สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเริ่มต้นความสัมพันธ์ของแม่ลูก

เป็นการเติมความสมบูรณ์ให้กับประสบการณ์ในการคลอดเมื่อแม่ลูกได้พบกันเป็นครั้งแรก มีทั้งความตื่นเต้น เจ็บปวด โล่งใจ และปีติยินดีเมื่อได้สัมผัสลูกครั้งแรก

ส่วนใหญ่แม่และลูกจะนอนหลับพักผ่อนเป็นเวลานานหลังจากที่ลูกได้ดูดนมแม่มื้อแรกแล้ว บางรายก็แค่ 2 ชั่วโมง แต่บางรายอาจนานถึง 20 ชั่วโมงก็มี ลูกก็จะได้รับดูแลทำความสะอาดร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดสัดส่วนในช่วงนี้ แพทย์จะตรวจความสมบูรณ์ของลูก โรงพยาบาลบางแห่งถ้าลูกคลอดตามกำหนดและแข็งแรงปกติดี ก็จะนำลูกมาให้นอนข้างๆ เตียงของคุณแม่ เพื่อเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก เมื่อลูกตื่นขึ้นมาคุณแม่ก็สามารถอุ้มมาให้ดูดนมได้ทันที นับเป็นการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีที่สุด

ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ทารกอาจต้องไปอยู่ในห้องเลี้ยงเด็กอ่อน กรณีนี้คุณแม่ควรบอกคุณหมอหรือเจ้าหน้าที่ว่ามีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อลูกตื่นขึ้นมาก็ให้นำลูกมาดื่มนมด้วย ไม่ต้องให้น้ำหรือนมผสมก่อน เพราะทารกที่เกิดครบตามกำหนดและเป็นปกติ ใน 2-3 วันแรกระหว่างที่น้ำนมแม่กำลังเริ่มจะผลิต ร่างกายจะมีน้ำและพลังงานสะสมอยู่มากพอแล้ว ทารกจะไม่ยอมดูดนมแม่ถ้าให้น้ำหรือนมเสียก่อน และการดูดหัวนมยางก็จะทำให้ทารกสับสน และจะดูดนมแม่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

คุณแม่ต้องมีความแน่วแน่และยืนยันถึงความประสงค์นั้น เพื่อประโยชน์ของลูกและตัวคุณแม่เองด้วย

คุณแม่ที่มีลูกคนแรกอาจจะกังวลว่า ตัวเองอาจดูแลลูกได้ไม่ดี หรือกลัวจะไม่ได้พักผ่อนถ้าเอาลูกมาอยู่ด้วยตลอดเวลา

แต่ในช่วง 2-3 วันหลังคลอดนี้ ถ้าทารกได้อยู่กับแม่ตลอดเวลาก็มักจะร้องน้อยมาก และเลี้ยงง่ายกว่ารายที่ต้องเข็นไปมาระหว่างห้องแม่กับห้องเด็กอ่อนเสียด้วยซ้ำ อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีเสียงดังรบกวน และทุกครั้งที่ร้อง เขาก็มั่นใจว่าแม่ต้องมาอุ้ม เขาจะได้รับความอบอุ่นและน้ำนมจากแม่

ทารกจะตื่นมาดูดนมแล้วนอนหลับต่อเป็นส่วนใหญ่ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ทุกช่วงที่ลูกหลับคุณแม่ก็ควรงีบหลับพักผ่อนด้วย

ควรคำนึงถึงการพักผ่อนของคุณแม่ด้วย สำหรับผู้ที่ไปเยี่ยมหลังคลอด ไม่ควรอยู่นานเกินไป ที่สำคัญคือ ไม่ควรจับตัวหรือแก้มเด็กอ่อน เพราะเชื้อโรคจากภายนอกอาจติดต่อสู่เด็กได้ง่าย และผู้ที่ไม่ควรไปเยี่ยมแม่ลูกอ่อนเช่นกันคือ ผู้ที่เป็นหวัด ไอ จาม ไม่สบาย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารก

