สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การทะเลาะกันระหว่างพี่น้องในเด็ก

Girl Jealous of Mother and Sister

อิจฉาพี่น้อง (Sibling rivalry)
หมายถึง การอิจฉาและทะเลาะกันระหว่างพี่น้อง ซึ่งมักจะเป็นปัญหาของสัมพันธภาพระหว่างพี่น้อง และหรือผู้ปกครองกับเด็กคนนั้น ถ้าเป็นมากอาจทำให้กระทบกระเทือนไปถึงสัมพันธภาพกับบุคคลภายนอกด้วย

สาเหตุ
มักจะมีปัญหาจาก

1. ผู้ปกครอง
บิดามารดาแสดงความรักหรือสนใจเด็กน้อยลง หรือน้อยกว่าพี่หรือน้อง อาจโดยการพูด เช่น “ไม่รักแล้ว รักน้องมากกว่า” หรือโดยการแสดงทางพฤติกรรมอื่นๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ

2. เด็กที่อิจฉา
จะรู้สึกไปเองว่า บิดามารดารักเขาน้อยลง เพราะรู้สึกสูญเสียความรักหรือความเป็นหนึ่งไป ทำให้คิดว่าน้องหรือพี่เป็นสาเหตุที่แย่งความรักความสนใจของบิดามารดาไปจากเขา

3. พี่หรือน้องที่ถูกอิจฉา
มักชอบมาแย่งของเล่นหรือเป็นต้นเหตุให้เขาถูกทำโทษ

อาการแสดง
อาจแสดงออกได้หลายรูปแบบ

ปัญหาทางพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมถดถอยไปเหมือนเด็กเล็กติดมารดามากขึ้น แกล้งน้อง ทุบตีหยิกน้อง ทำให้น้องร้องไห้

ปัญหาทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย งอแงมากขึ้น
ปัญหาทางกาย เช่น ปัสสาวะรดที่นอน ปัสสาวะบ่อยๆ  ปัญหาการกินการนอน

การวินิจฉัย
อาศัยประวัติและอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น ควรเน้นถึงวิธีแก้ปัญหาที่บิดามารดา โดยเฉพาะวิธีการที่ปฏิบัติต่อเด็ก

การรักษา
1. ชี้แจงอธิบายให้บิดามารดาเข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาธรรมดาที่จะเกิดขึ้นกับทุกครอบครัว ที่สำคัญคือการเข้าใจและปฏิบัติต่อเด็กให้ถูกวิธี จะช่วยลดหรือควบคุมความอิจฉาของเด็กได้

2. ขณะมารดาตั้งครรภ์ต้องเตรียมตัวเด็กให้พร้อม

3. เมื่อมีน้องแล้วควรพยายามรักษาสัมพันธภาพระหว่างผู้ปกครองและเด็กให้สม่ำเสมอ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงหรือพูดดังนี้
-สนใจน้องจนไม่มีเวลาให้เขาเลย หรือทำให้เขารู้สึกว่าได้รับความ สนใจน้อยลง
-เปรียบเทียบน้องดีกว่าเขา
-พูดขู่ จะไม่รักเด็กหรือจะรักน้องมากกว่า
-ไม่บังคับให้พี่ต้องยอมน้องเสมอ

แต่ควรสนับสนุนเด็กดังนี้
-ให้เด็กมีส่วนเป็นเจ้าของน้อง ให้ช่วยหยิบของให้น้องและชมเชยเมื่อ เด็กทำดี

-ให้ความเป็นธรรมมากที่สุด ถ้าทะเลาะกันควรแยกจากกัน ถ้าตัดสินไม่ ได้ ให้ระวังการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้บิดามารดาเป็นเครื่องมือในการตัดสินปัญหา เพื่อเอาชนะอีกฝ่าย ทำให้เสียความเป็นธรรม

-ให้ชื่นชมกับความเป็นพี่ของเด็ก ซึ่งจะมีสิทธิหลายๆ อย่างที่ดีกว่าน้อง เช่น ได้ขนมมากกว่า เพราะตัวโตกว่า ได้ค่าอาหารไปโรงเรียนมากกว่า

-ส่งเสริมในความรับผิดชอบของเด็กในฐานะพี่

-ช่วยเด็กในการควบคุมการแสดงอาการที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง โดย ปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง ให้แสดง aggression ไปในรูปของการกีฬาเสีย

ถ้าเด็กมีปัญหามาก หรือมีปัญหาในหลายด้านของพัฒนาการต่างๆ ควรส่งปรึกษาจิตแพทย์

ที่มา:ปิยาณี  ชัยวัฒนพงศ์
ชาญวิทย์  เงินศรีตระกูล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า