สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การวินิจฉัยโรคแบบเรดิโอนิคส์

เรดิโอนิคส์(Radionics)
เป็นการใช้เครื่องมือเรดิโอนิคส์ในการจับความสั่นสะเทือนในร่างกายมนุษย์เพื่อวินิจฉัยโรค การสั่นสะเทือนจากอุปกรณ์เรดิโอนิคส์บางชิ้นอาจถูกนำไปใช้ในการรักษาโรคได้ด้วย

อุปกรณ์นี้สามารถใช้กับสิ่งที่มาจากร่างกายของผู้ป่วยได้ด้วย เช่น หยดเลือด หรือน้ำลาย เพราะมันสามารถถ่ายทอดพลังงานที่มีความสั่นสะเทือนของเจ้าของเลือด หรือน้ำลายนั้นได้

สมมุติฐานของเรดิโอนิคส์มีว่า สสารทุกอย่างไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตามล้วนมีสนามพลังงานที่มองไม่เห็นแผ่ออกมา ยิ่งสสารนั้นซับซ้อนมากเพียงไร รูปแบบที่เป็นคลื่นหรือลวดลายของมันก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลวดลายซับซ้อนมากที่สุด โดยที่ส่วนต่างๆ ของมันสัมพันธ์อยู่กับอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งความสั่นสะเทือนด้วยความถี่ของอวัยวะแต่ละอวัยวะและโรคแต่ละโรคจะเป็นไปตามแบบของตัวมันเอง ซึ่งจะไม่เหมือนกัน

ดร.อัลเบิร์ต อับรามส์(Albert Abrams) คณะบดีคณะการแพทย์คลินิก ในสถาบันแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลแรกที่ค้นพบหลักการของเรดิโอนิคส์ในตอนต้นทศวรรษที่ 1900 หลังจากที่ ดร.รามส์ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์มาจากไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ก็ได้มาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทในซานฟรานซิสโกจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เขาได้ทำการวิจัยด้านการแพทย์ของตัวเองจากความฉลาดปราชญ์เปรื่องและจินตนาการที่เป็นมรดกติดตัวมาเป็นทุน

ดร.อับรามส์ ได้ค้นพ้นโดยบังเอิญระหว่างตรวจคนไข้ว่า หากเคาะบริเวณหนึ่งตรงช่วงท้องของคนไข้จะก่อให้เกิดการตอบสนองแบบทื่อๆ เขาคิดว่าเนื้อเยื่อที่ป่วยได้ก่อให้มันเกิดการแผ่รังสีบางประเภทขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อที่ผนังกระเพาะอาหารเกิดการหดตัว ทำให้มีการตอบสนองแบบนั้นขึ้น

ทฤษฎีของอับรามส์ได้จัดว่าเนื้อเยื่อที่ป่วยมีโครงสร้างของโมเลกุลที่ไม่เหมือนกับเนื้อเยื่อธรรมดา องค์ประกอบของมันจะต่างกันทั้งในแง่ของอะตอมและอีเล็คตรอน ซึ่งหากเนื้อเยื่อที่ป่วยมีลักษณะของอีเล็กตรอนในตัวแตกต่างจากเนื้อเยื่อดีๆ ก็หมายความว่า เราสามารถจะใช้เครื่องมือเพื่อตรวจสอบความผิดปกตินั้นได้

จากทฤษฎีนี้ อับรามส์ก็ได้สร้างอุปกรณ์ขึ้นมาใช้สำหรับวัดอย่างง่ายๆ โดยมีลักษณะเป็นหีบที่มีระดับแรงต้านทานต่างๆ กัน วิธีการวินิจฉัยโรคนี้แรกทีเดียวมีชื่อเรียกว่า “ปฏิกิริยาอีเล็กตรอนของอับรามส์”(The Electronic Reaction of Abrams) และเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “เรดิโอนิคส์” ต่อมาในภายหลัง อับรามส์ได้เสนอให้รักษาโรคเหมือนกับว่ามันเป็นความเบี่ยงเบนในการเคลื่อนที่ของอีเล็คตรอนที่ทำให้อัตราความสั่นสะเทือนในเนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงไป

เขาสามารถวินิจฉัยโรคจากที่ต่างๆ ได้โดยอาศัยอุปกรณ์ที่คิดขึ้น โดยใช้เพียงแค่หยดเลือดของคนไข้ อุปกรณ์นี้ยังสามารถนำไปใช้วินิจฉัยโรคในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะมีอาการปรากฏออกมาได้

ต่อมาอีกหลายปีเขาก็ได้พัฒนาอุปกรณ์การรักษาที่มีชื่อว่า “เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอับรามส์”(Abrams Generator)ขึ้นมา ใช้เพื่อกำจัดการแผ่รังสีที่ผิดปกติ และเปลี่ยนอัตราความสั่นสะเทือนในเนื้อเยื่อที่เป็นโรคให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่วงการแพทย์ในสหรัฐฯ ก็มิได้ยอมรับผลงานของเขาแม้ว่างานวิจัยที่ละเอียดละออของเขาจะมีสถานะทางวิชาชีพอยู่พอสมควรก็ตาม

รูธ ดราวน์(Ruth Drown) หมอแผนไคโรแพร็คทิค ในฮอลลีวู้ด แคลิฟอร์เนีย กับ ที.จี.ฮีโรนีมัส(T.G. Hieronymus) วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุก็ได้ดำเนินงานวิจัยอย่างจริงจังเพื่อนำเอาเรดิโอนิคส์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในปีช่วงทศวรรษที่ 1930 ต่อมาในปี ค.ศ.1949 ฮีโรนีมัสได้จดทะเบียนสิทธิบัตรอุปกรณ์เรดิโอนิคส์ที่ได้มีการพัฒนาและผลิตขึ้นจนมีชื่อเสียงที่สุดชนิดหนึ่งในสหรัฐฯ ส่วนดราวน์ก็ได้พัฒนาการถ่ายภาพแบบเรดิโอนิคส์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้มองเห็นภาพภายในร่างกายที่เป็นปัญหา แต่ผลงานของดราวน์ก็ไม่ได้รับการยอมรับ และในตอนต้นทศวรรษที่ 1950 ได้มีการห้ามจำหน่ายอุปกรณ์เรดิโอนิคส์ จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และดราวน์ก็ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาหลอกลวงประชาชน

ในเวลาต่อมามีนักวิจัยหลายคนในประเทศอังกฤษได้พัฒนาอุปกรณ์เรดิโอนิคส์ชนิดต่างๆ ขึ้นมาเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค และก็ได้มีการก่อตั้งสมาคมเรดิโอนิคส์ขึ้นมาในปี ค.ศ.1960 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่เรดิโอนิคส์ได้รับการยอมรับในอังกฤษมากกว่าในสหรัฐฯ

นักวิจัยบางคนมีความเชื่อว่า หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอยู่ในเรดิโอนิคส์ก็คือพลังจิต ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องอีเล็คโทรนิคส์เลย

มีปุ่มและเข็มวัดหลายอย่างในอุปกรณ์เรดิโอนิคส์สมัยใหม่ ซึ่งสามารถที่จะใช้วินิจฉัยและรักษาโรคได้ แม้ว่าอุปกรณ์นี้จะมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม แต่ความแม่นยำในการวินิจฉัยหรือความสำเร็จในการรักษาโรคแบบเรดิโอนิคส์ก็ขึ้นอยู่กับความละเอียดอ่อนและความชำนาญของคนใช้เครื่อง ซึ่งมีบางคนบอกว่า ความชำนาญที่ว่านี้ ก็คือความสามารถทางจิตในอีกรูปแบบหนึ่ง

แม้วิธีการนี้จะค่อนข้างละเอียดซับซ้อนและไม่แน่นอนก็ตาม แต่ก็พอจะอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้คือ ให้เอาตัวอย่าง เช่น หยดเลือด น้ำลาย หรือเส้นผม มาวางลงในอุปกรณ์ ผู้ใช้อุปกรณ์ลูบจานโลหะ แล้วหน้าปัดใหญ่ 2 อัน ก็จะอ่านค่าออกมาเป็นตัวเลขให้เห็น ตัวเลขบนหน้าปัดอันแรกจะบอกชนิดของโรค ส่วนหน้าปัดอันที่สอง จะชี้ถึงอวัยวะหรือบริเวณที่ตั้งของโรคภายในร่างกาย ตัวเลขทั้งสองซึ่งมีขีด(-)คั่นตรงกลาง เรียกว่า “อัตรา”(rate) เมื่อรู้อัตราก็ไปเปิดตารางเพื่อดูว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน จากนั้นก็ปรับอุปกรณ์ใหม่ สำหรับใช้รักษา หากว่าพบอาการป่วยที่ไม่มีอัตรากำหนดไว้ผู้ใช้เครื่องก็จะใช้ลางสังหรณ์ในการวินิจฉัยโรคและกำหนดวิธีการรักษานั้น

มีการถกเถียงกันมากทีเดียวเกี่ยวกับวิธีการวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยแบบเรดิโอนิคส์ มีคนมากมายบอกว่า ตัวเองได้รับการช่วยเหลือจากการรักษาด้วยวิธีนี้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าวิธีการนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย แม้ว่าการวินิจฉัยโรคและการรักษาแบบเรดิโอนิคส์จะยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ และยังคงเป็นขบวนการใต้ดินอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมาคมแพทย์อเมริกันถือว่า เรดิโอนิคส์เป็นการหลอกลวง

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า