ถ้าเป็นมากแล้ว อาจต้องเจาะเอาหนองออก ผ่าตัดเหงือก หรือถอนฟันทิ้งไป

ถ้ามีอาการเหงือกบวมและปวด หรือสงสัยจะมีหนองขังอยู่ข้างในระหว่างที่รอปรึกษาทันตแพทย์ ให้รักษาเบื้องต้นไปก่อนด้วยการกินยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อีริโทรไมซิน หรือดอกซีไซคลีน

ข้อแนะนำ
1. สาเหตุการเกิดโรคนี้อาจมาจากสาเหตุอื่นได้อีกนอกเหนือจากการรักษาสุขภาพในช่องปากไม่ดีแล้ว เช่น ฟันคุด การใช้ยาบางชนิด เช่น เฟนิโทอินที่ใช้รักษาโรคลมชัก ไซโคลสปอรินที่ใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ยาลดความดันไนเฟดิพีน เป็นต้น หรือเกิดจากการติดเชื้อเริมในช่องปาก ภาวะขาดวิตามินซี มะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งอาจมีเหงือกบวมแดง และเลือดออกง่าย ดังนั้นควรตรวจหาสาเหตุในแน่ชัดหากมีอาการของเหงือกอักเสบ

2. หญิงวัยหมดประจำเดือนและหญิงมีครรภ์ควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากให้ดี และควรปรึกษาทันตแพทย์ให้มากกว่าคนทั่วไป เพราะมีโอกาสเป็นโรคเหงือกอักเสบได้มากกว่าคนอื่นๆ

3. ควรตรวจหาสาเหตุที่แฝงอยู่หากพบเป็นเหงือกอักเสบขั้นรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ผู้ป่วยอาจมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคเอดส์ เป็นต้น

การป้องกัน
1. แปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง บ้วนปากทันทีทุกครั้งหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ เพื่อป้องกันหรือลดการสะสมของแผ่นคราบฟัน

2. ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปากและฟันทุก 6-12 เดือน หากมีการสะสมของหินปูนแพทย์จะได้ทำการขูดหินปูนเพื่อป้องกันโรคเหงือกอักเสบเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า