สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เส้นเอ็นอักเสบ/ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ(Tendinitis/Tendosynovitis)

เส้นเอ็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ข้อสะโพก เส้นเอ็นร้อยหวาย พบว่าเกิดการอักเสบได้บ่อย และบางครั้งปลอกหุ้มเส้นเอ็นอาจมีการอักเสบร่วมด้วย ที่เรียกว่า เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ(tendosynovitis)เส้นเอ็นอักเสบ

เป็นโรคที่ไม่มีความอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่อาจทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่ถนัดหากเกิดอาการเรื้อรัง เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในวัยกลางคน ผู้สูงอายุ นักกีฬา ผู้ที่ทำกิจกรรมในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นประจำ

ชื่อเฉพาะของเส้นเอ็นที่อักเสบตามตำแหน่งต่างๆ คือ
-โรคข้อศอกนักเทนนิส(tennis elbow) พบได้บ่อยในนักกีฬาเทนนิส นักกอล์ฟ ช่างไม้ ช่างทาสี เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอก

-โรคข้อไหล่นักว่ายน้ำ(swimmer’s shoulder) พบบ่อยในนักว่ายน้ำ นักเทนนิส นักยกน้ำหนัก เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณไหล่

-โรคเดอเกอร์แวง(de Quervain’s disease) หรือโรคปลอกเอ็นหุ้มข้อมืออักเสบ พบได้บ่อยในนักกีฬา นักดนตรี แม่บ้าน คนงาน และผู้ที่ต้องเคลื่อนไหวข้อมือ หรือใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ำๆ เป็นประจำ เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มที่ควบคุมการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ

-โรคนิ้วล็อก (trigger finger) พบเป็นบ่อยในนักกีฬาเทนนิส แบดมินตัน กอล์ฟ คนทำสวน ผู้ใช้มือหยิบกำของแข็งๆ เป็นประจำ เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นที่บังคับการงอนิ้วมือ เมื่องอนิ้วจะเหยียดคืนให้ตรงไม่ได้เพราะเส้นเอ็นที่อักเสบบวมเกิดการล็อกกับปลอกหุ้มทำให้ไม่สามารถเคลื่อนนิ้วได้

สาเหตุ
สาเหตุการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ ทำงานหนัก หรือทำกิจกรรมที่ใช้เส้นเอ็นส่วนนั้นซ้ำๆ เป็นประจำ

อาการ
ตรงเส้นเอ็นที่อักเสบจะมีอาการเจ็บปวด เวลาเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ทำให้เส้นเอ็นส่วนนั้นถูกยึดและดึงรั้งจะรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น มักมีอาการอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ เช่น

-โรคเดอเกอร์แวง เวลาเหยียดหรืองอหัวแม่มือจะมีอาการเจ็บข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ เช่น ขณะกวาดพื้น ยกขันน้ำ บิดผ้า เป็นต้น

-โรคนิ้วล็อก ต้องใช้มืออีกข้างจับเหยียดออกเนื่องจากมีอาการงอนิ้วแล้วเหยียดออกเองไม่ได้

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าเคลื่อนไหวข้อได้ในขอบเขตจำกัดเพราะจะเจ็บปวดข้อเมื่อเคลื่อนไหว

จะพบจุดที่กดเจ็บบริเวณข้อมือเมื่อใช้นิ้วกดแรงๆ อาจมีอาการบวมของเส้นเอ็นส่วนนั้นร่วมด้วยในบางราย

จะมีอาการกำมือและบิดข้อมือไม่ได้ในผู้ที่เป็นโรคเดอเกอร์แวง

จะงอนิ้วได้เองแต่เหยียดนิ้วที่ผิดปกตินั้นเองไม่ได้ต้องใช้มืออีกข้างช่วยเหยียดออกในผู้ที่เป็นโรคนิ้วล็อก

การรักษา
1. ในรายที่เกิดการบาดเจ็บเฉียบพลันควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบทันที ภายใน 48 ชั่วโมงและทำซ้ำทุก 3-4 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงค่อยประคบด้วยน้ำอุ่น ผู้ป่วยควรหยุดพักการใช้ข้อที่ปวด ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ ทานวดด้วยขี้ผึ้งน้ำมันระกำหรือยาหม่อง พันแผลด้วยผ้าพันแผลชนิดยืดให้พอแน่น หรือใส่เฝือก ให้กินยาอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เมื่ออาการปวดทุเลาค่อยๆ เคลื่อนไหวเพื่อบริหารข้อนั้นให้คืนสู่สภาพปกติ

2. ควรไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากภายใน 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการนิ้วล็อก อาจต้องทำกายภาพบำบัดและใส่เฝือกเพื่อรักษา หรืออาจดูว่ามีหินปูนหรือแคลเซียมเกาะที่เส้นเอ็นหรือไม่ด้วยการเอกซเรย์

วิธีการรักษาที่ได้ผลดีในผู้ที่มีอาการมาก อาจต้องฉีดสตีรอยด์บริเวณที่ปวด การฉีดยานี้อาจต้องผสมยาชาเพราะจะทำให้ปวดมาก แต่อาจทำให้เส้นเอ็นเปื่อยฉีดขาดเกิดภาวะแทรกซ้อนยุ่งยากตามมาได้จึงไม่ควรฉีดเกินปีละ 2-3 ครั้ง หรืออาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดในรายที่เป็นเรื้อรังหรือเส้นเอ็นมีหินปูนเกาะมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว

ข้อแนะนำ
1. ควรพักการใช้งานให้เต็มที่และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในท่าที่ทำให้ปวดขณะที่มีอาการเจ็บปวดเส้นเอ็น เมื่ออาการทุเลาลงแล้วควรหมั่นบริหารข้อตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อยึดติดและสามารถคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว

2. หมั่นบริหารข้อเป็นประจำ ควรอบอุ่นร่างกายก่อนเสมอก่อนเล่นกีฬา หลีกเลี่ยงการใช้งานของข้ออย่างหนัก เช่น บิดข้อมือ กำมือแรงๆ หรือเล่นกีฬาที่รุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า