สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เยื่อบุมดลูกต่างที่/เอ็นโดเมทริโอซิส(Endometriosis)

เยื่อบุมดลูกเป็นเยื่อบุที่อยู่บนผิวในโพรงมดลูก เยื่อนี้จะงอกหนาและมีเลือดคั่ง และในทุกๆ เดือนจะสลายตัวไปเป็นเลือดประจำเดือน แต่เยื่อบุมดลูกบางส่วนอาจไปงอกผิดที่หรือต่างที่ในผู้หญิงบางคน เช่น อาจไปอยู่ในผนังกล้ามเนื้อมดลูกหรือในรังไข่ หรือบางคนอาจไปงอกที่ท่อรังไข่ ช่องคลอด ลำไส้ หรือตรงแผลเป็นหลังผ่าตัด เรียกว่า เยื่อบุมดลูกต่างที่ แต่มักพบได้เป็นส่วนน้อย

โรคนี้พบมากในผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรืออายุระหว่าง 25-44 ปี ส่วนใหญ่โรคนี้จะไม่มีอันตรายร้ายแรง ที่รุนแรงจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดพบได้เป็นส่วนน้อย และสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยากมักเกิดจากภาวะนี้เยื่อบุมดลูกต่างที่

สาเหตุ
ยังไม่ทราบกลไกและสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดในปัจจุบันนี้ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากกลไกภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยบกพร่องจนทำให้เยื่อบุมดลูกที่ปนอยู่ในเลือดประจำเดือนไหลย้อนผ่านท่อรังไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามที่ร่างๆ ภายในช่องท้อง และไม่สามารถขจัดเนื้อเยื่อดังกล่าวออกไปได้

หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ของเยื่อบุภายในช่องท้องจนกลายเซลล์ที่ทำหน้าที่เหมือนเยื่อบุผิวมดลูก

เชื่อว่าโรคนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ซึ่งพบว่ามีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปในผู้หญิงที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้

เศษเยื่อบุมดลูกที่งอกผิดปกติเหล่านี้จะมีเลือดออกเช่นเดียวกับส่วนที่อยู่ในโพรงมดลูกทุกๆ เดือน แต่จากการที่มันฝังอยู่ในเนื้อเยื่อจึงทำให้มีเลือดคั่งอยู่ภายในเกิดการระคายเคืองและเนื้อเยื่อโดยรอบเกิดการอักเสบขึ้น

มักจะกลายเป็นถุงน้ำหรือซิสต์(cyst)ขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มที่มีเลือดคั่งอยู่ข้างในในกรณีที่เป็นเยื่อบุมดลูกงอกที่เยื่อหุ้มรังไข่ และต่อมาเลือดจะกลายเป็นสีดำเข้มคล้ายช็อกโกแลต ที่เรียกว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต และอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องได้

อาการ
ตำแหน่งของโรค ความรุนแรง และพยาธิสภาพของโรคมักจะทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการในลักษณะต่างๆ กัน ในบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการแสดงใดๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค และอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการหาสาเหตุของโรคอื่น

มักมีอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อย มีก้อนที่ท้องน้อย ประจำเดือนผิดปกติ หรืออาจมีบุตรยาก ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจน

หลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกหลายปี หรือหลังอายุ 25 ปี อาจพบอาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยที่จะเริ่มปวดก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน และในช่วงที่มีประจำเดือนจะปวดมากขึ้น และหลังประจำเดือนหมดอาการจะทุเลาลง มักมีอาการปวดที่ท้องน้อยและหลังและอาจร้าวไปที่หน้าขาและทวารหนัก อาการปวดประจำเดือนมักจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป หรืออาจปวดรุนแรงจนมีอาการเป็นลมหรือต้องหยุดงานในบางราย

เนื่องจากมีการอักเสบของเยื่อบุมดลูกที่งอกต่างที่ หรือเกิดจากมีพังผืดเกาะทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานถูกดึงรั้งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ จึงทำให้มีอาการปวดในอุ้งเชิงกรานที่อาจไม่ตรงกับช่วงมีประจำเดือนก็ได้ในบางราย

เนื่องจากในบางรายมีเยื่อบุมดลูกงอกอยู่ใกล้บริเวณช่องคลอดจึงอาจทำให้มีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศ ปวดลึกๆ ในอุ้งเชิงกราน อาจปวดร้าวไปที่หลังและทวารหนัก ช่วงก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อยอาการปวดมักจะรุนแรงขึ้น

อาจมีอาการปวดเบ่งขณะถ่ายอุจจาระหรือท้องเดินในรายที่มีเยื่อบุมดลูกงอกที่ลำไส้ใหญ่ อาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือดขณะมีประจำเดือนจนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในบางราย

บางรายก่อนมีประจำเดือนอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดได้

อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยขณะถ่ายปัสสาวะในรายที่มีเยื่อบุมดลูกงอกที่กระเพาะปัสสาวะ หรืออาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดขณะมีประจำเดือนได้ในบางราย

สิ่งตรวจพบ
การตรวจร่างกายอาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย

แต่อาจคลำได้ก้อนที่อุ้งเชิงกราน หรือตรวจภายในช่องคลอดพบว่ามีก้อนภายในอุ้งเชิงกรานในรายที่เป็นมาก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้มีบุตรยากซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากการอุดกั้นของท่อนำไข่และการทำลายเชื้ออสุจิที่อยู่ในท่อนำไข่ หรืออาจมีการบิดเบี้ยวหรืออุดกั้นท่อไตในอุ้งเชิงกราน หรือมีการอุดกั้นของทางเดินอาหารได้ในบางราย

อาจทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากการที่ถุงน้ำช็อกโกแลตแตกหรือรั่วมีเลือดขังอยู่ในถุงน้ำและไหลซึมออกมาข้างนอก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรงแบบเฉียบพลัน หน้าท้องเกร็งแข็ง มักจะมีอาการอยู่เพียงชั่วคราวและจะทุเลาหายไปได้เอง

การรักษา
ควรแนะนำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจภายในช่องคลอด ตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น อัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องตรวจช่องท้อง เป็นต้น

แนวทางการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด ยับยั้งการลุกลามของโรค และส่งเสริมการมีบุตร ทำได้ดังนี้

1. จะให้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ทรามาดอล เป็นต้น ใช้กินเมื่อมีอาการปวด และนัดมาติดตามดูอาการเป็นระยะในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย

2. จะให้ยาฮอร์โมนเพื่อหยุดการเจริญของเยื่อบุมดลูกที่ไปงอกผิดที่ในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลาง เพื่อไปยังยั้งไม่ให้เกิดการลุกลามของโรค อาจเลือดใช้ยาฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้

-ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม เริ่มจากวันละ 1 เม็ด และเพิ่มขึ้นครั้งละ 1 เม็ดทุกครั้งที่มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ให้ใช้ยาติดต่อกันนาน 6-9 เดือน อาจทำให้รู้สึกอาการเลวลงจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบุมดลูกใน 3-4 เดือนแรก แต่อาการจะดีขึ้นหลังจากนั้น

-โพรเจสเทอโรน เช่น depot medroxyprogesterone acetate/DMPA 100-150 มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 2 สัปดาห์จนครบ 4 ครั้ง หลังจากนั้นฉีดทุกเดือนจนครบ 9 เดือน หรืออาจใช้ medorxyprogesterone acetate ขนาด 30 มก./วันชนิดกินแทนก็ได้

-ดานาซอล โดยเริ่มให้กินขนาด 400 มก./วัน และให้เพิ่มครั้งละ 200 มก.เมื่อมีเลือดออก และให้ยานาน 6-9 เดือน ยานี้จะทำหน้าที่กดการทำงานของรังไข่ยับยั้งการหลัง gonadotropin realeasing hormone และ/หรือ gonadotropins มีผลทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน ทำให้เยื่อบุมดลูกต่างที่หยุดการเจริญเติบโต

-ยากระตุ้น gonadotropin releasing hormone จะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง gonadotropins เมื่อใช้ไปนานๆ ทำให้เยื่อบุมดลูกต่างที่หยุดการเจริญ เช่น depot leuprorelin acetate 3.75 มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดือนละครั้ง นาน 6 เดือน อาจทำให้มีอาการออกร้อนซู่ซ่าตามผิวกาย และช่องคลอดแห้งจากผลข้างเคียงที่เกิดจากการขาดเอสโทรเจน

3. อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่เป็นรุนแรงมาก ใช้ยาฮอร์โมนบำบัดแล้วไม่ได้ผล หรือต้องการมีบุตร

แพทย์อาจผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกในรายที่มีอายุมากและไม่ต้องการมีบุตรแล้ว เพราะจะทำให้เยื่อบุมดลูกต่างที่ที่อาจหลงเหลืออยู่ฝ่อลงได้เนื่องจากไม่มีรังไข่ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนแล้ว แต่ก็อาจเกิดเยื่อบุมดลูกต่างที่ขึ้นมาภายหลังได้ในผู้ป่วยบางรายที่มีพังผืดมากและผ่าตัดเอารังไข่ออกไม่หมด และเนื้อเยื่อรังไข่ที่ยังเหลือบางส่วนนั้นก็จะสร้างเอสโทรเจนออกมากระตุ้นให้เกิดอาการได้อีก

แพทย์จะทำการผ่าตัดเฉพาะส่วนที่มีพยาธิสภาพออกให้มากที่สุดในรายที่มีอายุไม่มากหรือยังต้องการมีบุตร เช่น ตัดเอาถุงน้ำออก เลาะพังผืดที่ติดรั้งออก เป็นต้น โดยยังเก็บรักษามดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ไว้ โดยการผ่าตัดด้วยวิธีเปิดหน้าท้อง หรือวิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง แต่อาการก็อาจกำเริบขึ้นได้อีกหากผ่าตัดแล้วและยังมีเยื่อบุมดลูกหลงเหลืออยู่เนื่องจากรังไข่ยังสามารถสร้างเอสโทรเจนมากระตุ้นให้เยื่อมดลูกเจริญได้อีก ซึ่งอาจต้องให้ยาฮอร์โมนรักษาต่อไป

4. แพทย์อาจให้การช่วยเหลือ เช่น การผสมเทียม การผ่าตัดแก้ไขพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น ในรายที่ต้องการมีบุตร แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้นมักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

ป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบและลดความรุนแรงของโรคลงได้ด้วยการตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่2 และ 3

ข้อแนะนำ
1. ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอในผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ หรือเริ่มปวดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีก เช่น เนื้องอกมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

2. นอกจากเยื่อบุมดลูกต่างที่จากอาการปวดท้องน้อยรุนแรงแล้ว ยังอาจเกิดจากถุงน้ำรังไข่ ไส้สิ่งอักเสบ นิ่วท่อไต ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน ครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า