สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หูชั้นกลางอักเสบ(Otitis media)

พบโรคนี้ได้มากในเด็กทารก และพบได้ในคนทุกวัย หูชั้นกลางอักเสบแบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง

สาเหตุ
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น หวัด ทอลซิลอักเสบ หรืออาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของหัด ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน ทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นกลางจากการที่เชื้อโรคบริเวณคอผ่านท่อยูสเตเชียนเข้าไป ทำให้เยื่อบุผิวในหูชั้นกลางและท่อยูสเตเชียนบวม และมีหนองขังเพราะเกิดการบวมและอุดตันขึ้นที่ท่อยูสเตเชียนทำให้ระบายหนองออกไม่ได้ เกิดแก้วหูทะลุเป็นรู ทำให้หนองที่ขังอยู่ไหลออกมากลายเป็นหูน้ำหนวกหูชั้นกลางอักเสบ

เชื้อที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของหูชั้นกลางที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย สแตฟีโลค็อกคัส ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ สูโดโมแนส

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เป็นภาวะที่มีหูน้ำหนวกไหลแบบเรื้อรังจากการทะลุของเยื่อแก้วหู ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หรือจากการบาดเจ็บจนแก้วหูทะลุ อาจพบร่วมกับผู้ที่เป็นทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก และมักเกิดกับเด็กที่ขาดสุขนิสัย ขาดอาหารหรือมีสุขภาพไม่แข็งแรงมากกว่าเด็กที่แข็งแรง

อาการ
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หลังจากเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดในรูหู หูอื้อ มีไข้สูง หนาวสั่น หรืออาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วยในบางราย

ในทารกจะมีอาการร้องงอแงเกือบตลอดเวลา หรือตื่นขึ้นมาร้องกลางดึก มักมีไข้สูง และชอบเอามือดึงใบหูตัวเอง มักมีอาการของไข้หวัด และไอร่วมด้วย และเนื่องจากไข้สูงอาจทำให้เด็กชักได้

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง มักมีอาการเกิดขึ้นเมื่อเป็นหวัด เจ็บคอ หรือหลังจากเล่นน้ำ ด้วยอาการหูน้ำหนวกไหลเป็นๆ หายๆ เรื้อรังร่วมกับมีอาการหูอื้อ หูตึง หูน้ำหนวก หนองจะมีลักษณะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว หรืออาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยในบางราย แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้หรือเจ็บปวดในรูหูแต่อย่างใด

สิ่งตรวจพบ
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน อาจพบว่าผู้ป่วยมีไข้ในระยะแรก จะสังเกตเห็นเยื่อแก้วหูโป่งออกและเป็นสีแดงเรื่อๆ จากการตรวจหูโดยใช้เครื่องส่องหู และจะตรวจพบเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรู มีหนองไหลในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ และหายปวดหูในระยะนี้

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง จะพบว่าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูกว้างเมื่อใช้เครื่องส่องหู และมักจะเป็นชนิดที่มีอันตรายร้ายแรงได้ถ้าทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหู

ภาวะแทรกซ้อน
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน อาจทำให้กลายเป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูชั้นในอักเสบ โพรงกระดูกมาสตอยส์อักเสบ อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก หูหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง เกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ ฝีรอบๆ หู หูชั้นในอักเสบ หูหนวกสนิท กลายเป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกจากเชื้อที่ทำลายประสาทใบหน้า ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีสมองได้จากเชื้อที่อาจลุกลามเข้าสมอง

การรักษา
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
1. ให้ยาลดไข้แก้ปวด และยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล หรืออีริโทรไมซิน

2. ควรให้ยาปฏิชีวนะจนครบ 10 วัน ถ้าใน 2-3 วันมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรส่งไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการเจาะระบายหนองออกจากเยื่อแก้วหู เรียกว่า การเจาะเยื่อแก้หู และภายใน 1-2 สัปดาห์เยื่อแก้วหูก็จะปิดได้เอง

ส่วนมากมักจะหายขาดได้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลังได้ถ้าได้รับยาไม่เพียงพอหรือให้การรักษาที่ไม่ถูกต้อง

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
1. เช็ดหูให้แห้งด้วยไม้พันสำลี แล้วหยอดด้วยยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะจนกว่าหนองจะแห้ง วันละ 3-4 ครั้ง และควรเช็ดหนองให้แห้งทุกครั้งก่อนที่จะหยอดยา ควรให้ผู้ป่วยกินยาปฏิชีวนะนาน 10 วันถ้ามีอาการอักเสบกำเริบเฉียบพลัน เช่น มีไข้ หรือปวดหู

2. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากภายใน 1-2 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหูหนวกหูตึงมาก เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหู มีฝีที่หลังหู อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก แพทย์อาจต้องทำการเอกซเรย์หูและตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุและให้การแก้ไขตามสาเหตุที่พบ เช่น ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก เป็นต้น

อาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกนำเสียง และทำเยื่อแก้วหูเทียมเพื่อช่วยให้การได้ยินดีขึ้น ในรายที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

3. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนในรายที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือคอแข็ง หรือสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีสมองแทรกซ้อน

ข้อแนะนำ
1. ควรระวังอย่าให้น้ำเข้าหู และระมัดระวังอย่าให้เป็นหวัดบ่อยและถ้าเป็นควรรีบรักษาในขณะที่มีหูน้ำหนวกไหล หรือเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง

2. การรักษาหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันอย่างถูกต้องไม่ปล่อยปละละเลยจะช่วยป้องกันมิให้เกิดเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรังได้

3. โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังพบได้น้อยลงในปัจจุบัน แต่เด็กที่ขาดสุขนิสัยที่ดีก็อาจพบไดประปราย หรืออาจเป็นชนิดอันตรายที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ในบางราย

เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่เด็กในภายหลัง ครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียน ควรพยายามค้นหาผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง และส่งไปตรวจรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ที่โรงพยาบาล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า