สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เบาหวาน (Diabetes mellitus/DM)

ความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา จากความผิดปกติเกี่ยวกับการนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์ของร่างกายเบาหวาน

มักพบโรคนี้ได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีภาวะน้ำหนักเกิน และมีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ร่วมด้วย

สาเหตุ
เกิดจากฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายบกพร่อง ตับอ่อนส่วนที่เรียกว่า บีตาเซลล์จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินขึ้นมา อินซูลินจะทำหน้าที่นำน้ำตาลหรือกลูโคสในเลือดเข้าสู่เซลล์ทั่วร่างกาย เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานเพื่อการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ

จะพบว่าตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อย หรือผลิตไม่ได้เลยในผู้ที่เป็นเบาหวาน อาจจะผลิตได้ปกติแต่ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง น้ำตาลในเลือดจะเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ได้น้อยกว่าปกติเมื่อขาดอินซูลินหรืออินซูลินทำหน้าที่ไม่ได้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดและขับออกมาทางปัสสาวะ จึงเรียกว่า เบาหวาน

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะปัสสาวะบ่อยเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก น้ำตาลที่ออกมาทางไตก็จะดึงเอาน้ำออกมาด้วยทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ จึงต้องดื่มน้ำบ่อยๆ เพราะกระหายน้ำ เมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายซูบผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง

อาจทำให้อวัยวะต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติและเกิดภาวะแทรกซ้อนมากมายจากการมีน้ำตาลในเลือดสูงนานๆ

การรักษาเบาหวานขึ้นอยู่กับชนิด สาเหตุและความรุนแรงของโรค ซึ่งสาเหตุที่สำคัญได้แก่

1. เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus)
เป็นชนิดที่มีความรุนแรงและอันตรายสูง แต่พบได้น้อย มักพบในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรืออาจพบในผู้สูงอายุได้บ้าง การผลิตอินซูลินจากตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้จะผลิตไม่ได้เลยหรืออาจน้อยมาก ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นต่อต้านทำลายตับอ่อนของตนเองจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับการติดเชื้อ การได้รับสารพิษจากภายนอก เป็นต้น

ผู้ป่วยมีอาการของโรคชัดเจน รูปร่างผอม ต้องฉีดอินซูลินเข้าทดแทนทุกวันไปตลอดชีวิตจึงจะทำให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ ถ้าไม่ฉีดอินซูลินทดแทนจะทำให้ร่างกายหันไปเผาผลาญไขมันแทนจนทำให้ผอมลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นรุนแรงจะเกิดการคั่งของสารคีโตน(ketones) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญไขมัน สารนี้จะเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้หมดสติและตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว เรียกว่า ภาวะคั่งสารคีโตน เดิมเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน(insulin-dependent diabetes mellitus/IDDM)

2. เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus)

เป็นชนิดที่มีความรุนแรงน้อย ที่มักพบได้เป็นส่วนใหญ่ มักพบได้ในผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มพบในเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น ภาวะนี้ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรืออาจจะผลิตได้เพียงพอแต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดจนกลายเป็นเบาหวาน ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน สาเหตุอื่นๆ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ อ้วนเกินไป มักไม่มีอาการปรากฏชัดเจนและมักไม่เกิดภาวะคีโตซิสเช่นที่เกิดกับชนิดที่ 1 สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ด้วยการควบคุมอาหาร หรือกินยาเบาหวาน หรืออาจใช้อินซูลินฉีดเป็นครั้งคราวถ้าระดับน้ำตาลสูงมากๆ และอาจต้องใช้อินซูลินชนิดฉีดตลอดไปในรายที่ดื้อต่อยากิน เดิมจะเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (non-insulin-dependent diabetes mellitus/NIDDM) ซึ่งเบาหวานที่พูดถึงโดยทั่วไปมักหมายถึงชนิดนี้

3. เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะอื่นๆ เช่น
-เกิดจากยา เช่น สตีรอยด์ ยาขับปัสสาวะไทอาไซด์ กรดนิโคตินิก ฮอร์โมนไทรอยด์

-พบร่วมกับโรคหรือภาวะผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น พบร่วมกับโรคติดเชื้อ เช่น คางทูม หัดเยอรมันโดยกำเนิด โรคติดเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล หรือพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มักพบในผู้ดื่มแอลกอฮอล์จัด โรคคุชชิง กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง อะโครเมกาลี ฟีโอโครโมไซโตมา

โรคเบาหวานจะสามารถหายได้หากเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น ผ่าตัดเนื้องอกออกไป หรือหยุดยาที่เป็นต้นเหตุ

4. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus/GDM)

ขณะตั้งครรภ์รกจะสร้างฮอร์โมนหลายชนิดขึ้นมาทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดของมารดาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อหลังคลอด ทารกที่คลอดออกมามักตัวโต น้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กก. เมื่อตั้งครรภ์ใหม่มักเป็นเบาหวานซ้ำอีก และมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเรื้อรังตามมาในระยะยาว

อาการ
ในรายที่เป็นไม่มาก ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 มก./ดล. ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ และรู้สึกสบายดี มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ หรือการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคอื่น

ในรายที่เป็นมาก ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 1 และบางส่วนของเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นถึงขั้นรุนแรง ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล. ผู้ป่วยจะปัสสาวะออกมากและบ่อย ทำให้กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย กินจุ อ่อนเพลีย หรือปัสสาวะจะมีมดขึ้นในบางราย

ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จะเกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็วและน้ำหนักตัวลดลงเร็วมาก ในผู้ป่วยเด็กอาจปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน บางรายอาจหมดสติด้วยภาวะคีโตแอซิโดซิส ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะผอมและมีอายุน้อย

ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีอาการแสดงเกิดขึ้นน้อยหรือส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงไม่ชัดเจน น้ำหนักอาจจะลดลงเล็กน้อย หรือมีน้ำหนักขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอยู่ก่อนแล้ว อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย เป็นแผลเรื้อรัง ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ตามัวลงทุกที หรือต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติตามร่างกายในรายที่เป็นไม่มากหรือเป็นในระยะเริ่มแรก

อาจพบอาการชาตามปลายมือปลายเท้า ต้อกระจก แผลเรื้อรัง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน

หลังงดอาหาร 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายจะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ และระดับน้ำตาลในเลือด มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 126 มก./ดล.

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยที่ขาดการรักษา ปล่อยปละละเลย หรือรักษาไม่ถูกต้องมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาทั้งประเภทเฉียบพลัน และประเภทเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนประเภทเรื้อรัง มักเกิดกับผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้เป็นเวลานานทำให้หลอดเลือดแดงตีบตันทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดความเสื่อมสมรรถภาพของอวัยวะ เกิดความพิการหรือเสียหน้าที่

ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคต่ำ หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกหลายอย่างจากการเปลี่ยนแปลงในลักษณะอื่นๆ ของร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ
1. ภาวะหมดสติจากเบาหวาน เป็นภาวะรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สาเหตุที่พบบ่อย คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จากการกินยาหรือฉีดยาเบาหวานสม่ำเสมอ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ค่อนข้างดีอยู่เดิม ภาวะแทรกซ้อนนี้มักเกิดจากผู้ป่วยที่ใช้ยาเบาหวานเกินขนาด อดอาหาร กินอาหารน้อยไป กินอาหารผิดเวลานานเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์จัด มีการออกแรงมากและนานเกินไป

อาการระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หงุดหงิด กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน อาการจะทุเลาลงเมื่อกินน้ำตาลหรือน้ำหวาน ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะมีอาการขากรรไกรแข็ง ชักเกร็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ ตรวจเลือดพบว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ตรวจปัสสาวะจะไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ ภาวะหมดสติจากเบาหวานอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ ได้แก่

