สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เนื้องอกมดลูก(Myoma uteri/Uterine fibroids)

เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาที่ไม่ใช่เนื้อร้าย มักพบในผู้หญิงอายุ 35-45 ปี หรืออาจพบในวัยสาวก็ได้เนื้องอกมดลูก

ขนาดของเนื้องอกอาจเป็นก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ ก้อนเนื้องอกอาจโตเร็วหรือช้าแตกต่างกันไปของแต่ละชนิด

ลักษณะการเกิดเนื้องอกอาจอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกซึ่งอาจงอกเข้าไปในโพรงมดลูก หรืออยู่ที่ผนังด้านในหรือด้านนอกของมดลูกซึ่งอาจงอกเข้าไปในช่องท้องก็เป็นได้

สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นก้อนหยุ่นๆ สีซีดที่แตกต่างจากเนื้อเยื่อโดยรอบ

เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์จากผู้ป่วยที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัวบางราย

เนื้องอกมดลูกมักเจริญเติบโตขึ้นจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโทรเจน เช่น ในขณะตั้งครรภ์มักจะพบว่าเนื้องอกมีขนาดโตขึ้น และจะฝ่อเล็กลงได้เองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และยังพบว่ามีตัวรับเอสโทรเจนมากกว่าปกติในเนื้องอกมดลูก

อาการ
มักไม่มีอาการแสดงถ้าก้อนมีขนาดเล็ก ขณะตรวจภายในช่องคลอดหรือตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณท้องน้อยด้วยสาเหตุอื่นมักจะพบก้อนเนื้องอกโดยบังเอิญ

มักมีเลือดออกมากหรือกะปริดกะปรอยคล้ายดียูบีถ้าก้อนมีขนาดโต และมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย หรือปวดหน่วงท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง

ก้อนเนื้ออาจโตจนไปกดอวัยวะข้างเคียงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ท้องผูก หรือมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศร่วมด้วยในบางราย และอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อยหรือมีอาการท้องโตคล้ายคนท้องถ้าก้อนโตมากๆ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้โลหิตจางจากภาวะเลือดออกมากได้ อาจทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที หรือปัสสาวะไม่ออก จากก้อนเนื้องอกที่โตกดถูกท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ และอาจมีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนในบางราย หรืออาจกดถูกท่อไตทำให้เกิดภาวะท่อไตบวมและคั่งน้ำ และภาวะกรวยไตบวมและคั่งน้ำได้

อาจทำให้มีอาการท้องผูก ริดสีดวงทวารกำเริบได้ถ้ากดถูกทวารหนัก หรืออาจทำให้มีบุตรยากหากกดถูกท่อรังไข่

ขณะตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งบุตร หรือคลอดลำบากจากก้อนเนื้องอกที่โตขึ้นรวดเร็วได้

อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรงได้จากการที่ก้อนเนื้องอกโตยื่นออกนอกมดลูกโดยมีก้านเชื่อมกับมดลูก หรืออาจเกิดการบิดของขั้วเนื้องอก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจภายในช่องคลอด ตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้องหรือโพรงมดลูก ตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น

อาจไม่ต้องรักษาใดๆ เลยถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็ก แต่ควรไปตรวจทุกๆ 6-12 เดือน เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไปหรือหลังวัยหมดประจำเดือนก้อนเนื้องอกก็อาจยุบลงไปได้เอง

แพทย์อาจจะทำการขูดมดลูกและส่งตรวจชิ้นเนื้อในรายที่มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อควบคุมภาวะเลือดออกและอาการปวดท้องน้อย และจะมีเลือดออกได้อีกถ้าหยุดยา และเนื้องอกก็อาจโตขึ้นมาอีกได้

แพทย์อาจให้ยาเพื่อทำให้ก้อนเนื้องอกเล็กลงถ้ามีก้อนขนาดโต และบรรเทาอาการปวดท้องหรือเลือดออกซึ่งเป็นการรักษาชั่วระยะหนึ่งก่อน ยาที่ใช้ เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์

บางรายแพทย์อาจให้ยากระตุ้น gonadotropin releasing hormone ฉีดเดือนละครั้งเพื่อช่วยให้ก้อนเนื้องอกเล็กลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัด ทำให้ผ่าตัดได้ง่าย มีเลือดออกน้อยขณะหรือหลังผ่าตัด และมีความปลอดภัยมากขึ้น

แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดในกรณีที่ก้อนเนื้องอกโตมาก มีเลือดออกมาก มีภาวะซีด ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังเรื้อรัง หรือถ่ายปัสสาวะบ่อย จนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข

แพทย์จะผ่าตัดเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้องอกออกไปในรายที่เนื้องอกก้อนเล็ก หรือผู้ป่วยยังต้องการมีบุตร ซึ่งมักนิยมใช้วิธีผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเข้าช่องท้อง หรือโพรงมดลูก

แพทย์อาจจะผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมดในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่และไม่ต้องการมีบุตรแล้ว ด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดแผลเข้าทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด

การรักษาหลังจากการผ่าตัดมักจะหายขาดจากโรคและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา

ข้อแนะนำ
1. อาจมีสาเหตุจาก ดียูบี เนื้องอกมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก โรคเลือด เป็นต้น จึงควรไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ในผู้หญิงที่มีเลือดออกทางช่องคลอดนานกว่า 7 วัน

2. เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ไม่มีอาการแสดง ไม่มีอันตรายใดๆ และไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด เพราะเป็นเนื้องอกมดลูกแบบธรรมดาไม่ใช่มะเร็ง มักจะมีน้อยรายที่มีอาการแต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงควรให้ความมั่นใจและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของโรค

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า