สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ต้องมีการเตรียมตัวด้วยหรือ ถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ธรรมชาติน่าจะเตรียมมาให้ครบถ้วยสมบูรณ์แล้ว ถ้าสิ่งนี้เป็นวิธีของธรรมชาติ ในสมัยก่อนคุณย่า คุณยายไม่เห็นต้องเตรียมตัวเลย แต่ความจริงคนรุ่นนั้นได้เตรียมตัวมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ในบ้านของสังคมไทยแต่ก่อนมา จะมีสมาชิกมากมาย อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ มีตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ไปจนถึงหลาน มีการฝึกให้เด็กผู้หญิงเลี้ยงน้อง อุ้มน้อง จึงมีโอกาสเป็นแม่หรือน้าเลี้ยงลูกด้วยนมมาแล้ว การเรียนรู้วิธีการให้นมแม่ของเด็กรุ่นสาวก็ด้วยการสังเกตดู หรือได้รับการบอกเล่าจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน จึงทำให้ผู้ที่จะเป็นคุณแม่คนใหม่รู้ว่า การเลี้ยงลูกไม่ได้ลำบากอันใดเลย

ในสมัยต่อมา มีการแยกกันอยู่แบบครอบครัวเดี่ยว ที่มีขนาดครอบครัวเล็กลง และอิทธิพลของนมผงดัดแปลงก็เริ่มเข้ามาทำให้ค่านิยมของคนในเมืองเปลี่ยนไป คิดว่านมผงเป็นสิ่งที่ดี ทันสมัย การเลี้ยงลูกด้วยนมขวดถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น หากไม่ได้หาความรู้เพิ่มเติม ก็คงยึดถือแนวนี้ในการเลี้ยงลูกของตนต่อไป หรือต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนถ้าต้องการจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

แม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องมีแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงได้ตัดสินใจทำเช่นนี้ องค์ประกอบหลายประการที่เป็นแรงจูงใจ เกิดจากการผสมผสานกันตั้งแต่ประสบการณ์ ความรู้เรื่องนี้ ที่ได้ประสบพบมาตั้งแต่เด็กจนโตเป็นสาว เกี่ยวกับกับประโยชน์ของนมแม่ว่าสามารถเลี้ยงลูกให้เจริญเติบโตได้ และเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูก

การเตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีขั้นตอนดังนี้
1. เรียนรู้เกี่ยวกับนมแม่ให้มากที่สุด
โดยการอ่านจากหนังสือ นิตยสาร สอบถามพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์ หรือคุณแม่ที่เคยเลี้ยงลูกสำเร็จมาแล้วด้วยนมแม่ ควรหาความรู้เหล่านี้เสียตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ เพราะเมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว ก็คงหาเวลาอ่านได้ยาก

2. บอกคนใกล้ชิดว่าคุณจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ผู้ที่จะเข้ามาช่วยเหลือคุณในช่วงหลังคลอด เช่น สามี คุณย่า คุณยาย ควรรับรู้ถึงความตั้งใจของคุณ เพื่อจะได้คอยช่วยเหลือไปในแนวเดียวกัน ไม่เกิดการขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการให้นม

3. ควรเลือกฝากท้องกับแพทย์ และเลือกสถานที่คลอดที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
จุดเริ่มต้นที่สำคัญในการให้นมแม่ คือ สถานที่คลอด การเริ่มต้นที่ดีย่อมทำให้ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

ควรเปรียบเทียบข้อมูลจากโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง ที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนม นโยบายนี้ส่วนใหญ่โรงพยาบาลของรัฐจะสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ถ้าสถานที่คลอดไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้ คุณก็ควรแจ้งให้แพทย์ที่ฝากครรภ์ทราบว่า คุณต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลังจากคลอดให้นำลูกมาดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด และเพื่อจะได้ในนมแม่สะดวกตามความต้องการของลูก จึงควรให้ลูกอยู่ข้างเตียงของคุณตลอดเวลา คุณกับลูกก็จะได้รู้จักคุ้นเคยกัน ในช่วงนี้ความสำเร็จจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีมากขึ้น ถ้าแม่ลูกมีโอกาสได้ใกล้ชิดกันมากๆ

