สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อุบัติภัยเกี่ยวกับสารพิษในประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของบทความนี้มุ่งที่จะสรุปประเด็น เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของสารพิษ สภาพปัญหาและผลกระทบของปัญหาสารพิษ ตลอดจนนโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันแก้ไขสารพิษประเภทต่างๆ ที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

1. ลักษณะทั่วไปของสารพิษ
สารพิษหรือสารเป็นพิษ หมายถึงแร่ธาตุหรือสารประกอบทางเคมีที่ เกิดขึ้นเองตามธรรมซาติ หรือสังเคราะห์ขึ้นและมีคุณสมบัติเป็นพิษต่อคน สัตว์ พืช และทรัพย์สิน เมื่อร่างกายได้รับสารเป็นพิษเข้าไว้แล้ว อาการเป็นพิษอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เรื้อรัง หรือไม่ปรากฏอาการอย่างใดในระยะแรก ต่อเมื่อพิษสะสมมากขึ้นแล้ว อาการเป็นพิษจึงแสดงออก

ผลจากความเป็นพิษนั้นทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในโครงสร้างของร่างกาย และหรือกระบวนการชีพววิทยา ความเป็นพิษมิได้จำกัดอยู่ เฉพาะผู้ที่ได้รับพิษเข้าไปโดยตรง อาการเป็นพิษอาจแสดงออกอย่างชัดแจ้งในลูกหลาน เช่น เกิดมีความพิกล พิการ ในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายๆ ส่วน เนื่องจากความเป็นพิษสามารถทำให้ลักษณะทางพันธุกรรมแปรเปลี่ยนไปในทางเสื่อม จึงทำให้ปรากฏลักษณะ และนิสัย อันไม่พึงประสงค์ในชั้นลูกหลาน และสืบทอดกันต่อไป สารเป็นพิษเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และสัตว์ โดยการบริโภค การสัมผัส และการหายใจ การ เข้าสู่ร่างกายของสารเป็นพิษนั้นอาจเกิดขึ้นได้ทั้งโดยตรง และทางอ้อม ทางตรง เกิดแก่ผู้ที่ใช้หรือสัมผัสกับสาร เป็นพิษโดยตรง ส่วนทางอ้อม เกิดจากพิษตกค้างในอาหาร และสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป

2. สภาพปัญหาสารพิษ
จากผลการตรวจวิเคราะห์โดยหลายหน่วยงานพบว่า ในสิ่งแวดล้อมมีสารเป็นพิษกระจายอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบวงจรอาหาร (Food Chain) ในธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์โดยทั่วไป ในที่นี้อาจกล่าวสารพิษออกได้เป็น 3 ประ เภทใหญ่ๆ ตามลักษณะการใช้คือ

1. สารพิษที่ใช้ในการเกษตรและการสาธารณสุข
2. สารเป็นพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรม
3. สารเป็นพิษที่ใช้ในครัวเรือน สำหรับเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคและสาธารณูปโภค

ประเด็นสำคัญของสารพิษแต่ละประเภทมีดังนี้
2.1 สารเป็นพิษที่ใช้ในการเกษตรและสาธารณสุข
สารพิษประเภทนี้ ใช้เป็นยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ศัตรูมนุษย์และศัตรูสัตว์ สารพิษประเภทนี้มีการสลายตัวได้ช้า พบตกค้างอยู่ในดิน ตะกอนดิน ในน้ำ ในสัตว์และพืชโดยเฉพาะที่เป็นอาหารของมนุษย์ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและอาจถึงแก่ชีวิต เนื่องจากพิษเฉียบพลันของผู้ที่ใช้สารเคมีประเภทนี้ในงานอาชีพ บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้แก่ เกษตรกรที่มีอยู่ประมาณ 80% ของประชากรทั่วประเทศ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุวัตถุมีพิษ และเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้อง

2.2 สารเป็นพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรม
1. จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า สารประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สังกะสี ทองแดง ฯลฯ ปะปนอยู่กับฝุ่นละอองในบรรยากาศทั้งภายนอกและภายในสถานประกอบการ บางชนิดอยู่ในนํ้า ในตะกอนดินสะสมอยู่ในสัตว์ ในพืช โดยเฉพาะที่เป็นอาหารของมนุษย์สะสมอยู่ในร่างกายของผู้ประกอบการและผู้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม

2. จากการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีการปนเปื้อนด้วยกลิ่น ไอระเหย แก๊ซ ฯลฯ ของสารเคมีบางชนิดในบรรยากาศของการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ไอระเหยของกรดในโรงงานล้างหม้อนํ้ารถยนต์ หรือส่วนเหลือจากขบวนการผลิต เช่น การทำโพลีไวนีลคลอด์ไรด์ (พีวีซี) จากไวนีลคลอไรด์โมโนเมอร์ (วีซี เอ็ม) จะมีวีซี เอ็มหลง เหลืออยู่ในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ได้สัมผัสอยู่เสมอ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นมะเร็ง

3. จากปัญหาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้มีการเจ็บป่วยของผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่บางอย่าง พบว่าใน 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2519 ได้มีการจ่ายเงินทดแทนให้แก่คนงาน 445 คนต่อเดือนคิดเป็นมูลค่าเดือนละ 2.29 ล้านบาท (จากรายงานของกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2519) นั้นจึงกล่าวได้ว่าสารพิษที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประ เภทได้เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยคุณภาพชีวิตของคนงานมามากพอสมควร

4. สารเป็นพิษจากโรงงานปิโตรเคมีคอล อันเกิดจากการเผาไหม้ของนํ้ามันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ของยานพาหนะ และจากโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทออกมาปนเปื้อนในอากาศ ในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร สารมลพิษเหล่านี้ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ไดออกไซด์ของกำมะถัน ไฮโดรคาร์บอน ตะกั่ว ฝุ่นละอองชนิดต่างๆ ทำให้เกิดมลพิษในอากาศมีผลเสียต่อสุขภาพและทำลายทรัพย์สิน

2.3 สารพิษที่ใช้ในครัวเรือนสำหรับอุปโภคบริโภคและสาธารณูปโภค
จากรายงานของกองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2516 – 2519) และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2520) พบว่า ได้มีการนำสาร เคมีมาใช้เกี่ยวกับเครื่องบริโภค อุปโภคให้ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้มากมายหลายชนิด กล่าวคือ

การใช้ผิดประ เภท เช่น ใส่สีลงในอาหารในปริมาณมากกว่าที่ได้กำหนดการใช้หรือปล่อยให้มีสิ่งเป็นพิษเจือปนอยู่ด้วย เช่น กรดที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมเปลี่ยนแป้งให้เป็นนํ้าตาล คือ กรดกำมะถัน และกรดอะซิติก มักจะมีโลหะหนัก เช่น ดีบุกสารหนู เจือปนอยู่ในปริมาณสูง หรือมีพิษตกค้างของยาฆ่าแมลงปนอยู่ในอาหารบางประเภทนํ้าที่ใช้เพื่อการบริโภคบางแห่งมีแมงกานีสเจือปนอยู่เกินมาตรฐานของการประปานครหลวงคือ 0.5 ส่วนในล้านส่วน

จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า จุลินทรีย์ และสารพิษที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นปนเปื้อนอยู่ในอาหารบางประเภทที่จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป เช่น พบ อะฟล้าท๊อกซินในถั่วลิสง ข้าวโพด และอาหารต่างๆ ซึ่งมาจากกถั่วลิสง นอกจากนี้ยังมีพิษจากสารกัมมันตภาพรังสีในการนำเอาสารกัมมันตภาพรังสี มาใช้ประโยชน์ทางงานวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การแพทย์ การทหาร และวิศวกรรมนั้น ปัญหาที่ติดตามมาได้อย่างหนึ่ง คือการรั่วไหลของรังสี จากสารกัมมันตภาพรังสีสู่สภาพแวดล้อมอาหาร และบุคคล เนื่องจากการเก็บ การที่ใช้แล้วไม่ถูกต้อง ช่วงระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องรับรังสีนานเกินกำหนด เกิดอุบัติเหตุ หรือปนกับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม

3. ผลกระทบของปัญหาสารพิษ
ปัญหาสารพิษดังกล่าวข้างต้น ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายหลายประการมีผลต่อสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศ ก่อให้เกิดผลเสีย เชิงเศรษฐกิจ-สังคม และส่งผลร้ายหรือก่อให้เกิดอุบัติภัยต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้และสังคมโดยส่วนรวมด้วย

