สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เบาจืด(Diabetes insipidus/DI)

เป็นอาการถ่ายปัสสาวะออกมากและบ่อย กระหายน้ำมากคล้ายโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายได้ ทำให้ปัสสาวะมีรสจืด จึงเรียกว่า เบาจืด พบโรคนี้ได้มากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่เบาจืด

สาเหตุ
เกิดจากการสร้างฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะที่มีชื่อว่า เอดีเอช (ADH ย่อมาจาก antidiuretic hormone) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เวโซเพรสซิน (vasopressin) จากต่อมใต้สมองได้น้อยกว่าปกติ ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ช่วยเก็บกักน้ำในร่างกายจะยับยั้งไม่ให้ไตขับปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ เมื่อขาดฮอร์โมนนี้จึงทำให้ไตขับปัสสาวะออกมากซึ่งอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติในสมอง เช่น การผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุในบางราย

ในบางรายอาจเกิดจากความผิดปกติของไต เช่น กรวยไตอักเสบ ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง ผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม เมทิซิลลิน เป็นต้น ก็อาจทำให้เกิดภาวะการขับปัสสาวะออกมากได้

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะออกมากและบ่อย กระหายน้ำและดื่มน้ำมาก ชอบดื่มน้ำเย็นจัด ปากแห้ง มักมีอาการอยู่ตลอดเวลา มักลุกขึ้นมาปัสสาวะและดื่มน้ำตอนกลางคืนหลายครั้ง มักจะถ่ายปัสสาวะเกิน 5 ลิตรในแต่ละวัน หรืออาจถึง 20 ลิตหากเป็นแบบรุนแรง ปัสสาวะมักมีรสจืดไม่มีสีไม่มีกลิ่น

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ อาจมีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือมีไข้ในรายที่ดื่มน้ำได้น้อย อาจมีอาการแสดงของการขาดฮอร์โมนตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนต่อมหมวกไต ในรายที่เป็นเบาจืดที่มีสาเหตุจากเนื้องอกในสมอง

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ช็อก หมดสติ หรือเกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูงได้ถ้าดื่มน้ำไม่เพียงพอ

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีหากมีข้อสงสัย เมื่อตรวจปัสสาวะจะพบว่ามีความถ่วงจำเพาะต่ำ และอาจต้องตรวจพิเศษ เช่น การทดสอบที่เรียกว่า “Water deprivation test” อาจต้องตรวจสมองด้วยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในรายที่สงสัยว่ามีสาเหตุเกี่ยวกับสมอง

มักให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ให้ดื่มน้ำทดแทนให้เพียงพอในอาการปัสสาวะมาก หากเป็นเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษา แต่หากเป็นแบบรุนแรงอาจต้องใช้ยากิน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ โคลไฟเบรต ยาขับปัสสาวะไทอาไซด์ อินโดเมทาซิน หรือใช้ยาในกลุ่มฮอร์โมนเอดีเอช ชนิดฉีดเข้ากล้ามหรือพ่นจมูกซึ่งต้องใช้เป็นประจำทุกวันเพื่อลดปริมาณและจำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะ จะช่วยให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ข้อแนะนำ
1. ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานในอาการปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำบ่อย ส่วนสาเหตุจากโรคเบาจืดมีเป็นส่วนน้อย การตรวจทั้ง 2 โรคนี้ทำได้โดยการตรวจปัสสาวะซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะของโรคคือ เบาหวานจะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ ส่วนเบาจืดจะไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะปัสสาวะมีความถ่วงจำเพาะระหว่าง 1.001-1.005 ซึ่งในคนปกติทั่วไปจะมีประมาณ 1.015

2. อาการมักทุเลาลงได้ดี สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติหากได้รับการรักษาในโรคนี้ ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ อาจจะใช้เวลาไม่นานและหายขาดได้หรืออาจต้องใช้ยารักษาไปตลอดชีวิตในบางราย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า