สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เมลิออยโดซิส(Melioidosis)

เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงที่พบได้ทั้งในคนและสัตว์ พบเป็นได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในกลุ่มอายุ 40-60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เกษตรกร และผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการสัมผัสดินและน้ำ เช่น ทหารที่ฝึกซ้อมภาคสนาม หรือในการทำสงคราม มักเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อและเป็นโรคนี้ได้มากที่สุด

ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือใช้สตีรอยด์ติดต่อกันนานๆ มักเป็นโรคนี้ร่วมกับโรคดังกล่าวด้วยเมลิออยโดซิส

โรคนี้พบมากในช่วงฤดูฝน มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ ทั้งเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง บางครั้งอาจติดเชื้อมาแล้วแต่ไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำเกิดขึ้นในภายหลังก็อาจทำให้เกิดอาการขึ้นได้

โรคนี้ยังอาจมีอาการคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ วัณโรค และมะเร็งต่างๆ จึงได้ชื่อว่า ยอดนักเลียนแบบ

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อเมลิออยโดซิส ที่มีชื่อว่า เบอร์คอลเดเรียสูโตมัลเลไอ (Burkholderiapseudomallei) ซึ่งเชื้อมักอาศัยอยู่ในดินแลน้ำ และเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผลจากสาเหตุต่างๆ จากการสัมผัสโดยตรงจากดิน โคลน หรือน้ำที่มีเชื้ออาศัยอยู่ หรืออาจติดต่อทางการหายใจ ทางการกิน การติดจากผู้ป่วยโดยตรง การติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ และการติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นต้น

ทุกระบบของร่างกายสามารถติดเชื้อเมลิออยโดซิสได้ ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กระแสเลือด รองลงมาคือ ปอด ผิวหนังและเนื้อเยื่อตามลำดับ และยังอาจพบการติดเชื้อที่บริเวณช่องท้อง คอหอยและทอนซิล ต่อมน้ำลายพาโรติด ต่อมน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ ข้อและกระดูก สมอง เป็นต้น

การติดเชื้อเมลิออยโดซิส แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การติดเชื้อเฉพาะที่ และการติดเชื้อในกระแสเลือด

อาการ
อาการแสดงของโรคนี้มักมีได้หลายลักษณะ เช่น

1. ถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ และมักมีอาการของปอดอักเสบ หรือเป็นฝีกระจายไปทั่วปอดคล้ายการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส หรืออาจมีการติดเชื้อของตับ ม้าม ไต ผิวหนัง หรืออวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วยในบางราย

ในรายที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจาย ภายใน 2-3 วัน ผู้ป่วยมักมีการอักเสบของอวัยวะหลายแห่งพร้อมกันและมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษได้ และภายใน 24 ชั่วโมงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ในรายที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบไม่แพร่กระจาย ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ และมีการติดเชื้อของปอดและอวัยวะอื่นร่วมด้วยเพียง 1-2 แห่ง หรืออาจไม่พบตำแหน่งติดเชื้อชัดเจนในบางราย อาการเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นช้าและไม่รุนแรง มีโอกาสเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตต่ำ แต่ในเวลาต่อมาบางรายก็อาจกลายเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจายก็ได้

2. ในรายที่มีการติดเชื้อเฉพาะที่ ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรังแบบค่อยเป็นค่อยไปนานแรมเดือนแรมปี โดยอาจจะมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ มักมีน้ำหนักตัวลดลง และมีอาการแสดงตามความผิดปกติของอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น

-ปอด อาจมีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักลด คล้ายกับวัณโรคปอด หรือมะเร็งปอด

-ต่อน้ำเหลืองที่ข้างคอ อาจมีอาการคล้ายวัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ ต่อมน้ำเหลืองข้างคอจะโตเรื้อรัง ซึ่งอาจมีอาการปวดและแดงร้อนหรือไม่ก็ได้

-ผิวหนัง รอยโรคอาจเกิดขึ้นได้หลายแบบ อาจเริ่มด้วยก้อนนูนขนาด 1-2 ซม. ไม่มีอาการแดงร้อน แต่เจ็บ อาจมีอาการของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ การติดเชื้อของบาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือแผลอักเสบ หรือเป็นฝี แล้วแตกเป็นแผล รอยโรคที่ผิวหนังอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง และเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของผิวกาย หรืออาจมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อนขึ้นได้ในบางราย

