สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาชีวอนามัย (OCCUPATIONAL HEALTH)

หัวข้อสำคัญ
-งานกับสุขภาพ
-คำจำกัดความคำว่า “อาชีวอนามัย”
-วิธีการทำงานและประวัติการทำงาน
-อาชีวเวชศาสตร์ โรคจากการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และปัจจัยก่อโรค

ปัจจัยทางเคมี – สารพิษทั่วไป โลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารเคมีก่อมะเร็ง

ปัจจัยทางกายภาพ – ความเย็น ความร้อน รังสี ฝุ่น ความดัน เสียง แสง ความสั่นสะเทือน เครื่องมือ เครื่องจักร สิ่งอันตรายอื่นๆ ในที่ทำงาน ปัญหา ergonomics ปริมาณงานมาก และอื่นๆ

ปัจจัยทางชีวภาพ – เชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้ ใช้อวัยวะบางอย่างมากไป และอื่นๆ

ปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา -ระบบงานที่เคร่งครัด ระบบการบริหารงาน ความก้าวหน้าในงาน ปัญหาบทบาทในงาน ปัญหาความมั่นคงในงาน และอื่นๆ

-สุขศาสตร์ในการทำงาน
-ความปลอดภัยในการทำงาน
-กลุ่มเสี่ยงพิเศษ
-ปัญหายาที่พบในผู้ทำงาน และบทบาทของเภสัชกรในงานอาชีวอนามัย
-บทบาทขององค์กรแรงงานในงานอาชีวอนามัย และสิทธิขั้นพื้นฐาน 3 ประการของแรงงาน
-บทบาทของรัฐในการป้องกันปัญหาอาชีวอนามัย
-บทบาทของนักวิชาการสาธารณสุขทุกสาขา ในการป้องกันปัญหา
อาชีวอนามัย
-จรรยาของนักวิชาการด้านอาชีวอนามัย

งานกับสุขภาพ
มนุษย์เราโดยทั่วไปใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ของแต่ละวันทำงาน สร้างผลผลิตในด้านต่างๆ การทำงาน คือการใช้แรงกาย แรงสมอง และอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เกิดผลตามความต้องการของมนุษย์ ใน ที่นี้ได้แก่ผลงานทางวิชาการ ผลผลิตทางการเกษตร การบริการ และที่กล่าวถึงมากในปัจจุบันคือผลิตภัณฑ์ในด้านอุตสาหกรรม รวมถึงผลงานอื่นๆ ได้แก่ผลงานทางวรรณกรรม ศิลปกรรม และอื่นๆ

งานในระยะแรกๆ ของมนุษย์ เป็นงานเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นงานที่ไม่ซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีจังหวะการทำงานที่เป็นแบบธรรมชาติ มนุษย์ได้พัฒนาตนเองท่ามกลางการทำงาน และงานส่วนใหญ่มีส่วนในการส่งเสริมความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจของมนุษย์ แต่ในปัจจุบันงานดูจะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านกระบวนการผลิต กระบวนการทำงาน และระบบงาน ผลผลิตส่วนใหญ่นั้น ปัจเจกบุคคล หรือบุคคลคนเดียวไม่สามารกทำให้บรรลุได้ เช่นการผลิตนมกล่อง ต้องมีเกษตรกร มีผู้ขนส่งนมจากฟาร์ม มีผู้ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ตามขั้นตอนของการผลิตนมบรรจุกล่องอีกหลายคน หลายหน้าที่ จนได้นมกล่องมาให้ เราได้บริโภค และงานส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร ซึ่งจะกำหนดจังหวะการทำงานเร็วช้าของผู้ทำงาน ทำให้จังหวะการทำงานที่เคยเป็นแบบธรรมชาติของคนกลายเป็นจังหวะการทำงานแบบเครื่องจักร จนก่อให้ เกิดปัญหาสุขภาพจากการทำงานชนิดต่างๆ จำนวนมาก ตลอดจนถึงการสูญเสียชีวิตด้วย

กล่าวโดยรวมแล้ว งานที่เหมาะสมจะสร้างเสริมสุขภาพ ตรงกันข้ามกับงานที่มีปัจจัยอันตราย และปัจจัยก่อโรคจะบั่นทอน และทำลายสุขภาพและชีวิตของผู้ทำงานได้ เหล่านี้ผู้ที่เกี่ยวข้องควรได้พิจารณาด้วย

ตัวอย่างงานกับสุขภาพ ที่พบได้เสมอๆ
-ชายวัย 40 ปี แต่งงานแล้ว ทำงานระบบกำจัดนํ้าเสียจากโรงย้อมผ้า 17 ปี ไม่เคยทำงานที่อื่นมาก่อน สังเกตตนเอง เดินเซทั้งที่ไม่ได้ดื่ม เหล้า และปวดศีรษะมาก แพทย์ให้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคสมอง
เล็กเสื่อม ชายผู้นี้ต้องทำงานสัมผัสกับโลหะหนักและสารเคมีในงานจำนวนมาก ชายผู้นี้ควรได้รับการหาสาเหตุของการป่วยครั้งนี้ว่า เกี่ยวข้องกับงานที่ทำหรือไม่ พบว่าชายผู้นี้ต้องมีใช้ปากดูดสารเคมีแทนลูกยางและต้องดำลงไปในบ่อนํ้าเสีย เพื่อซ่อมใบพัดที่เสียสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งมาตลอด จะป้องกันมิให้โรคของเขารุนแรงได้อย่างไร

-หญิงอายุ 27 ปี ทำงานเป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการ ต้องสัมผัสกับสาร เคมีจำนวนมาก และขณะนี้กำลังตั้งครรภ์ เธอถามสูติแพทย์ของเธอว่า เธอควรหยุดทำงานหรือไม่ เพื่อป้องกันลูกในครรภ์ของเธอ

