สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค

เชื้อโรคหลายชนิดสามารถปล่อยพิษออกมาปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และทำให้เกิดพิษกับร่างกายได้ เมื่อเชื้อโรคเข้าไปแบ่งตัวเจริญเติบโตในทางเดินอาหารและผลิตพิษออกมาจึงทำให้เกิดอาการ

สาเหตุ
ไวรัสที่เชื้อโรคสาเหตุของอาหารเป็นพิษ เช่น ไวรัส พยาธิไกอาร์เดีย อหิวาต์ ชิเกลลา และอะมีบา เป็นต้น และยังเกิดจากเชื้อแบคทีเรียอีกหลายชนิด เช่น

1. สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส(Staphylococcusaureus) ทำให้เกิดฝีหนองตามผิวหนัง พบปนเปื้อนในอาหารจำพวกเนื้อ นม ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม ขนมปัง เชื้อนี้จะทนต่อความร้อน เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนพิษนี้เข้าไปแม้จะปรุงอาหารจนสุกแล้วก็จะทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งจะมีระยะฟักตัวของเชื้อ 1-8 ชั่วโมง ไม่มีไข้ อาการที่เด่นชัดคืออาการอาเจียน และมีปวดท้อง ท้องเดิน ร่วมด้วย หลังจากมีอาการมักจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง

2. บาซิลลัสซีเรียส(Bacillus cereus) ระยะฟักตัว 1-8 ชั่วโมง จะปล่อยพิษในอาหารและผลิตพิษหลังจากเข้าไปแบ่งตัวในลำไส้ เป็นชนิดที่ทนต่อความร้อนทำให้เกิดการอาเจียนเป็นอาการเด่น มักพบในผู้ป่วยที่กินข้าวผัดเก่าที่นำมาอุ่นใหม่รับประทาน และชนิดที่พบในอาการท้องเดินเป็นอาการเด่น ระยะฟักตัว 8-16 ชั่วโมง มักจะปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ ทั้งสองชนิดนี้มักหายได้เองภายใน 12 ชั่วโมงหลังมีอาการโดยไม่มีไข้

3. คลอสตริเดียมเพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridiumperfringens) ระยะฟักตัว 8-16 ชั่วโมง พบปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ เชื้อนี้จะปล่อยพิษในอาหารหารและผลิตพิษหลังจากเข้าไปแบ่งตัวในลำไส้ มักทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียนบ้างในบางราย ไม่มีอาการของไข้ มักหายได้เองใน 24 ชั่วโมง

4. อีโคไล (enterotoxic E. coli) ระยะฟักตัวของโรค 8-18 ชั่วโมง เชื้อจะแบ่งตัวในลำไส้แล้วผลิตพิษออกมา อาการเด่นคือถ่ายเป็นน้ำ และอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย ไม่มีไข้ หายได้เองใน 1-2 วัน มักพบปนเปื้อนในน้ำ เนื้อสัตว์ นม เนยแข็ง สลัด เป็นต้น

5. ซัลโมเนลลา (Sulmonella) เป็นแบคทีเรียสายพันธุ์เดียวกับเชื้อไทฟอด์ ระยะฟักตัว 8-48 ชั่วโมง อาการแสดงเมื่อเชื้อเข้าไปแบ่งตัวในลำไส้และผลิตพิษออกมาคือ ท้องเดิน มีไข้ต่ำๆ ถ่ายมีมูกเลือดในบางครั้ง มักหายได้เองใน 2-5 วัน หรือเรื้อรังถึง 10-17 วันในบางราย เชื้อมักปนเปื้อนอยู่ในเนื้อวัว เป็ด ไก่ ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักและผลไม้ เป็นต้น

6. วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส(Vibrio parahemolyticus) เป็นเชื้อสายพันธุ์เดียวกับอหิวาต์ ระยะฟักตัว 8-24 ชั่วโมงหรืออาจนานถึง 96 ชั่วโมง เชื้อจะอาศัยอยู่ในแพลงตอนและปนเปื้อนมากับอาหารทะเลพวกกุ้ง ปู หอยนางรม หอยแมลงภู่ เมื่อกินอาการแบบไม่สุกเชื้อจะแบ่งตัวในลำไส้และผลิตพิษออกมาทำให้มีอาการท้องเดิน อาเจียน และอาจมีไข้ร่วมด้วย อาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดในเวลาต่อมา อาการมักหายได้เองในเวลา 3-5 วัน

7. แคมไพโลแบกเตอร์เจจูไน(Campylobacterjejuni) ระยะฟักตัวของเชื้อ 3-5 วัน เชื้อจะแบ่งตัวในลำไส้เล็กและเข้าไปปล่อยพิษในเยื่อบุลำไส้ทำให้ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำมีกลิ่นเหม็น มีไข้ อาจถ่ายเป็นเลือดในเวลาต่อมา มักหายได้เองใน 5-8 วัน เชื้อนี้มักพบปนเปื้อนในน้ำ และเนื้อสัตว์ต่างๆ

อาการ
อาการอาหารเป็นพิษจากเชื้อต่างๆ มักจะคล้ายๆ กัน เช่น ปวดท้อง ปวดบิดเป็นพักๆ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นทันทีหลังกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ระยะฟักตัวของโรคและอาการโดดเด่นมักขึ้นอยู่กับเชื้อแต่ละชนิด ถ้าอาการไม่รุนแรงซึ่งโดยทั่วไปอาการต่างๆ มักจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 1 สัปดาห์ในบางราย

สิ่งตรวจพบ
อาหารเป็นพิษจากเชื้อบางชนิดอาจมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่ถ่ายหรืออาเจียนรุนแรงอาจตรวจพบภาวะขาดน้ำได้

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะขาดน้ำอาจรุนแรงถึงช็อก โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุซึ่งมักพบได้บ่อย

อาจพบภาวะโลหิตเป็นพิษในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ติดเชื้อซัลโมเนลลา

อาจเกิดเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ และโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน หากมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคตับแข็ง ในผู้ป่วยที่ติดเชื้วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส

อาจเกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองกลายเป็นกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เรได้ในรายที่ติดเชื้อแคมไพโลแบกเตอร์เจจูไน

การรักษา
1. ให้การรักษาแบบอาการท้องเดินทั่วไป ถ้ามีไข้ก็ให้ยาลดไข้ ถ้าอาการไม่รุนแรงซึ่งมักจะหายได้เอง

2. ควรนำผู้ป่วยส่งแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อในอุจจาระ และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ หากพบมีอาการถ่ายท้องและอาเจียนรุนแรง

3. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหากมีไข้ ถ่ายเป็นมูกเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด หรือสงสัยติดเชื้อซัลโมเนลลา หรือวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง

4. ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีอาการรุนแรง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะหากเกิดจากเชื้ออีโคไล ซัลโมเนลลา วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส แคมไพโลแบกเตอร์เจจูไน อหิวาต์ บิดชิเกลลา โดยให้นอร์ฟล็อกซาซิน ครั้งละ 400 มก. หรือโอฟล็อกซาซินครั้งละ 300 มก. หรือไซโพรฟล็อกซาซินครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน ซึ่งสามารถครอบคลุมเชื้อทั้งหมดได้ ไม่ควรใช้ยากลุ่มดังกล่าวในผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือหญิงตั้งครรภ์ แต่ควรใช้โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรมัยซิน หรือกลุ่มเซฟาโลสปอรินให้เหมาะกับเชื้อแต่ละชนิดนั้นๆ แทน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า