-ภาวะคีโตแอซิโดซิส (ketoacidosis) พบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1ที่ขาดการฉีดอินซูลินนานๆ จากภาวะติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บ ที่ร่างกายต้องสร้างอินซูลินมากขึ้น ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันแทนน้ำตาลเกิดการคั่งของสารคีโตนในเลือด จนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก หายใจหอบลึก ลมหายใจมีกลิ่นหอมจากสารคีโตน มีไข้ กระวนกระวาย ตาโบ๋ หนังเหี่ยว ความดันต่ำ ชีพจรเบาเร็วจากภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน และซึมลงเรื่อยๆ จนหมดสติ ตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูง ตรวจปัสสาวะพบน้ำตาล ในเลือดและในปัสสาวะพบสารคีโตน

-ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง (non-ketotic hyperglycemic hyperosmolar coma/NKHHC) มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ขาดการรักษาหรือเป็นโรคโดยไม่รู้ตัว มีภาวะติดเชื้อรุนแรง การใช้ยาบางชนิดร่วมด้วย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเกิน 600 มก./ดล.ขึ้นไป เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ซึม เพ้อ ชัก หมดสติ ก่อนหมดสติอาจมีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย

2. การติดเชื้อ เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำจึงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย อาจเป็นการติดเชื้อซ้ำซาก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กลาก โรคเรื้อราแคนดิดา ช่องคลอดอักเสบ เป็นฝีหรือพุพอง เป็นต้น หรืออาจเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน หูชั้นนอกอักเสบรุนแรง เท้าเป็นแผลติดเชื้ออาจลุกลามจนเท้าเน่า เป็นต้น หรืออาจเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรคปอด

3. ภาวะแทรกซ้อนของตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อมจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาและหลอดเลือดในบริเวณนี้ผิดปกติที่ละน้อย อาจไม่รู้สึกผิดปกติในระยะแรก และจะเกิดอาการตามัว ตาบอด เมื่อเป็นมากขึ้น
จึงควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็กปีละครั้ง ถ้าพบในระยะแรกจะได้หาทางป้องกันมิให้ตาบอด

ยังอาจพบว่าผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกก่อนวัน ต้อหินแบบเรื้อรัง เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา จอตาลอก ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษา

4. ภาวะแทรกซ้อนของไต อาจทำให้ไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงไต ทำให้ไตเสื่อมลงที่ละน้อยอย่างช้าๆ จะพบว่ามีสารไข่ขาวหลุดออกมาในปัสสาวะจำนวนน้อยในระยะแรก ยังมีทางบำบัดเพื่อป้องกันภาวะไตเสื่อมได้ในระยะนี้ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสารไข่ขาวในปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นไตวายเรื้อรัง และในที่สุดอาจต้องล้างไต หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้

5. ภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท เนื่องจากหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงระบบประสาทเกิดการแข็งและตีบทำให้ระบบประสาทเสื่อม ถ้าเกิดกับประสาทส่วนปลายที่เลี้ยงแขนขาจะมีอาการปลายมือปลายเท้าแสบร้อน หรือเจ็บเหมือนถูกเข็มทิ่มแทงในระยะแรก มักเป็นมากในตอนกลางคืนอาจทำให้นอนไม่หลับ เมื่อควบคุมเบาหวานได้อาการจะทุเลาหรือหายไปได้

ถ้าปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ก็จะเกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า จะลุกลามสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้นก็ตามอาการชาดังกล่าวก็จะไม่หาย จนไม่มีความรู้สึกจึงทำให้เกิดบาดแผลง่ายจากการเหยียบของมีคม หรือของร้อนๆ หรือถูกของแหลมทิ่มตำ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำทำให้บาดแผลติดเชื้อได้ง่าย และแผลหายยากจากภาวะขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ เมื่อแผลลุกลามรุนแรงเป็นเนื้อเน่าตาย อาจเกิดความพิการจากการตัดนิ้วเท้าหรือข้อเท้าได้ จึงควรดูแลไม่ให้เกิดบาดแผล งดสูบบุหรี่เพราะจะทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบมากขึ้น

บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้อตาเป็น อัมพาต ตาเหล่ หนังตาตก หลับตาไม่สนิท รูม่านตาขยาย มองเห็นภาพซ้อนจากประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อตาเสื่อม ภายใน 6-12 สัปดาห์อาการเหล่านี้มักจะหายได้เอง

และยังอาจมีความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะจากภาวะความดันตกในท่ายืน อาหารไม่ย่อย แสบลิ้นปี่จากโรคกรดไหลย้อน ปวดท้อง ท้องเดิน ท้องผูกเรื้อรังจากโรคลำไส้แปรปรวน กระเพาะปัสสาวะหย่อนสมรรถภาพทำให้ถ่ายปัสสาวะออกไม่หมดทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ต่อมเหงื่อไม่ทำงานทำให้ผิวแห้ง องคชาติไม่แข็งตัว

6. ภาวะหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่แข็ง ขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง จากการที่หลอดเลือดตีบตัน หากมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ อ้วน สูบบุหรี่ เป็นต้น จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น จึงควรควบคุมเบาหวานไปพร้อมๆ กับควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้วย และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจจำเป็นต้องกินแอสไพรินร่วมด้วย

หากเกิดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาและเท้าตีบตันเลือดไปเลี้ยงที่ขาไม่พอ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อน่องในขณะที่เดินมากๆ แผลจะหายยากเมื่อเป็นแผลที่เท้าหรือนิ้วเท้าเป็นเนื้อตายเน่า และอาจพบเป็นตะคริวได้บ่อยในตอนกลางคืน

7. ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง นิ้วน้ำดี เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจพิการ ภาวะไขมันสะสมในตับ และเสี่ยงเป็นมะเร็งตับอ่อนมากขึ้น

การรักษา
1. การวินิจฉัย หากมีอาการเบาหวานในคนทั่วไป หรือไม่มีอาการแต่ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะหรือน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ควรส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังนี้

ก. กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการแสดง หลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงควรเจาะเลือดที่แขนเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ผลที่พบเป็นดังนี้

-ถือว่าปกติ ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมีค่าต่ำว่า 100 มก./ดล.
-ถือว่าเป็นระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ เรียกว่า กลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมีค่าเท่ากับ 100-125 มก./ดล. และควรตรวจยืนยันด้วยการทดสอบความทนต่อน้ำตาล
-ให้สงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมีค่าตั้งแต่ 126 มก./ดล.ขึ้นไป หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมงมีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล.ขึ้นไป ควรทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดซ้ำอีกในวันต่อมา ถ้ามีค่าสูงอยู่ในระดับเดิมให้วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

การตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมหากมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน ก็ให้วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานเช่นกัน

ข. กรณีผู้ป่วยมีอาการชัดเจน ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มตรวจ คือ ตรวจได้ทันทีทุกเวลา หากพบมีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล.ขึ้นไปก็ให้วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

2. เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน ควรให้แพทย์พิจารณาให้ยารักษาและรับคำแนะนำเพื่อปฏิบัติตัวให้เหมาะสมและถูกต้องเพื่อควบคุมเบาหวานต่อไป แพทย์อาจจะประเมินความเสี่ยงจากภาวะอื่นและควบคุมภาวะนั้นควบคู่กันไปด้วย เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านั้น

3. ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนยาและพฤติกรรมของผู้ป่วย

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ก่อนอาหารและก่อนนอนควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดวันละ 2-4 ครั้ง อาจต้องตรวจบ่อยขึ้นถ้ามีการปรับเปลี่ยนอาหาร ออกแรงกาย หรือมีการเจ็บป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย อาจตรวจน้ำตาลในเลือดสัปดาห์ละ 1 วัน หรือตรวจวันละครั้งก่อนอาหารหรือก่อนนอน แต่ละวันเปลี่ยนเวลาตรวจให้ต่างกันไปในกรณีที่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีอย่างสม่ำเสมอแล้ว

