สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาหารต่อต้านโรคมะเร็ง(Anti-Cancer Diet)

การจัดทำข้อมูลเผยแพร่ในเชิงแนะนำเกี่ยวกับ “อาหารป้องกันโรคมะเร็ง” หรือ “อาหารต่อต้านโรคมะเร็ง” ของสมาคมโรคมะเร็งอเมริกัน(American Cancer Society) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ(National Cancer Institute) และสถาบันการวิจัยมะเร็งของอเมริกา(American Institute for Cancer Research) ต่างก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

สถาบันเหล่านี้เป็นที่รวมของนักวิจัยนานาชาติ และเป็นองค์การการศึกษาที่ไม่ได้หวังผลกำไร สถาบันรวมทั้งบุคลากรในหน่วยธุรกิจนี้จึงมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจด้านอาหารและยาเพื่อป้องกันและรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไป

พื้นฐานคำแนะนำเรื่องอาหารที่ว่านี้จึงมาจากข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของอเมริกัน ที่ได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับนิสัยในการกินของคนทั่วโลก รวมทั้งหลักฐานเกี่ยวกับอิทธิพลของอาหารและโภชนาการที่มีผลต่อการทำให้เกิดโรคมะเร็ง

แต่คำแนะนำก็มิได้ค้ำประกันว่า เมื่อปฏิบัติตามแล้วจะป้องกันโรคมะเร็งได้แน่นอน ซึ่งโรคนี้ยังเป็นโรคลึกลับมีหลายรูปแบบที่ยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ เนื่องจากความซับซ้อนทางชีวเคมีของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนและแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัจจัยความผันแปร เช่น วัย เพศ น้ำหนัก พันธุกรรม สิ่งแวดล้อมและประวัติสุขภาพในอดีต ซึ่งมีความซับซ้อนเกินกว่าจะให้การยืนยันดังกล่าวได้

มีการประเมินของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาว่า อาจมีความเกี่ยวพันกับสิ่งที่คนเรารับประทานมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานที่ทำให้เกิดความตายจากโรคมะเร็งประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด โรคมะเร็งไม่ได้เกิดขึ้นมากะทันหัน แต่จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นโดยช้าๆ ในขั้นตอนที่ต่างกัน ในบางขั้นตอนก็สามารถแก้ไขได้ ซึ่งการพัฒนาของมะเร็งในหลายๆ ขั้นตอน หรืออาจเกือบทุกขั้นตอนสามารถหยุดการก่อตัวได้ด้วยชนิดของอาหารที่กิน นับตั้งแต่ร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งเข้าไปในระยะเริ่มแรกจนถึงขั้นเนื้องอกโตขึ้นทีละน้อยอย่างช้าๆ ซึ่งอาจกินเวลานาน

การป้องกันโรคมะเร็งสามารถใช้อาหารและโภชนาการได้สองทางคือ
1. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่รู้ว่ามีสารก่อมะเร็งอยู่ หรือบริโภคในปริมาณที่น้อย รวมถึงอาหารชนิดที่จะทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตและทวีจำนวนมากขึ้นหากบริโภคเป็นเวลานาน

2. บริโภคอาหารที่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตามธรรมชาติให้มากขึ้น รวมถึงอาหารที่ช่วยทำลายสารก่อมะเร็งด้วย

คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องอาหาร
-ลดการบริโภคไขมันลง โดยเฉพาะไขมันชนิดอิ่มตัว
-ลดอาหารหมักดอง อาหารรมควันและอาหารที่ใส่สารไนเตรท เช่น หมูเบคอน หมูแฮมรมควัน เนยแข็ง อาหารทะเล เนื้อเค็ม เนื้อปรุงสำเร็จรูปชนิดต่างๆ เป็นต้น
-รับประทานพืชตระกูลถั่ว ผลไม้และผักชนิดต่างๆ ที่มีเส้นใยสูง
-รับประทานผักใบเขียวแก่ ผักสีแดง เหลืองและส้มกับผลไม้ชนิดต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม รวมทั้งน้ำคั้นจากมัน ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซี และสารเบต้าแคโรทีน
-ควรรับประทานพืชผักตระกูลกะหล่ำปลี
-ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือบริโภคได้เพียงเล็กน้อย

ข้อแนะนำอื่นๆ
-ไม่ควรสูบบุหรี่
-ไม่ควรบริโภคน้ำตาลทรายขาวและโซเดียมมากเกินไป
-ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำหนักตัวเกินกว่าปกติ 40% หรือมากกว่านั้น
-ควรออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหมจนเกินไป

