สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อันตรายจากสิ่งแวดล้อมทางเคมี

1. สารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงาน
สารเคมีได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่อยู่ในรูปสิ่งของเครื่องใช้ และอาหารนั่นเอง ในเครื่องอุปโภคบริโภค ดังกล่าวแทบทุกชนิดนั้น จะมีสารเคมีเกี่ยวข้องอยู่แทบทั้งนั้น ทั้งที่เป็นวัตถุดิบส่วนประกอบ ตัวเร่งปฏิกิริยา สารพิษตกค้างหรือสิ่งปรุงแต่งรส สี และกลิ่น เป็นต้น สารเคมีที่นำเข้ามาใช้นั้นอาจจะมีเป็นก๊าซของ เหลว หรือของแข็งและเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้ เครื่องอุปโภค บริโภคดังกล่าวจึงต้องเพิ่มขึ้นตลอดเวลานอกจากนี้คนเราก็มีความพยายามที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้สะดวกสบายและให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการคิดค้นเพื่อนำสารเคมีใหม่ๆ มาใช้เพื่อสนองความต้องการดังกล่าวจึงไม่มีที่สิ้นสุด ในปัจจุบัน สารเคมีที่ใช้อยู่มีไม่น้อยกว่า 60000 ถึง 70000 ชนิด ซึ่งรวมถึงที่เป็นตัวยาและสารปราบศัตรูพืช และในแต่ละปีจะมีการนำสารเคมีใหม่ๆ มาใช้ไม่น้อยกว่าปีละ 500-1000 ชนิด

ในการนำสารเคมีใช้เพื่อผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคนั้น จะพบทั้งในภาคเกษตรกรรมในรูปของปุ๋ยสารปราบศัตรูพืช และสารเร่งการ เจริญเติบโตของพืช และในภาคอุตสาหกรรมทุกสาขานับตั้งแต่ อุตสาหกรรมเคมีพื้นฐาน อุตสาหกรรมเปโตรเคมี อุตสาหกรรมอาหารและยา และอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตเคมีและเกษตรกรรมนั้น จะต้องคลุกคลีอยู่กับสารเคมีที่แตกต่างกันออกไป ทั้งชนิดปริมาณ ลักษณะ และอันตรายของสารเคมีเหล่านั้น สารเคมีทั้งหมดที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นพบว่ามีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ที่อาจก่อให้ เกิดอันตรายต่อคนงานหรือผู้ใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งในรูปของการบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยขึ้นได้ สำหรับในเชิงของความเป็นพิษนั้น ยังมีสารเคมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถทราบถึงพิษภัยได้อย่างแน่ชัด อย่างไรก็ตามบางครั้งสารเคมีที่ใช้ในการผลิต ที่มีคนงานเกี่ยวข้องซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้นั้น บางครั้งก็ เรียกว่าสารเคมีอันตราย (dangerous materiaIs) ทั้งนี้ เพราะสาร เคมีดังกล่าว เมื่ออยู่ในภาวะหนึ่ง อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้ ทั้งนี้ เนื่องมาจากคุณสมบัติของสารนั้นที่อาจเกิดการทำปฏิกิริยาขึ้น หรือเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ หรือเกิดการสลายตัวในทันที หรือเกิดติดไฟง่ายหรือจากการระเหยขึ้น ซึ่งสารเคมีในกลุ่มนี้อาจจะประกอบด้วยสารที่ระเบิดได้ (explosives) สารที่กัดกร่อนได้ (corrosives) ของเหลวไวไฟ (flammable liquids) สารเป็นพิษ (toxic chemicals) สารที่เติมออกซิเจน (oxidizing materiaIs) และก๊าซอันตราย (dangerous gases) โดยอาจให้ความหมายเพียงสังเขปได้ดังนี้

สารที่ระเบิดได้ เป็นสารส่วนผสม หรือสารประกอบที่สามารถเข้าทำปฏิกิริยาการลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงแล้วทำให้เกิดระเบิดขึ้นได้

สารที่กัดกร่อนได้ เป็นสารที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อร่างกายคน และมีความสามารถในการทำลายวัตถุต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่ติดไฟได้ ซึ่งผลดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอัคคีภัย หรือการระเบิดได้
ของเหลวไวไฟ เป็นของเหลวที่มีจุดวาบไฟที่ 100 F หรือ 38 C หรือต่ำกว่า
สารเป็นพิษ เป็นก๊าซของเหลว หรือของแข็งที่มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือตายได้ เมื่อสัมผัสกับ เซลล์ของร่างกาย
สารที่เติมออกซิเจน เป็นสารเคมีที่สลายตัวอย่างรวดเร็วภายใต้ภาวะหนึ่ง แล้วเกิดออกซิเจนขึ้น ซึ่งสารนี้ก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ เมื่อสัมผัสกับวัสดุติดไฟ หรืออาจทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรงกับนํ้า และเมื่อมีไฟเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็จะเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้นได้

ก๊าซอันตราย เป็นก๊าซซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตหรือทำให้บาดเจ็บได้ และสามารกทำให้ทรัพย์สินถูกทำลายได้จากคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่มีความเป็นพิษ การกัดกร่อน ความไวไฟ หรือจากการระเบิด

อย่างไรก็ตาม สารเคมีชนิดต่างๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ หรือเป็นผลผลิต หรือเป็นของเสียที่ต้องกำจัด ที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอนามัยของคนงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบการนั้น อาจจะอยู่ในรูปของก๊าซ ไอสาร ฝุ่น ฟูม ควัน ละออง หรืออยู่ในรูปของเหลว เช่น สารตัวทำละลาย (solvents) ต่างๆ เป็นต้น และ เพื่อให้ได้เข้าใจในความหมายของคำต่างๆ ดังกล่าวจึงอาจสรุปนิยามของคำต่างๆ ดังนี้

1.1 ฝุ่น (dust) หมายถึงสาร เคมีที่เป็นอนุภาคของแข็งที่มีขนาด เล็กๆ เกิดขึ้นจากการที่ของแข็งถูกตี บด กระทบ กระแทก ระเบิด เช่น ฝุ่นของหินฝุ่นทราย ฝุ่นถ่านหิน ฝุ่นโลหะต่างๆ ฝุ่นแป้ง ฯลฯ เมื่อพิจารณาตามขนาดของอนุภาคฝุ่นจึงอาจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดดังนี้

1.1.1 ฝุ่นที่สามารถถูกหายใจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ (respirable dust) หมายถึง ฝุ่นที่มีขนาดของอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน (micron) ซึ่ง 1 ไมครอนมีค่าเท่ากับเศษหนึ่งส่วนหนึ่งหมื่น เซนติเมตร เนื่องจากฝุ่นพวกนี้ เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็ก จึงสามารถที่จะปะปนกับอากาศที่หายใจเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจของร่างกายได้

1.1.2 ฝุ่นที่ไม่สามารถถูหายใจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ (non-respirable dust) หมายถึงฝุ่นที่มีอนุภาคโตกว่า 10 ไมครอนขึ้นไป ฝุ่นพวกนี้เนื่องจากมีขนาดใหญ่จึงถูกระบบป้องกันอันตรายของร่างกาย เช่น ขนจมูกป้องกันไว้หมด โดยทั่วไปฝุ่นชนิดนี้จึงมีอันตรายน้อยกว่าฝุ่นชนิดแรก

1.2 ฟูม (fume) หมายถึงอนุภาคที่เป็นของแข็ง ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ โดยทั่วไปจะมีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 1.0 ไมครอน เกิดจากการควบแน่นของไอโลหะ เมื่อโลหะได้รับความร้อนจนหลอมเหลว เช่น
ฟูมของตะกั่ว ฟูมของเหล็ก ฟูมของสังกะสี ฯลฯ (ฟูมของสังกะสีมีขนาดของอนุภาคประมาณ 0.005-0.4 ไมครอน) เนื่องจากฟูมมีขนาดของอนุภาคเล็กมากนั่นเอง จึงทำให้มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้มาก เพราะสามารถเล็ดลอดผ่านระบบป้องกันอันตรายของระบบทางเดินหายใจจนลงไปถึงปอดและทำ อันตรายต่อร่างกายได้ในที่สุด

1.3 ละออง (mist) หมายถึงอนุภาคของเหลวที่มี >40 ไมครอนที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ เกิดจากการที่ของเหลว เมื่อได้รับแรงกดดัน จนเกิดการแตกตัวเป็นอนุภาค เช่น ในการพ่นสารฆ่าแมลง ซึ่งจะใช้ปั๊มหรือกระบอกฉีดทำให้ของเหลวแตกตัวแล้วกลายเป็นละอองเล็กๆ หรือในบางครั้งละอองเล็กๆ นี้อาจเกิดจากการควบแน่นของไอ หรือของก๊าซให้กลายเป็นของเหลวที่เป็นละอองเล็กๆ ก็ได้ เช่น ละอองที่เกิดจากไอของกรดกำมะถัน เป็นต้น