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสัปดาห์ละ 1-2 วัน วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า 1 ครั้ง อีก 1 ครั้ง คือหลังอาหาร 2 ชั่วโมงหรือก่อนนอน ถ้าใช้ยาฉีดอินซูลินตรวจสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 4 ครั้ง หรือตรวจวันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารหรือก่อนนอน โดยแต่ละวันเปลี่ยนเวลาตรวจให้ต่างกันไป ในการรักษาโดยการควบคุมอาหารอย่างเดียวหรือร่วมกับยาเบาหวานชนิดกิน

ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดวันละ 5 ครั้ง คือ ก่อนอาหารเช้า หลังอาหาร 2 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ในผู้ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

ควรฝึกให้ผู้ป่วยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเองที่บ้าน หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยเครื่องตรวจแบบพกพา

ผู้ป่วยเบาหวานทุกชนิดควรตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือเฮโมโกลบินเอ 1 ซี เพื่อหาระดับน้ำตาลที่เกาะกับเม็ดเลือดแดง สามารถบอกค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ควรตรวจทุก 3 หรือ 6 เดือน

4. ผู้ป่วยควรตรวจกรองภาวะแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงดังนี้
-ควรประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดในครอบครัว อย่างน้อยปีละครั้ง
-ตรวจคลื่นหัวใจ หรือ exercise stress test ปีละครั้ง
-ตรวจดูภาวะไตวายปีละครั้งจากการตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด
-ตรวจตาปีละครั้งโดยจักษุแพทย์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานควรตรวจถี่ขึ้น
-ควรตรวจดูอาการชา ลักษณะการเต้นของชีพจรที่เท้าหรือความผิดปกติของเท้าปีละครั้ง ปัจจุบันมีการตรวจหาความเสื่อมของประสาทส่วนปลายก่อนที่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกชาปลายมือปลายเท้าได้โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เส้นใยเดี่ยว (monofilament) หากพบความผิดปกติจะได้หาทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือลดความรุนแรงของโรคลงได้ เช่น ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มเสี่ยงโดยให้กินแอสไพรินวันละ 75-162 มก. สำหรับผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมากกว่า 60 ปีในผู้หญิง ที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ามีความดันควรควบคุมความดันให้ได้ก่อนเพราะอาจทำให้เลือดออกในสมองได้ และเพื่อป้องกันภาวะไตวายเรื้อรังในผู้ที่ตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะควรให้ยากลุ่มต้านเอช หรือกลุ่ม angiotensin receptor blockers(ARB)

ควรให้ยากลุ่มต้านเอช แอสไพริน และสแตติน กินป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำในรายที่เคยมีโรคหัวใจและหลอดเลือดแทรกซ้อนมาก่อน

5. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนหากสงสัยว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น เจ็บแน่นหน้าอก แขนขาชาหรืออ่อนแรง สายตามืดมัว เท้าบวม มีแผลที่เท้าและผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำลุกลามเร็ว ปลายนิ้วเท้ามีสีดำคล้ำและเย็นลงอย่างรวดเร็ว ไข้สูง หนาวสั่น เป็นลม หมดสติ เป็นต้น ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น อัมพาตเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแพทย์จะให้การช่วยเหลือขั้นต้นในรายที่ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดต่ำด้วยการฉีดกลูโคส ในรายที่มีภาวะคีโตแอซิโดซิส หรือน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรงด้วยการให้น้ำเกลือนอร์มัล

6. อาจมีระดับน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะตั้งครรภ์ โรคติดเชื้อรุนแรงหรือบาดเจ็บรุนแรง ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและมักต้องให้ยาฉีดอินซูลินแทนยากิน อาจต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลในรายที่เป็นมาก

ผู้หญิงที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ อาการจะกำเริบมากขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในมารดาและทารก อาจทำให้ทารกพิการหรือตายได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมายและรับการรักษาจากสูติแพทย์กับอายุรแพทย์อย่างใกล้ชิดร่วมกัน คือ
-หลังอดอาหารควรมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 95 มก./ดล.
-หลังอาหาร 1 ชั่วโมงควรมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 140 มก./ดล.
-หลังอาหาร 2 ชั่วโมงควรมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 120 มก./ดล.