4. เพื่อให้แน่ใจว่าเต้านมทั้งสองข้างเป็นปกติก็ควรตรวจเสียตั้งแต่เนิ่นๆ
ขนาดของเต้านม จะขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันที่แทรกอยู่ระหว่างต่อมและท่อน้ำนม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนท่อน้ำนม แม้จะมีขนาดเต้านมเล็กเพียงใดก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม่ที่มีเต้านมเล็กก็ไม่ต้องห่วงว่าจะผลิตน้ำนมได้ไม่พอกับความต้องการของลูก

กรณีที่ขนาดของเต้านมไม่เท่ากันทั้งสองข้าง ก็ไม่เป็นปัญหาในเรื่องนี้เช่นกัน เว้นแต่ในรายที่เกิดจากการพัฒนาของต่อมน้ำนมผิดปกติ จึงทำให้ขนาดของเต้านมทั้งสองข้างแตกต่างกันมาก แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยราย

ควรตรวจหัวนมทั้งสองข้างว่ายื่นออกมาปกติหรือไม่
ลูกจะงับหัวนมได้ยากในกรณีที่แม่หัวนมบอด มีลักษณะแบนราบไปหมด ทันทีที่ตรวจพบว่าหัวนมบอด ก็ควรจะใส่ปทุมแก้ว(breast shield) เพื่อให้เกิดแรงกดรอบหัวนมตลอดเวลา และดันให้หัวนมค่อยๆ ยื่นออกมา หลังจากคลอดแล้วก่อนให้นมลูกในแต่ละครั้งก็ควรใส่ปทุมแก้วก่อนประมาณ 10 นาที หรืออาจวางน้ำแข็งบนหัวนมก่อนที่จะให้ลูกดูดในระยะแรกที่ลูกเพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้การดูดนมแม่ เพราะหัวนมจะชันขึ้นเมื่อถูกความเย็น และลูกก็จะสามารถงับหัวนมได้ดีขึ้น

ในสัปดาห์แรกๆ ผู้ที่มีหัวนมบอดควรหลีกเลี่ยงการให้นมขวด เพราะอาจทำให้ลูกเกิดความสับสนได้ ระหว่างความแตกต่างของจุกนมยางกับหัวนมที่บอดแบนของแม่

ทารกจะงับหัวนมได้ยากขึ้น ในกรณีที่หัวนมหลุบเข้าข้างใน ในช่วงก่อนคลอดไม่ควรดึงหัวนมออก หรือบีบหัวนม เพราะอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้มดลูกหดตัว วิธีแก้ไขก็คือ ในช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ก็ให้เริ่มใส่ปทุมแก้ว ในช่วงแรกควรใส่ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ต่อมาจึงค่อยเพิ่มเวลาเป็น 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ควรใส่ตอนที่นอน ควรเอาออกพักบ้างเพื่อระบายอากาศในช่วงที่ใส่ประมาณช่วงละ 20 นาที หลังคลอดในระยะแรกๆ ระหว่างที่ลูกไม่ได้ดูดนม อาจต้องใส่ปทุมแก้วด้วย

5. ควรดูแลเต้านมอย่างถูกต้อง
ไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ควรงดถูสบู่บริเวณหัวนมและลานหัวนมในระหว่าง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะบริเวณนี้จะมีไขมันผลิตออกมาหล่อลื่นอยู่แล้ว อาจเป็นการทำลายไขมันตามธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอ่อนๆ ได้ ถ้าถูด้วยสบู่หรือใช้ผ้าเช็ดแรงๆ และผิวหนังก็จะแห้งแตกได้ง่ายด้วย

6. ควรเตรียมเสื้อผ้าที่ใช้สำหรับการให้นมแม่
ควรเปลี่ยนยกทรงให้เหมาะสมกับเต้านมที่ใหญ่ขึ้น เพราะเต้านมจะขยายขนาดและคัดตึงบ้างในช่วงตั้งครรภ์ จะช่วยลดการหย่อนยานของเต้านมได้หากมีการสวมยกทรงพยุงเต้านมไว้ทั้งกลางวันและกลางคืน