-หญิงโสด อายุ 23 ปี ไม่เคยทำงานที่ใดมาก่อน เข้าทำงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 3 ปี มีอาการปวดศีรษะ และอ่อนแรงประจำ ต่อมามีเลือดออกเองในสมอง และตามตัว ได้รับการวินิจฉัยว่าไข
กระดูกสร้างเม็ดเลือดไม่ได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา และมีผู้ที่เสียชีวิตคล้ายกันในเวลา 1 ปี รวม 3 คน เพื่อนในที่ทำงานกลัวว่าเกิดจากการทำงานที่ต้องใช้ตะกั่ว และสารเคมีที่ใช้อีกจำนวนมาก ขอให้บริษัท และกระทรวงสาธารณสุขช่วยเหลือหาสาเหตุ และแนะนำวิธีป้องกันเหล่านี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำอย่างไร

-หญิงไทยคู่อายุ 30 ปี แต่งงาน มีบุตรแล้ว ทำงานร่อนทรายละเอียดใส่กระดาษเพื่อทำกระดาษทราย มีอาการ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ทำงานไม่ไหว จึงออกจากงาน ไปขอรับการรักษาหลายแห่ง ไม่ดีขึ้น เหนื่อยมากขึ้น และเสียชีวิตด้วยโรคซิลิโคซิส แพทย์ระบุว่า เป็นโรคจากการทำงาน ได้เงินค่าชดเชยบ้าง แต่เสียชีวิตในเวลาไม่ถึงปีต่อมา ทั้งลูก เป็นภาระของญาติ เนื่องจากสามีได้ทิ้งไปแล้วจากที่ทำงานไม่ไหว เพื่อนที่ทำงานถามว่าเพื่อนอื่นๆ จะเป็นเช่นเดียวกันไหม และได้ชดเชย เท่าใดก็ไม่คุ้ม ควรลาออกจากงานไหม

คำจำกัดความ “อาชีวอนามัย”
เป็นอนามัยของผู้ทำงานอาชีพ มาจากคำว่า “อาชีวะ” ซึ่งก็คือ อาชีพ กับคำว่า “อนามัย” ซึ่งก็คือความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และสังคมความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งนี้มิได้หมายถึงเพียงการไม่มีโรคเท่านั้น
อาชีวอนามัย จึงหมายถึงความสมบูรณ์ของผู้ทำงานอาชีพทุกสาขา ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมความเป็นอยู่

วิชาอาชีวอนามัย หรือ occupational health จึงเป็นวิชาที่รวมเอาหลักการของวิชาต่างๆ ที่  เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ได้แก่วิชาว่าด้วยอาชีพการทำงาน และการผลิต สารธารณสุข แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ พิษวิทยาและเภสัชวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา แรงงานสัมพันธ์ การบริหารจัดการ ระบาดวิทยา และอื่นๆ มีเนื้อหาประกอบด้วยกลุ่มวิชาดังต่อไปนี้

-สุขศาสตร์การทำงาน ( Work Related Hygiene)
-อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Medicine)
-พฤติกรรมศาสตร์การทำงาน (Work Related Behavioral Science)
-วิศวกรรมศาสตร์การทำงาน (Work Real ted Engineering)
-และกลุ่มวิชาอื่นๆ

วิธีการทำงานและประวัติการทำงาน
ในอาชีพหนึ่งๆ ประกอบไปด้วยงานหนึ่งหรือหลายงานก็ได้ เมื่อพิจารณาจากการผลิตหนึ่งๆ ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตต่างๆ กัน ในแต่ละขั้นตอนนั้น คนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำงานต่างๆ กัน ซึ่งในขั้นตอนการผลิตหนึ่งๆ อาจมีหลายงานก็ได้ หรือคนหนึ่งอาจทำหลายขั้นตอนการผลิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงานและการผลิตนั้นๆ

เมื่อพิจารณางานหนึ่งๆ อาจมิวิธีการหลายอย่าง เช่นงานทำความสะอาดฝุ่นตามเครื่องจักร อาจมีวิธีต่างๆ เช่นวิธีปัดกวาด วิธีล้าง วิธีดูดฝุ่น วิธีเป่าด้วยลม วิธีใช้ผ้าเช็ดถู หรือวิธีอื่นๆ ก็ได้ ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ดีหรือไม่ก็ได้ ในแต่ละวิธีการทำงาน จะมีขั้นตอนการทำงานเฉพาะ และมีลักษณะการทำงานเฉพาะ ซึ่งในลักษณะการทำงานหนึ่งๆ ก็คือการที่บุคคลต้องใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อกระทำกับสิ่งของต่างๆ ให้เกิดงานออกมาอย่างไร จำนวนเท่าใดต่อหน่วยเวลา เช่นต้องใช้นิ้วโป้งกระตุกเส้นด้ายวันละ 1,000 ครั้ง ต้องใช้มือจับหัวแร้งบัดกรีตะกั่ววันละ 1,200 จุด โดยการมองผ่านกล้องจุลทรรศน์

ในแต่ละคนจะมีประวัติการทำงานที่แตกต่างกัน ฉะนั้น ประวัติการทำงานของบุคคลจึงมีผลทางตรงต่อสุขภาพของผู้ทำงานด้วย ประวัติการทำงานประกอบด้วยประวัติอดีต และประวัติปัจจุบัน ระยะเวลาที่ทำงานนั้น และปัจจัยที่สัมผัสในงาน ตลอดจนวิธี ลักษณะการทำงาน ปริมาณงาน และอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว ซึ่งในการดำเนินงานเกี่ยวกับอาชีวอนามัย และงานอาชีวเวชศาสตร์ ควรที่จะได้ทราบถึงประวัติการทำงานของผู้ทำงาน หรือผู้ทำงานที่ป่วยอย่างชัดเจน ประวัติการทำงานเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินงานอาชีวอนามัย และการวินิจฉัยโรค ตลอดจนการป้องกันโรคดังกล่าว

อาชีวเวชศาสตร์ และโรคจากการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และปัจจัยก่อโรค

