สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เทคนิคการนวดแบบชิอัตสึ

ชิอัตสึ(Shiatsu)
เป็นวิธีการนวดด้วยการกดนิ้วตามแบบโบราณของญี่ปุ่น คล้ายการนวดแบบกดจุด เพื่อเป็นการปรับปรุงการไหลเวียนของพลังชีวิต หรือชี ในร่างกาย การนวดแบบตะวันออกแขนงนี้ได้มาจากอัมมา(Amma) เป็นเทคนิคการนวดที่เริ่มต้นในอินเดีย ประกอบกับโด-อิน(Do-In)ซึ่งเป็นระบบการนวดตัวเองที่มีรากมาจากประเทศจีน

คำว่าชิอัตสึ มาจากคำว่า ชี ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง “นิ้ว” และอัตสึ หมายถึง การกด ชิอัตสึ จึงมีความหมายตรงๆ ในภาษาญี่ปุ่นว่า การกดนิ้ว

ศิลปะการบำรุงสุขภาพที่เก่าแก่มาแต่ครั้งโบราณนี้มีกำเนิดสืบเนื่องมาจากคนยุคโบราณที่มีแรงกระตุ้นตามสัญชาตญาณในการที่จะประคองส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บปวด ซึ่งคนเราก็ยังเคลื่อนไหวในแบบเดียวกันนี้ในปัจจุบันโดยสัญชาตญาณ

เมื่อ 5,000 ปีกว่ามาแล้ว มีพระสงฆ์นิกายเต๋าของจีน ได้สังเกตการสัมผัสเพื่อรักษาตัวเองตามสัญชาตญาณของมนุษย์นี้อย่างจริงจัง และนำมาปรับให้เป็นระบบชื่อว่า เต๋า-หยิน(Tao-Yinn) ซึ่งคำว่าเต๋าหยินนี้ได้มาจากคำในภาษาจีน 2 คำ คือ เต๋า หมายถึง “หนทาง” ส่วน หยิน หมายถึง “วิธีการที่นุ่มนวล” คำ “เต๋า หยิน” ถูกจึงถูกนำมาใช้ หมายถึง การบำรุงรักษาสุขภาพโดยทั่วไปทั้งหมด และแก้ปัญหาทางกายภาพบางอย่าง คำเต๋า-หยิน เป็นที่รู้จักกันในนามของ โด-อิน(Do-In)ในทุกวันนี้

มีบันทึกในประวัติศาสตร์เกือบ 3,000 ปีก่อนในจีนตอนกลางถึงรากเง่าของชิอัตสึ เมื่อสืบย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์ของจักรพรรดิเหลือง ในตอนนั้น ชิอัตสึ ถูกเรียกขานว่า เทียน-อัน(Tien-An) บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนแรกตรงกับตอนที่มีการระบุถึงการฝังเข็มเป็นครั้งแรก เทียน-อัน ถูกนำมาเผยแพร่แก่คนญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยเรียกว่า ชิอัตสึ ในราวสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 6 ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธมานานหลายร้อยปี

แนวปฏิบัติทางการแพทย์แบบตะวันตกที่รักษาตามอาการหรือขจัดอาการป่วยได้ถูกนำมายังญี่ปุ่นในสมัยเอโดะ เป็นเวลากว่า 100 ปีที่ความคิดด้านการแพทย์ของญี่ปุ่นถูกอิทธิพลจากการแพทย์แผนใหม่เข้าครอบงำอยู่ ชิอัตสึ จึงถูกละเลยและไม่มีการนำมาใช้ตลอดช่วงเวลานี้

ชิอัตสึ ได้รับการฟื้นฟูและก่อตั้งสถาบันชิอัตสึญี่ปุ่นขึ้นในกลางศตวรรษที่ 20 โดยนายแพทย์โตกุจิโร นามิโกชิ(Tokujiro Namikoshi) ดร.นามิโกชิ ได้สร้างอิทธิพลแก่ผู้ออกกฎหมายในญี่ปุ่นให้สถาปนาชิอัตสึขึ้นใหม่ในฐานะเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับ โดยมีคณะกรรมการระดับชาติที่จะเป็นผู้อนุมัติให้ใบอนุญาตในการรับรองคุณวุฒิของผู้รู้ในศาสตร์สาขานี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณะสุขและสวัสดิการของญี่ปุ่นยอมรับชิอัตสึว่าเป็นการบำบัดแนวสุขภาพอย่างเป็นทางการแล้วในปัจจุบันนี้