1.4 ไอสาร (vapor) เป็นภาวะที่เป็นก๊าซของสารที่เป็นของเหลวหรือของแข็งที่อุณหภูมิ และความกดดันปกติ เช่น ไอสารของลูกเหม็น เบนซิน เป็นต้น ไอสารเหล่านี้สามารถจะเปลี่ยนรูปกลับเป็นของ เหลวหรือของแข็งตามสภาวะเดิมได้ โดยการเพิ่มความกดดัน หรือลดอุณหภูมิลง

1.5 ก๊าซ (gas) หมายถึง ของไหล (fluid) ซึ่งไม่มีรูปร่างที่แน่นอนขึ้นกับภาชนะที่ใช้บรรจุ สามารถเปลี่ยนเป็นของเหลว หรือเป็นของแข็งได้ โดยการเปลี่ยนอุณหภูมิและ/หรือเปลี่ยนความกดดัน เช่น ก๊าซหุงต้มตามบ้านเรือนเมื่อบรรจุลงในถังที่มีความกดดันสูงๆ จะกลายเป็นของเหลว เมื่อเราปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ ของเหลวในถังก็จะกลายเป็นก๊าซ ตัวอย่างของก๊าซมากมาย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน คลอรีน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น

1.6 ควัน (smoke) หมายถึง อนุภาคเล็กละเอียดที่ลอยอยู่ในอากาศซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาดเล็กกว่าหนึ่งไมครอน ส่วนประกอบทางเคมีของควันนั้นค่อนข้างจะซับซ้อน ปกติควันจะเป็นผลที่เกิดจากการ เผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของวัตถุที่มีธาตุที่มีธาตุคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ เช่น ถ่านหิน และนํ้ามัน เป็นต้น

2. การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี
ในการพิจารณาความเป็นพิษของสารเคมีนั้น ปกติจะต้องทราบว่าสารเคมีนั้น เข้าสู่ร่างกาย และเข้าสู่กระแสโลหิตได้อย่างไร เพราะสารเคมีจะไม่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เลย ถ้าหาก สารเคมีไม่สามารถเข้าสู่กระแสโลหิตได้ โดยทั่วไปสารเคมีจะเข้าสู่ร่างกายคนงานที่ทำงานทั้งในอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เหมืองแร่ และอื่นๆ ได้ 3 ทางด้วยกัน คือ โดยการหายใจ การกิน และการดูดซึมผ่านผิวหนัง เมื่อสารเคมีถูกดูดซึม เข้าสู่กระแสโลหิตแล้ว สาร เคมีที่เป็นพิษนั้นก็จะก่อให้เกิดผลร้ายขึ้นหรือบางครั้งก็อาจทำให้ เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ได้ด้วย

สารเคมีต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง ดังนี้คือ

2.1 โดยการหายใจ การทำงานในสถานประกอบการทั่วๆ ไป ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จะได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายมากที่สุดโดยวิธีการหายใจ และพบว่าการเป็นพิษเนื่องจากสารเคมีต่างๆ ที่พบใน โรงงานอุตสาหกรรมนั้นจะมาจากการหายใจ เอาสารเคมีเข้าไป เป็นส่วนใหญ่ เมื่อสารเคมีผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ สารเคมี เหล่านั้นบางชนิดจะถูกละลายเป็นของเหลวแล้วถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต แต่สารเคมีบางชนิดจะไม่ถูกละลายและถูกดูดซึม คือจะตกค้างอยู่ในปอด ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด เช่น ฝุ่นทราย เป็นต้น ปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายนั้นสำคัญที่สุด เพราะลักษณะต่างๆ ของสารเคมีนั้นส่วนใหญ่เอื้ออำนวยให้เข้าทางการหายใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ฟูมละอองเล็กๆ ไอสารเคมี ควันและก๊าซ มนุษย์เราต้องหายใจตลอดเวลา พื้นที่ของระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดจะกว้าง ใหญ่มาก คือปอดจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 90-100 ตารางเมตร ดังนั้น จึงพร้อมที่จะรับสารเคมีได้มากมายและอัตราการดูดซึมสารเคมีจะสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับระบบทางเดินอาหาร

เนื่องจากปอด เป็นทางตันซึ่งผิดกับระบบทางเดินอาหาร เพราะถ้าสารเคมีไม่ถูกละลายและถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร สารเคมี เหล่านั้นก็จะถูกขับออกจากร่างกายพร้อมกับอุจจาระ ส่วนปอดนั้น
เนื่องจากเป็นทางตันจึงไม่สามารถขับสารเคมีพวกที่ไม่ละลายและตกค้างอยู่ที่ปอดออกได้ จึงทำให้สารเคมีที่ตกค้างอยู่ภายในปอดมีโอกาสทำความระคายเคืองให้แก่ปอด อย่างดีที่สุดที่ปอดพยายามขับสารเคมีที่ตกค้างอยู่ให้ออกมาก็คือ วิธีการไอ ซึ่งปกติแล้วจะมีผลน้อยมาก ดังนั้น สารเคมีที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะเกิด อันตรายได้ทั้งในกรณีสารเคมีนั้นสามารถละลายและถูกดูดซึม เข้าสู่กระแสโลหิต และสารเคมีนั้นไม่ละลายและคงสภาพอยู่ที่ปอด

2.2 โดยการกิน ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจะมีโอกาสได้รับสารเคมีเข้าร่างกายโดยวิธีการกินนั้นน้อยมาก นอกจากเป็นอุบัติเหตุ การตั้งใจฆ่าตัวตาย หรือการมีสุขวิทยาส่วนบุคคลไม่ดี คือ ปฏิบัติตนผิด หลักความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ตัวอย่างเช่น กินอาหารหรือสูบบุหรี่ขณะปฏิบัติงานหรือ ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้สารเคมีที่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารอัตราการดูดซึมของสารเคมีในระบบทางเดินอาหาร โดยทั่วไปก็มีอัตราต่ำกว่าระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อสารเคมีถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสโลหิตแล้ว สารเคมีดังกล่าวจะถูกนำไปที่ตับ เพื่อทำลายพิษและเปลี่ยนแปลงสภาพ ซึ่งในการทำลายพิษนี้มักจะมีขั้นตอนหลายขั้นนับตั้งแต่การสะสมที่ตับ การ เปลี่ยนสภาพไปเป็นสารไม่เป็นพิษ และการเคลื่อนย้ายไปยังไตโดยกระแสโลหิต แล้วขจัดออกทางระบบขับถ่ายปัสสาวะ สำหรับสาร เคมีที่ไม่ดูดซึมก็จะถูกขับออกจากร่างกายโดยทางอุจจาระ

2.3 โดยการดูดซึมทางผิวหนัง การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีโดยวิธีการดูดซึมทางผิวหนัง นับว่าสำคัญรองลงมาจากการหายใจ ปกติผิวหนังจะมีชั้นไขมันทำหน้าที่ป้องกันการดูดซึมของสารเข้าสู่ร่างกาย แต่มีสารเคมีบางชนิดสามารถที่จะทำลายชั้นไขมัน เหล่านั้นได้ เช่น สารพวกตัวทำละลายทั้งหลาย ตะกั่วอินทรีย์ ไซยาไนด์ สารฆ่าแมลง เป็นต้น จึงทำให้สารเคมีดังกล่าวสามารถซึมผ่านชั้นไขมันเหล่านั้นเข้าไปสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกๆ ลงไปได้ ซึ่งชั้นของผิวหนังที่ลึกลงไปนั้นจะมีเส้นโลหิตมาหล่อเลี้ยงจึงทำให้สาร เคมีพวกที่ซึมผ่านชั้นไขมันนอกๆ ลงไปลึกๆ สามารถซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้ นอกจากนี้การที่ผิวหนังสัมผัสกับสาร เคมีบางชนิด
อาจทำให้เกิดการระคายเคืองรวมทั้งเกิดการคัน แสบร้อน และผิวหนังอักเสบตรงบริเวณนั้นๆ ได้

3. การดูดซึม การกระจาย และการขจัดสารเคมีในร่างกาย
สารเคมี เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีทางการหายใจ พวกที่สามารถละลายได้ก็จะถูกละลายและดูดซึมตามทางเดินของระบบหายใจ เข้าสู่กระแสโลหิต ส่วนสารเคมีที่เข้าในร่างกายโดยวิธีการกินเข้าไป ส่วนที่ละลายและถูกดูดซึมได้ก็จะถูกดูดซึมที่บริเวณลำไส้เล็ก เข้าสู่กระแสโลหิต สารเคมีที่สามารถผ่านชั้นไขมัน ที่ทำหน้าที่ป้องกันผิวหนังชั้นนอกเข้าไปลึกๆ ได้ ก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตดังได้กล่าวมาแล้ว

