สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาหารไม่ย่อย(Dyspepsia)

เป็นอาการไม่สบายท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อาเจียน เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังอาหาร จะมีอาการบริเวณระดับเหนือสะดือ ไม่มีอาการปวดท้องบริเวณส่วนใต้สะดือ การขับถ่ายยังเป็นปกติ พบได้ในคนทุกวัย อาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรังจากสาเหตุหลากหลายตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรงร้ายแรง ความผิดปกติอาจอยู่ทั้งในและนอกกระเพาะลำไส้อาหารไม่่ย่อย

สาเหตุ
อาหารไม่ย่อยมิได้เป็นโรคจำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นอาการแสดงของโรค ซึ่งมีสาเหตุได้ต่างๆ ได้แก่

1. สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดก็คือ อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก หรืออาจสัมพันธ์กับฮอร์โมนความเครียดทางจิตใจ อาหาร หรือกรรมพันธุ์ เป็นต้น และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

2. โรคแผลเพ็ปติก กระเพาะอาหารอักเสบ

3. โรคกรดไหลย้อน

4. เกิดจากแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน หรือเกิดจากยา เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ สตีรอยด์ ยาเม็ดโพแทสเซียมคลอไรด์ เตตราไซคลีน อีริโทรไมซิน เฟอร์รัสซัลเฟต ทีโอฟิลลีน เป็นต้น

5. โรคของถุงน้ำดี โรคตับและตับอ่อน เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง นิ่วน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

6. เกิดจากมะเร็ง ซึ่งมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไปเช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ เป็นต้น

7. ภาวะกระเพาะอาหารขับเคลื่อนตัวช้า มีอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารนาน เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม มีแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

8. จากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกังวล โรคซึมเศร้า โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น

อาการ
รู้สึกปวดและไม่สบายท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ จุกเสียด ท้องอืดเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างกินข้าวหรือหลังอาหาร

อาจมีประวัติจากการใช้ยา ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน มีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ

ในรายที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการเรอเปรี้ยว แสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงลำคอ เป็นมากขึ้นเมื่อก้มตัวหรือนอนราบ

ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก มักมีอาการแสบท้องเวลาหิวและหิวก่อนเวลา ปวดท้องตอนดึก อาการจะทุเลาลงเมื่อกินยาลดกรด ดื่มนม กินอาหารอาการนี้มักเป็นๆ หายๆ ได้บ่อย

ในรายที่เป็นโรคตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน มะเร็งในช่องท้อง จะมีอาการแบบอาหารไม่ย่อยหรือแผลเพ็ปติก ในระยะแรกๆ และจะรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ดีซ่าน หรือถ่ายดำในเวลาต่อมา

ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด มักพบในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง จะมีอาการจุกแน่นยอดอก และปวดร้าวไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่

สิ่งตรวจพบ
ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลควรต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดเสียก่อน

อาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ฝ่ามือแดงผิดปกติ จุดแดงรูปแมงมุมถ้าเป็นโรคตับหรือถุงน้ำดี

อาจคลำได้ตับโต มีก้อนในท้อง มีภาวะซีดถ้าเป็นมะเร็ง

มักจะตรวจไม่พบอะไรในผู้ที่เป็นอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล นอกจากอาการท้องอืด มีลมในท้องเคาะเกิดเสียงโปร่ง

การรักษา
1. ให้กินยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ถ้ามีลมในท้องหรือเรอ หรือให้ยาต้านกรดที่มีไซเมทิโคนผสม ในเด็กให้กินไซเมทิโคน 0.3-0.6 มล. ผสมน้ำ 2-4 ออนซ์ หรือใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ทาหน้าท้อง หากยังไม่ได้ผลหรือคลื่นไส้ อาเจียนให้เมโทโคลพราไมด์ หรือดอมเพอริโดน ก่อนอาหารทุกมื้อ และให้ไดอะซีแพมถ้ามีความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ  ถ้าอาการดีขึ้นให้กินยาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุของโรค

2. ถ้ามีอาการแสบท้องในตอนดึกหรือเวลาหิว มีอาการจุกเสียดหลังอาหาร เรอเปรี้ยว มีประวัติกินยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ดื่มแอลกอฮอล์ควรให้ยาต้านกรดร่วมกับยาลดกรด เช่น รานิทิดีน หลังจากกินยาได้ 2-3 ครั้งแล้วอาการทุเลาลงควรกินต่อไปต่อให้ครบ 2 สัปดาห์และควรกินยาต่อไปนาน 8 สัปดาห์แม้จะรู้สึกหายดีแล้ว เพื่อครอบคลุมโรคแผลเพ็ปติกที่เป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อย

ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม
-กินยาต้านกรดและยาลดกรด 2-3 ครั้งแล้วยังไม่ทุเลาลง หรือกินยาจนครบ 2 สัปดาห์แล้วอาการทุเลาลงเพียงเล็กน้อย หรือหลังกินยาครบ 8 สัปดาห์แล้วเกิดอาการกำเริบซ้ำ
-มีอาการเบื่ออาหาร กลืนลำบาก น้ำหนักลด ซีด ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต คลำได้ก้อนในท้อง อาเจียนรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
-ถ้าสงสัยว่าจะเป็นนิ่วน้ำดี หรือโรคหัวใจขาดเลือด
-โรคนี้มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แพทย์อาจทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์กระเพาะลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ เพื่อหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ข้อแนะนำ
1. มีโรคหลายอย่างที่อาจมีอาการคล้ายกับอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลหรือแผลเพ็ปติก และโรคกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในคนอายุ 40 ปีขึ้นไปอาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งในช่องท้อง นิ่วน้ำดี โรคหัวใจขาดเลือด โรคกรดไหลย้อน แพทย์จึงควรซักถามอาการและตรวจอย่างละเอียด

2. ผู้ป่วยอาหารไม่ย่อยควรปฏิบัติดังนี้
-งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ช็อกโกแลต น้ำอัดลม หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอย์ ยาสตีรอย์ ยาแอสไพริน ยาแอนติสปาสโมดิก ทีโอฟิลลีน เป็นต้น
-ไม่กินอาหารรสจัด อาหารมัน ของดอง อาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารประเภทย่อยยาก ควรกินอาหารเย็นก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป และกินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ
-อย่ากินอาหารจนอิ่มเกินไป เคี้ยวอาหารให้ละเอียดอย่ารีบเร่ง
-อย่ารัดเข็มขัดแน่น ก้มงอตัว หรือนอนหลังจากกินอาหารอิ่มๆ
-ควรลดน้ำหนักเมื่อน้ำหนักตัวเกิน
-ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ ภาวนา หรือดูภาพยนตร์ ฟังเพลง เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ทำงานอดิเรกหาความบันเทิงใจ หากเกิดอาการเครียด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า