สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ศิลปะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

แม่และลูกจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในขณะที่ลูกดูดนมจากแม่ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับความมหัศจรรย์อันนี้ ทั้งร่างกายและจิตใจของทั้งสองจะผูกพันกัน คำว่า “แม่ลูกคู่ขวัญ” จึงเหมาะสมที่สุดกับสถานภาพนี้ เพราะต่างฝ่ายก็เป็นขวัญและกำลังใจให้แก่กัน ในขณะที่เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของลูก และเป็นการเริ่มเรียนรู้บทบาทของแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

สัญลักษณ์ของรักแท้จากแม่และลูกได้มีมาแต่โบราณ ศิลปินสามารถผลิตผลงานชิ้นอมตะได้ ด้วยแรงบันดาลใจจากความงดงามในท่วงท่าของแม่ตอนให้นมลูก ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่หลายท่าน เช่น ไมเคิล แองเจลโล มารี คัสแซตต์ และปิกัสโซ ได้ถ่ายทอดภาพแม่ให้นมลูกออกมาทั้งแบบรูปปั้นและภาพเขียน แสดงความเป็นปัจเจกบุคคลของแม่และลูกด้วยงานศิลปะเหล่านี้ และนมแม่ ยังทำให้เกิดความผูกพันที่เป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย

ความเป็นหนึ่งเดียวแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกก็เกื้อหนุนกันด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่ง

ศิลปะที่ต้องทำด้วยใจรักอย่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดความอิ่มเอิบใจ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความพิเศษเฉพาะตัว ที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้หมด ผู้ที่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมคนอื่นจึงปฏิเสธการให้นมลูกด้วยตนเอง

การให้นมแม่เป็นความพิเศษสำหรับทารก ไม่เพียงแต่เฉพาะกับแม่เท่านั้น น้ำนมของแม่จะไหลตามแรงโน้มถ่วง ทารกไม่ต้องใช้แรงในการดูดมากเหมือนดูดจากขวด ซึ่งเป็นบทเรียนแรกของทารกที่สามารถทำให้อะไรๆ เกิดขึ้นได้ โดยที่เขาไม่ได้เป็นผู้รับแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่จะเป็นผู้ให้ด้วย

การเริ่มต้นความสัมพันธ์ของแม่กับลูก
การดูดนมแม่มื้อแรกหลังจากคลอดไม่กี่นาที ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกก็เริ่มต้นขึ้น ความสัมพันธ์อาจจะเป็นแบบรักแรกพบ แม่จะมีความรักท่วมท้นใจเมื่อได้เห็น ได้อุ้ม และได้ให้นมแก่ลูก จนไม่อยากพรากจากลูก บางรายอาจมีปัญหาในช่วงแรกคลอดทำให้ลูกไม่ตอบสนองต่อนมแม่เท่าที่ควร ต้องค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน ความสัมพันธ์แม่ลูกแม้จะช้าไปบ้าง แต่ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ หากได้รับการสนับสนุนจากแพทย์ พยาบาล และคุณพ่อ

ทารกบางคนจะหลับเป็นส่วนใหญ่ในวันสองวันแรก เมื่อตื่นมาก็ดูดนมแม่แค่นิดหน่อยก็หลับต่อ แต่บางรายก็เริ่มดูดนมแม่ทันทีอย่างจริงจัง การให้นมแม่จะเป็นไปได้เองตามธรรมชาติทำให้เกิดความสุขทั้งแม่และลูกถ้าแม่คอยสังเกตและค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน

ผลดีต่อแม่จากการให้นมแม่กับลูก
ข้อดีที่สำคัญของการให้นมแม่ที่คนส่วนใหญ่คิดคือ ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก แต่จริงๆ แล้ว ความภาคภูมิใจที่ลูกมีสุขภาพแข็งแรง และความสงบในจิตใจยามที่ลูกกินนมแม่ คือรางวัลสูงค่าที่สุดสำหรับแม่

สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านก็ไม่ต้องยุ่งยากกับการเตรียมขวดนม ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้คุณจะไม่ได้เลี้ยงลูกเองเมื่อต้องไปทำงาน แต่เมื่อกลับมาก็สามารถให้นมแก่ลูกได้ แม่ยังคงเป็นหนึ่งเดียวในใจของลูกเสมอ

ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะเก็บสะสมไขมันไว้ตามสะโพก หน้าท้อง เพื่อเป็นแหล่งสร้างน้ำนม การให้นมแม่ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และเป็นการลดน้ำหนักหลังคลอดได้เร็วที่สุด หากไม่ได้ให้นมลูกไขมันก็ยังคงสะสมอยู่และลดได้ยาก แต่ไขมันนี้จะสลายออกมาหากมีการให้นมแก่ลูก

เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ในช่วงหลังคลอด ภาวะสังคมปัจจุบัน คุณแม่คนใหม่จะเรียนรู้การให้นมแก่ลูกด้วยตนเอง หรือจากกคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาล แต่แม่ที่โชคดีอย่างยิ่งคือ คุณแม่มือใหม่ที่มีผู้ที่เคยให้นมแม่แก่ลูกมาก่อนคอยให้คำแนะนำและให้กำลังใจ

แม่และลูกจะเรียนรู้ไปด้วยกันจากการให้นมแม่แก่ลูก ทารกอาจเรียนรู้ได้เร็วหรือช้าแตกต่างกันไป ทารกจะเริ่มเรียนรู้วิธีงับหัวนมจากเต้านมของแม่ และดูดให้น้ำนมไหลเพื่อระงับความหิว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการอุ้มของแม่ การจับนั่งเรอลม การสัมผัสความอบอุ่นจากวงแขนของแม่ รสชาตินมแม่ เสียงพูด กลิ่น และสายตาของแม่ จะทำให้ทารกค่อยเรียนรู้และเคยชิน ซึ่งจะช่วยเสริมให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ

ระหว่างให้นมลูก คุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกชอบให้อุ้มแบบไหน ร้องแบบนี้หมายถึงอะไร วางตัวสบายๆ ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งจากภาระต่างๆ เพื่อจะได้ตอบสนองลูกได้ถูกต้อง

มีการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสงบขณะที่ให้นมแม่แก่ลูก การให้นมแม่เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยากจะลืมเลือนไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ ตาของลูกที่จ้องมองแม่ มือเล็กๆ ของลูก ปากน้อยๆ ที่ดูดนมแม่ ดูแล้วน่าเอ็นดู ดึงดูดให้แม่ทุ่มเทหมดหัวใจ ทำให้แม่รู้สึกว่าเป็นเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ลูกต้องการ

อารมณ์ที่สื่อถึงกันระหว่างแม่กับลูก
จริงหรือไม่ ที่ทารกเล็กๆ สามารถจับอารมณ์ของแม่ได้
แม้แต่ทารกตัวเล็กๆ ก็ยังสามารถจับอารมณ์ของแม่ที่ส่งผ่านถึงกันได้ ว่าเครียดหรือผ่อนคลาย ความกังวลและเครียดของแม่จะส่งผ่านไปยังลูก ทำให้ลูกร้องไม่ยอมหยุดง่ายๆ แม่ที่มีลูกคนแรกมีแนวโน้มจะมีความเครียดมากจึงพบเด็กร้อง โคลิก ในลูกคนแรกมากกว่าลูกคนถัดไป และแม่ที่มีอารมณ์สงบก็จะส่งผลให้ลูกสงบลงได้เช่นกัน

ทั้งแม่และลูกจะรู้สึกอบอุ่นใจ ถ้าคุณพ่อมีความพึงพอใจในลูก และมีความภูมิใจที่ภรรยาให้นมแม่แก่ลูก ลูกก็จะมีอารมณ์แจ่มใสดูดนมแม่ได้เต็มที่ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดวงจรแห่งความสุขระหว่างพ่อแม่และลูกอย่างแท้จริง

ในสังคมไทย คุณแม่คนใหม่ยังได้รับคำแนะนำจากคุณย่า คุณยาย ด้วย แม่ลูกจะเข้ากันได้ดียิ่งขึ้น ถ้าทุกคนมีท่าทีที่สงบและมั่นใจที่จะช่วยเหลือ การให้นมลูกจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อน้ำนมแม่มาเต็มที่ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งแม่และลูก

สายใยแห่งความรัก
ทารกต้องการความผูกพันทางใจมากพอๆ กับความต้องการอาหาร ทารกมิได้ดูดนมแม่เพราะหิวเท่านั้น แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับลูก ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสจากแม่ สายตา น้ำเสียง ในขณะที่ดูดนมแม่เป็นสิ่งที่ลูกต้องการด้วยเช่นกัน