จะเห็นได้ว่าสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าวิธีใดก็ตาม สารดังกล่าวจะไปสู่กระแสโลหิตทั้งนั้น ดังรูปที่ 1 เนื่องจากกระแสโลหิตเป็นระบบหมุนเวียนทั่วร่างกาย โลหิตจะถูกหัวใจปั๊มส่วนที่เป็นเลือดดำไปให้ปอดฟอก โดยเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออก และรับออกซิเจนเข้ามาใหม่กลายเป็นเลือดแดง และจะปั๊มส่วนที่เป็นเลือดแดงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะเห็นได้ว่าโลหิตมีการหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาทั่วร่างกาย ดังนั้นถ้าโลหิตนั้นมีสารเคมีที่ถูกดูดซึมเข้ามาผสมอยู่ สารเคมีที่ผสมอยู่ในโลหิตก็จะหมุนเวียนไปทั่วร่างกายได้ เช่น เดียวกัน

เมื่อสารเคมีเข้าสู่กระแสโลหิตแล้ว สารเคมีบางชนิดจะเข้าไปสะสม (storage) ตามอวัยวะบางอย่าง เช่น สารตะกั่วจะไปสะสมในกระดูก สารปรอทจะไปสะสมอยู่ในไต หรือสารฆ่าแมลง ประเภทออร์แกโนคลอรีนจะไปสะสมตามไขมันตามไขมันต่างๆ ในร่างกาย ปกติแล้วสารเคมีมี่ถูกสะสมอยู่ตามอวัยวะของร่างกายจะยังไม่แสดงการเป็นพิษต่อร่างกาย แต่สารเคมีที่ถูกสะสมนี้อาจจะทำอันตรายต่อร่างกายภายหลังได้ถ้าสภาวะอำนวยมันก็จะถูกปล่อยออกมาสู่กระแสโลหิตอีกครั้งหนึ่งแล้วพร้อมที่จะไปทำอันตรายต่ออวัยวะของร่างกายส่วนอื่นได้ ส่วนสารเคมีที่ไม่ถูกสะสมในร่างกายก็จะเดินทางไปพร้อมกับโลหิต เพื่อไปยัง “อวัยวะเป้าหมาย” (target organs) และไปมีผลหรือไปทำอันตรายต่ออวัยวะเป้าหมาย เหล่านั้นต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีนั้นๆ สารเคมีแต่ละตัวจะมีจุดหมายปลายทาง คือ การทำอันตรายอวัยวะเป้าหมายแตกต่างกัน หรืออาจเหมือนกันได้ สารบางตัวเข้าทำอันตรายอวัยวะเป้าหมายเพียงอวัยวะเดียวแต่สารเคมีบางตัวก็สามารถทำอันตรายอวัยวะเป้าหมายได้หลายแห่ง การที่สารเคมีตัวไหนจะ เลือกไปทำอันตรายอวัยวะไหนนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะของสารเคมีตัวนั้นกับคุณสมบัติของอวัยวะเป้าหมายว่ามีความสอดคล้องหรือเหมาะสมกันเพียงไร เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มีความเหมาะสมกับฮีโมโกลบิน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จึงไปเกาะกับฮีโมโกบิลทำให้ออกซิเจนไม่สามารถไปเกาะกับฮีโมโกบิล เลยทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ฮีโมโกบิลจึงเป็นอวัยวะเป้าหมายของคาร์บอนมอนอกไซด์ บางครั้งนักพิษวิทยาสามารถที่จะคาดการณ์จากการที่ทราบคุณสมบัติและโครงสร้างของสารเคมีว่าสารชนิดนั้นๆ ควรจะทำอันตรายอวัยวะเป้าหมายที่ไหน ดังเช่นตัวอย่างที่ปรากฏในตารางที่ 1

สารเคมีที่อยู่ในกระแสโลหิตหรือที่สะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ หรือที่กำลังทำอันตรายอวัยวะเป้าหมายนั้น อาจจะอยู่ในรูปอิสระที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นสารใหม่ คือยังคงสภาพเป็นสารเดิม เช่นสารตะกั่ว เมื่ออยู่ในกระแสโลหิตก็ยังเป็นสารตะกั่วอยู่ แต่สารเคมีบางชนิด เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นสารเคมีตัวใหม่ ซึ่งสารตัวใหม่นี้อาจจะมีอันตรายสูงกว่าหรือต่ำกว่าสารเดิมก็ได้

สารเคมีที่เข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายก็จะพยายามขับสารนั้นให้ออกจากร่างกายเรื่อยๆ ถ้าอัตรานำเข้าสู่ร่างกายนั้นน้อยกว่าหรือ เท่ากับอัตราการขับออก สารเคมีก็จะไม่ถูกสะสมอยู่ในร่างกายแต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าอัตราการนำเข้าสูงกว่าอัตราการขับออก สาร เคมีก็จะสะสมอยู่ในร่างกายต่อไปเรื่อยๆ และจะทำให้เกิดอันตรายระยะยาว หรือเรื้อรังในอนาคตได้

สารเคมีที่ถูกขับออกจากร่างกายอาจจะอยู่ในสภาพเดิม คือ เป็นสารเคมีชนิดเดียวกับตอนที่ได้รับเข้าไปหรือถูกเปลี่ยนเป็นสารใหม่โดยระบบของร่างกายก็ได้ เช่น สารโทลูอิน เมื่อเข้าสุ่ร่างกายแล้ว จะถูกเปลี่ยนเป็นสารใหม่และถูกขับออกจากร่างกายในรูปของกรดฮิปปูริก เป็นต้น

ด้วยกลไกตอบสนอง เพื่อความอยู่รอดของร่างกาย ทำให้สารเคมีถูกขจัดออกจากร่างกายด้วยวิธีการหรือทางที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

3.1 ทางลมหายใจออก ตัวอย่างสารเคมีที่ถูกขับออกมาพร้อมกับลมหายใจ เช่น พวกก๊าซ และไอระเหยต่างๆ เป็นต้น

3.2 ทางปัสสาวะ เนื่องจากไตเป็นอวัยวะของร่างกายที่ทำหน้าที่ขจัดของเสียในโลหิต ดังนั้นสารเคมีที่ปะปนอยู่ในโลหิตจะค่อยๆ ถูกไตขจัดออกมาพร้อมกับปัสสาวะ เช่น พวกโลหะและสารเคมีทุกชนิดที่ผสมอยู่ในกระแสโลหิต

3.3 ทางอุจจาระ เมื่อสารเคมีเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีการรับประทานเข้าไปสารเคมีส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตก็จะถูกขับออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ นอกจากนี้สารเคมีที่เข้าสู่กระแสน้ำดี (bile) ก็อาจถูกตับสกัดออกมากับอุจจาระได้

3.4 ทางเหงื่อ สารบางชนิด เช่น โลหะหนัก และสารฆ่าแมลงบางชนิดสามารถขับออกมาพร้อมกับเหงื่อได้

3.5 ทางนํ้าตา พวกสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา เช่น ก๊าซพิษบางชนิดเมื่อเข้าตา จะทำให้แสบตา ร่างกายจึงหลั่งนํ้าตาออกมา เพื่อชะล้างก๊าซพิษนั้นให้เจือจางลงและถูกขจัดออกไปพร้อมกับนํ้าตา

3.6 ทางนํ้าลาย สารเคมีบางตัวจะถูกสกัดออกมาพร้อมกับนํ้าลาย ซึ่งปกติก็จะถูกกลืนลงกระเพาะทำให้อาจเกิดการดูดซึมที่กระเพาะได้

3.7 ทางน้ำนม ด้วยวิธีนี้จึงให้เกิดการถ่ายทอดสารเคมีจากมารดาไปสู่ทารกได้ หรือสารเคมีจากวัวถ่ายทอดไปสู่มนุษย์ได้ ตัวอย่างสารเคมีที่ถูกขจัดออกมาพร้อมกับนํ้านมได้แก่ สารฆ่าแมลงบางชนิด เช่น ดีดีที เป็นต้น
health-0229 - Copy
รูปที่ 1  แสดงวิธีที่สารเคมีเข้าสู่ร่างกาย การแพร่กระจายในกระแสโลหิตไปสู่อวัยวะต่างๆ การปรากฎอาการและอาการแสดงของร่างกายและการขจัดสารเคมีออกจากร่างกาย

ตารางที่ 1 อวัยวะเป้าหมายของสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรม
health-0230 - Copy

4. พิษและอันตรายของสารเคมี

4.1 พิษและอันตราย
เนื่องจากได้มีผู้เข้าใจไขว้เขวถึงความแตกต่างระหว่าง “ความมีพิษ” (toxcity) และ “อันตราย” (hazard) อยู่เสมอ จึงควรได้พิจารณาทำความเข้าใจในความแตกต่างอย่างถ่องแท้ ดังนี้