อาชีวเวชศาสตร์ เป็นศาสตร์ทางการแพทย์ ของการตรวจวินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูสภาพ และป้องกันโรคจากการทำงาน ประกอบด้วยวิชาอายุศาสตร์ จักษุวิทยา ตจวิทยา พิษวิทยา เภสัชวิทยา จิตวิทยา สุขศาสตร์เวชศาสตร์ป้องกัน และอื่นๆ เป็นสาขาวิชาแพทย์ที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่ยุคของอกริโคลา และ พาราเซลซัส ในกลางคริสศตวรรษที่ 16 โดยนายแพทย์ทั้งสองท่านได้เขียนถึงโรคของคนทำเหมือง หรือ Miner’s disease และท่านได้ช่วยเหลือผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

โรคจากการทำงาน สามารถเกิดได้กับทุกระบบของร่างกาย และเป็นโรคที่มีกลุ่มพยาธิสภาพได้ต่างๆ กันทุกชนิด เช่น การบาดเจ็บเฉียบพลันจากเครื่องจักรตัด การบาดเจ็บเรื้อรังจากการทำงานผิดท่าหรือทำงานซ้ำซาก ปฏิกิริยาภูมิแพ้จากเอ็นไซม์ปาเปน ปอดอักเสบจากฝุ่นแอสเบสตอส ไตอักเสบจากการติดเชื้อชนิดเลพโตสไปโรซิส พิษตะกั่วและพิษสารทำละลาย มะเร็งเม็ดเลือดขาวจากเบนซีน และอื่นๆอีกมาก

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแล้ว จะสามารถจัดกลุ่มได้ 4 ประเภทคือ ปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยทางเคมี ปัจจัยทางชีววิทยา และปัจจัยทางสังคมจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับงาน ดังตัวอย่างนี้

กลุ่มโรคจากปัจจัยทางเคมี ได้แก่
-โรคจากสารพิษทั่วไป เช่น โรคพิษสารทำละลาย เช่น เบนซีน โทลูอีน สไตรีน ไตรคลอโร อีเทน และอื่นๆ โรคพิษฟอร์มาลดีไฮด์ โรคพิษคลอรีน โรคสมองเสื่อมในช่างทาสี และโรคอื่นๆ

-โรคจากโลหะหนัก เช่น โรคพิษตะกั่วในผู้ทำงานผลิตแบตเตอรี่ ผู้ทำงานอิเลคโทรนิคส์ ผู้ทำงานหลอมโลหะ และอื่นๆ โรคพิษอาร์เซนิคในผู้ทำงานร่อนแร่ดีบุก โรคพิษแมงกานีสในผู้ทำงานผลิตถ่านไฟฉาย โรคพิษปรอท หรือมินามะตะ ในผู้ทำงานสัมผัสกับปรอท โรคพิษแคดเมียม หรืออิไต อิไต (Itai Itai) ในผู้ททำงานโรงงานสังกะสี และอื่นๆ

-โรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แก่โรคพิษออร์แกโนฟอสเฟสแบบ เฉียบพลัน รองเฉียบพลัน และเรื้อรัง โรคพิษคาร์บาเมท โรคพิษพาราควอท ในชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ ผู้รับจ้างพ่นสารกำจัดศัตรูพืช และผู้ทำงานผสม และแบ่งบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งโรคในกลุ่มนี้มีผู้ป่วยมากทั่วพื้นที่ของประเทศไทย

-โรคจากสารเคมีก่อมะเร็ง โรคในกลุ่มนี้เกิดจากสารเคมีใน 3 กลุ่มที่กล่าวถึง แต่มีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งที่มีรายงานในคนแล้ว ได้แก่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากเบนซีน มะเร็งผิวหนังจากอาร์เซนิค และอื่นๆ

กลุ่มโรคจากปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่
-โรคจากความเย็น เช่น โรคเรโน ในผู้ทำงานห้องเย็น ผลิตไอศครีม และอื่นๆ

-โรคจากความร้อน เช่น Heat exhaustion ,Heat stroke ในผู้ทำงานรีดเหล็ก และอื่นๆ

-โรคจากรังสี เช่น โรคเรตินาเสื่อมจากรังสีอินฟาเรดในผู้ทำงานหลอมโลหะ หรือโรคกระจกตาอักเสบจากยูวี ในผู้ทำงานเชื่อมโลหะ และโรคจากรังสีอื่นๆ รวมถึงโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องด้วย

-โรคจากฝุ่น ได้แก่โรคตาต้อลม ต้อเนื้อ และที่สำคัญซึ่งพบมากในประเทศไทย คือโรคปอดอักเสบจากฝุ่น หรือโรคนิวโมโคนิโอซิส เช่นแอสเบสโตซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นเส้นใยของแอสเบสตอส หรือใยหิน โรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน ฝุ่นทราย เช่น ซิลิกา ซึ่งเรียกว่า ซิลิโคซิส ในผู้ทำงานเหมืองแร่ โรงโม่หิน และบดแร่ โรคทัลโคซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นแป้ง โรคมะเร็งแอสเบสตอสจากฝุ่นแอสเบสตอส และอื่นๆ

-โรคจากความดัน เช่น เคซอง ในนักดำน้ำ และผู้ดำแร่ในภาคใต้ของไทย และในกลุ่มอาชีพอื่นๆ

-โรคจากเสียงดัง เช่น โรคประสาทหูเสื่อมจากเสียง เครื่องจักรในผู้ทำงานทอผ้า และอื่นๆ

-โรคจากแสง ได้แก่โรคปวดตาในผู้ทำงานกับแสงจ้า และโรคอื่นๆ

-โรคจากความสั่นสะเทือน เช่น White finger syndrome ในผู้ทำงานกับเครื่องมือขุดเจาะที่มีความสั่นสะเทือน โรคกระดูกสันหลังอักเสบแบบเรื้อรังในผู้ขับรถบรรทุก และอื่นๆ
-โรคจากเครื่องมือ เครื่องจักร เช่น โรคกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบจากการใช้เครื่องมือที่ผิดกับสรีระของมือ หรือการบาดเจ็บจากเครื่องจักรอัด หรือบด และอื่นๆ