7. ควรให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน โคอะม็อกซิคลาฟ หรือไซโพรฟล็อกซาซิน ในผู้ป่วยที่เป็นแผลอักเสบ และควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีอาการอักเสบรุนแรง

8. อาจเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้หวัด ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหาร ควรได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดวันละ 4 ครั้ง เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรแนะนำให้กินข้าวต้ม โจ๊ก น้ำผลไม้ นมถั่วเหลือง นมพร่องมันเนย น้ำซุป หรือให้ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลมในกรณีที่กินอย่างอื่นไม่ได้เลย ควรรีบส่งโรงพยาบาลหากพบว่ามีระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไป

ข้อแนะนำ
1. เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดชีวิต หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้และให้การรักษาอย่างจริงจังก็จะมีชีวิตได้เช่นคนปกติ แต่อาจมีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้บีตาเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลายอย่างต่อเนื่องทำให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลงหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีอาการของเบาหวานที่รุนแรงขึ้น การรักษาไม่ค่อยได้ผล จนต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน เพื่อประโยชน์และแนวทางในการควบคุมโรคควรแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าใจธรรมชาติของโรครวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง

2. อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือมีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็นเหมือนเวลาหิวข้าว ถ้าเป็นมากๆ อาจเป็นลม หมดสติหรือชักได้ในผู้ป่วยที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ เมื่อเริ่มให้ยารักษาเบาหวานผู้ป่วยควรระวังอาการดังกล่าวและควรพกน้ำตาล ลูกอมหรือของหวานติดตัวเป็นประจำเมื่อมีอาการก็ให้รีบกินจะช่วยให้อาการดังกล่าวหายเป็นปลิดทิ้ง จะตรวจไม่พบน้ำตาลเลยในผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้หรือตรวจระดับน้ำตาลในเลือดมักมีค่าต่ำกว่า 30-50 มก./ดล.ในขณะนั้น แต่ในผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดีระดับน้ำตาลในเลือดมักต่ำกว่า 70 มก./ดล.

เพื่อช่วยป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำผู้ป่วยควรปรับปัจจัยที่อาจทำให้เกิด เช่น ควรทบทวนดูว่า กินอาหารน้อยไป กินหรือฉีดยาเบาหวานเกินขนาดหรือไม่ ออกแรงมากไปหรือไม่ หรือใช้ยาอื่นที่ไปเสริมฤทธิ์ยาเบาหวานหรือไม่ เป็นต้น หากยังแก้ไขไม่ได้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป ผู้ป่วยควรกินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อเพราะหากกินผิดเวลาก็อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน

3. ยาบางอย่างอาจเพิ่มน้ำตาลในเลือดได้ เช่น สตีรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น และยาบางอย่างก็อาจเสริมฤทธิ์ของยารักษาเบาหวานทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยากลุ่มซัลฟา เช่น โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยาชุดกินเองหากมีความจำเป็นต้องแน่ใจว่ายานั้นไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

4. ควรได้รับการตรวจกรองโรคเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้
ควรไปรับการตรวจวัดน้ำตาลในเลือดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน เพื่อดูว่าขณะตั้งครรภ์เป็นเบาหวานหรือไม่โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาจากสูติแพทย์และอายุรแพทย์อย่างจริงจังร่วมกัน