การให้นมลูกอย่างผ่อนคลายเป็นความสุขที่จะหาอะไรมาเทียบไม่ได้ในภาวะสังคมปัจจุบันนี้ ลูกจะดูดนมแม่เมื่ออิ่มแล้วก็หลับ ลูกจะจ้องแล้วจ้องอีกที่หน้าแม่เมื่ออายุได้ 2 เดือน เหมือนการส่งผ่านความรักมาให้กับแม่ เมื่อมีอายุ 5-6 เดือน จะชอบเอามือจับเต้านม หรือเขี่ยเสื้อแม่เล่น เมื่อแม่ยิ้มด้วย ทั้งๆ ที่นมยังคาปากอยู่เขาก็จะยิ้มด้วยที่มุมปาก เมื่อลูกเอามือจับหน้าแม่ แม่ก็จะก้มลงจูบมือลูกด้วยความรัก ประสบการณ์นี้จะอยู่ในใจแม่ไม่รู้ลืม

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมขวดไม่มีความรักต่อลูก แต่ความรู้สึกจะแตกต่างกัน ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ของการให้นมแม่จะดีกว่า เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ก็จะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย เพราะมีการปรับตัวเข้าหากันได้ดี และมีการเรียนรู้การเป็นผู้ให้และผู้รับจากการดื่มนมจากแม่ไปพร้อมๆ กัน

อุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
แม้จะมีการสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นในปัจจุบันนี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่ นายจ้างส่วนใหญ่ให้ลาคลอดได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้เห็นความสำคัญของการลาเพื่อเลี้ยงลูกหลังคลอด เมื่อพนักงานกลับมาทำงานแล้วการจัดสถานเลี้ยงดูเด็กในเวลากลางวัน เพื่อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป ก็มีน้อยแห่งที่ทำให้กับพนักงานของตน

แต่แม่หลายคนก็พยายามให้นมแก่ลูกแม้จะต้องกลับไปทำงาน ไม่มีอุปสรรคใดที่สามารถกางกั้นให้แม่ลูกแยกกันได้ ด้วยความรักความผูกพันกันอย่างลึกซึ้งของแม่กับลูก จึงสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้

สะพานเชื่อมต่อวัยทารกสู่วัยอิสระของนมแม่
อารมณ์และบุคลิกภาพของเด็กมีผลมาจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า ในขณะให้นมแม่แก่ลูก ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มีค่าและจำเป็นต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของแม่และลูก

นักมานุษยวิทยาชื่อ ดร. มอนตากู(Dr. Montagu) ได้แสดงความคิดเห็นว่า เด็กที่แม่ตั้งครรภ์ 9 เดือนแล้วคลอดออกมา ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจเด็กจะต้องมีการเจริญเติบโตต่ออีก 9 เดือน เพื่อได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ ลูกจะได้รับนมแม่และอยู่ในความปกป้องของแม่อย่างเต็มที่ในระยะ 9 เดือนแรก และจะค่อยๆ ลดความสนใจนมแม่ลง เมื่ออายุมากกว่า 9 เดือนขึ้นไป เพราะสามารถคลานไปไหนมาไหนได้มากขึ้น

การแยกลูกออกจากส่วนหนึ่งของร่างกายแม่หลังคลอด จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจของแม่และลูก การให้นมแม่แก่ทารกในระยะ 9 เดือนแรกของชีวิต จะทำให้ทารกแยกได้ว่า เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่คนเดียวกับแม่

มีคำกล่าวของนักจิตวิทยาชื่อ ซิลเวีย โบรเดีย(Sylvia Brodie) ว่า
“การหย่าขาดจากนมแม่เมื่ออายุ 9 เดือนขึ้นไป เหมือนกับการเกิดครั้งที่สอง การเกิดครั้งที่สอง การเกิดครั้งแรกคือ แรกคลอด แม่ลูกแยกจากกันทางร่างกาย ครั้งที่สองนี้เป็นการแยกกันทางจิตใจ”