-ตับ อาจเป็นฝีที่ตับ โดยคลำที่ใต้ชายโครงขวาพบมีก้อนบวมอยู่ที่บริเวณนั้น

-ม้าม อาจเป็นฝีที่ม้าม โดยคลำได้ก้อนบวมที่ใต้ชายโครงซ้าย

-คอหอยและทอนซิล ผู้ป่วยมักมีไข้ เจ็บคอ ทอนซิลบวมโต และเป็นหนองแบบทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีประวัติได้ยารักษาทอนซิลอักเสบมา 1-2 สัปดาห์ และยังไม่ดีขึ้น

-กล้ามเนื้อและกระดูก อาจพบกล้ามเนื้อและดูกมีการอักเสบเป็นหนอง หรือข้ออักเสบ

-ทางเดินปัสสาวะ มักทำให้ผู้ป่วยมีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ฝีไต ฝีรอบไต

-อื่นๆ เช่น อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง ก้านสมองอักเสบ ฝีลำไส้ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ฝีต่อมหมวกไต ฝีตับอ่อน เป็นต้น

ส่วนในเด็กมักจะพบต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบเป็นหนอง และเป็นเพียงข้างเดียว มักทำให้มีอาการไข้ ปวดบวมบริเวณหน้าหูคล้ายคางทูม ใน 1-2 สัปดาห์ก้อนจะบวมแดงมากขึ้น บริเวณที่บวมอาจพบตุ่มหนองขึ้นที่ผิวหนัง มีหนองไหลออกจากหูข้างเดียวกัน หรือมีหนังตาอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วยในบางราย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยทั่วไปถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องมักเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่และไม่รุนแรง ไม่ทำให้เกิดภาวะช็อก มีอัตราการตายที่ต่ำ แต่ก็อาจมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดแบบแพร่กระจาย เกิดภาวะช็อก และเป็นอันตรายได้ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา

สิ่งตรวจพบ
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูง หายใจหอบ ฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ อาจมีอาการตับโต ม้ามโต ดีซ่าน หรือมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา หรืออาจพบรอยโรคที่ผิวหนัง เช่น ตุ่มนูน ตุ่มหนอง หรือฝี  และมักพบภาวะช็อกเกิดขึ้นในรายที่เป็นรุนแรง

ในรายที่เป็นเรื้อรัง มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูงหรือต่ำ หรือไม่มีเลยก็ได้ น้ำหนักลด ซีด พบรอยโรคของอวัยวะที่เป็นโรค เช่น ปอดมีเสียงกรอบแกรบ ตับโต ม้ามโต ผิวหนังมีตุ่ม ฝี แผลเกิดขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมน้ำลายข้างหูโต ทอนซิลบวมแดงเป็นหนอง ข้อบวมแดงร้อน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ และภาวะการหายใจล้มเหลวมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคนี้ หรืออาจพบภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนทางปอดเกิดขึ้นได้ หรือบางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงจากภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทเกิดขึ้นได้เช่นกัน

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที โดยเฉพาะถ้าพบผู้ป่วยมีไข้เกิน 7 วัน มีไข้ร่วมกับหายใจหอบ มีภาวะโลหิตเป็นพิษ ตับโต ม้ามโต้ มีการติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ต่อมน้ำลายข้างคอ ทอนซิล กล้ามเนื้อ กระดูก เป็นต้น และเมื่อให้การรักษาแล้วไม่มีการตอบสนอง หรือมีอาการแบบเรื้อรัง เป็นต้น

แพทย์มักตรวจเพื่อหาเชื้อด้วยการย้อมหรือเพาะเชื้อจากเลือดหรือสิ่งคัดหลั่ง หรืออาจทำการทดสอบทางน้ำเหลือง เอกซเรย์ปอด ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เจาะหลัง ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น