5. หัวใจของการรักษาโรคเบาหวาน คือ
ก. ควรไปตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดตามแพทย์นัด แม้น้ำตาลในเลือดจะสูงเพียงเล็กน้อยจนทำให้ไม่มีอาการแสดงใดๆ อาจทำให้ผู้ป่วยปล่อยปละละเลยไม่ได้รักษาจนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ผู้ป่วยจึงควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดทุกวันหรือทุกสัปดาห์

ข. กินยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่ง ไม่ปรับลดยาเองเป็นอันขาด เพราะอาจจะทำให้ควบคุมโรคไม่ได้จากการใช้ยาเกินขนาดจนทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และจากการใช้ยาต่ำกว่าขนาดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ จึงต้องควรระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย

ค. ควรควบคุมการกินอาหารอย่างเคร่งครัด ดังนี้
-กินอาหารให้ตรงเวลาทั้ง 3 มื้อ กินในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวันทุกมื้อ ไม่ควรงดอาหารมือใดมื้อหนึ่ง เพื่อให้ได้ปริมาณแคลอรี่ใกล้เคียงกันควรรู้จักใช้หลักการแลกเปลี่ยนอาหารของอาหารแต่ละหมู่
-อย่ากินอาหารไม่เป็นเวลา กินจุบจิบ
-ให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก ในแต่ละมื้อ
-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ขนมหวาน นมหวาน ผลไม้รสหวานจัด ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่ม หรือผลไม้เชื่อม
-ให้ใช้น้ำตาลเทียมแทนถ้าชอบกินหวานๆ
-ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
-หลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด เป็นต้น
-หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปและอาหารรสเค็มจัด
-ไม่กินอาหารประเภทแป้งมากหรือน้อยเกินไป เช่น ข้าว ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ข้าวโพด เผือก มัน ขนมปัง เป็นต้น
-กินผักประเภทใบและถั่วสดให้มากๆ เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกระเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วฝักยาว เป็นต้น
-กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มาก เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สับปะรด แอปเปิ้ล ชมพู่ กล้วย ให้ได้มือละ 6-8 คำ

ง. ออกกำลังกายสม่ำเสมอในปริมาณที่พอๆ กันทุกวัน ไม่หักโหม เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ทำสวน ขุดดิน ยกของ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างรถ เป็นต้น การควบคุมอาหารและออกกำลังกายที่พอเหมาะจะช่วยให้ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

จ. ทำจิตใจให้ร่าเริง ไม่เครียดหรือวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ หรืออาจทำงานอาสาสมัครหรือสาธารณกุศลเพื่อช่วยให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

ฉ. ไม่ควรสูบบุหรี่ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูงควรควบคุมโรคดังกล่าวให้ได้ เพราะอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งเร็วเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้

ช. ควรดูแลรักษาเท้า ดังนี้
-ในทุกๆ วันควรทำความสะอาดเท้าและดูแลผิวหนัง ฟอกสบู่ตามซอกนิ้วเท้าและส่วนต่างๆ ของเท้าให้ทั่วถึงเมื่ออาบน้ำ เมื่อล้างเท้าแล้วควรซับด้วยผ้าขนหนูให้แห้งโดยเฉพาะซอกนิ้วเท้า ไม่เช็ดแรงจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดแผลถลอกได้

-ควรใช้ครีมทาผิวทาบางๆ เว้นบริเวณซอกนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า ถ้าผิวที่เท้าแห้งเกินไป

-ตรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวันเพื่อดูว่ามีรอยช้ำ บาดแผล หรือการอักเสบหรือไม่โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้า บริเวณที่เป็นจุดรับน้ำหนักและรอบเล็บเท้า ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดแผลที่เท้า