-โรคจากสิ่งอันตรายอื่นๆ ในที่ทำงาน เช่น สิ่งของจากเพดานตกใส่ หกล้ม เพราะพื้นลื่น และอื่นๆ

-โรคจากปัญหา ergonomics ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากงานไม่เหมาะและถูกต้องกับบุคคลผู้ทำงาน เช่นคนเตี้ย ต้องเขย่งเท้าต่อด้ายที่เครื่องจักรสูง หน้างานต่ำไม่เหมาะกับผู้ทำงานที่มีร่างกายสูง ทำให้ต้องก้มหลังทำงานตลอดชั่วโมงการทำงาน และอื่นๆ เหล่านี้เป็นปัญหาทางสมรรถนศาสตร์ด้วย

-โรคจากปริมาณงานมากและเกินกำลังความสามารถ เช่นโรคปวดหลัง เรื้อรังจากต้องยกขนงานที่หนัก 30 กิโลกรัมหรือกว่านั้นจำนวนกว่า 100 เที่ยว/วัน โรคเอ็นอักเสบจากการที่ต้องเดินคุมเครื่องทอผ้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 6 เครื่อง เป็น 30 เครื่อง และอื่นๆ จนเกิดปัญหาติดยาและสารเสพติด ได้แก่แอมเฟตามีน หรือที่เรียกว่ายาม้า ยาขยัน ยาใจดี หรือยาซื่อสัตย์ ติดยาแก้ปวดบางชนิดเนื่องจากต้องใช้บำบัดความปวดเมื่อย และความล้าในระยะแรกๆ จนกลายเป็นปัญหาติดยาและเกิดโรคสืบ เนื่องจากการติดยาแก้ปวด เช่น โรคกระเพาะอาหารทะลุและเลือดออก และโรคอื่นๆ

กลุ่มโรคจากปัจจัยทางชีวภาพ   ได้แก่โรคที่เกิดจากเชื้อโรค สารอินทรีย์ที่ก่อภูมิแพ้ หรือเกิดจากการที่อวัยวะของร่างกายต้องถูกใช้งานมาก และซ้ำซาก ได้แก่ โรคไตอักเสบจากเชื้อเลพโตสไปรา ในผู้ทำงานกับโกดังอาหารซึ่งมีหนูที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ โรคปอดคอคซิโดซิสในผู้เลี้ยงนก
โรคบรูเซลโลซิสในผู้ทำงานเกี่ยวกับสัตว์  โรคแกลนเดอร์ในผู้ทำงาน เลี้ยงม้า

โรคหลอดลมตีบในผู้ทำงานกับปาเปน ซึ่งทำให้เนื้อนุ่ม โรคปอดอักเสบบิสสิโนซิสจากฝุ่นฝ้ายในผู้ทำงานโรงงานทอผ้า โรคปอดชาวนา และโรคอื่นๆ

โรคเส้นเสียงอักเสบในผู้มีอาชีพต้องใช้เสียง เช่น ครู และนักร้อง โรคเส้นเลือดขอดในผู้ที่มีอาชีพต้องยืนนานๆ เช่น ยาม ครู และอื่นๆ

กลุ่มโรคจากปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา  ได้แก่
-ปัญหาสุขภาพจิต ที่เครียดจากงานที่เร่งรัด งานที่มีต้องใช้ความพยายามมาก งานที่ไม่ตรงกับบุคลิก  และอุปนิสัยส่วนบุคคล งานที่มีความขัดแย้ง งานที่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นรุนแรง และอื่นๆ เหล่านี้ เกิดได้กับผู้ทำงานทั้งระดับบริหาร และระดับปฏิบัติ

-โรคจากระบบงานที่เคร่งครัด เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการที่ต้องกลั้นปัสสาวะ เพราะระบบงานไม่ให้โอกาสทำกิจส่วนตัว หรือไม่มีเวลาพักที่เหมาะสม ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ปฏิบัติงาน

-โรคจากระบบการบริหารงาน ตลอดจนปัญหาความก้าวหน้าในงาน เช่น โรคซึมเศร้าจากการ ไม่ได้รับการส่งเสริมในงาน ปัญหาสุขภาพจิตเนื่องจากถูกนายและเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้ง โรคระแวง เนื่องจากถูกขู่และจ้องทำร้ายในงาน ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากที่ต้องทำงานไม่ชอบตามธรรมนองคลองธรรม เนื่องจากอยู่ในระบบงานที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ผู้ทำงานมิได้เป็นบุคคลเช่นนั้น จึงขัดแย้งกับคุณธรรมในใจ และอื่นๆ ในกลุ่มนี้พบได้ในผู้ปฏิบัติมากกว่าผู้บริหาร และพบในระบบที่มีการทำงานแบบบิวโรเครซี่ เช่น ราชการ

-โรคจากปัญหาบทบาทในงาน เช่น ปัญหาสุขภาพจิตจากบทบาทงานที่ขัดแย้ง (Role conflicts) หรือบทบาทงานไม่ชัดเจน (Role ambiguity) ปัญหาสุขภาพจิตจากถูกนายกลั่นแกล้ง เนื่องจากผู้ทำงานไม่ยอมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนายสั่ง ปัญหาสุขภาพจิตจากการได้รับการกดบทบาท

-โรคจากความไม่มั่นคงในงาน เช่น ปัญหาโรคกลัวจากการตกงาน เนื่องจากเป็นงานชั่วคราว หรือมีระบบการเข้าออกจากงานที่ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่มั่นคง ปัญหาการกำหนดให้เกษียณอายุเร็วไป เช่น 40 ปี ในแรงงานทอผ้าหญิงบางแห่ง ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากไม่มั่นคง และไม่ทราบจะทำอะไรหลังเกษียณ หรือระบบการให้ออกจากงานเป็นระยะๆ ปัญหาแรงงานสัมพันธ์กับนายจ้างและปัญหาไม่สามารถรวมกันเป็นสหภาพ เพื่อช่วยเหลือระหว่างกันได้ และปัญหาอื่นๆ

