สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ละครชีวิต เรื่อง “หัวใจวาย”

เรื่องหัวใจวาย  เป็นละครชีวิตฉากเดียวจบ ตัวละครมีคนไข้ชาย คือคุณภิญโญ  นอนอยู่บนเตียงภายในห้องพิเศษของโรงพยาบาล

คุณหมอสวมเสื้อคลุมแพทย์ เอาหูฟังคล้องคอเดินเข้าไปเยี่ยมคุณภิญโญตามปกติประจำวัน

คุณภิญโญ  “สวัสดีครับ คุณหมอ”

หมอ  “สวัสดี คุณภิญโญ วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

คุณภิญโญ  “ค่อยสบายหน่อยครับ  ผมอยากคุยกับคุณหมอมาหลายวันแล้ว ผมมีปัญหาหลายข้อ แต่เห็นคุณหมอไม่ค่อยว่าง เลยไม่ได้ถามสักที วันนี้เป็นวันหยุดราชการ คุณหมอพอจะมีเวลาคุยกับผมไหมครับ”

หมอ  “วันนี้ว่างครับ มีอะไรก็ถามมาได้เลย”

คุณภิญโญ  “ผมอยากทราบว่าหัวใจนี้คืออะไร”

หมอ  “ยินดีครับ หัวใจเป็นกล้ามเนื้อลาย รูปดอกบัวตูมขนาดเท่ากำปั้นมือของตัวเอง มีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อลายของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อตามแขนขาทั่วไปของเรานั่นเอง  แต่มิได้อยู่ในอำนาจจิตใจของเรา เราไม่สามารถบังคับให้หัวใจเต้นหรือยืดหดตามใจชอบได้ แต่หัวใจมีประสาทอัตโนมัติคอยควบคุมให้เต้น หัวใจจะเต้นช้าหรือเร็ว แล้วแต่ร่างกายจะมีอารมณ์หรือกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด หัวใจก็จะเปลี่ยนแปลง และหวั่นไหวไปตามอารมณ์หรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น เวลาเราวิ่งหรือออกแรงทำอะไร หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น หรือเวลาเราตกใจและประหม่า หรือเวลาตื่นเต้น หัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้น เวลาโกรธหรือดีใจ หัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น เรามักจะได้ข่าวว่า เพื่อนคนนั้นหัวใจวายหลังจากขึ้นบันไดไปชั้นบน หรือหลังจากเต้นชกลมออกกำลังกาย หรือหลังจากทะเลาะกันและมีอารมณ์โกรธ ทำให้มีการแน่นหน้าอก แล้วก็เกิดหัวใจวายอย่างกะทันหันเป็นต้น อาการของหัวใจเหล่านี้ คล้าย ๆ กับว่า หัวใจนั้นหวั่นไหวไปตามอารมณ์และการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรืออาจจะเรียกได้ว่าหัวใจก็มีหัวใจเหมือนกัน”

คุณภิญโญ  “หัวใจมีหน้าที่อะไร หรือมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร”

หมอ  “หัวใจทำหน้าที่คล้ายเครื่องสูบน้ำโดยการหดตัวและขยายตัว เมื่อหดตัวก็ฉีดเลือดแดงที่ฟอกแล้วไปเลี้ยงร่างกาย และเมื่อขยายตัวก็ดูดเลือดดำที่ใช้แล้วจากร่างกาย  ส่งไปให้ปอดเพื่อฟอกให้เป็นเลือดแดงอีก หัวใจจะหดตัวและขยายตัวนาทีละประมาณ ๗๒ ครั้ง สำหรับบางคนอาจจะช้าหรือเร็วกว่านี้ก็ได้  การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจนี้เอง  ทำให้เกิดการเต้นของหัวใจ ซึ่งเราอาจรู้สึกได้เวลาเราออกกำลังกาย เช่น วิ่ง แล้วทำให้เกิดความดันของเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดแดงทั่วไปนูนแข็งขึ้นมา คล้ายสายสูบของรถดับเพลิงขณะดับไฟ  ทำให้เราสามารถคลำหลอดเลือดแดงได้ในที่ต่าง ๆแต่ที่เรานิยมคลำตรวจความดันของเลือดที่สะดวกและง่าย ๆ คือที่ต้นข้อมือ ซึ่งเราสามารถสัมผัสการเต้นของหัวใจ หรือที่เราเรียกกันว่า “ชีพจร” ทำให้แพทย์สามารถคาดคะเนความดันของเลือดและจังหวะของการเต้นของหัวใจว่า เต้นเบาหรือแรง ช้าหรือเร็วเท่าใด

เมื่อเด็กอยู่ในครรภ์ หัวใจก็เจริญรูปร่างเป็นอวัยวะมาแล้ว และจะสมบูรณ์เป็นรูปหัวใจเมื่อทารกในครรภ์มีอายุได้ประมาณ ๑ เดือนครึ่ง ถึง ๒ เดือน และทำงานเรื่อยมาจนเด็กคลอด จึงนับว่าหัวใจมีอายุมากกว่าอายุของร่างกายราว ๑๐ เดือน หรือหัวใจนั้นทำงานมากกว่าเราประมาณ ๘ เดือน นอกจากนั้นเมื่อหัวใจเริ่มทำงานจนเมื่อเราตาย หัวใจไม่เคยหยุดพักกลางวันหรือกลางคืนเหมือนเราเลย

