สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เล็ปโตสไปโรซิส(Leptospirosis)/ไข้ฉี่หนู

เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องย่ำน้ำหรือแช่น้ำหรือสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น การทำนา ทำสวน จับปลา เก็บขยะ ขุดท่อ เลี้ยงสัตว์ ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ เหมืองแร่ การทำอาหารจากเนื้อสัตว์ การเที่ยวป่า น้ำตก ทะเลสาบ ว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืด เป็นต้น มักพบในกลุ่มอายุ 15-54 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมขังและมีเชื้อโรคอยู่ ในภาวะน้ำท่วมอาจเกิดการระบาดขึ้นได้ในบางครั้ง ในแหล่งที่มีหนูชุกชุมก็มักพบเป็นโรคนี้กันมาก และมักเป็นชนิดที่รุนแรง ซึ่งเรียกกันว่า ไข้ฉี่หนูเล็ปโตสไปโรซิส

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า เล็ปโตสไปร่า (leptospira) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย ซึ่งชนิดและปริมาณของเชื้อที่ได้รับจะก่อให้เกิดอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป

เชื้อนี้มักอาศัยอยู่ในไตของสัตว์ เช่น หนูท่อ หนูนา หนูพุก ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบเชื้อนี้ได้บ่อย และยังอาจพบในได้สุนัข สุกร แมว โค กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น

เชื้อที่อาศัยอยู่ในหนูและสุนัขเป็นเชื้อที่ก่อโรครุนแรงมีชื่อว่า Leptospira icterohaemorrhagiae และที่อาศัยอยู่ในหนู สุนัข โค กระบือ คือ Leptospirabataviae โดยที่สัตว์จะปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะและมีชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะได้นานหลายเดือน

ผู้ป่วยมักได้รับเชื้อโดยผ่านเข้าทางบาดแผลถลอกหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หรืออาจเข้าทางเยื่อบุตาหรือช่องปาก ด้วยวิธีการย่ำน้ำที่ท่วมขัง หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ และการแช่อยู่ในน้ำตามห้วยหนองคลองบึงนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป และอาจเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์ หรือสัมผัสถูกเลือด ปัสสาวะ หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่ประมาณ 2-26 วัน แต่ที่พบบ่อยคือประมาณ 7-14 วัน

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ แต่จะรู้สึกปวดมากตรงบริเวณน่อง หลัง และหน้าท้องซึ่งแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลดในบางราย หรืออาจมีอาการตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก หรือปวดตรงชายโครงขวาจนเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะปวดท้องเฉียบพลันได้ หลังจากมีไข้ 4-7 วันผู้ป่วยมักจะมีอาการตาเหลืองเล็กน้อย

ในรายที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลืองจัด ปัสสาวะเหลืองเข้ม ปัสสาวะออกน้อย หลังจากมีไข้ได้ 4-9 วัน หรืออาจมีเลือดกำเดาไหล มีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว หรืออาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หายใจหอบ หรือไอเป็นเลือดได้ในบางราย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส เยื่อตาขาวทั้งสองข้างบวมแดง ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่เยื่อบุตา ใน 3 วันแรกของโรคมักทำให้เกิดอาการนี้ขึ้น และมักเป็นอยู่นาน 1-7 วัน และอาจพบร่วมกับภาวะเลือดออกใต้ตาขาว ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดมากเมื่อใช้มือบีบบริเวณกล้ามเนื้อน่อง หรืออาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต ตาเหลืองเล็กน้อย มีผื่นแดง ลมพิษตามผิวหนัง หรืออาจพบอาการคอแข็งหลังจากเป็นไข้ประมาณ 1 สัปดาห์ในบางราย และการทดสอบทูร์นิเคต์อาจให้ผลเป็นบวก

มักตรวจพบอาการตาเหลือง ตัวเหลืองจัด ตับโตและเจ็บ มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือรอยห้อเลือดตามผิวหนัง อาการของไตวายเฉียบพลัน ในรายที่เป็นรุนแรง และอาจพบภาวะซีด หายใจหอบเร็ว ภาวะหัวใจวาย ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ความดันต่ำ เกิดขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะไตวาย ภาวะเลือดออก โดยเฉพาะเลือดออกในทางเดินอาหารและในปอด และมักพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่านร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

และยังอาจพบภาวะตับวาย ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว หัวใจวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

หรือบางรายอาจมีอาการผิดปกติทางจิต เช่น โรคจิต เกิดขึ้นหลังจากอาการทั่วไปหายดีแล้ว

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และแพทย์อาจจำเป็นต้องรับตัวไว้เพื่อรักษาในโรงพยาบาล และให้การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรค และมักพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจสูงถึง 50,000 ตัว/ลบ.มม. เกล็ดเลือดต่ำ ในบางราย และอาจพบว่าระดับของบียูเอ็น ครีอะตินีน เอเอสที และเอแอลที สูงกว่าปกติด้วย