“ความมีพิษ” นั้นจะเป็นคุณสมบัติที่เป็นอันตรายประจำตัวของสาร เคมี โดยทั่วๆ ไปสารที่มีความมีพิษสูงมักจะมีอันตรายสูงด้วย แต่ในบางกรณีก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างสารที่มีพิษสูง เช่น ไซยาไนด์ และพวกสารฆ่าแมลงบางชนิด คือสารพวกนี้โดยตัวมันเองจะมีพิษสูงอยู่แล้ว แต่อันตรายจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับโอกาสและสภาพการใช้สารนั้นๆ

“อันตราย” หมายถึง โอกาสที่สารเคมีตัวนั้นจะทำให้เกิดผลเสียหรืออันตรายแค่ไหน สารเคมีที่มีอันตรายสูงไม่จำเป็นต้องเป็นสารที่มีพิษสูง เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งปกติถือว่าก๊าซตัวนี้มีความ เป็นพิษไม่สูงนัก แต่ถูกจัดว่าเป็นก๊าซที่มีอันตรายมาก เพราะสามารถทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและทำให้มนุษย์เสียชีวิตปีละมากๆ ทั้งนี้เนื่องจากก๊าซตัวนี้ เรามีโอกาสที่จะพบอยู่เสมอทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน เมื่อมีการเผาไหม้ที่ไหนมักจะพบก๊าซตัวนี้อยู่เสมอ นอกจากนี้ประชาชนยังประมาทที่เห็นว่าก๊าซตัวนี้มีพิษไม่สูงนัก เลยไม่ให้ความสนใจถึงมาตรการป้องกันอันตรายที่ดีพอ ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับอันตรายจากก๊าซนี้ปีละมากๆ ดังนั้น ก๊าซตัวนี้จึงถือว่าเป็นก๊าซที่มีอันตรายสูง ทั้งๆ ที่ในตัวมันเองมีความมีพิษไม่สูง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น อาจยกตัวอย่างเพิ่มเติมได้ เช่น ของเหลวสองชนิด มีระดับความมีพิษเท่ากัน แต่มีระดับอันตรายต่างกัน โดยที่ของเหลวชนิดหนึ่งอาจจะไม่มีกลิ่นและไม่ระคายเคืองต่อตาและจมูก ในขณะที่ของเหลวอีกชนิดหนึ่งมีกลิ่นฉุนและแรงในระดับความเข้มข้นเพียงเล็กน้อยหรือระคายเคืองตาหรือทางเดินหายใจ ฉะนั้นโดยการเปรียบเทียบจะเห็นว่าของเหลวชนิดที่มีคุณสมบัติเตือนภัย คือมีกลิ่นฉุนนั้น จะเป็นสารที่มีระดับอันตรายน้อยกว่า ทั้งนี้ เพราะเราจะสามารถทราบว่ามีสารดังกล่าวนี้อยู่ในบริเวณนั้นได้ก่อนเกิดอันตรายขึ้น เป็นต้น

4.2 อาการเฉียบพลันและอาการเรื้อรัง
สารเคมี เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่พอจะทำให้เกิดพิษได้แล้ว ร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี โดยเป็นปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีที่ได้รับเข้าไปและสารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นผลทำให้ เกิดความเสียหายหรือเสียหน้าที่ของเซลล์ หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้อวัยวะต่างๆ ที่ประกอบด้วยเซลล์ หรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นไม่สามารถทำหน้าที่ปกติของมันได้ ผลที่ตามมาก็คือผลเสียต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของร่างกาย โดยที่ร่างกายจะแสดงหรือปรากฏอาการและอาการแสดงที่สำคัญออกมา (sign & symptom) ในลักษณะของอาการเฉียบพลัน และอาการเรื้อรัง

อาการเฉียบพลัน หมายถึง อาการที่ร่างกายแสดงออกมาภายหลังจากได้รับสารเคมีเข้าไปไม่นานนัก เช่น ภายใน 24 ชั่วโมงส่วนใหญ่ร่างกายจะแสดงอาการเฉียบพลันออกมาก็ต่อเมื่อได้รับสารเคมีเข้าไปครั้งละมากๆ โดยไม่ต้องรอการสะสมของสารเคมีภายในร่างกาย อาการที่อาจสังเกตได้ในกรณีของเฉียบพลันก็เช่น อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร อาการเพ้อคลั่ง สลบ ชัก อาการทางประสาท และอาการผิดปกติของผิวหนัง เป็นต้น

อาการเรื้อรัง หมายถึง อาการที่ร่างกายค่อยแสดงออกมา ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายได้รับสารเคมีเข้าไปทีละน้อยๆ แต่เป็นระยะ เวลานานๆ ซึ่งทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีในร่างกายเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ จนมีระดับของสารเคมีในร่างกายที่สูงพอจะทำให้เกิดผล เสียต่อร่างกายได้ อาการเรื้อรังนั้นจะแตกต่างกันไปตามชนิดของสารเคมีที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย เช่น ในกรณีของตะกั่วก็จะเกิดอาการข้อมือและข้อเท้าตก เพราะไม่มีแรง ฯลฯ อาการเรื้อรังของปอดที่หายใจเอาฝุ่นเข้าไปมากๆ ก็คือ เหนื่อยหอบง่าย ไอเรื้อรัง ถ้า เป็นฝุ่นบางชนิด เช่น สารหนูหรือใยแอสเบสทอส ก็อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้

4.3 ระดับอันตรายของสารเคมี
สาร เคมีแต่ละตัวจะมีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญต่อไปนี้

4.3.1 คุณสมบัติทางเคมีของสารนั้นๆ เช่น ความสามารถที่จะละลายในร่างกายแล้วถูกดูดซึมได้ง่าย หรือสามารถละลายในไขมันของผิวหนังแล้วซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึกๆ ได้ และยังขึ้นกับ เวเลนซี(valency) และสูตรโครงสร้างทางเคมีของสารนั้นๆ ด้วย เช่น สารโครเมียมจะมีพิษสูงที่สุดที่เวเลนซี 6 เป็นต้น และเนื่องจากสาร เมธิลแอลกอฮอล์มีจำนวนอะตอมของคาร์บอนน้อยกว่าสารเอธิลแอลกอฮอล์ จึงทำให้ เมธิลแอลกอฮอล์มีพิษสูงกว่า เป็นต้น

4.3.2 คุณสมบัติทางกายภาพหรือฟิสิกล์ของสารเคมี เช่น ขนาด เพราะฝุ่นที่มีขนาดเล็กจะมีอันตรายมากกว่าฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า เพราะฝุ่นขนาดเล็กจะสามารถลงไปในปอดได้ลึกกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ นอกจากนี้ลักษณะรูปร่างของสารเคมีที่แตกต่างกัน อันตรายก็จะแตกต่างกัน เช่น ฝุ่นแป้งจะมีรูปร่างกลม ส่วนฝุ่นทรายจะมีรูปร่างที่ เป็นเหลี่ยมหรือแหลมคม ดังนั้น ฝุ่นทรายจึงทำอันตรายเนื้อเยื่อปอดได้มากกว่า เป็นต้น

4.3.3 ขนาดหรือปริมาณของสารเคมีที่ร่างกายได้รับ โดยที่ถ้าได้รับสารเคมีเข้าไปมากก็จะมีอันตรายมาก

4.3.4 ระยะเวลาที่ได้รับ (exposure time) ถ้าได้รับสารเคมีเป็นระยะเวลานานก็มีโอกาสได้รับอันตรายสูงขึ้น

4.3.5 ความต้านทานของแต่ละบุคคล (tolerance) ซึ่งความต้านทานต่อสารเคมีของแต่ละบุคคลนั้นจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพอนามัยทั่วไปๆ ไปว่าแข็งแรงแค่ไหน และขึ้นกับองค์ประกอบที่อธิบายไม่ได้อีกมากมาย ดังนั้น บางคนจึงมีความทนต่อสารเคมีได้ต่ำกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องความแตกต่างของบุคคล

4.3.6 อายุของผู้ได้รับสารเคมีก็มีส่วนสำคัญ เช่น เด็กโดยทั่วๆ ไปจะมีอันตรายจากสารเคมีมากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพราะระบบป้องกันอันตรายจากสารเคมีในสมองยังไม่เจริญดีพอ

4.3.7 เพศ โดยทั่วๆ ไปเพศหญิงจะได้รับอันตรายจากสารเคมีมากกว่าผู้ชาย เมื่อสภาพอย่างอื่นคล้ายๆ กัน

4.3.8 มาตรการในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี เช่น ถึงสารเคมีจะมีพิษสูง แต่ก็อาจมีอันตรายต่ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีป้องกันว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน เช่น สารไซยาไนด์ ถึงแม้จะมีพิษสูง แต่ถ้าใช้ ด้วยความระมัดระวังก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