สุขศาสตร์ในการทำงาน
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการสร้างสุขในการทำงานโดยมุ่งเน้นที่ผู้ทำงานซึ่งยังไม่ป่วย และสถานที่ทำงานที่ยังไม่มีการเกิดโรคจากการทำงาน โดยการดำเนินงานที่ตัวบุคคลผู้ทำงาน และปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคในสถาน ที่ทำงาน การดำเนินงานที่ตัวบุคคลผู้ทำงานคือการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคในระยะแรก สำหรับการดำเนินงานที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค คือการค้นหาปัจจัยก่อโรค การประเมินปัจจัยก่อโรค และการควบคุมปัจจัยก่อโรค

การดำเนินงานที่บุคคลผู้ทำงาน
การส่งเสริมสุขภาพ  ได้แก่ การให้ผู้ทำงานมีความรู้ เกี่ยวกับงานที่ทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รู้ถึงวิธีการทำงานที่เสริมสร้างสุขภาพ มีพฤติกรรมการทำงานที่ดี มีอนามัยส่วนบุคคลที่ดี รู้ถึงโรคที่อาจเกิดจากการทำงานนั้นๆ และทราบถึงวิธีปฏิบัติ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กิจกรรมที่จำเป็นได้แก่ การจัดทำโปรแกรมสุขศึกษาและการใช้สื่อสุขศึกษาที่สอดคล้อง การจัดให้มีแหล่งข้อมูลเพื่อสุขภาพและห้องสมุด การจัดให้มีห้องพักผ่อนและสันทนาการของผู้ทำงาน การจัดให้มีกิจกรรมการกีฬา การจัดให้มีกลุ่มเพื่อน ไม่ติดสุราและสูบบุหรี่ โครงการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ

การป้องกันโรคจากการทำงาน   ได้แก่  การจัดอบรม เรื่องการป้องกันโรคจากการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และติดตามผล การจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เฉพาะที่จำเป็น มีประสิทธิภาพ และได้รับการ รับรอง มีการจัดโปรแกรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันสุขภาพส่วนบุคคล ให้มีชุดปฏิบัติงาน และมีระบบหมุนเวียนชุดที่สะอาดทุกวัน มีตู้เก็บอุปกรณ์และชุดเสื้อผ้า มีการติดตั้งอ่างล้างมือและหน้าให้เพียงพอ มีห้องอาบน้ำและเปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน มีบริเวณรับประทานอาหาร หรือโรงอาหารที่สะอาด และถูกสุขลักษณะ มีที่และบริเวณพักผ่อน มีต้นไม้และธรรมชาติร่มรื่น และอื่นๆ

มีการสำรวจปัญหาสุขภาพเป็นครั้งคราว มีการเฝ้าระวังโรคและปัญหาสุขภาพจากการทำงานโดยมีระบบระเบียนรายงานที่ดี รวบรวม วิเคราะห์ และนำไปใช้ด้วย มีการจัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำเป็น ระยะๆ การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน การตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย และการตรวจสุขภาพหลังป่วย มีการจัดทำโครงการป้องกันและลดปัญหาจากการติดยาและสารเสพติด และโครงการป้องกันปัญหาสุขภาพที่สำคัญอื่นๆ เช่นโครงการพิทักษ์การได้ยิน โครงการป้องกันโรคปอดอักเสบจากฝุ่น และกิจกรรมป้องกันโรคอื่นๆ

การดำเนินงานที่ปัจจัยก่อโรคในสถานที่ทำงาน
การค้นหาปัจจัยก่อโรคในสถานที่ทำงาน ซึ่งอาจดำเนินการโดยการสำรวจปัจจัยก่อโรค เป็นครั้งคราว หรือการเฝ้าคุมปัจจัยก่อโรคให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในเทคโนโลยีการควบคุมขณะนั้น ได้แก่ การเดินสำรวจผ่านตลอดบริเวณที่ทำงาน หรือกระบวนการผลิต และกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน และเก็บตัวอย่างแบบง่ายๆ เช่น การ เก็บวัตถุดิบ ตัวอย่างสารทำละลายที่ใช้ผลพลอยได้ ฝุ่นตก ฝุ่นเช็ด และอื่นๆ เพื่อส่งวิเคราะห์หาปัจจัยก่อโรค การสำรวจและเก็บตัวอย่างตรวจโดยละเอียดโดยผู้ชำนาญการ และการติดตั้งเครื่องมือ เฝ้าคุมปัจจัยก่อโรค เช่น การติดตั้งเครื่องวัดปริมาณความเข้มข้นของคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ไว้ นอกจากนั้นยังได้แก่การสังเกตวิธีการทำงานและลักษณะการทำงาน และสัมภาษณ์ผู้ทำงานถึงการทำงานที่ทำจริง ปริมาณงาน และอื่นๆ โดยการค้นหาปัจจัยก่อโรคนี้ ควรครอบคลุมปัจจัยก่อโรคที่กล่าวไว้เบื้องต้น ตลอดจนตรวจดูถึงระบบการจัดเก็บสิ่งของ การควบคุมฝุ่นและมลภาวะ ระบบระบายอากาศ ระบบการจัดวางเครื่องจักร การมีข้อมูลสุขภาพและความปลอดภัยของสารเคมีและเครื่องมือที่ใช้ในงาน การมีป้าย และกำหนดเขตสุขภาพและความปลอดภัย และอื่นๆ