สารพิษทางด้านการเกษตรและสาธารณสุข เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผล เสียหายต่อชีวิตร่างกายของเกษตรกรผู้ให้สารพิษ  จากการศึกษาพบว่าสัตว์เล็กๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการฉีดพ่นยาได้สูญหายไปจากพื้นที่เหล่านี้ เช่น ตัวหํ้า ตัวเบียฬ หอย ปูนา หนูนา และนกบางชนิด ที่อาศัยสัตว์เล็กๆ แมลงและพืชในบริเวณเหล่านั้นเป็นอาหารจะได้รับพิษยาตามระบบวงจรอาหารในธรรมชาติ

จากการศึกษาพบว่าไส้เดือนดินและจุลินทรีย์บางชนิดที่ช่วยให้ความสมบูรณ์แก่ดินมักจะถูกทำลายเพราะพิษยา ความร่วนซุยของดินสูญเสียไป ขาดปุ๋ยตามธรรมชาติทำให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ พบว่าแมลงเศรษฐกิจและแมลงที่เป็นสัตว์ของแมลงศัตรูพืชพลอยถูกทำลายไปด้วย ไม้ผลบางชนิดลดปริมาณลง หรือไม่ให้ผลเพราะแมลงผสมเกษรพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ถูกทำลาย ดังตัวอย่าง เช่น สวนมะม่วงที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี พิษตกค้างของออร์แกนโนคลอรีน คอมพอวด์ ได้แพร่กระจายสู่ดิน น้ำ อากาศ จากการสำรวจได้พบพิษตกค้างอยู่ในดินตัวอย่างจากจังหวัดต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เกษตรกร นอกจากนั้นยังพบในตะกอนดิน ในอ่าวไทย ในสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ปีกด้วย ถ้าหากปล่อยให้พิษตกค้างทวีมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม ก็อาจทำลายชีวิตสัตว์บก สัตว์นํ้าและเข้าสู่สัตว์ใหญ่ ตามระบบวงจรอาหาร ซึ่งจะทำให้สัตว์บางชนิดมีจำนวนลดลง หรือสูญพันธุ์และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับสารพิษที่ใช้อุตสาหกรรมพบว่ามีสารประกอบของโลหะหนักได้กระจายสู่สภาพแวดล้อม อันเป็นการทำลายระบบนิเวศในลักษณะ เดียวกับสารเคมีที่ใช้ในงานเกษตรและสาธารณสุข สารกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกสู่ภายนอกจะเข้าปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ในนํ้าและจะเข้าสู่ระบบวงจรอาหาร ซึ่งสามารถทำลายระบบนิเวศได้ สุขภาพอนามัยของผู้ประกอบการและประชาชนโดยทั่วๆ ไปจะเสื่อมโทรมลงเนื่องจากพิษของสารต่างๆ ทั้งที่เห็นได้ชัดในระยะสั้นและเป็นผลทางอ้อมในระยะยาว จึงเกิดผลเสียทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

จากสภาพปัญหาสารพิษและผลกระทบของปัญหาสารพิษดังกล่าวข้างต้น เราอาจสรุปถึงสาเหตุสำคัญๆ ของการก่อปัญหาได้ดังนี้

1. สารเป็นพิษที่ใช้ในการเกษตรและสาธารณสุข ปริมาณของสารเป็นพิษที่นำมาใช้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสาธารณสุข ดังจะเห็นได้จากในช่วงปี พ.ศ. 2515 – 2519 ได้มีการนำสารเป็นพิษชนิดมีพิษตกค้างนาน (ออร์แกนโนคลอรีน คอมพาวด์) เข้าประเทศปีละประมาณเทียบเท่ากับ 2.6 ล้านกิโลกรัมของสารออกฤทธิ์บริสุทธิ์

