สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า/บีพีพีวี(Benign paroxysmal positional vertigo/BPPV)

หมายถึงช่วงสั้นๆ ของอาการวิงเวียนแบบบ้านหมุนหรือสิ่งรอบตัวหมุน ร่วมกับอาการตากระตุก ขณะมีการเปลี่ยนท่าหรือเคลื่อนไหวศีรษะจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นภาวะที่พบได้บ่อย และพบมากขึ้นตามอายุ มักพบในผู้สูงอายุ แต่ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีจะพบภาวะนี้ได้น้อยบ้านหมุน

สาเหตุ
เกิดจากหูชั้นในส่วนลาบิรินที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวมีความผิดปกติ ซึ่งส่วนนี้จะประกอบด้วยหลอดกึ่งวง 3 อัน ภายในจะบรรจุอยู่ด้วยของเหลวและเซลล์ประสาท หลอดกึ่งวงทั้ง 3 อันนี้มีช่องเชื่อมต่อกับกระเปาะที่เรียกว่า “ยูทริเคิล และ แซกคูล” ในยูทริเคิลและแซกคูลในคนปกติจะมีผลึกหินปูนเกาะอยู่เพื่อทำหน้าที่ในการรับรู้ทิศทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่จะทำให้เกิดการรบกวนเซลล์ประสาทภายในหลอดกึ่งวงและทำให้เกิดอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรงได้ถ้าผลึกหินปูนจำนวนมากหลุดออกมาแล้วเข้าไปลอยอยู่ในของเหลวภายในหลอดกึ่งวงนั้น

ผลึกหินปูนที่ลอยอยู่ในหลอดกึ่งวง มีชื่อเรียกว่า “Canalith” จะสามารถหลุดลอยเข้าไปในหลอดกึ่งวงได้ทุกอัน แต่ส่วนใหญ่มักจะเข้าไปในหลอดกึ่งวงด้านหลัง

ความเสื่อมของอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นในเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุมาก แต่มักจะเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเป็นผลจากการผ่าตัดหู หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดก็เป็นได้

อาจพบภาวะนี้ร่วมกับโรคอื่นๆ ได้ เช่น ไมเกรน โรคเมเนียส์ หูชั้นกลางอักเสบ โรคทางสมอง เป็นต้น

อาการ
ขณะเปลี่ยนท่าหรือเคลื่อนไหวศีรษะผู้ป่วยมักจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันด้วยอาการวิงเวียน เห็นบ้านหรือสิ่งรอบตัวหมุนอย่างรุนแรง ท่าลุกจากเตียงนอนหรือท่านอนพลิกตะแคงตัวจะพบอาการได้บ่อย หรือในบางรายอาจจะเป็นขณะล้มตัวลงนอน ก้มศีรษะ เงยศีรษะ ในแต่ละครั้งจะมีอาการอยู่นาน 20-30 วินาที และเมื่อเคลื่อนไหวศีรษะในท่านั้นอาจมีอาการกำเริบใหม่ได้อีก และผู้ป่วยจะมีอาการตากระตุกร่วมด้วยขณะมีอาการบ้านหมุน

บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการบ้านหมุนและมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้แม้จะเคลื่อนไหวศีรษะเพียงเล็กน้อยในรายที่เป็นมากๆ

ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกโคลงเคลงนานหลายนาทีและอาจเป็นชั่วโมงแม้จะหายจากเวียนศีรษะแล้ว

หลังจากหายเวียนศีรษะในแต่ละครั้งแล้วในรายที่เป็นไม่มากจะรู้สึกสบายดีเหมือนคนปกติทั่วไป และจะเกิดอาการขึ้นใหม่เมื่อถูกกระตุ้น และผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหูร่วมด้วย

อาการบ้านหมุนอาจมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ ซึ่งอาจกำเริบเป็นครั้งคราวอยู่เรื่อยๆ นานหลายวันหรือสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ แล้วจะหายไปได้เอง แต่ก็มักมีอาการกลับมาเป็นใหม่ได้อีกเมื่อเว้นไปได้ระยะหนึ่ง อาจทิ้งระยะห่างไปเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือนก็ได้