การประเมินปัจจัย จากการสำรวจหาปัจจัยก่อโรค ถ้าไม่พบปัจจัยก่อโรค จะแปลผลได้เพียงว่าไม่มีปัจจัยก่อโรคในขณะตรวจเท่านั้น ไม่แสดงถึงสภาวะของปัจจัยก่อโรคในวัน เวลาอื่น ที่ไม่ได้สำรวจ และไม่สามารถแสดงถึงการสัมผัสปัจจัยก่อโรคในอดีตของผู้ทำงานที่ยังคงทำอยู่ถึงปัจจุบันได้ ถ้าพบปัจจัยก่อโรคที่ระดับความเข้มข้นใด ให้พิจารณาว่าเป็นระดับที่ตํ่าที่สุด เท่าที่เทคโนโลยีการควบคุมในขณะนั้นทำได้ หรือไม่ และให้เปรียบเทียบกับระดับความเข้มข้นเดิมที่เคยตรวจ ไม่ใช้การประเมินแบบง่ายๆ ว่าเกินหรือไม่เกินระดับที่กำหนดกันไว้ เนื่องจากมักไม่นำไปสู่การดำเนินการป้องกันและแก้ไขที่สา เหตุของปัญหา

การควบคุมปัจจัยก่อโรค  เป็นการควบคุมไม่ให้มีการผลิตมลภาวะ เช่นฝุ่น การหกรดของสารเคมี หรือปัจจัยก่อโรคจากแหล่ง ถ้ามีมลภาวะ เกิดขึ้น ก็ให้มีระบบกำจัดที่แหล่ง โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ก่อมลภาวะ หรือที่มีน้อยที่สุด ด้วยวิธีทางวิศวกรรม และไม่ให้มีการปล่อยมลภาวะไปสู่บรรยากาศรอบนอกโรงงาน ไม่จำเป็นไม่ควรใช้ระบบการเจือจางมลภาวะ เช่นการติดพัดลมระบาย นอกจากนั้นยัง หมายรวมถึงการที่ให้เครื่องจักรตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหว สายพาน ข้อต่อ ต้องมีเครื่องกั้น ที่กั้น และมีการทดสอบประสิทธิภาพของระบบ และมีการตรวจตราระบบการควบคุมปัจจัยก่อโรค

ในกรณีที่ปัจจัยก่อโรคซึ่งมีใช้ในกระบวนการผลิต สามารถมีวัสดุทดแทนที่ปลอดภัยกว่า ควรมีการควบคุมปัจจัยก่อโรคด้วยการเลิกใช้ เช่น การเลิกใช้แอสเบสตอสในการทำกระเบื้องมุงหลังคา หรือวัสดุ เคลือบหลายชนิดที่มีอยู่ เนื่องจากแอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็ง ที่สามารถมีวัสดุอื่นมาทดแทนได้นานถึง 20 ปีแล้ว

ความปลอดภัยในการทำงาน
เป็นส่วนหนึ่งของสุขศาสตร์การทำงาน ที่มุ่งเน้นการทำงานให้เป็นสุขและปลอดภัยจากเครื่องจักร  เครื่องมือ และสถานที่ทำงาน เป็นหลักการเดียวกับสุขศาสตร์การทำงาน ที่ควรเน้นในผู้ทำงานไทยคือทัศนคติ เรื่องความปลอดภัยยังไม่ดี ยังมีการชอบความเสี่ยงภัยอยู่ให้ เห็นได้บ่อยๆ

กลุ่มเสี่ยงพิเศษ
กลุ่มเสี่ยงพิเศษต่อปัญหาอาชีวอนามัย ได้แก่กลุ่มแรงงานเด็ก แรงงานหญิง หญิงทำงานที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตรที่ทำงานกับสารเคมี ผู้ทำงานกับสารก่อมะเร็ง ซึ่งจะมีสภาพความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและมีปัญหาอาชีวอนามัยสูงและรุนแรง ทั้งนี้ เนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีความไวในการเกิดโรค มีผู้ร่วมเสี่ยงคือ เด็กทารกในครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด การกลายพันธุ์ และปัญหาโรคมะเร็ง กลุ่มเสี่ยงพิเศษนี้ต้องได้รับการดูแลในเรื่องอาชีวอนามัยเป็นพิเศษ เช่น โครงการควบคุมไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กที่ก่อปัญหาต่อพัฒนาการของเด็ก ให้มีหญิงมีระยะเวลาเตรียมคลอด คลอด และดูแลบุตรหลังคลอดให้เพียงพอ เช่น 90 วัน มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีสถานที่เลี้ยงเด็กกลางวันในที่ปลอดภัยบริเวณงาน

ปัญหายาที่พบในผู้ทำงาน และบทบาทของเภสัฃกรในงานอาชีวอนามัย

เนื่องจากปัญหาการติดยา และการใช้ยาแบบผิดๆ เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในหมู่ผู้ทำงานหนัก ผู้ทำงานในระบบกะ และผู้ที่ต้องใช้แรงงานในเวลากลางคืน ซึ่งผิดธรรมชาติของมนุษย์ เนื่องจากเวลาดังกล่าว เป็นเวลาพักผ่อนนอนหลับ ทำให้ผู้ทำงานหันมาติดยาตามคำแนะนำ คำบอกเล่า และคำโฆษณากันต่อๆ มา ได้แก่ การติดยาแก้ปวดบางชนิดอย่างรุนแรง ถ้าไม่ได้รับประทานจะไม่สามารถทำงานได้ บางรายติดยาดังกล่าว กระทั่งมีเลือดออกในกระเพาะ และเสียชีวิต นอกจากนั้นยังมีการติดเครื่องดื่มบางชนิดในอัตราที่สูงมาก ในผู้ที่ทำงานหนัก และยาวนาน เช่นผู้ที่ทำงานควบกะมากกว่า 1 กะต่อวัน จะหันไปพึ่งยากลุ่มแอมเฟตามีน หรือยาม้ากันมาก นอกจากนั้น ไม่มีระบบการดูแลสุขภาพผู้ทำงานที่ดี และทั่วถึง ผู้ทำงานไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขได้สะดวก เนื่องจากระบบงานเคร่งครัด ทำให้มีการหาซื้อยารับประทานเองบ่อย หรือการซื้อสารพอลเลนราคาแพงมารับประทาน ทั้งนี้เนื่องจากขาดความรู้เรื่องยาที่ควรทราบ