4.4 พิษของสารเคมีหลายชนิดในร่างกาย
ในสภาพความเป็นจริง สารเคมีที่ร่างกายได้รับเข้าไปอาจจะเป็นชนิดเดียว หรืออาจเป็นหลายชนิดพร้อมๆ กันก็ได้ เมื่อร่างกายได้รับสารเคมีหลายชนิดเข้าไปในลักษณะเดียวกัน อาจจะทำให้สารเคมีหลายชนิดเหล่านั้นมีพิษร่วมกัน คือ พิษของสารแต่ละตัวจะเสริมกัน (additive reaction) หรือ อาจทำให้พิษเพิ่มมากยิ่งขึ้น (synergistic action) หรือทำให้พิษลดลง (antagonistic action)
ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของสารเคมีที่รวมตัวกัน จะเห็นได้ว่า เกษตรกรในประเทศเรายังเข้าใจผิดมากที่คิดว่า การผสมสารฆ่าแมลงหลายชนิดเข้าด้วยกัน จะทำให้ผลของสารฆ่าแมลงสูงขึ้นเสมอไป เพราะความจริงแล้ว สารเคมีเหล่านั้นอาจไปหักล้างพิษกันเอง ทำให้พิษลดลงก็ได้

5. ดัชนีชี้อันตรายของสารเคมี

5.1 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณและความเป็นพิษของสารเคมี (Dose-Response Relationship)ไม่มีสารเคมีตัวไหนที่ถือว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ สารเคมีทุกตัวสามารทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งนํ้าดื่ม (ถือว่าเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง) ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ (dose) ของสารเคมีที่ร่างกายได้รับเข้าไปว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เช่น ดื่มนํ้าเข้าไปมากๆ จะทำให้จุกหรือเซลล์บวมนํ้าและตายได้ และการ เป็นอันตรายซึ่งหมายถึงการตอบสนองของร่างกาย (response) นั้นจะมากน้อย เพียงไรก็ขึ้นกับปริมาณของสาร เคมีที่ร่างกายได้รับ เข้าไป กล่าวคือ ถ้าได้รับสารเคมีเข้าไปเป็นจำนวนมาก ร่างกายก็จะตอบสนองหรือมีอันตรายมาก ถ้าได้รับเข้าไปน้อยก็จะมีอันตรายน้อย เช่น กินยาสองเม็ดย่อมมีผลมากกว่าหนึ่งเม็ด ถ้ากินหลายเม็ดก็อาจจะป่วยหรือเสียชีวิตได้ เพราะมีปริมาณมากเกินไป จะเห็นได้ว่า ปริมาณของสารเคมีจะมีความสัมพันธ์กับการตอบสนองของร่างกายดังรูปที่ 2 และ 3
health-0233 - Copy
รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของสารเคมีและการตอบสนองของร่างกาย

health-0234 - Copy

รูปที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารเคมีและระดับของอันตราย

จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า เมื่อได้รับสารเคมีในปริมาณที่มากขึ้น เรื่อยๆ อันตรายก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเมื่อปริมาณสารเคมีที่ได้รับมีขนาด “ก” การตอบสนองของร่างกายจะเป็น “ขีดจำกัดปกติ” ซึ่งหมายถึง ปริมาณสูงสุดของสารเคมีที่ร่างกายจะทนอยู่ในสภาพปกติได้ ซึ่งที่ระดับนี้เองที่ใช้กำหนดเป็นค่าความปลอดภัยของสารเคมี เพราะถ้าเกินระดับนี้ไปแล้วร่างกายก็จะเริ่มผิดปกติหรือสุขภาพเสื่อม เมื่อเปลี่ยนปริมาณสารเคมีสูงขึ้นเป็น “ข” ร่างกายจะเปลี่ยนเป็น “เกิดอันตราย” และเมื่อเพิ่มปริมาณสารเคมีสูงขึ้นเป็น “ค” “ง” และ “จ” ร่างกายก็จะเกิด “พิการชั่วคราว” “พิการถาวร” และ “ตาย” ตามลำดับ คือ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตายในที่สุด

5.2 ปริมาณของสารเคมีที่ทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นการเสียชีวิตทั้งหมด (100 เปอร์เซ็นต์) หรือเสียชีวิตเพียงครึ่งหนึ่ง (50 เปอร์เซ็นต์) ของทั้งหมด ถ้าปริมาณของสารเคมีนั้นทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตทั้งหมด เราเรียกว่า LD 100 แต่ถ้าปริมาณของสารเคมีดังกล่าวทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนสัตว์ทดลองทั้งหมด เราเรียกว่า LD 50

ค่า LD สามารถใช้เป็นดัชนีบอกอันตรายของสารเคมีได้ โดยที่สาร เคมีตัวไหนมีค่า LD ต่ำกว่าสารอีกตัวหนึ่งแสดงว่า สารเคมีที่ค่า LD ตํ่ากว่าจะมีอันตรายสูงกว่า เพราะในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ สามารถทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตได้แล้ว

ระดับอันตรายของสารเคมีต่างๆ เมื่อแบ่งตามค่า LD 50 จะได้ดังนี้

1. อันตรายสูงสุด LD 50 มีค่าน้อยกว่า 1 มิลลิกรัม/นํ้าหนัก (กิโลกรัม) (extremely toxic)

2. อันตรายสูง LD 50 มีค่าเท่ากับ 1-50 มิลลิกรัม/น้ำหนัก (กิโลกรัม) (highly toxic)

3. อันตรายปานกลาง LD 50 มีค่า เท่ากับ 50-500 มิลลิกรัม/นํ้าหนัก (กิโลกรัม) (moderately toxic)

4. อันตรายเล็กน้อย LD 50 มีค่าเท่ากับ 0.5-5 กรัม/นํ้าหนัก (กิโลกรัม) (slightly toxic)

5. ถือว่าไม่เป็นพิษ LD 50 มีค่าเท่ากับ 5-15 กรัม/นํ้าหนัก (กิโลกรัม) (practically non-toxic)

6. ไม่เป็นอันตราย LD 50 มีค่ามากกว่า 15 กรัม/น้ำหนัก (กิโลกรัม) (relatively harmless)

ในทางปฏิบัติจะนิยมใช้คำว่า LD 50 มากกว่า LD 100 เมื่อใช้คำ LD บอกถึงระดับอันตรายของสารเคมีจะต้องระบุถึงชนิดของสัตว์ทดลอง เช่น เป็นหนูหรือสุนัข กระต่าย ฯลฯ และต้องระบุวิธีที่ได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เช่น กิน หายใจ หรือฉีดรวมทั้งต้องบอกนํ้าหนักของสารเคมี (มิลลิกรัมหรือกรัม) ต่อน้ำหนักของสัตว์ทดลอง (กิโลกรัม) ด้วย ตัวอย่าง LD 50 ในทางปฏิบัติแสดงไว้ในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงตัวอย่างค่า LD 50 ของสารเคมีบางตัว
health-0235 - Copy

6. การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของสารเคมี
ในปัจจุบันได้มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีไว้ 2 ชนิด คือ มาตรฐานของสารพิษในอากาศ และมาตรฐานของสารพิษในร่างกาย ดังนี้

6.1 มาตรฐานของสารพิษในอากาศ (Threshold Limit Value หรือ TLV) คือค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศของการทำงานที่ เชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนทำงานส่วนใหญ่แต่อาจจะมีบางคนที่มีความไวรับหรือมีความต้านทานน้อย เกิดอาการผิดปกติที่ระดับความเข้มข้นนี้ได้

TLV มีขีดจำกัดการใช้ดังนี้
6.1.1 จะต้องเป็นบรรยากาศของการทำงานที่ทำงานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละไม่เกิน 40 ชั่วโมง

6.1.2 อย่านำไปใช้บอกว่า “ปลอดภัย” หรือ “ไม่ปลอดภัย” อย่างแน่นอน คือสามารถใช้เป็นเครื่องชี้แนะแนวทางเท่านั้น

6.1.3 อย่านำไปใช้ในเรื่องของสารเคมีที่เป็นมลพิษอากาศ (air pollution) เพราะกลุ่มคนที่ได้รับสารเคมีนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือในเรื่องของมลพิษอากาศกลุ่มคนที่ได้รับสารเคมีนั้นจะมีทุกเพศทุกวัยและสุขภาพของทุกคน ส่วนในบรรยากาศของการทำงาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่มคนในวัยทำงานเท่านั้น ตัวอย่าง TLV ในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ตัวอย่างค่า TLV ของสารเคมีบางชนิดหน่วยที่ใช้คือ ส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร (part per million หรือ ppm) 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์ เมตร (mg/m3) และล้านอนุภาคต่อปริมาณของอากาศ 1 ลูกบาศก์ฟุต (million of particle per cubicfoot of air หรือ mppcf)
health-0236 - Copy