หากได้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว โอกาสที่จะหลีกเลี่ยงโรคมะเร็งมีจะมีมากขึ้น และอาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคอื่น เช่น โรคหัวใจและเบาหวานได้ด้วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

สถาบันวิจัยโรคมะเร็งของอเมริกัน ได้รายงานย้ำว่า มีอาหารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นอีก และคำแนะนำได้ทำขึ้นเพื่อคนทั้งในประเทศที่มั่งคั่งและยากจน เกี่ยวกับอาหารและลักษณะการดำเนินชีวิตทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศด้อยพัฒนา

ได้มีการจัดประเภทหลักฐานที่บอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับมะเร็งเป็น 4 พวก ตามลำดับความน่าเชื่อถือจากมากไปหาน้อยของคณะกรรมการที่มี ดร.จอห์น ดี. พ็อตเทอร์ แห่งศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรด ฮัตชินสันในซีแอ็ทเทิลเป็นประธาน ดังนี้
1. หลักฐานประเภทที่เชื่อถือได้
2. หลักฐานประเภทที่น่าจะเป็น
3. หลักฐานประเภทที่เป็นไปได้
4. หลักฐานประเภทที่ยังไม่มีมูลเพียงพอ

ตัวอย่างเช่น อาหารที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่-ลำไส้ตรง น่าจะเป็น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ แต่หลักฐานที่เชื่อมโยงระหว่างอาหารเนื้อกับมะเร็งเต้านมและต่อมลูกหมากเป็นหลักฐานในประเภท เป็นไปได้ เท่านั้น

มีคำแนะนำที่ระบุชัดเจนของสถาบันวิจัยโรคมะเร็งของอเมริกันว่าไม่ควรรับประทานเนื้อ หรือหากจะรับประทานก็ให้จำกัดการบริโภคเนื้อแดงไม่ให้เกินวันละ 85 กรัม หรือเลือกรับประทานปลา เนื้อสัตว์ปีกและเนื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งธรรมชาติแทนสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอุตสาหกรรม ก็จะเป็นการดีกว่า

คำแนะนำในเรื่องไขมันและน้ำมันได้กำหนดให้รับประทานไขมันในปริมาณที่ให้พลังงานระหว่าง 15-30%ของพลังงานทั้งหมดที่ได้จากอาหาร ซึ่งบางคนก็มีข้อขัดแย้งว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ หรือ น่าจะเป็นไปได้ ที่บอกว่า ไขมันในอาหารเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

แม้โดยทั่วไปจะมองว่าไวน์และเหล้าองุ่นไม่มีอันตราย หรือเป็นอาหารสุขภาพช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่รายงานของสถาบันวิจัยระบุชัดเจนว่า ไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือควรจำกัดไม่ให้เกิน 2 หน่วยอาหารต่อวัน และ 1 หน่วยต่อวัน สำหรับผู้หญิง หากต้องการบริโภค

หน่วยอาหาร สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายถึง “ดริ๊งค์”(drink) คือ เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เท่ากับไวน์ 1 แก้วหรือเบียร์อย่างอ่อน 1 กระป๋อง

เรื่องผลิตภัณฑ์นมไม่มีคำแนะนำระบุไว้ในรายงานนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอที่จะเชื่อมโยงอาหารนมให้เป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งขึ้น

ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับผักและผลไม้ว่า ควรรับประทานผักและผลไม้สดให้มาก ประมาณวันละ 425-850 กรัม ธัญพืชและถั่วประมาณ 20-30 ออนซ์ ส่วนเกลือควรจำกัดการบริโภคไม่ให้เกินวันละ 6 กรัม

วงการแพทย์ของอเมริกันได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับน้ำหนักไว้ชัดเจนว่าควรจะมีน้ำหนักเท่าไรถ้ามีความสูงอยู่ในระดับนี้ โดยได้แบ่งประเภทของโครงสร้างทางร่างกายและเพศเอาไว้ ซึ่งน้ำหนักในอุดมคติควรอยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ควรให้มากหรือน้อยเกินมากกว่า 20% และถือได้ว่าเป็นความผิดปกติถึงขั้นป่วยหากมีน้ำหนักมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ถึง 40%

คำแนะนำดังกล่าวได้มีการยอมรับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคำแนะนำและแนวคิดตามหลักเกณฑ์ของการแพทย์ในแผนปัจจุบัน ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับแนวความคิดของการแพทย์ทางเลือกหรือการแพทย์นอกระบบที่กำลังเป็นที่นิยมและให้การยอมรับกันมากขึ้น

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า