เภสัชกร ควรต้องมีบทบาทในการเสริมสร้างความรู้ เรื่องยาที่ถูกต้องในหมู่ผู้ทำงาน โดยเฉพาะยาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในการทำงาน เช่น ยาแก้ปวด ยากล่อมประสาท วิตามิน ยาแก้แพ้ และยาอื่นๆ และควร ได้พัฒนารูปแบบและวิธีการป้องกันการติดยาในหมู่ผู้ทำงานหนัก ผู้ที่ทำงานในระบบกะและผู้มีความเครียดจากงานสูง

บทบาทขององค์กรแรงงานในงานอาชีวอนามัย สิทธิพื้นฐานในการทำงาน 3 ประการของแรงงาน
เนื่องจากปัญหาโรคจากการทำงาน เป็นปัญหาที่พบชุกชุม และรุนแรงในผู้ทำงานระดับปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ผลิต ไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึง เรื่องปัญหาสุขภาพอนามัยอันเนื่องมาจากงานที่ตนทำอยู่ และวิธีการป้องกันที่จำเป็น หน้าที่ในการดำเนินงานอาชีวอนามัยส่วนใหญ่เป็นขององค์กรรัฐที่มีผู้รับผิดชอบจำนวนจำกัด และไม่ขยายความรับรู้ และบทบาทขององค์กรแรงงานให้เข้ามามีบทบาทในงานอาชีวอนามัย ซึ่ง เป็นปัญหาของสมาชิกในองค์กรนั้นๆ องค์กรแรงงาน เช่น สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และอื่นๆ ควรได้ตระหนักถึงบทบาทในงาน อาชีวอนามัยของตน และเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสุขภาพของสมาชิกผู้ทำงาน โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ในด้านงบประมาณแก่องค์กรแรงงานในการดำเนินงานอาชีวอนามัย ซึ่งจะให้ผลมากกว่าการที่จัดสรรงบไปให้หน่วยราชการต่างๆ จัดทำกันเองโดยขาดการให้ผู้ทำงานมีส่วนร่วมอย่างเช่นที่ผ่านมายาวนาน

ผู้ทำงานในยุคนี้ ต้องทำงานกับเทคโนโลยีต่างๆ เครื่องจักร และสารเคมีแปลกๆ จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีโอกาสรู้ถึงอันตรายต่อสุขภาพจากการที่ตนเองต้องสัมผัสกับเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ เช่น ไม่ทราบว่าสารที่ตนทำเป็นรังสีที่มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงได้ ไม่มีโอกาสทราบว่าน้ำยาชื่อแปลกๆ นั้นคืออะไร  มีผลอย่างไรต่อร่างกายผู้สัมผัส ก่อให้เกิดมะเร็งได้หรือไม่ หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ เมื่อมนุษย์ทุกคนมีสิทธิมนุษยชนถ้วนหน้า ในทางสากล จึงประกาศสิทธิขั้นพื้นฐาน 3 ประการที่ผู้ทำงานดำรงสิทธินี้อยู่ ได้แก่
-สิทธิที่จะรู้ (Right to know) รู้ถึงอันตรายและปัญหาสุขภาพที่อาจ เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการผลิต

-สิทธิที่จะปฏิบัติ (Right to act) ผู้ทำงานดำรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะปฏิบัติงานที่ปลอดภัยแก่ตน

-สิทธิที่จะปฏิเสธ (Right to refuse) ผู้ทำงานดำรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตตนได้

บทบาทของรัฐในการป้องกันปัญหาอาชีวอนามัย
รัฐมีหน้าที่ปกป้องประชาชนภายในรัฐ ในกรณีปัญหาอาชีวอนามัย เป็นปัญหาที่ส่วนใหญ่ผู้ทำงานได้บการคุกคาม เนื่องจากงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการเป็นโรค ป่วย และได้รับบาดเจ็บนี้มีผู้อื่นกระทำให้ เกิด รัฐจึงได้มีกฎหมายให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนการป้องกันโรคจากการทำงานและส่งเสริมสุขภาพ ผู้ทำงานก่อนที่จะ เกิดปัญหาดังกล่าว ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานป่วย เจ็บ หรือเสียชีวิตจากการทำงาน ก็มีกฎหมายให้มีผู้ต้องรับผิดชอบทดแทนผู้ทำงานผู้ที่มีสุขภาพเสียหายนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ทำงานได้รับความเป็นธรรม และสามารถดำ เนินชีวิตได้ตามควรต่อไป

ที่สำคัญมากรัฐต้องสนับสนุนองค์กรแรงงาน และจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้องค์กรแรงงาน ดำเนินงานอาชีวอนามัย เพื่อให้ผู้ทำงานได้มีความรู้ ดูแลสุขภาพตน และป้องกันโรคจากการทำงานได้

สำหรับบริการทางการแพทย์อาชีวเวชศาสตร์นั้น รัฐต้องดำเนินการให้มีบุคลากรทางการแพทย์ด้านนี้ให้เพียงพอ จัดให้มีบริการทางการแพทย์ด้านโรคจากการทำงานที่ชัดเจน และส่งเสริมให้มีบริการนี้ ทั่วถึง และครอบคลุม

สรุปแล้วรัฐ มีหน้าที่ในการกำกับ ควบคุม ให้มีการดำเนินงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ ป้องกันปัญหาอาชีวอนามัย ส่งเสริมให้องค์กรแรงงาน ตลอดจนองค์กรนายจ้าง และองค์กรอื่นใดที่มีกิจกรรม เพื่อการป้องกันปัญหาอาชีวอนามัย และสนับสนุนให้มีบริการทางการแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่จำเป็นให้ทั่วถึง

บทบาทของนักวิชาการสาธารณสุขทุกสาขา ในการป้องกันปัญหาอาชีวอนามัย
ดังได้กล่าวแล้วว่างานอาชีวอนามัย เป็นงานที่ใช้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ทุกสาขา นักวิชาการสาธารณสุขทุกสาขา จึงสามารกนำความรู้ในสาขา และความชำนาญของตนมาปรับใช้ในการดำเนินงานอาชีวอนามัยได้ และประกอบกับประเทศไทยขาดแคลนนักวิชาการด้านอาชีวอนามัยด้วย จึงควรที่นักวิชาการสาธารณสุขทุกสาขาจะได้พิจารณาดำเนินงานนี้อย่างน้อยใน 2 ลักษณะ ได้แก่