6.2 มาตรฐานของสารพิษในร่างกาย (Biological Limit Value หรือ BLV) คือค่าความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในร่างกายที่ยอมให้มีได้ เพื่อความปลอดภัย ค่ามาตรฐานเหล่านี้แบ่งตามวัตถุ ตัวอย่างที่เก็บมาจากสิ่งที่มีชีวิต เช่น โลหิต ปัสสาวะ นํ้านม เป็นต้น โดยเก็บตัวอย่างเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เพื่อหาปริมาณของสารเคมีนั้นๆ ในปัจจุบันนี้ค่า BLV ของสารเคมียังมีจำนวนจำกัดมาก เพราะต้องใช้เวลาศึกษาทดลองนานจึงจะได้ค่าเหล่านั้นมา ตัวอย่างค่า BLV ของสารเคมีบางตัวได้

7. การตรวจหาปริมาณของสารเคมี
การตรวจหาปริมาณของสารเคมี เพื่อช่วยประเมินอันตรายจากการทำงานที่สำคัญมี 2 แห่งด้วยกันคือในสิ่งแวดล้อมและสภาพการทำงานและในร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน

7.1 การตรวจหาสารเคมีในสิ่งแวดล้อมของการทำงาน
วัตถุประสงค์หลักของการตรวจหาสารเคมีในสิ่งแวดล้อมของการทำงานก็เพื่อต้องการทราบชนิดของสารเคมีที่มีอยู่ในบรรยากาศของการทำงานว่ามีสารอะไรบ้างและมีอยู่ในระดับความเข้มข้นขนาดไหน พอจะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป ส่วนวัตถุประสงค์ย่อยของการตรวจสารเคมีในบรรยากาศของการทำงานมีดังต่อไปนี้

7.1.1 เพื่อนำค่าความเข้มข้นของสารเคมีที่ตรวจได้ในบรรยากาศของการทำงานไปเปรียบเทียบกับกฎหมายเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ของกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องดำเนินการให้มีการตรวจ เพื่อประเมินค่าสารเคมีในสิ่งแวดล้อมว่าอยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัยของทางราชการที่กำหนดไว้หรือไม่

7.1.2 เพื่อประเมินค่าประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันอันตรายที่กำลังดำเนินการอยู่ว่า ได้ผลเพียงไร เช่น ภายหลังติดตั้งเครื่องเก็บฝุ่นไปแล้ว ปริมาณของฝุ่นลดน้อยลงไปเพียงไร เป็นต้น

7.1.3 เพื่อช่วยประเมินการร้องทุกข์ของพนักงาน

7.1.4  เพื่อนำผลการตรวจไปใช้ประโยชน์ร่วมกับการตรวจหาระดับสารเคมีในร่างกาย ทางด้านการแพทย์ เช่น เพื่อประเมินผลและ
วิเคราะห์ดูว่าพนักงานที่มีระดับตะกั่วในเลือดสูงผิดปกตินั้น เขาได้ทำงานในบรรยากาศที่มีระดับตะกั่วอยู่เท่าไร เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนผลการตรวจ

ขั้นตอนในการตรวจ
ก. ศึกษาชนิดของสารเคมีต่างๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต การซ่อมบำรุงตลอดจนผลพลอยได้และของเสียที่ปล่อยออกมา เช่น โรงงานผลิตยางรถยนต์ต้องใช้ยางดิบ กำมะถัน ผงถ่าน และสารเคมีอื่นๆ อีกหลายตัว เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต การซ่อมบำรุงอาจต้องใช้นํ้ายาล้างเครื่อง นํ้ายาหล่อลื่น เป็นต้น ของ เสียที่ปล่อยออกมาก็อาจเป็นก๊าซพิษและฝุ่น เป็นต้น

ข. สำรวจมาตรการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่กำลังใช้อยู่ เช่น ที่ครอบปาก และจมูก เพื่อป้องกันอันตรายจากการหายใจหรือไม่ มีที่เก็บฝุ่นหรือไม่ ฯลฯ

ค. เก็บตัวอย่างอากาศโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เช่น ปั๊ม กระดาษกรอง นํ้ายาดูดซึมสารเคมี (absorbing agents) เครื่องมือตรวจก๊าซ หลอดถ่านเก็บตัวอย่างและอื่นๆ ตามความเหมาะสมที่ต้องเก็บสารเคมีในตัวอย่างอากาศนั้นๆ ในการเก็บตัวอย่างอากาศ เพื่อให้ได้ค่าที่เป็นตัวแทนจริงๆ จะต้องคำนึถึงองค์ประกอบต่างๆ เช่น จะเก็บตัวอย่างอากาศที่บริเวณไหน ที่ใคร นานเท่าไร เมื่อไร จำนวนกี่ตัวอย่าง เป็นต้น

ง. นำตัวอย่างอากาศที่เก็บได้ไปวิเคราะห์หาระดับความเข้มข้นของสารเคมีนั้นๆ ด้วยเครื่องมือการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการต่อไป เช่น ใช้อะตอมมิก แอบซอร์บชั่น (Atomic absorption) สเปกโตรโฟโตมิเตอร์(Spectrophotometer) ก๊าซโครมาโตกราฟี (Gas chromat rography) ฯลฯ หรือในบางกรณีอาจใช้เครื่องมืออ่านค่าโดยตรงขณะที่วัดหรือเก็บตัวอย่างอากาศเลยก็ได้ เช่น ใช้หลอดตรวจก๊าซ (Gas dettector tubes) วัดหาความ เข้มข้นของก๊าซต่างๆ โดยสามารถวัดเดี๋ยวนั้นอ่านค่าเดี๋ยวนั้นได้ เลย

จ. แปลผลการตรวจวิเคราะห์ คือ ภายหลังจากทราบระดับความเข้มข้นของสารเคมีต่างๆ แล้ว ก็นำค่าเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เช่น ทางด้านกฎหมาย ทางด้านการแพทย์ หรือด้านประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันอันตราย

7.2 การตรวจหาสารเคมีในร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน
วัตถุประสงค์ของการตรวจชนิดนี้ก็เพื่อที่จะประเมินหาระดับอันตรายของสารเคมีที่มีต่อร่างกาย ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะกำหนดค่าเป็นมาตรฐานทางกฎหมายได้ ทั้งนี้เพราะยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ และมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ เกี่ยวข้องจึงทำให้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้จำกัดมาก ดังนั้น การตรวจหา สารเคมีในร่างกายจึงใช้เพียงแต่เป็นการเฝ้าระวังเป็นระยะๆ

เพื่อหาระดับของสารเคมีในร่างกายที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเข้มข้นของสารเคมีในอากาศ ซึ่งอาจจะถึงระดับอันตรายได้

วัตถุตัวอย่างที่เก็บจากร่างกาย เพื่อวิเคราะห์หาระดับสารเคมีนั้นมีดังต่อไปนี้
-โลหิต
-ปัสสาวะ
-อุจจาระ
-ลมหายใจออก
-อื่นๆ เช่น ผมและเล็บ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวอย่างที่เก็บจากร่างกาย เพื่อวิเคราะห์ระดับสาร เคมีส่วนใหญ่นั้น เป็นทางที่สารเคมีถูกขับออกจากร่างกาย

การตรวจหาระดับสารเคมีในร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน เป็นระยะๆ ยังช่วยประเมินผลมาตรการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่กำลังใช้อยู่ว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะถ้ามาตรการป้องกันมีประสิทธิภาพดี ระดับสารเคมีในร่างกายก็ไม่ควรจะถึงระดับอันตราย นอกจากนี้ยังช่วยประเมินผลการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ เมื่อมีผู้ป่วยจากสารเคมี เช่น เพื่อดูว่ายาที่ใช้รักษาอยู่นั้นสามารถขับสารเคมีออกจากร่างกายได้แค่ไหน เป็นต้น

8. ประเภทของสารเคมี
สารเคมีทั่วไปอาจแบ่งประเภทตามลักษณะความเป็นพิษได้ดังนี้

8.1 สารเคมีที่ทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจ สารเคมีนี้ทำอันตรายต่อร่างกายโดยไปแทนที่ออกซิเจน หรืออาจทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้ออกซิเจนให้เกิดประโยชน์ได้ ตัวอย่างสารเคมีนี้ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไซยาไนด์ เป็นต้น

8.2  สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคือง สารเคมีนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น คัน แสบ ร้อน หรือเป็นบาดแผลพุพองตรงบริเวณที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นโดยตรง ตัวอย่างของสาร เคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองได้แก่ กรดต่างๆ ด่างต่างๆ ก๊าซคลอรีน แอมโมเนีย ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น

8.3 สารเคมีที่ทำอันตรายต่อระบบการสร้างโลหิต สารเคมีนี้จะไปมีผลหรือทำอันตรายต่อระบบการสร้างโลหิต เช่น สารตะกั่วจะไปกดไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง มีผลทำให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงที่ปกติได้ ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อยกว่าปกติและมีรูปร่างไม่สมประกอบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโลหิตจางในผู้ที่ได้รับตะกั่วเข้าไปในร่างกายนานๆ หรือในกรณีสารเบนซิน (benzene) ซึ่งใช้เป็นสารตัวทำละลาย (solvent) ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีผลทำให้เกิดโลหิตจางและลุกลามกลายเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดแดง (Ieukemia) ได้

