สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อัณฑะบิดตัว(Testicular torsion)

เป็นภาวะการบิดตัวหมุนรอบตัวเองของสายรั้งอัณฑะ เกิดการปวดอัณฑะเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง มักพบเป็นกันมากที่อัณฑะข้างซ้าย และอาจทำให้เนื้อเยื่ออัณฑะตายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

พบภาวะนี้ได้บ่อยในชายทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 12-18 ปี

สาเหตุ
เกิดจากสายรั้งอัณฑะและเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะมีพัฒนาการที่ผิดปกติ ทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ เมื่ออายุมากขึ้นอาจทำให้อัณฑะบิดหมุนรอบตัวเองได้

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงที่อัณฑะข้างหนึ่งเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อาจมีอาการปวดตรงกลางท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ในบางราย อาจปวดจนต้องสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืน หรือขณะออกกำลังกาย ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ก็อาจมีอาการปวดขึ้นได้ ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะได้เป็นปกติไม่มีอาการแสบขัดหรือถ่ายกะปริดกะปรอยแต่อย่างใด

สิ่งตรวจพบ
อัณฑะที่บิดตัวจะยกขึ้นสูงกว่าข้างปกติ มีอาการอักเสบ บวม และกดเจ็บ และอาจพบว่ามีไข้ในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
หลังจากเกิดการบิดตัวของสายรั้งอัณฑะ ภายใน 6-12 ชั่วโมงเนื้อเยื่ออัณฑะจะตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีบุตรยากได้

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัย ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ในบางราย

เพื่อแก้ไขภาวะบิดตัวของอัณฑะและป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำในภายหลังอีก แพทย์มักจะทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษา

หลังเกิดอาการแพทย์ต้องรีบทำการผ่าตัดภายใน 6-8 ชั่วโมง อาจต้องผ่าตัดเอาอัณฑะออกไปหากปล่อยทิ้งไว้จนอัณฑะตาย

ข้อแนะนำ
อาการอัณฑะบวมอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ เช่น ไส้เลื่อน ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะ อัณฑะอักเสบ มะเร็งอัณฑะ และอัณฑะบิดตัว

ควรนึกถึงโรคอัณฑะบิดตัวและรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดและบวมที่อัณฑะข้างหนึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน มีอาการอย่างต่อเนื่องไม่ทุเลาลง และอัณฑะข้างที่ปวดยกสูงกว่าข้างปกติ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า