1. ดำเนินงานอาชีวอนามัยในวิชาชีพ งานของตน และที่ทำงานซึ่งตนสังกัด

2. ให้การสนับสนุนการดำเนินงานอาชีวอนามัยในพื้นที่อื่น ตามความรู้ที่วิชาการในสาขาของตนสามารถดำเนินการสนับสนุนได้ เพราะงานอาชีวอนามัยไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ถ้าขาดความรู้ในสาขาอื่นที่
จำเป็นเฉพาะเรื่อง จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการสาธารณสุขสาขาต่างๆ

จรรยาของนักวิชาการด้านอาชีวอนามัย
ด้วยโรคจากการทำงานและปัญหาอาชีวอนามัย เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ทำงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาส และมีความรู้น้อย แต่บุคคลกลุ่มนี้ เป็นกำลังสำคัญของการผลิตที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ยังให้ความสำคัญไม่ สูงนัก มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ถ้ากลุ่มบุคคลนี้ได้รับการคุ้มครองสุขภาพให้ปลอดจากโรค จากการทำงานแล้ว จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาในทุกยุคสมัย ในหลายภูมิภาคของโรค ผู้ทำงานที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงานมักไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล และถูกทอดทิ้ง เช่นถูกให้ออกจากงาน และไม่ยอมรับว่าเกิดจากงาน ทำให้ผู้ทำงานที่ป่วยต้องประสบปัญหามาก กลายเป็นภาระของสังคมและครอบครัว โรคจากการทำงาน เป็นโรคที่มีผู้ทำให้เกิด มีผู้ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องมาก

โรคที่มิใช่โรคจากการทำงานจะเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ในประเทศไทยโรคจากการทำงาน มีผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องค่าใช้จ่ายของการป่วย และการทดแทนหลายฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายผู้ป่วย ฝ่ายนายจ้าง(ซึ่งมีตั้งแต่หัวหน้ากลุ่ม สายการผลิต ฝ่ายผลิต ฝ่ายบุคคล ฝ่ายความปลอดภัย ฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ กรรมการบริษัท และอื่นๆ ตามสภาพ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ) ฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ฝ่ายแรงงาน ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่ดูเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ฝ่ายจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง ซึ่งฝ่ายนี้ก็มีที่ปรึกษามาพิจารณาการป่วยของคนงานว่าควรจ่ายเงินทดแทนให้หรือไม่ ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข ก็มีฝ่ายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากการทำงาน ฝ่ายบริการทางการแพทย์ ฝ่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีฝ่ายความปลอดภัยโรงงาน และอื่นๆ ในบางครั้งฝ่ายลูกจ้างก็มีองค์กรแรงงานของตนเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างที่ป่วย เกี่ยวกับสิทธิที่ควรจะได้รับค่าใช้จ่าย เนื่องจากการเป็นโรคจากการทำงาน

ส่วนใหญ่ขณะนี้ผู้ด้อยโอกาส รู้น้อย ก็คือผู้ทำงานที่เป็นผู้ป่วยโรคจากการทำงานก็มักไม่ได้รับการยอมรับ และไม่ได้รับการคุ้มครองและช่วย เหลือ รวมถึงไม่สามารถที่จะดำ เนินการขอความเป็นธรรมจากศาลได้ เพราะผู้ป่วยดำเนินการเองต่อไม่ไหวเป็นส่วนใหญ่ บางรายกว่าจะเสร็จสิ้นในระดับก่อนศาล จนถึงทราบผล ก็ออกจากงานแล้ว ทำงานไม่ไหว และใช้เวลากว่าปี

นักวิชาการด้านอาชีวอนามัยทุกสาขา ทั้งที่เป็นแพทย์ผู้ให้การวินิจฉัย รักษา และพิจารณาความเกี่ยวข้องของการเจ็บป่วยของผู้ทำงาน ควรที่จะให้การใส่ใจปัญหาจากงานที่อาจเป็นผลให้ผู้ทำงานต้องป่วยด้วย เป็นเบื้องแรก เนื่องจาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ทำงาน และนักวิชาการสาสารณสุขที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้การป้องกันโรคและส่ง เสริมสุขภาพ จะต้องเร่งรัดและไม่ละเลยต่อเพื่อนร่วมงานของผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน เนื่องจากการป่วยด้วยโรคจากการทำงานนั้นมักเกิดเป็นกลุ่ม เช่นถ้าผู้ปฏิบัติงานกับตะกั่วในการผสิตในส่วนคอมพิว เตอร์รายหนึ่ง ป่วยด้วยโรคพิษตะกั่ว จะมีเพื่อนร่วมงานป่วยด้วยโรคพิษตะกั่วที่ระดับความรุนแรงต่างๆ กันได้ จึงควรที่จะไปทำการป้องกันคนที่ เหลือ หรือนักวิชาการทางด้านสุขศาสตร์การทำงาน ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอันตรายในงาน ถ้าได้ทำการสืบค้นแล้วพบปัญหาอย่างไร ก็ได้รายงานตามความเป็นจริง พร้อมทั้งดำเนินการให้เกิดการควบคุมปัจจัยก่อโรคนั้น และติดตามผล

จรรยาของนักวิชาการด้านอาชีวอนามัยทุกสาขา จึงมุ่งเน้นที่ความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ หน้าที่ และข้อเท็จจริงทางวิชาการที่พบ ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และความรับผิดชอบในการป้องกันปัญหาอาชีวอนามัยที่ เกิดกับผู้ทำงานทุกอาชีพ

ที่มา:พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล
ผู้อำนวยการโครงการอบรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
โรงพยาบาลราชวิถี กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า