สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เนื้องอกสมอง(Brain tumor)

เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในกะโหลกศีรษะ มักเกิดได้กับคนทุกวัย พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 40-70 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้องอกสมองแต่ละชนิด ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดทุติยภูมิหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น ส่วนเนื้องอกชนิดปฐมภูมิมักพบในเด็กอายุ 3-12 ปี อาการสำคัญของโรคนี้คืออาการปวดศีรษะและส่วนมากมักเกิดจากเนื้องอกสมองเนื้องอกสมอง

สาเหตุ
เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ซึ่งมักพบเป็นเนื้องอกสมองพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน หรืออาจเกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือรังสี เป็นต้น แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด

เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอดเป็นส่วนใหญ่

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง โดยจะปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า แล้วทุเลาลงเมื่อตอนสายๆ อาจปวดมากเวลาไอ จาม เบ่งถ่ายอุจจาระ หรือล้มตัวลงนอน อาการปวดศีรษะมักจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอาเจียนรุนแรงโดยไม่มีอาการคลื่นไส้ ยังอาจทำให้ตามัวลงเรื่อยๆ การมองเห็นภาพซ้อน หูอื้อ ตาเหล่ ตากระตุก บ้านหมุน เดินเซ มือเท้าทำงานไม่ถนัด แขนขาชาหรืออ่อนแรง ชักทั้งร่างกายหรือเฉพาะส่วน ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง

ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกต่อมใต้สมอง มักมีอาการของโรคคุชชิง เบาจืด รูปร่างสูงใหญ่ผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นนอกเหนือจากอาการที่เกิดจากเนื้องอกอื่นๆ แล้ว และอาจพบว่าประจำเดือนขาด หรือน้ำนมออกผิดธรรมชาติหากเกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมองในผู้หญิง

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจไม่พบความผิดปกติในระยะแรกๆ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นมักมีอาการเดินเซ ตากระตุก แขนขาอ่อนแรงหรือชัก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดอาการแบบเดียวกับหลอดเลือดสมองแตกหากมีเลือดออกเฉียบพลันในก้อนเนื้องอกสมอง

อาจเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงทำให้ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน เดินเซ เป็นลม และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ เนื่องจากเนื้องอกที่อยู่ใกล้โพรงสมองโตขึ้นจนอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง หากความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นอย่างเฉียบพลันอาจทำให้เกิดแขนขาเป็นอัมพาต หมดสติ และอาจเสียชีวิตแบบกะทันหันได้จากการเลื่อนไหลของสมอง

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรไปตรวจที่โรงพยาบาลด้วยการเอกซเรย์กะโหลกศีรษะ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจชิ้นเนื้อสมองเพื่อพิสูจน์ชนิดของเซลล์เนื้องอก การรักษามักผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ยกเว้นถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมากแล้ว หรือถ้าเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ อาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดด้วยรังสี หรือมีดแกมมา

อาจต้องรักษาด้วยรังสีบำบัดแบบเดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งบางราย

อาจต้องทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลังในรายที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง

ผลการรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับ ชนิด ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก และยังขึ้นอยู่กับอายุ และสภาพของผู้ป่วยอีกด้วย

หากเนื้องอกมีขนาดเล็กและเป็นชนิดไม่ร้ายแรง และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่อันตราย ผลการรักษาก็มักได้ผลดีหรือหายขาด เช่น เนื้องอกประสาทหู เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

และมักจะให้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อลดความทุกข์ทรมานในรายที่เป็นมะเร็งชนิดลุกลามเร็วหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

ข้อแนะนำ
เนื้องอกสมองสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย หากพบมีอาการที่น่าสงสัย เช่น อาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้นทุกวัน หรือปวดตอนเช้ามืดทุกวันนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือปวดแบบเป็นๆ หายๆ เกิน 2 สัปดาห์โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือในคนอายุ 25 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคลมชักครั้งแรก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคโดยเร็ว

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า