8.4 สารเคมีที่ทำอันตรายต่อระบบประสาท สารเคมีบางประเภท เช่นโลหะหนัก ตัวอย่าง ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แมงกานีส ฯลฯ และสารพวกที่ระเหยได้ง่าย เช่น แอลกอฮอล์ เบนซิน อะซีโตน อีเธอร์ คลอโรฟอร์ม ฯลฯ ตัวอย่างสารต่างๆ ที่กล่าวมานี้จะมีผลต่อระบบประสาท เช่น ทำให้เกิดการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ความจำ เสื่อม ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ได้ มือสั่น ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ฯลฯ

8.5 สาร เคมีที่ทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงกระบวนการเมตาบอลิซึม ตัวอย่างของสารเคมีที่ทำให้กระบวนการ เมตาบอลิซึมของร่างกาย เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่อันตรายนั้น ได้แก่สารฆ่าแมลง บางชนิด เช่น สารออร์แกโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต สารฆ่าแมลงที่กล่าวมานี้จะทำให้เกิดการสะสมของ อะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ปกติสารอะเซทิลโคลีนนี้จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในร่างกาย เพราะเป็นสารที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาท สารอะเซทิลโคลีนจะถูกทำลายโดยเอนไซม์โคลินเอสเตอเรส (cholinesterase) แต่เมื่อร่างกายได้รับสารฆ่าแมลงดังกล่าวเข้าไป สารฆ่าแมลงเหล่านั้นจะไปจับตัวกับ เอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสก่อน จึงทำให้สารอะเซทิลโคลีนไม่ถูกทำลายให้หมดไป ซึ่งเป็นผลทำให้ร่างกายเกิดการสะสมสารอะ เซทิลโคลีนไว้และเกิดอันตรายในที่สุด

8.6 สารเคมีที่ทำให้เกิดอันตรายต่อกระดูก สาเคมีในกลุ่มนี้จะไปทำอันตรายโครงสร้างของกระดูก ทำให้กระดูกเสียรูปร่าง หรือทำให้กระดูกเปราะ ตัวอย่างของสารเคมีในกลุ่มนี้ เช่น ฟอสฟอรัส
แคดเมี่ยม เป็นต้น

8.7 สารเคมีที่ทำอันตรายต่อระบบการหายใจ สารเคมีที่ทำอันตรายต่อระบบการหายใจ เช่น ปอด ส่วนใหญ่จะเป็นฝุ่นหรือเส้นใยเล็กๆ (fiber) ที่ถูกหายใจเข้าไปพร้อมกับอากาศ เนื่องจากฝุ่นหรือ
เส้นใยเหล่านั้นมีขนาดเล็กมากถึงสามารถลงไปได้ถึงปอด และ เมื่อลงถึงปอดแล้วจะไม่ละลายคือจะคงสภาพของมันอยู่อย่างนั้นตลอด เวลา ขณะที่ปอดเคลื่อนไหว เมื่อหายใจฝุ่นหรือเส้นใยเหล่านั้นจึงระคายเคืองปอดตลอดเวลา ทำให้ปอดต้องสร้าง “เยื่อพังผืด” (Fibrous tissues) ขึ้นมาห่อหุ้มฝุ่นเหล่านั้นไว้ ทำให้เนื้อปอดส่วนนั้นต้องเสียหน้าที่ไป คือไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกชัดเจนได้ เมื่อฉายรังสีเอกซเรย์ปอดเหล่านั้น ดูจะเห็นมีเงาคล้ายเป็นวัณโรคปอดที่มีเยื่อพังผืดมากจะมีความจุน้อยลงทำให้ร่างกายเหนื่อยหอบง่าย และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ตัวอย่างของสารเคมีในกลุ่มนี้ ได้แก่ ฝุ่นทราย ฝุ่นถ่านหิน และใยแอสเบสตอส เป็นต้น

8.8 สารเคมีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการผิดปกติทางพันธุกรรม สารเคมีในกลุ่มนี้จะทำอันตรายต่อโครโมโซมของเซลล์ไข่ของมารดา หรือสเปอร์มของบิดา เมื่อไข่หรือสเปอร์มที่มียีนผิดปกติ เหล่านั้นได้ถูกผสมและเจริญเป็นตัวอ่อนขึ้นมา ตัวอ่อนนั้นจะมีโครโมโซมที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแท้งบุตร ทารกตายก่อนคลอด ฯลฯ ในบางกรณีการผิดปกติของยีนจะไม่แสดงอะไรที่ผิดปกติออกมาให้เห็นแต่การผิดปกติเหล่านั้นจะปรากฏออกมาให้ เห็นในชั้นลูกหรือชั้นหลาน ตัวอย่างสารเคมีพวกนี้ได้แก่ สารกัมมันตรังสี สารฆ่าแมลงบางชนิด โลหะบางชนิด เป็นต้น

8. 9 สารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็ง สารเคมีประเภทนี้จะทำให้ระบบการควบคุมการสร้างเซลล์ผิดปกติ คือไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการสร้าง เซลล์เท่ากับจำนวนที่ร่างกายปกติต้องการได้ จึงทำให้มีการสร้าง เซลล์ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ มากเกินความจำเป็น ซึ่งเราเรียกเซลล์ที่มาก เกินความจำเป็นนั้นว่า “เนื้องอก” ซึ่งอาจจะเป็นเนื้องอกชนิด “ไม่ร้ายแรง” หรือ “ร้ายแรง” ก็ได้ เนื้องอกนี้จะแย่งอาหารของเซลล์ปกติ และขับถ่ายของเสียไล่เซลล์ปกติ ทำให้เซลล์ปกติไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และเนื้องอกชนิดร้ายแรงจะอยู่กันอย่างหลวมๆ ซึ่งพร้อมที่จะหลุดลอยแพร่กระจายออกไปตามกระแสโลหิตและกระแสนํ้าเหลือง เพื่อไปงอกเป็นอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย ตัวอย่างของสารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น สารกัมมันตรังสี สารหนู แอสเบสตอส นิเกิล ไวนิลคลอไรด์ เบนซิน และสารอื่นๆ อีกมากมาย

8.10 สารเคมีที่ทำให้ทารกเกิดความพิการ สารในกลุ่มนี้จะทำอันตรายต่อทารกในขณะที่ทารกนั้นกำลังอยู่ในระยะเจริญเติบโตภายในครรภ์มารดา โดยเฉพาะมารดาที่ตั้งครรภ์ระหว่าง 3-8 สัปดาห์ จะต้องระวังให้มากในการได้รับสารเคมี เพราะเป็นระยะที่มีการสร้างและเติบโตของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทารก เมื่อมารดาได้รับสารเคมีในกลุ่มนี้เข้าไปในระยะดะงกล่าวจะทำให้ทารกมีโอกาสพิการได้มาก ทารกมักจะตายก่อนคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดออกมาแล้วมีอวัยวะไม่ครบ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ แขนด้วน ขาด้วน หรือนิ้วมือและนิ้วเท้าไม่ครบ ตัวอย่างของสารเคมีในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาธาลิโดไมด์ สารตัวทำละลายบางชนิด ยาปราบศัตรูพืชบางชนิด ฯลฯ

8.11 สารเคมีอื่นๆ ที่ไม่สามารถจัดเข้าพวกตามที่กล่าวมาแล้ว ขณะนี้มนุษย์กำลังคิดค้นและผลิตสารเคมีใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์มากมาย สารเคมีบางตัว เราก็ยังไม่ทราบพิษของมันอย่างแท้จริง เลยทำให้ยังไม่สามารถจัดเป็นพวกตามลักษณะการเป็นพิษของมันได้

9. หลักทั่วไปในการควบคุมและป้องกันอันตรายจากสารเคมี
หลักการป้องกันอันตรายจากสารเคมีโดยทั่วไป จะพิจารณาถึง 3 องค์ประกอบต่อไปนี้ คือ
(ดูรูปที่ 4 ประกอบ)

การป้องกันที่แหล่งกำเนิด (source) ของอันตราย
การป้องกันที่ทางผ่าน (path) ของอันตราย
การป้องกันที่ตัวบุคคล (receiver) หรือผู้รับ
health-0241 - Copy
รูปที่ 4 องค์ประกอบที่นำมาพิจารณา เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมี

9.1 แหล่งกำเนิดของสารเคมี
หลักการทั่วไปในการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่แหล่งกำเนิดของสารเคมีนั้น จะต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก คือจะต้องนำมาพิจารณาก่อนวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ เพราะการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่แหล่งกำเนิดนั้น ถือได้ว่าเป็นวิธีการที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุดและ เป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวรวิธีการนี้ถึงแม้จะให้ผลดีที่สุด แต่ก็มีข้อ เสียหรือขีดจำกัดคือ โดยทั่วไปจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และใช้เทคนิคที่ยุ่งยาก

วิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่แหล่งกำเนิดมีดังต่อไปนี้

9.1.1 การใช้สารเคมีอื่นที่มีพิษน้อยกว่าแทน เช่น การใช้สารไซลีนแทนสารเบนซิน เพราะสารไซลีนมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย เหมือนสาร เบนซิน แต่สารไซลีนมีอันตรายต่อเม็ดโลหิตน้อยกว่าสารเบนซินมาก

9.1.2 เปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ เช่น ถ้าใช้ระบบแห้งในการผลิต แล้วเป็นสาเหตุให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น ตัวอย่างการบดผงแมงกานีส ก็ควรพิจารณาเปลี่ยนเป็นการใช้ระบบเปียก เพราะจะทำให้ไม่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย

9.1.3 แยกกระบวนการผลิตที่มีอันตรายออกต่างหาก ทั้งนี้ เพื่อจำกัดขอบเขตของการฟุ้งกระจายของสารเคมีไม่ให้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งยากในการควบคุม เช่น บริเวณไหนมีฝุ่นมาก ก็แยกการทำงานส่วนนั้นออกต่างหาก เป็นต้น

9.1.4 การสร้างที่ปกปิดกระบวนการผลิต หรือแหล่งของสารเคมีให้มิดชิด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้สารเคมีฟุ้งกระจายออกไปยังที่ต่างๆ เช่น การหาฝาปิดภาชนะที่บรรจุสารเคมีที่ระเหยได้ง่าย เป็นต้น

9.1.5 การติดตั้งระบบดูดอากาศเฉพาะที่ เช่น การสร้างประทุน (hood) ติดกับท่อแล้วใช้พัดลมดูดอากาศไม่บริสุทธิ์ออกไปกำจัด ตัวอย่างที่พบ เสมอก็คือการติดตั้งที่ดูดควันและกลิ่นเวลาปรุงอาหารในครัวหรือในห้องปฏิบัติการทางเคมี

9.1.6 การบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี สะอาด และเรียบร้อยอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีแพร่กระจายหรือรั่วออกไป หรือเป็นที่สะสมของสารเคมีต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้

9.2 ทางผ่านของสารเคมี
การป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่ทางผ่านนั้น ควรจะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับสองรองจากการป้องกันที่แหล่งกำเนิด เพราะ เป็นวิธีการที่ให้ผลดีพอสมควร

หลักการป้องกันอันตรายที่ทางผ่านมีดังต่อไปนี้
9.2.1 การบำรุงรักษาสถานที่ทำงานให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อไม่ให้ เป็นที่สะสมของสารเคมี เช่น บริเวณทำงานที่มีฝุ่นมาก ถ้าไม่ทำความสะอาดเสมอปล่อยให้ฝุ่นสะสมอยู่ตามที่ต่างๆ เมื่อลมพัดมาก็จะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายทั่วไป

9.2.2 การติดตั้งระบบระบายอากาศทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการทางธรรมชาติ เช่นมี ประตูหน้า และช่องลมช่วยระบายอากาศ หรืออาจจะเป็นวิธีใช้เครื่องกล เช่น การใช้พัดลมเป่า หรือดูดอากาศออกจากบริเวณนั้นๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะที่แหล่งของอันตราย เหมือนข้อ 1.5

9.2.3 เพิ่มระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารเคมีกับตัวบุคคลที่อาจจะได้รับอันตรายจากสารเคมีให้ห่างกันออกไปมากขึ้น เพราะสารเคมีจะมีอันตรายหรือความเข้มข้นน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อผู้ปฏิบัติงาน เดินออกห่างจากแหล่งกำเนิดเรื่อยๆ

9.2.4 การตรวจหาระดับหรือปริมาณของสารเคมีในบรรยากาศของการทำงานเป็นประจำ ทั้งนี้ เพื่อเปรียบ เทียบความเข้มข้นของสาร เคมีนั้นๆ กับมาตรฐานความปลอดภัย ถ้าตรวจพบว่าปริมาณของ สารเคมีในบรรยากาศมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยต้องรีบหาทางปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว

9.3 บุคคลที่ได้รับสารเคมี
การป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลนั้นควรจะพิจารณาเป็นอันดับสุดท้าย ทั้งนี้ เพราะถึงแม้จะมีข้อดี คือ เสียค่าใช้จ่ายตํ่าและทำง่าย แต่ก็พบว่า เป็นวิธีที่ให้ประสิทธิภาพต่ำมาก เพราะยากในการปฏิบัติ เช่น การใช้เครื่องป้องกันอันตรายจากการหายใจ เนื่องจากพนักงานที่ปฏิบัติงานจะไม่ชอบใส่ เพราะรู้สึกรำคาญ

หลักการทั่วไปในการป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลมีดังต่อไปนี้
9.3.1 การให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงานให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมีที่พวกเขากำลัง เกี่ยวข้องอยู่ตลอดจนให้ทราบถึงวิธีการป้องกันอันตรายที่ถูกต้องจากสารเคมีนั้นๆ รวมทั้งต้องมี การติดตามผลอยู่เสมอ

9.3.2 การลดชั่วโมงการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายให้สั้นลง ทั้งนี้เพราะอันตรายจากสารเคมีนั้นนอกจากจะขึ้นกับความ เข้มข้นของสารเคมีและองค์ประกอบอื่นๆ แล้วยังขึ้นกับระยะเวลา ที่ได้รับสารเคมีด้วย

9.3.3 การหมุนเวียนหรือสับเปลี่ยนหน้าที่การปฏิบัติงาน โดยให้พนักงานได้รับสารเคมีในบางโอกาสเท่านั้น ไม่ใช่ให้ประจำอยู่หน้าที่เดียวตลอดไป เพราะจะช่วยให้การได้รับอันตรายถูกแบ่งออก ไปยังพนักงานต่างๆ ทำให้พนักงานแต่ละคนมีเวลาขับสารเคมีออกจากร่างกายมากขึ้น เนื่องจากระยะเวลา ที่ได้รับสารเคมีจะสั้นลง วิธีนี้อาจมีขีดจำกัดในทางปฏิบัติ เพราะในการปฏิบัติงานบางชนิดอาจจะไม่สามารถหมุนเวียนกันได้ เช่น งานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษสูง แต่ถ้าหมุนเวียนพนักงานได้ ก็จะช่วยลดอันตรายลงได้วิธีหนึ่ง

9.3.4 การให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอยู่ในห้องควบคุมเป็นพิเศษ เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศ  เพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น เป็นต้น ตัวอย่างคนขับรถปั่นจั่นมักจะมีห้องเฉพาะที่ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศให้ เพราะจะทำให้คนขับรู้สึกเย็นสบายและช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่น ฟูม ก๊าซ หรือไอระเหยของสารเคมี เป็นต้น

9.3.5 การตรวจสุขภาพร่างกายผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีก่อนรับ เข้าทำงาน เพื่อค้นหาโรคหรือสิ่งบกพร่องทางสุขภาพ ซึ่งจะช่วยคัด เลือกคนให้เหมาะกับงานด้านสารเคมี และยังต้องตรวจสุขภาพพนักงานเป็นระยะ ภายหลังที่ได้ปฏิบัติงานแล้ว เพื่อติดตามผลที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ถ้าพบสิ่งผิดปกติหรือพบอันตรายจะได้รับแก้ไขได้ทันท่วงที

9.3.6 การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น ที่ปิดปากและจมูกหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากการหายใจ ผ้ากันเปื้อน ถุงมือ รองเท้า แว่นตา และที่ครอบหน้า เครื่องป้องกันเหล่านี้ ถึงแม้จะให้ง่ายและราคาถูก แต่ก็ต้องตระหนักถึงปัญหาความไม่สะดวกหรือรำคาญจากการสวมใส่อุปกรณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่พนักงานไม่ยอมสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว แต่ถ้ามีแผนการอย่างดีในการเลือกซื้อ ในการฝึกอบรม ในการชักจูงส่งเสริม ในการใช้อย่างถูกต้องตลอดจนการทำความสะอาดและบำรุงรักษาแล้ว การใช้ เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลดังกล่าวก็สามารถป้องกันอันตรายได้ดีพอควรทีเดียว

9.3.7 ติดตั้งก๊อกนํ้าฝักบัวและอุปกรณ์การปฐมพยาบาลต่างๆ เพื่อจะได้ใช้ทันทีเมื่อมีการได้รับอันตรายจากสารเคมีในขณะปฏิบัติงาน

วิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีทั้ง 3 วิธีที่กล่าวมานั้นจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันในทางปฏิบัติ พบว่าโดยทั่วไปจะไม่มีวิธีไหนให้ผลสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงพิจารณาใช้ทั้ง 3 วิธีร่วมกัน ไปจึงจะได้ผลและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ที่มา:ดร.ทวีสุข  พันธ์เพ็ง
ผู้อำนวยการกองอาชีวอนามัย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า