2. ผู้นำสารเป็นพิษมาใช้ทั้งในวงการอุตสาหกรรมและการเกษตร ส่วนใหญ่จะยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในคุณสมบัติของความเป็นพิษของสารเคมีที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยได้ดีพอ ตลอดจน วิธีการเก็บรักษาสารเคมีที่เหลือใช้ และวิธีทำลายภาชนะบรรจุที่ถูกต้องดังนั้นจึงไม่มีความรอบคอบระมัดระวังที่ดีพอ จึงส่งผลเสียต่อประชาชนผู้ใช้สารพิษ

3. ยังมิได้มีการให้การศึกษาแก่ประชาชนทังในระบบและนอกระบบการศึกษาอย่างเพียงพอ ในเรื่องของประโยชน์และโทษของสารเป็นพิษต่างๆ ตลอดจนวิธีการป้องกันมิให้เกิดโทษอย่างเพียงพอจนเกิดเป็นความตระหนัก ความมีสามัญสำนึกระมัดระวังการใช้สารพิษอย่างรอบคอบ

4. สำหรับสารเป็นพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรม คนงานไม่รู้ว่าตนกำลังปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเป็นพิษที่สามารถให้โทษต่อสุขภาพอนามัยของตัวเองและผู้ร่วมงานอื่นๆ ได้ หรือมีความรู้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ขาดความระมัดระวังอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น เนื่องจากพิษของสารเคมี ก็เข้าใจว่า เป็นการเจ็บป่วยธรรมดา

ส่วนเจ้าของโรงงานละเลยที่จะปรับปรุงรักษาสภาพแวดล้อมของโรงงานและสภาพนวดล้อมของการทำงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ปัญหาลักษณะเช่นนี้มักพบในโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งมีการลงทุนตํ่ามากกว่าโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีการลงทุนสูง

5. หน่วยงานรับผิดชอบ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมบางประ เภท ทำให้กฎ เกณฑ์มาตรฐานและมาตรการควบคุมสารพิษบางอย่างที่รัฐกำหนดขึ้นครอบคลุมไปไม่ถึง

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและปฏิบัติงานควบคุมสารพิษขาดกำลังเจ้าหน้าที่ที่จะออกปฏิบัติงานได้ทั่วถึง อัตราส่วนของเจ้าพนักงานสำรวจกับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมและคนงานไม่สมดุลกัน ขาดการสนับสนุนหน่วยงานที่จะดำเนินงานด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้ประกอบ การให้ปฏิบัติงานได้อย่างจริงจังและทั่วถึง การประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เพียงพอขาดการ เร่งรัดให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย

6. สำหรับสารพิษที่ใช้ในครัวเรือนโดยพบในเครื่องอุปโภค บริโภค และสาธารณูปโภค สาเหตุสำคัญจะเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จำหน่าย โดยผู้ผลิตจะต้องการลดต้นทุนการผลิต ได้พยายามหลีกเลี่ยงกฎข้อบังคับที่กำหนดไว้ ผู้ผลิตขาดความรู้ว่าสารที่เอามาใช้นั้นเป็นพิษ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ขาดกำลังเจ้าหน้าที่จะตรวจตราควบคุมดูแลให้ทั่วถึง และยังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่าง เพียงพอ ต่อการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้บริโภคเท่าที่ควร

7 . ในด้านพิษจากสารพิษจากกัมมันตภาพรังสี ได้มีการนำกัมมันตภาพรังสีมาใช้อย่างแพร่หลาย คือ ทางการแพทย์ใช้เพื่อตรวจบำบัดและรักษา ทางการเกษตรเพื่อการเก็บรักษาผลผลิตไว้ได้นาน และหรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพันธุ์พืชให้ดีขึ้น ทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมไม้อัด อุตสาหกรรมแก้ว อุตสาหกรรมเครื่องอีเล็กทรอนิค อุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้า ฯลฯ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพของผลผลิตหรือเป็นเครื่องควบคุม หรือตรวจสอบมาตรฐานของผลผลิต ฯลฯ แต่ขาดการตรวจสอบผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำมาใช้

4. นโยบายและมาตรการด้านการควบคุมสารพิษ
เพื่อเป็นการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และป้องกันสุขภาพอนามัยของประชากรให้พ้นภัยจากสารเป็นพิษ รัฐจึงได้กำหนดนโยบายและมาตรการด้านสารเป็นพิษไว้ดังนี้