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนจากการตรวจร่างกาย

จะพบอาการตากระตุกร่วมกับอาการบ้านหมุนจากการทดสอบดิกซ์ฮอล์ไพก์(Dix-Hallpike test)

การทดสอบดิกซ์ฮอลล์ไพก์
ให้ผู้ป่วยนั่งบนเตียงตรวจ แล้วให้นอนหงายตามแนวยาวของเตียง ให้ศีรษะห้อยลงจากขอบเตียงโดยมีมือของผู้ตรวจพยุงไว้ ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง ทำมุม 30 องศากับขอบเตียง ผู้ตรวจจับศีรษะผู้ป่วยหันไปทางขวา 45 องศา สังเกตดูอาการตากระตุกนาน 20-30 วินาที ถ้าไม่พบให้จับศีรษะหันไปทางซ้าย 45 องศา แล้วสังเกตอาการในทำนองเดียวกัน

ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงใดๆ นอกจากความรู้สึกกลัวหรือทรมานขณะมีอาการบ้านหมุนกำเริบ แต่อาจเกิดการหกล้มกระดูกหักได้ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีโรคทางหูร่วมด้วย

การรักษา
1. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
-ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่ามานั่งคอตรงๆ หรือนอนหงายศีรษะตรงทันทีขณะมีอาการกำเริบ

-ผู้ป่วยควรนอนหนุนหมอนอย่างน้อย 2 ใบ อย่านอนตะแคงข้างที่มีอาการ ลุกขึ้นจากเตียงนอนอย่างช้าๆ ให้นั่งที่ขอบเตียงสักครู่ก่อนที่จะยืน อย่าก้มศีรษะต่ำหรือเงยมองขึ้นข้างบน ไม่ทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ การสะบัดผมหรือสะบัดคอเร็วๆ รวมทั้งท่าอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำอีก

-เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร

2. ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาถ้ามีอาการไม่มากและเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ควรให้ยากิน เช่น ไดเมนไฮดริเนต ครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการถ้าผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้หรือโคลงเคลงมากและมีอาการอยู่นานเป็นชั่วโมงๆ

3. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการบ้านหมุนหรืออาเจียนมาก มีอาการหูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหู เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดอ้อแอ กลืนลำบาก ตาเห็นภาพซ้อน หรือสงสัยมีความผิดปกติรุนแรงอื่นๆ อาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น อาจต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าถ้าสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคทางสมอง

อาจต้องตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน ตรวจคลื่นไฟฟ้าเกี่ยวกับอาการตากระตุก ทดสอบบนเก้าอี้หมุน ในรายที่สงสัยความผิดปกติทางหู

แพทย์จะทำการรักษาด้วยท่าบริหารศีรษะที่เรียกว่า “Epley maneuver” ในผู้ป่วยที่มีอาการบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า ซึ่งจะทำให้ผลึกหินปูนในหลอดกึ่งวงโดยเฉพาะหลอดกึ่งวงด้านหลังไหลกลับเข้าไปที่กระเปาะยูทริเคิล จะช่วยให้อาการหายได้ทันทีจากการทำด้วยวิธีนี้เพียงครั้งเดียว หรืออาจต้องทำซ้ำในรายที่ทำครั้งเดียวแล้วไม่หาย ในระยะเวลา1-5 ปี อาการของผู้ป่วยมีโอกาสกำเริบซ้ำได้อีก และต้องรักษาด้วยวิธีนี้อีกเช่นกัน

แพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยทำท่าบริหารที่เรียกว่า “Brandt-Daroff exercise” ในรายที่ทำวิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล หรือทนต่อผลข้างเคียง เช่น บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ได้ หรือมีข้อห้ามทำ โดยผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ทุกวัน วันละ 3 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ และแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำท่าบริหารนี้ทุกวันอย่างต่อเนื่องในรายที่มีอาการกำเริบบ่อยๆ

แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ในรายที่การรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วก็ยังไม่ได้ผลและมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 1 ปี

การบริหารศีรษะแบบ Epley maneuver(ทำภายใต้การกำกับโดยแพทย์)
1. ให้ผู้ป่วยนั่งบนเตียง ตั้งตัวตรง ก้มคอเล็กน้อย
2. จับผู้ป่วยล้มตัวลงนอนหงายบนเตียง จับศีรษะหันไปทางด้านที่ทำให้เกิดอาการกำเริบ ให้ปลายจมูกชี้ขึ้นบน ทำมุม 45 องศากับพื้น โดยให้หลังผู้ป่วยแนบกับพื้น อยู่ในท่านี้นาน 30-60 วินาที
3. จับศีรษะหันกลับไปด้านตรงข้าม ให้ปลายจมูกชี้ขึ้นบน ทำมุม 45 องศากับพื้น โดยให้หลังผู้ป่วยแนบกับพื้น อยู่ในท่านี้นาน 30-60 วินาที
4. จับลำตัวผู้ป่วยพลิกตะแคงขึ้นไปทางด้านเดียวกับศีรษะแล้วจับศีรษะหันต่อไปอีก 90 องศา ให้ปลายจมูกชี้ลงล่าง ทำมุม 45 องศากับพื้น อยู่ในท่านี้นาน 30 วินาที
5. ค่อยๆ พยุงให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง โดยให้ลำตัวและศีรษะยังคงอยู่ในท่าเดิม แล้วค่อยๆ หันลำตัวและศีรษะกลับมาอยู่แนวตรง ก้มศีรษะเล็กน้อย อยู่ในท่านี้ 1 นาที

การบริหารแบบ Brandt-Daroff exercise (สอนให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้าน)
1. นั่งห้อยเท้าตรงขอบเตียง
2. ล้มตัวลงนอนตะแคงไปข้างหนึ่ง หันศีรษะให้ปลายจมูกชี้ขึ้นบนทำมุม 45 องศากับพื้น อยู่ในท่านี้นาน 30 วินาที หรือจนกว่าจะหายเวียน
3. ลุกขึ้นนั่งแบบเดียวกับในท่าที่ 1 อยู่ในท่านี้นาน 30 วินาที
4. ล้มตัวลงนอนตะแคงไปอีกข้างหนึ่ง หันศีรษะให้ปลายจมูกชี้ขึ้นบน ทำมุม 45 องศากับพื้น อยู่ในท่านี้ 30 วินาที หรือจนกว่าจะหายเวียน แล้วกลับมาลุกนั่งในท่าที่ 1 นาน 30 วินาที

การบริการท่านี้ควรทำวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 5 ชุด

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้จัดเป็นภาวะที่ไม่มีอันตราย แม้ว่าจะมีอาการบ้านหมุนรุนแรงจนผู้ป่วยบางคนรู้สึกตกใจกลัว มีอาการแบบเป็นๆ หายๆ บ่อยจนน่ารำคาญ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในท่าที่ทำให้เกิดอาการกำเริบเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

2. ควรให้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคนี้ทำการรักษาด้วยวิธีบริหารศีรษะ และผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องหมั่นทำท่าบริหารเองที่บ้านในรายที่เป็นเรื้อรังหรือกำเริบบ่อยๆ

3. อาการบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่ามักจะมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันขณะเปลี่ยนท่าเฉพาะบางท่า และเป็นอยู่เพียง 20-30 วินาที อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน โคลงเคลงร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติทางสมอง ส่วนใหญ่เมื่อหายจากอาการบ้านหมุนแล้ว ผู้ป่วยมักจะรู้สึกสบายดี โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงควรแยกออกจากอาการบ้านหมุนจากภาวะหลอดเลือดตีบในสมอง ซึ่งมักมีอาการติดต่อกันนานๆ และอาจมีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง ร่วมด้วย และควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดถ้ายังแยกแยะโรคได้ไม่ชัดเจน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองตีบ เช่น เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า