ในการพัฒนาจากเด็กเล็กสู่วัยเตาะแตะ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะให้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดย ดร. เฮอร์เบิร์ต แร็ตเนอร์(Herbert Ratner MD.) ได้กล่าวไว้ว่า “วิธีที่เร็วที่สุดที่จะทำให้ลูกเป็นอิสระและพึ่งตัวเองได้ คือ การให้การดูแลเขาอย่างดี ในช่วงอายุที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้” การตอบสนองความต้องการในช่วงนี้ได้ดีที่สุดคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ความสุขของทารกที่กินนมจากแม่
แน่นอนว่าทารกที่กินนมแม่ จะต้องมีสุขภาพที่ดีกว่าทารกที่กินนมขวด เขาจะมีความสุข และเมื่อโตขึ้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่ปรับตัวได้ดีกว่าหรือเปล่า คนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต้องบอกว่า ดีกว่าแน่นอน แต่คนที่เลี้ยงด้วยนมขวดอาจจะบอกว่า ไม่จริงเสมอไปหรอก ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูมากกว่า

ในประเทศญี่ปุ่น โรงเรียนบางแห่งจะถามนักเรียนเข้าใหม่ทุกคนว่า ได้รับนมแม่นานเท่าไร เพราะพบว่าเด็กมักจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้ยากกว่า หากได้รับนมแม่ในระยะสั้น หรือไม่ได้รับเลย

มีการค้นพบของนักวิจัยบางคนว่า เด็กที่กินนมแม่มีพัฒนาการทางอารมณ์และมีความสุขมากกว่า เพราะมีแม่ที่มีนิสัยอ่อนโยน แสดงความรักต่อลูกมากกว่า และแม่กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะให้นมแม่แก่ลูกมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ในแง่กลับกัน แม่ที่มีความอ่อนโยนไม่ใช่เหตุที่ทำให้ผู้หญิงให้นมแม่ แต่เป็นผลที่เกิดจากการให้นมแม่ต่างหาก ที่ทำให้แม่อ่อนโยนและแสดงออกถึงความรักที่แม่มีต่อลูก เอาใจใส่ลูก จึงทำให้ลูกมีความสุข

แม้จะมีการแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างกว้างขวางจากวงการแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติก็จะบอกว่าการให้นมขวดก็ดีเท่ากัน ถ้าระหว่างให้นมลูกแล้วกอดกระชับด้วยความรักเหมือนการให้นมแม่ ซึ่งคงจะเหมือนกันไม่ได้ เพราะขณะให้นมขวด ทารกก็จะสนใจอยู่ที่ขวดนม ตาจับจ้องที่ขวดนม ไม่ใช่แม่ ในกิจกรรมนี้แม่จึงไม่มีความรู้สึกร่วมกัน เวลาอยู่กับลูกที่ไม่ใช่การป้อนนมจะสนุกกว่า และในที่สุดก็ให้คนอื่นป้อนนมแทนได้

การที่ทารกสนใจขวดนมมากกว่าแม่ บางคนก็กล่าวว่า เพราะแม่ไม่สนใจลูกในช่วงให้นม ขวดนมจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อทารกมากกว่า และสิ่งนี้อาจเป็นการส่งเสริมความคิดให้ชอบในวัตถุสิ่งของมากกว่าความรู้สึกและจิตใจ หรือการที่ทารกได้รับอาหารแทนความรักในระยะแรก อาจทำให้ติดนิสัยรับประทานเกินขนาด จนกลายเป็นโรคอ้วนได้

มีความเห็นพ้องกันของนักพฤติกรรมศาสตร์ว่า การแยกแม่ลูกหลังคลอด และลูกไม่ได้กินนมแม่ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกในระยะแรก อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการป่วยทางจิตที่เพิ่มขึ้นมาก ในสังคมเมืองปัจจุบัน

ผลดีที่แม่ได้รับจากการให้นมแม่แก่ลูก
มีผลต่อบุคลิกภาพของแม่หรือไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ที่ให้นมแม่เป็นเวลาหลายเดือน ในระหว่างนั้นจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ ลูกจะเป็นคนกำหนดว่าจะกินเวลาใด แม้จะกำหนดเวลาให้กินก็ทำไม่ได้ แต่ก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะธรรมชาติจนลืมดูเวลาเมื่อให้นมไปได้สักระยะหนึ่ง

ไม่ว่าบุคลิกภาพจะเป็นเช่นไร การให้นมแม่ก็เป็นกิจกรรมที่แม่ลูกต้องทำร่วมกัน แม่จะตระหนักถึงความต้องการของลูกก่อนความต้องการของตนเอง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้แม่มีทัศนะที่ยืดหยุ่นขึ้น มีอารมณ์ที่มั่นคง เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ได้เรียนรู้การเป็นผู้ให้ และได้รับความรักจากลูกเช่นกัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า