4.1 นโยบายสารพิษ
1. เร่งรัดให้มีการศึกษาและติดตามภาวะของสารเป็นพิษทุกชนิดในขั้นพื้นฐานอย่างละเอียดถี่ถ้วน

2. ส่งเสริมส่วนราชการและชักชวนภาคเอกชนที่ควรจะร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการใช้สารเป็นพิษให้หมดไป ได้ร่วมกันปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

3. ให้ความสนับสนุนทางด้านกำลังคน และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงานตลอดจนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานให้พอเพียงแก่การป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันการ

4. ให้ความรู้แก่ประชาชนตั้งแต่เยาว์วัย บ่อยครั้งจนตระหนักถึงประโยชน์และโทษของการใช้ และผลเสียที่สารเป็นพิษมีต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

4.2 มาตรการทั่วไปเที่ยวกับสารพิษ
สำหรับมาตรการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวมีมาตรการทั่วไป ดังนี้

1. กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในงานสารเป็นพิษแต่ละด้าน ทำการสำรวจภาวะของสารเป็นพิษในความรับผิดชอบให้กว้างขวางที่สุดทั้งนี้รวมถึงสถาบันการศึกษาและส่วนราชการอื่นใดที่ทำงานด้านวิจัยและตรวจสอบหาสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งและสารก่อกลายพันธุ์ที่จะมีผลต่อประชากร

2. วางระเบียบในการเก็บรวบรวมข้อมูลขั้นพื้นฐานให้อยู่ในระบบ เดียวกัน เพื่อให้เหมาะสม ที่จะใช้ในการศึกษาสภาพของปัญหา

3. ศึกษา ทบทวนกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ที่จะนำมาบังคับให้เหมาะสมต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป

4. กำหนดกลวิธีที่จะให้กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

4.3 มาตรการเฉพาะเกี่ยวกับสารพิษ
นอกจากนี้รัฐยังได้กำหนดมาตรการเฉพาะสำหรับควบคุมสารพิษไว้ดังนี้

สารเป็นพิษที่ใช้ในงานเกษตรและสาธารณสุข

1. ศึกษา ทบทวนกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม เพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมจากการปนเปื้อนของสารเป็นพิษ โดย

-วางมาตรการให้มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เกี่ยวกับการสั่งเข้า การผลิต การบรรจุ การจำหน่าย การซื้อและการเก็บรักษา ซึ่งวัตถุมีพิษ

-กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการใช้วัตถุมีพิษทุกชนิดโดยเฉพาะวัตถุมีพิษที่สลายตัวได้ช้าในธรรมชาติ ตลอดจนการทิ้งภาชนะที่เคยใช้บรรจุ

-กำหนดมาตรการสำหรับทดสอบสารเคมีชนิดใหม่ ก่อนนำออกใช้ในด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย

2. ให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับประโยชน์ โทษ การใช้ ผลต่อสุขภาพอนามัยและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทางสื่อมวลชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานของส่วนราชการที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องและเอกชน

3. ส่งเสริมการวิเคราะห์ วิจัย สารเป็นพิษและสิ่งเกี่ยวเนื่องกับสารเป็นพิษ

-ตั้งศูนย์เอกสาร ข้อมูล ของสารเป็นพิษ เพื่อรวบรวมเอกสารข้อมูลทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูล เอกสารระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและประเทศอื่นๆ

-ส่งเสริมให้หน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับสารเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ตลอดจนวิธีแก้ไข ให้สามารถดำเนินงานได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยสนับสนุนทางกำลังคนกำลังเครื่องมือ

สารเป็นพิษที่พบในเครื่องบริโภค อุปโภค และสาธารณูปโภค

1. กำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารตกค้าง (MRL = Maximum Residue Limit) ในพืชเศรษฐกิจ ตลอดจนเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภค

2. ส่งเสริมส่วนราชการและภาคเอกชนที่ทำงานด้านตรวจสอบคุณภาพอาหารให้สามารถทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

3. ให้อำนาจและหน้าที่แก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพอาหารให้สามารถควบคุมผู้ผลิตให้ทำตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ตลอดจนสามารถยับยั้งการละเมิดได้อย่างจริงจัง

4. ทบทวนพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหาร และกฎกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมให้เหมาะสมแก่กาลสมัย

5. ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอาหาร ให้รู้จักลักษณะและชนิดอาหารที่ผิดมาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะและวิธี เลี่ยงที่จะไม่ใช้โดยการ เผยแพร่ทางสื่อมวลชนของทางราชการและภาคเอกชนอย่างชัดแจ้ง ไม่คลุมเครือ

สารเป็นพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรม

1. กำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำรายงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของคนงาน ได้แก่

-มาตรฐานอากาศในโรงงานแต่ละประเภท รวมทั้งในเหมืองแร่

-มาตรฐานควันพิษ ฝุ่นละออง ของสารเคมีสู่บรรยากาศและมาตรฐานนํ้าทิ้งโดยเฉพาะค่าความเข้มข้นของโลหะหนักที่เจือปน

-มาตรฐานคุณภาพของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานแต่ละชนิด
-มาตรฐานทางสุขภาพอนามัยของคนงาน ได้แก่ การกำหนดปริมาณสารเป็นพิษในร่างกาย ซึ่งเป็นดัชนีชี้บอกสภาพความเจ็บป่วย และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการให้บริการทางด้านสุขาภิบาล แก่คนงานที่ทำงานภายในโรงงานหรือภายในเหมืองแร่ ฯลฯ

2. กำหนดย่านโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสะดวกแก่การควบคุมการทำงานของโรงงานและเพื่อผลในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

3. ส่งเสริมการศึกษาหางด้านพิษวิทยา ในระดับอุดมศึกษาและในทุกระดับ สำหรับผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

-ระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันสุขภาพอนามัยของคนงาน และป้องกันรักษาสภาพแวดล้อมจากสารเป็นพิษเหล่านี้

-ระดับเจ้าของและผู้บริหารในโรงงาน หรืออาชีพที่คล้ายคลึงเพื่อความรับผิดชอบต่อคนงานและต่อสังคมภายนอก

-ระดับคนงาน เพื่อรู้จักรักษาสุขภาพอนามัยของตัวเองและผู้ร่วมงาน

4. ศึกษาทบทวนกฎหมาย ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองสภาพแวดล้อมและคนงาน และแก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่ขาดตกบกพร่องให้เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน

5. จัดตั้งสถานรักษาพยาบาล เฉพาะ คือ โรคแพ้พิษสารเคมีหรือโลหะ เป็นพิษโดยเร่งด่วน เพื่อคนป่วยจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

6. ให้การสนับสนุนแก่ส่วนราชการ หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบควบคุมโรงงาน และสำรวจให้ความคุ้มครองแก่คนงานและสุขภาพอนามัยของคนงานโดย

-เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่
-ส่งเสริมยกระดับความรู้ความสามารถของ เจ้าหน้าที่
-ปรับปรุงขีดความสามารถและเครื่องมือ เครื่องใช้ในการปฏิบัติงานตรวจสอบ

7. กำหนดมาตรการสำหรับการประสานงานของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฯลฯ

พิษจากสารกัมมันตภาพรังสี

1. สำรวจความเข้มข้นของสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศ และแหล่งนํ้าตามบริเวณต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ จะเป็นสื่อนำสารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่สภาพแวดล้อม

2. ศึกษาลักษณะทางรังสีนิเวศวิทยารอบๆ บริเวณที่มีการใช้รังสี เช่น โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

3. สำรวจสารกัมมันตภาพรังสีในผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารกัมมันตภาพรังสี

4. กำหนดมาตรการป้องกัน เฉพาะเรื่อง

จากสภาพปัญหาสารพิษและผลกระทบจากอุบัติภัยสารพิษที่มีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปดังกล่าวข้างต้น สนง.คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ได้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมประสานการดำเนินงานทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการ เพื่อควบคุมป้องกันอุบัติภัยจากสารพิษให้ประชาชน และสังคมโดยส่วนรวมมีความปลอดภัยจากการใช้สารพิษ กปอ. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักต่อปัญหา และ ผลกระทบของสารพิษที่มีต่อชีวิต และสุขภาพอนามัย เพื่อให้ประชาชนได้มีความระมัดระวังรอบคอบในการใช้สารพิษในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

ที่มา:ศ.นพ.วิจิตร  บุณยะโหตระ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า