ชิอัตสึ ทั้งที่เป็นวิธีการช่วยตัวเอง ทำได้ด้วยตัวเอง และที่เป็นวิธีการบำบัดรักษาที่ต้องอาศัยผู้ประกอบวิชาชีพ มีแนวโน้มที่มุ่งเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ มีเป้าหมายคือ การรักษาร่างกายให้อยู่ในสภาพดีและป้องกันมิให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย มากกว่าจะเป็นการรักษาความป่วยไข้ การบำบัดรักษาของ ชิอัตสึ จะเป็นในลักษณะของการกระตุ้นพลังการรักษาตามธรรมชาติของร่างกายที่มีมาแต่กำเนิด และกระตุ้นความสามารถในการฟื้นตัวจากความเจ็บไข้ได้ป่วย

การบำบัดด้วยชิอัตสึ อาศัยจุดหรือเขตทริกเกอร์ที่เป็นกลาง 660 จุด หรือสุโบ(tsubo) ซึ่งจุด หรือสุโบเหล่านี้จะตั้งอยู่บนเส้นทางพลังงานหรือเมอริเดียนและเป็นที่ซึ่งหลอดโลหิต น้ำเหลืองและต่อมไร้ท่อของระบบเอ็นโดครีน มีแนวโน้มที่จะมารวมตัวกันอยู่หรือเป็นจุดที่เป็นทางแยก

ผู้ที่ใช้การบำบัดด้วยวิธีชิอัตสึก จะใช้การลูบคลำท้องและเนื้อเยื่ออื่นๆ ในการวินิจฉัยสภาพของบุคคลและระบุชนิดของการบำบัดที่บุคคลนั้นจำเป็นต้องได้รับ กระบวนการนี้เรียกว่า การวินิจฉัยแบบ “ฮารา”(hara) การสัมผัสอย่างละเอียดอ่อนจะทำให้สามารถค้นพบความผิดปกติในการหมุนเวียนของโลหิตและน้ำเหลือง การหลั่งอย่างผิดปกติภายใน ความพิการผิดรูปร่างของโครงกระดูก และค้นพบว่ามีการกดดันมากเกินไปหรือไม่ที่ประสาท กล้ามเนื้อ และผิวหนัง

จากนั้นผู้ให้การบำบัดก็จะใช้นิ้ว ข้อนิ้ว มือ ศอก เข่า เท้าและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย กดลงที่จุดต่างๆ ของร่างกายผู้ป่วยอย่างไตร่ตรองและรอบคอบ ล้วนมีความแตกต่างกันในจำนวนครั้งที่กด วิธีการกด และความถี่ในการกด และจะกินเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้นในการกดแต่ละจุด โดยที่ไม่มีการนวดแต่ถ้ามีก็น้อยมาก แต่ผู้ให้การบำบัดอาจจะขยับหรือนวดตรงส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

การบำบัดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด แม้จะขัดยอกที่กล้ามเนื้ออยู่ก็ตาม และจะบำบัดกับทุกส่วนของร่างกาย โดยเน้นตรงที่มีอาการเจ็บปวด จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นการกระตุ้น สามารถกระทำได้โดยที่ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าครบชุดและนอนอยู่บนพื้น

กล้ามเนื้อที่มีอาการตึง จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการปิดกั้นพลังงาน การกระตุ้นที่บางจุดจะช่วยกำจัดการปิดกั้นเหล่านี้ได้เมื่อพลังงานไหลเวียนได้อย่างสะดวกอีกครั้ง ร่างกายก็จะสามารถกำจัดของเสีย อย่างเช่น กรดแล็คติคและคาร์บอนมอน็อกไซด์ที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อได้ เพราะการสะสมของเสียเหล่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการขัดและเจ็บปวดของกล้ามเนื้อขึ้น

การบำบัดด้วยชิอัตสึ อาจนำมาใช้เพื่อผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อได้ทั่วทั้งตัว บรรเทาอาการปวดเนื่องจากข้ออักเสบ บรรเทาการเจ็บปวดเพราะไซนัส หรือปวดศีรษะแบบไมเกรน ลดรอยช้ำที่ผิว ลดความรุนแรงของเนื้อเยื่อกระดูกที่ได้รับความกระทบกระเทือนชอกช้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมีหมอนวดบางคนในสมัยนี้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านชิอัตสึโดยเฉพาะ

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า