มื้อแรกๆ ของการดูดนมแม่
วิธีที่ทารกบอกคุณแม่ว่าเขาหิวคืออะไร แม่ที่ช่างสังเกตจะรู้ว่าเมื่อลูกตื่นขึ้นและหันศีรษะไปมา ทำปากยื่นแหลม แลบลิ้นเข้าออกเหมือนจะหาเต้านม แม่ก็จะรู้ว่าควรอุ้มลูกขึ้นมาให้ดูดนมได้เลย ไม่ต้องรอให้ลูกร้อง

ในแต่ละมื้อควรให้ลูกดูดนมแม่ทั้งสองข้าง เพื่อให้เต้านมได้รับการกระตุ้นทั้งสองข้างเท่าๆ กัน เช่น เมื่อเริ่มให้นมข้างขวาก่อนแล้วเปลี่ยนมาให้ข้างซ้าย และในมื้อต่อไปก็สลับมาเป็นให้ข้างซ้ายก่อนแล้วค่อยสลับไปเป็นข้างขวา และนมส่วนท้ายที่ค้างอยู่ในเต้านมข้างที่ดูดทีหลังลูกก็จะได้รับในมื้อต่อไป

ทารกมักจะดูดนมแม่ 8-10 มื้อต่อวันหากนอนห้องเดียวกับแม่ วันแรกๆ อาจใช้เวลาตั้งแต่ 5 นาที จนถึงครึ่งชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของทารก ซึ่งเป็นวิธีที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเต้านมคัดตึงได้ด้วย เมื่อทารกมีอายุมากขึ้นก็จะดูดนมน้อยมื้อลงกว่านี้ คุณแม่จึงไม่ต้องห่วงว่าจะต้องให้นมลูกถี่แบบนี้ตลอดไป

การดูดนมบ่อยครั้งและการดูดนมในมื้อกลางคืน
เด็กแรกเกิดบางคนอาจดูดนมแม่เกือบทุกชั่วโมง เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง เรียกพฤติกรรมนี้ว่า cluster feeding คือ การดูดนมถี่ติดๆ กันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมักเป็นเวลากลางคืน หลังจากนั้นก็จะนอนหลับไปหลายชั่วโมง แม้จะดูดนมแม่บ่อย แต่นมก็มีพอ และไหลออกมาก ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกนี้ ทารกบางรายอาจจะแค่อยากดูดนมบ่อยๆ อุปสรรคต่างๆ จะผ่านพ้นไปด้วยดีถ้าคุณแม่มีความอดทนและเสียสละในช่วงนี้

เหตุที่ทารกมักตื่นตอนกลางคืน มีผู้ศึกษาพบว่า เพราะเขายังชินกับการอยู่ในท้องแม่ เนื่องจากตอนกลางวันแม่ต้องมีกิจวัตรที่ต้องทำมากมาย การเดินไปมาของแม่ จะทำให้ทารกถูกแกว่งไปตามการเคลื่อนไหวของแม่ ในช่วงกลางวันทารกจึงมักจะหลับ ส่วนเวลากลางคืนที่แม่นอนหลับอยู่ ลูกก็จะตื่นขึ้นมาออกกำลังกายด้วยการเตะถีบท้องของคุณแม่ ดังนั้น ทารกจะยังตื่นและหลับตามเวลาที่อยู่ในครรภ์ในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก คุณแม่ควรหาเวลางีบหลับในตอนกลางวันเพื่อชดเชยกับที่ต้องตื่นในตอนกลางคืนในช่วงเวลานี้ เมื่อลูกโตขึ้นเขาจะค่อยๆ ปรับตัวได้เองจากการเรียนรู้เวลาใหม่ได้ดีขึ้นกว่านี้