มักตรวจพบสารไข่ขาว เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว จากการตรวจปัสสาวะ หรืออาจต้องเจาะหลัง เพาะเชื้อจากเลือด ปัสสาวะ หรือน้ำไขสันหลัง ในรายที่ปวดศีรษะรุนแรงและสงสัยว่าจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อน และมักพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ขึ้นสูงจากการทดสอบทางน้ำเหลือง ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น IgM-ELISA, microscopic agglutination test (MAT), macroscopic slide agglutination test (MSAT), latex agglutination test, lepto-dipstick test เป็นต้น

แพทย์มักให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน ครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน ในรายที่เป็นไม่รุนแรง หรือให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด เช่น เพนิซิลลินจี ครั้งละ 1.5 ล้านยูนิต หรือแอมพิซิลลิน ครั้งละ 1 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมง นาน 7 วัน หรือดอกซีไซคลีน ครั้งละ 100 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง หรือเซฟทริอะโซน ครั้งละ 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำ วันละครั้ง นาน 7 วัน ในรายที่เป็นแบบรุนแรง

และมักให้การรักษาตามอาการที่พบ เช่น ให้ยาลดไข้ เมื่อมีภาวะขาดน้ำก็ให้น้ำเกลือ หรือถ้ามีเลือดออกก็ให้เลือด หรืออาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไตถ้ามีภาวะไตวาย

ความรุนแรงของโรคและสภาพของผู้ป่วยเป็นปัจจัยสำคัญของผลที่จะได้รับจากการรักษา ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรงถ้าไม่มีอาการดีซ่านร่วมด้วย แต่ถ้ามีมักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนอาจทำให้เกิดภาวะไตวายหรือช็อกจากการเสียเลือดได้ ซึ่งภาวะรุนแรงมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์เป็นส่วนใหญ่

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คล้าย ไข้หวัดใหญ่ ไทฟอยด์ สครับไทฟัส กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน มาลาเรีย ไข้เลือดออก ถุงน้ำดีอักเสบ และท่อน้ำดีอักเสบ แต่ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการตาแดงหรือดีซ่านร่วมด้วยและหากพบว่ามีประวัติอยู่ในถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุมก็ควรนึกถึงโรคเล็ปสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนูไว้ด้วยเสมอ

2. ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงถ้าไม่มีอาการดีซ่านร่วมด้วย และอาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส ดังนั้นถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือโรคติดเชื้อไวรัส ควรตรวจโดยการบีบน่องผู้ป่วยถ้ารู้สึกเจ็บมากให้สงสัยว่าอาจเป็นเล็ปโตรสไปโรซิสและควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและส่งตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ผู้ป่วยจะหายจากโรคได้ภายใน 10-14 วันถ้าได้รับการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

ผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงมักจะมีอาการตาเหลืองจัดจนเข้าใจผิดว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัส ซึ่งความแตกต่างอยู่ที่ตับอักเสบจากไวรัสเมื่อมีอาการดีซ่านจะไม่มีไข้ แต่เล็ปโตสไปโรซิสจะมีไข้สูงขณะมีอาการดีซ่าน และมักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไตวาย เลือดกำเดาไหล หรือมีจุดแดงจ้ำเขียว ดังนั้นหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

การป้องกัน
1. จำกัดหนูตามแหล่งที่มีการแพร่เชื้อต่างๆ ให้หมดไป

2. รักษาความสะอาดบริเวณบ้านอย่าให้มีขยะและเศษอาการตกค้างที่จะเป็นแหล่งอาศัยและแพร่เชื้อของหนู

3. ถ้ามีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วน ให้ปิดแผลและหลีกเลี่ยงการย้ำน้ำที่ท่วมขัง หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะหรือลงแช่น้ำให้ห้วยหนองคลองบึง

4. ควรใส่รองเท้าบู๊ตหรือรองเท้าหุ้มข้อถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะตามตรอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ เป็นต้น

5. ไม่ควรลงแช่น้ำนานเกิน 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในห้วยหนองคลองบึง และควรอาบน้ำฟอกสบู่และชำระร่างกายให้สะอาดทุกครั้งเมื่อขึ้นจากแหล่งน้ำดังกล่าว

6. ควรเก็บอาหารและน้ำดื่มในสะอาดมิดชิดปลอดภัยจากการถูกหนูปัสสาวะใส่

7. ควรดื่มน้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่เพิ่งปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน

8. หลังจากจับต้องเนื้อ ซากสัตว์ หรือสัตว์ทุกชนิดควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

9. ควรกินยาดอกซีไซคลีน ป้องกันล่วงหน้า ครั้งละ 200 มก. ในกรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในแหล่งที่มีโรคนี้ชุกชุมในช่วงเวลาสั้นๆ และไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นๆ ได้ โดยเริ่มกินตั้งแต่วันแรกที่เข้าไป และกินทุกต้นสัปดาห์ในครั้งต่อไป และวันสุดท้ายก่อนจะกลับออกมา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า