แพทย์อาจให้การรักษาแบบเมลิออยโดซิสไปก่อนเลย ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่มีอาการรุนแรง และอยู่ในพื้นที่ระบาด มีประวัติเป็นเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือใช้สตีรอยด์มานาน และให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้สาน้ำและเกลือแร่ ออกซิเจน ใช้เครื่องช่วยหายใจ ผ่าระบายหนอง เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือ ต้องให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น เซฟทาซิไดม์ 2 กรัม เข้าหลอดเลือดดำ ทุก 8 ชั่วโมง เด็กให้ขนาด 120 มก./กก./วัน แบ่งให้ทุก 8 ชั่วโมง อาจให้เพียงชนิดเดียวหรือให้ร่วมกับโคไตรม็อกซาโซล เข้าทางหลอดเลือดดำ นาน 10-14 วัน แต่ในบางกรณีอาจให้โคอะม็อกซิคลาฟ หรือยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน และจะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกินแบบเดียวกับที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงต่อไปอีก 20 สัปดาห์ หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว

ในรายที่อาการไม่รุนแรงหรือเป็นเรื้อรัง จะให้การรักษาด้วยการกินยาปฏิชีวนะสูตรใดสูตรหนึ่งดังนี้

-โคไตม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เด็กให้ขนาดของไตรเมโทพริม 8-10 มก./กก.วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง เด็กอายุมากกว่า 8 ปี ให้ขนาด 4 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง

-ให้โคอะม็อกซิคลาฟ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เด็กให้ขนาดของอะม็อกซีซิลลิน 30 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ร่วมกับอะม็อกซีซิลลิน 500 มก. วันละ 3 ครั้ง เด็กให้ขนาด 30 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปี หรือแพ้ยาตัวอื่นๆ เมื่ออาการดีขึ้นควรให้กินติดต่อกันไปอีกเป็นเวลา 20 สัปดาห์

ผลการรักษามักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งมักมีอัตราการตายที่สูงถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและเพาะเชื้อจากเลือดให้ผลบวก และมีอัตราการตายที่น้อยลงถ้ามีการติดเชื้อหลายแห่ง แต่เพาะเชื้อจากเลือดได้ผลลบ หรือมีอัตราการตายต่ำมากซึ่งส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติดีในรายที่มีการติดเชื้อเฉพาะที่เพียง 1 แห่ง

เพื่อป้องกันการกลับกำเริบใหม่ผู้ป่วยต้องกินนาน 20 สัปดาห์ และพบว่าหากให้ยาน้อยกว่า 8 สัปดาห์มักจะทำให้มีอาการกำเริบซ้ำใหม่ และอาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักมีอาการคล้ายโรคติดเชื้อหลายชนิด เช่น อาการไข้ ไอ รอยโรคที่ผิวหนัง เป็นต้น แต่ถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ดื่มแอลกอฮอล์จัดหรือใช้ยาสตีรอยด์มานาน หรือรักษาโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น คางทูม ทอนซิลอักเสบ ฝี แผล ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ข้อเสบ เป็นต้น แล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากโรคนี้ก็ได้จึงควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ

และต้องแยกออกจากวัณโรคปอด ในรายที่มีไข้และไอเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้าตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคจากเสมหะ หรือให้ยารักษาวัณโรคแล้วไม่ได้ผล ก็อาจเกิดจากเมลิออยโดซิสก็ได้

2. หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเมลิออยโดซิสก็ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจยืนยันและให้การรักษาจนหายขาดได้ ซึ่งบางครั้งโรคนี้อาจมีอาการคล้ายมะเร็ง คือ น้ำหนักลดรวดเร็ว และมีก้อนบวมของต่อมน้ำเหลืองที่โต หรือคลำได้ก้อนตับหรือม้ามที่ค่อยๆ โตขึ้น

3. ควรให้การรักษาอย่างจริงจังเมื่อป่วยเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยต้องกินยาอย่างต่อเนื่องนาน 20 สัปดาห์ เพราะหากกินได้ไม่ครบตามกำหนดหรือกินไม่สม่ำเสมอก็อาจมีอาการกำเริบใหม่ได้ และเมื่อมีอาการกำเริบครั้งใหม่อาจมีความรุนแรงถึงชีวิตได้

4. ควรให้ความรู้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือใช้สตีรอยด์นานๆ ให้เฝ้าระวังการเกิดโรคนี้ ถ้ามีอาการน่าสงสัยก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้อย่างได้ผล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า