ยกทรงที่เปิดด้านหน้าสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรเตรียมไว้ในกระเป๋าด้วย เมื่อต้องไปโรงพยาบาลหรือออกไปข้างนอก หากใส่ยกทรงธรรมดา ขณะให้นมลูกควรจะถอดยกทรงออก ไม่ดึงรั้งไว้บนเต้านม เพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงต่อมน้ำนมได้ไม่สะดวก และการไหลของน้ำนมก็จะถูกขัดขวางด้วย จากการรัดของยกทรง

เสื้อที่มีกระดุม หรือซิปด้านหน้า ที่ใส่แล้วสบายไม่อึดอัด รวมทั้งชุดนอนและชุดอยู่กับบ้านด้วย จะเป็นเสื้อที่มีลักษณะเหมาะสมกับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก

7. การเตรียมงานบ้านก่อนมีลูกคนใหม่
จะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตขนานใหญ่ทีเดียวกับการมีลูกคนใหม่เพิ่มขึ้นในบ้าน ถ้ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้าก็จะบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลเรื่องการจัดดูแลบ้านลงไปได้มาก คุณก็จะได้ทุ่มเทพลังงานที่เหลือทั้งหมดให้กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว

ถ้าคุณเป็นคนทำงานบ้านทั้งหมด และอยู่กันแค่สามีภรรยา คุณควรหาคนมาช่วยสักระยะในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ประมาณ 4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย อาจเป็นการจ้างคนมาทำ หรืออาจจะให้ญาติพี่น้องที่พอจะมีเวลาว่างมาช่วยก็ได้

หลักการสำคัญคือ ผู้ช่วยทำงานบ้านจะต้องรับภาระในการทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ซักผ้าอ้อม รีดผ้า แต่หน้าที่เรื่องลูก เช่น อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ในนมแม่แก่ลูก อุ้มนอน คุณควรจะเป็นคนทำ เพื่อคุณจะได้ใกล้ชิดกับลูก จะได้มีการเรียนรู้กันระหว่างคุณกับลูก ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด และคุณก็จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จอย่างที่ได้ตั้งใจไว้

คุณอาจต้องส่งเสื้อผ้าไปร้านซักรีด ถ้าหาคนมาช่วยงานบ้านไม่ได้ หรือให้สามีช่วยทำงานบ้านเฉพาะที่จำเป็นได้ ถ้าเขาเต็มใจช่วย และถ้าสามีทำได้ไม่เหมือนที่คุณเคยทำ ก็ต้องยอมรับ หรือทำเป็นไม่เห็นไปเสียบ้าง

ควรทำความตกลงกันให้ดีถ้าคุณยังอยู่กับครอบครัวของพ่อแม่สามี ว่าใครจะช่วยทำงานบ้านในช่วงหลังคลอด เพราะในช่วงเดือนแรก คุณต้องใช้เวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณไม่สามารถช่วยงานบ้านได้ จนกว่าจะทำให้น้ำนมมาเต็มที่เสียก่อน

ในระยะเดือนแรกหลังคลอด คุณควรสั่งปิ่นโตมาส่งทั้ง 3 มื้อ เพื่อประหยัดเวลาในการทำอาหาร หรือหาซื้ออาหารสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ทั่วไปก็ได้ ผลไม้สด รวมทั้งผักสด ไข่ หมูสับ ที่สามารถปรุงได้ง่าย ก็ควรมีติดไว้ในตู้เย็นเสมอ ในระยะนี้คุณย่า คุณยาย จะช่วยเรื่องอาหารบำรุงร่างกายของคุณแม่ได้มากทีเดียว เพราะอาหารการกินก็มีความสำคัญต่อการสร้างน้ำนมเช่นเดียวกัน

8. เตรียมจัดการเกี่ยวกับเรื่องที่ทำงาน
ควรเตรียมลาคลอดสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน ควรจะสะสางงานที่คั่งค้างเสียให้เรียบร้อย ถ้าเป็นไปได้ควรยืดเวลาในการลาหลังคลอดให้นานที่สุด โดยวิธีลาพักร้อนต่อเนื่องกันไปเลย

คุณแม่จะได้นับวันรอคอยของขวัญชิ้นพิเศษสุดของคุณได้อย่างสบายใจ หากได้เตรียมการทุกอย่างไว้เรียบร้อยดีแล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า