-เพื่อป้องกันมิให้เกิดเล็บขบควรตัดเล็บด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเป็นสาเหตุของการถูกตัดขาจากการลุกลามของแผลได้ ควรตัดเล็บไม่ให้สั้นชิดผิวหนังจนเกินไป และให้ตัดเป็นแนวตรง ไม่ควรแคะซอกเล็บด้วยวัตถุที่แข็ง ควรตัดเล็บหลังล้างเท้าหรืออาบน้ำเสร็จใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อนทำให้ตัดได้ง่าย และควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด

-ควรสวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้านเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเกิดแผล ควรเลือกรองเท้าที่สวมพอดี ไม่หลวม หรือคับเกินไป มีพื้นนุ่ม มีการระบายอากาศและความชื้นได้ดีสามารถหุ้มรอบเท้าได้ทุกส่วนรวมทั้งข้อเท้า ก่อนสวมรองเท้าควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอโดยต้องเป็นถุงเท้าที่สะอาด ไม่รัดแน่น และเปลี่ยนคู่ใหม่ทุกวัน ควรตรวจดูในรองเท้าว่ามีวัตถุมีคมตกอยู่หรือไม่ ถ้าเป็นรองเท้าคู่ใหม่ระยะแรกควรใส่ในเวลาสั้นๆ เพื่อช่วยให้รองเท้าขยายเข้ากับเท้าได้ดีเพื่อลดการเกิดรอยถลอกหรือบาดแผลได้

-ไม่ควรซื้อยากัดลอกตาปลามาใช้เอง หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือแกะหนังแข็งๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า

-ห้ามวางขวดหรือกะเป๋าน้ำร้อนหรือประคบด้วยของร้อนใดๆ ถ้ารู้สึกว่าเท้าชา เพราะอาจทำให้เกิดแผลไหม้พองได้ และวิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้อาการชาดีขึ้นด้วย

-ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาหากมีตุ่มหนอง มีบาดแผล หรือการอักเสบที่เท้า ไม่ใช่เข็มบ่งหรือชะล้างแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีนหรือไฮโดนเจนเพอร์ออกไซด์ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่ปลอดเชื้อ และติดด้วยปลาสเตอร์อย่างนิ่ม

ซ. หากมีอาการหิว ใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น ในผู้ที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่เป็นประจำทุกวัน อาจเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบกินน้ำตาลหรือของหวานทันทีเพื่อช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้น ผู้ป่วยควรพกน้ำตาล ลูกอม หรือของหวานติดตัวเป็นประจำเมื่อมีอาการสงสัยว่าเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะได้ใช้กินทันที

ฌ. จะช่วยให้ทราบว่าควบคุมเบาหวานได้ดีเพียงใดโดยการหมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ปรึกษาถึงเทคนิคการตรวจและความถี่ของการตรวจจากแพทย์ เพราะการสังเกตอาการอย่างเดียวอาจควบคุมโรคไม่ได้ ควรซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินผลการรักษาไว้ตรวจเองที่บ้าน เพื่อจะได้ดูแลรักษาสุขภาพและควบคุมอาหารให้สอดคล้องกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น

ญ. เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยควรพกบัตรประจำตัวที่ระบุถึงโรคที่เป็นและยาที่ใช้รักษาหากต้องเดินทางไปไหนมาไหน เกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นลมหมดสติ เกิดขึ้น

การป้องกัน
ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวานสำหรับคนทั่วไปหรือผู้ที่เป็นเบาหวานแฝง ดังนี้

1. ควบคุมอาหาร โดยลดของหวาน และไขมัน กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ กินผักผลไม้ และเมล็ดธัญพืชให้มาก กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเหลือง เต้าหู้เป็นประจำ

2. ออกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
-ดัชนี้มวลกาย 18.5-22.9 กก./ม.2
-เส้นรอบเอว ชายน้อยกว่า 90 ซม. หญิงน้อยกว่า 80 ซม.

การปฏิบัติตัวเช่นนี้อาจช่วยป้องกันมิให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ส่วนชนิดที่ 1 อาจป้องกันได้ยาก ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด และไม่ใช้สตีรอยด์แบบพร่ำเพรื่อ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า