สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หูชั้นกลางอักเสบ (Acute otitis media)

หูอักเสบ
เป็นโรคที่พบได้เสมอในเด็ก แต่มักจะถูกมองข้ามไปเนื่องจากไม่ได้ตรวจหู หรือมีอุปสรรคจากการมีขี้หูปิดบังจนมองไม่เห็นแก้วหู และเครื่องมือที่ตรวจมีแสงสว่างไม่เพียงพอ จึงพบเสมอว่าผู้ป่วยกลับมาอีกครั้งด้วยอาการมีหนองไหลจากหู จึงจะให้การวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย ได้แก่ pneumococci, H.influenzae (non-typable) รองลงไปคือ group A streptococcus, Staphylococcus aureus สำหรับแบคทีเรียชนิดกรัมลบพบในทารกแรกเกิด หรือในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหลายชนิดมาก่อน และในผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง สำหรับไวรัสพบว่าเป็นสาเหตุของโรคได้น้อยกว่า 5%

โรคแทรกซ้อน
ของหูชั้นกลางอักเสบมีมากมาย ได้แก่ mastoiditis, subperiosteal abscess, cholesteatoma, epidural abscess, generalized meningitis, brain abscess เป็นต้น

อาการและอาการแสดง
ในเด็กเล็กไม่มีอาการเฉพาะ อาจไม่มีอาการใดๆ เลย นอกจากมีไข้ โดยทั่วไปเด็กจะร้องกวนมากกว่าปกติเนื่องจากปวดหู บางคนจะใช้นิ้ว ไชหู ปัดหู หรือดึงหูบ่อยๆ ในเด็กโตจะมีไข้และปวดหูข้างที่เป็น นอกจากนี้ยังควรสงสัยโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีไข้และตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติอื่นๆ ในผู้ป่วยที่เป็นหวัดมาก่อน และมีไข้นานกว่า 3 วัน หรือมีไข้ขึ้นใหม่

ตรวจร่างกายจะพบผู้ป่วยมีไข้ แก้วหูแดง ขุ่น ไม่มี light reflex สูญเสีย mobility (ตรวจด้วย pneumatic otoscope) ต่อไปแก้วหูจะโป่งนูน อาจเห็นน้ำหรือหนองหลังแก้วหู ในรายที่แก้วหูทะลุแล้วจะเห็นหนองในรูหู ในเด็กที่ไข้สูงหรือร้องเฉยๆ แก้วหูอาจจะดูแดงได้ แต่ต้องไม่ขุ่น และ movement ได้ตามปกติ ในกรณีเช่นนี้บางครั้ง แยกยาก อาจต้องตรวจซ้ำหลังจากเด็กหยุดร้องไห้และได้ยาลดไข้แล้ว

การรักษา
1. ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากอาการและอาการแสดงไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส การรักษาจึงมักจะให้ยาปฏิชีวนะเสมอ ampicillin, amoxicillin เป็นยาที่เหมาะสมเพราะได้ผลทั้ง S.pneumoniae, H.influenzae และเชื้อกรัมลบบางตัว ในเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไปอาจให้ penicillin เนื่องจากพบว่าเชื้อ H. influenzae เป็นสาเหตุน้อย ยาปฏิชีวนะอื่นๆ ที่ใช้ได้ ได้แก่ co-trimoxazole
และ cefaclor ระยะการรักษานาน 10-14 วัน โดยทั่วไปไข้จะลดลงและอาการปวดจะหายไปภายใน 48 ชั่วโมง ในกรณีที่ให้ ampicillin แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง อาจพิจารณาเปลี่ยนยาเป็น erythromycin ร่วมกับ sulfonamide หรือ เป็น cefaclor

2. ยาลดไข้แก้ปวด

3. รักษาอาการหวัด ไอถ้ามีร่วมด้วย การให้ decongestant เพื่อให้มี drainage ของ eustachian tube ดีขึ้น ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน แต่มีการศึกษาพบว่าไม่ได้ช่วยให้หายเร็วขึ้น

4. การเจาะเยื่อแก้วหู (myringotomy) โดยทั่วไปไม่จำเป็น นอกจากให้ การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลแล้ว หรือมีอาการปวดมาก หรือสภาพของเยื่อแก้วหูยังไม่กลับสู่ปกติหลังการรักษา เช่น ยังมีน้ำ (effusion) อยู่นาน และในกรณีที่ต้องการทราบเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค

5. เฝ้าระวังและรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค สำหรับยาปฏิชีวนะแบบหยอดหูไม่จำเป็นต้องใช้ในการอักเสบเฉียบพลัน เพราะยาปฏิชีวนะรับประทานอย่างเดียวก็เพียงพอสำหรับการรักษา ยาหยอดหูมีที่ใช้ในชนิดเรื้อรัง

ที่มา:พรพิมล  พฤกษ์ประเสริฐ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า