ป้องกันการเจ็บหัวนม
จะทำให้หัวนมเจ็บหรือไม่ หากให้ลูกดูดนมแม่นานเกินไปในแต่ละมื้อ จะลดการเจ็บหัวนมได้หรือไม่หากกำหนดเวลาให้ลูกดูดนม จากการศึกษาและสังเกตที่มหาวิทยาลัย southern California เกี่ยวกับปัญหาการให้นมแม่ในวันแรกๆ มีข้อสรุปออกมาว่า การดูดนมของลูกที่มากหรือนานเกินไป ไม่ได้ทำให้หัวนมเจ็บหรือแตก แต่เกิดจากท่าอุ้มทารกให้ดูดนมไม่ถูกต้อง เหงือกของทารกที่กดจะครูดกับหัวนมทำให้เกิดแผลแตกได้ง่าย ถ้าทารกอมหัวนมได้ไม่ลึก หรืออ้าปากไม่กว้างพอ คุณแม่ส่วนใหญ่จะเจ็บเพียงเล็กน้อย ในระยะแรกที่ทารกเริ่มงับและดูดเท่านั้นถ้าอุ้มทารกในท่าที่เหมาะสม และให้ดูดนมนานเท่าที่ต้องการ ปัญหานี้ก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงภายในเวลา 1-2 วัน จนไม่มีปัญหา

แต่ถ้ายังเจ็บหัวนมอยู่ก็ให้ดูว่า

ได้อุ้มทารกตะแคงเข้าหาตัวคุณแม่หรือเปล่า ทารกอาจต้องแหงนหน้าขึ้นดูดนม และงับหัวนมได้ไม่ถนัดถ้าอุ้มในท่าที่ให้เด็กนอนหงายบนตักแม่ หรือทารกอมบริเวณลานหัวนมเข้าในปากมากที่สุดหรือเปล่า หรือริมฝีปากล่างของทารกม้วนหลุบเข้าไปอยู่เหนือเหงือกหรือเปล่าในขณะดูดนม ให้ค่อยๆ ดึงริมฝีปากล่างออกถ้าเป็นเช่นนี้ หรือดูว่าทารกนอนห่างจากเต้านมมากไปหรือเปล่าจึงทำให้เขาต้องดึงหัวนมลงมา ใต้แขนที่อุ้มลูกควรเอาหมอนรองไว้ หรือให้ลูกขยับมาทางศีรษะคุณแม่อีกนิดถ้าให้นมลูกในท่านอน

ถ้าลูกดูดนมอิ่มแล้วจะรู้ได้อย่างไร
ทารกที่กำมือแน่นในขณะที่ดูดนมนั่นแสดงว่าเขาหิว และมือจะค่อยๆ คลายออกเมื่อเริ่มอิ่ม เด็กบางคนก็กระตุกมุมปากเหมือนยิ้ม บางคนอาจจะหลับไปเลย เมื่อลูกหลับปากก็จะคลายจากการดูด ควรถอนหัวนมจากปากลูกอย่างนุ่มนวล ไม่ควรดึงหัวนมออกจากปากลูกทันทีถ้าเขายังดูดติดแน่นอยู่ เพราะอาจทำให้หัวนมเกิดแผลได้จากการครูดกับเหงือก คุณแม่ต้องเอานิ้วก้อนสอดที่มุมปากของลูกเพื่อเผยอให้ปากลูกคลายจากการดูดก่อนแล้วค่อยดึงหัวนมออกมา

การไล่ลมในท้องลูก
มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลมในท้องจากทารกที่ดูดนมแม่ เพราะลูกจะกลืนลมลงท้องน้อยมากจากการที่นมแม่ผนึกติดกับปากลูกจนแน่น แต่หลังจากดูดนมก็ควรอุ้มไล่ลมสักพัก อาจเป็นการอุ้มพาดบ่า หรือการให้นั่งเอามือช้อนที่คาง แล้วมืออีกข้างหนึ่งก็ตบเบาๆ ที่หลังทารก พยายามให้ลูกนั่งตรงๆ เพราะลูกอาจแหวะนมได้ถ้าให้นั่งหลังงอจนท้องถูกกดลง ทารกบางรายอาจใช้เวลานานกว่าจะเรอลมออกมา แต่บางรายอาจจะไม่เรอก็ได้ ลูกจะเป็นแบบไหนคุณแม่จะเป็นผู้ที่สังเกตได้เอง

แหวะของทารกบางรายอาจออกมาเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีของน้ำนมแม่ จะแหวะออกมามากหรือน้อยก็ไม่ต้องตกใจ หรือกลัวว่าเขาจะหิวเพราะแหวะออกมามาก ถ้าลองให้ลูกดูดนมดูใหม่แล้วเขาไม่สนใจก็แสดงว่าเขาอิ่มแล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า