ธรรมเนียมจีนที่นับอายุโดยบวกอายุจริงอีก ๑ ปีนั้น จึงรู้สึกว่าใกล้ความจริง ที่เอาอายุในครรภ์อีก ๑๐ เดือนบวกเข้าไปด้วย

ถ้าเราคำนวณว่าหัวใจทำงานมากเพียงใด ผมจะคำนวณให้ดูอย่างง่าย ๆ

หัวใจเต้นนาทีละ ๗๐ ครั้ง

หัวใจเต้นชั่วโมงละ ๔,๒๐๐ ครั้ง

หัวใจเต้นวันละ ๑๐๐,๘๐๐ ครั้ง

หัวใจเต้นปีละ ๓๖,๗๙๒,๐๐๐ ครั้ง

คนอายุ ๖๐ ปี หัวใจจะเต้นตลอดชีวิต ๒,๒๐๗,๕๒๐,๐๐๐ ครั้ง  เมื่อหัวใจหดตัวหรือเต้นครั้งหนึ่งสามารถสูบฉีดเลือดแดงออกไปเลี้ยงร่างกายได้ประมาณ ๖๐-๘๐ ซีซี.  ฉะนั้นชั่วชีวิตของคนอายุ ๖๐ ปี จำนวนเลือดที่หัวใจฉีดออกไปจะได้จำนวน ๓๖,๗๙๒,๐๐๐x๘๐x๖๐ = ๑๗๖,๖๐๑,๖๐๐,๐๐๐ ซีซี.

=        ๑๗๖,๖๐๑,๖๐๐ ลิตร

=             ๘,๘๓๐,๐๘๐ ปี๊บ

หรือคิดง่าย ๆ วันหนึ่งหัวใจสามารถฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้

๑๐๐x๘๐๐x๘๐          =     ๘,๐๖๔,๐๐๐ ซีซี.

หรือ                                 =              ๘,๐๖๔ ลิตร

หรือ                                 =                  ๔๐๐ ปี๊บ

ถ้าจะให้เจ้าหัวใจตักน้ำใส่ตุ่มวันละ ๔๐๐ ปี๊บ ไม่ทราบว่าเจ้าของหัวใจจะทำไหวหรือไม่ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหัวใจทำงานหนักเพียงใด และหัวใจไม่สามารถหยุดได้  ถ้าหยุดเมื่อใดเจ้าของก็สิ้นใจทันที ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหัวใจมีความสำคัญต่อร่างกายมากเพียงใด

คุณภิญโญ  “แหม น่าสนใจมากครับ ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าหัวใจจะทำงานมากมายเท่านี้  ถ้าหมอไม่แสดงตัวเลขออกมาผมคงไม่เชื่อ ก็ถ้าเมื่อหัวใจทำงานมากมายและก็ไม่เคยหยุดพักเลยเช่นนี้ ทำไมหัวใจจึงทนได้ล่ะครับ”

หมอ  “เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้สร้างมนุษย์มาให้มีหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่ง ให้มีอานุภาพเป็นพิเศษสามารถทำงานหนักได้ โดยไม่หยุดเลยตลอดชีวิต (หัวใจเต่าก็มีอานุภาพพิเศษแม้ตัดออกมานอกตัวเต่าแล้ว ทำให้เต้นต่อไปอีกได้นานถึง ๑ ปี) แต่หัวใจก็เป็นอวัยวะที่มีส่วนคล้ายอวัยวะอื่น ๆ ทั่วไป คือมีสังขารเหมือนกัน ถ้าให้เราวิ่งหรือเดินรอบสนามหลวงเรื่อยไป โดยไม่ให้หยุดเลย เราก็จะต้องมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งเราหรือใครก็ตามไม่สามารถวิ่งหรือเดินหรือก้าวขาออกไปได้ นั่นก็แปลว่า กล้ามเนื้อของขาหมดแรงแล้ว แม้แต่จะก้าวออกไปอีกก้าวเดียวก็ไม่ไหว  ถ้าใครไม่เชื่อก็ลองวิ่งหรือเดินรอบสนามหลวงก็ได้  หัวใจก็จะอยู่ในภาวะเดียวกัน  เมื่อเต้นมาตลอดชีวิต  เช่น ๕๐,๖๐ หรือ ๑๐๐ ปี ก็จะถึงวันหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะเต้นต่อไปได้  เมื่อนั้นก็ต้องหยุดลง เหมือนกับกล้ามเนื้อของขา ฉันใดก็ฉันนั้น ส่วนหัวใจใครจะอยู่นานหรือสั้นเพียงใด  จึงอยู่ที่เจ้าของนั้นจะถนอมหัวใจของตัวเองอย่างไร  หรือมีเหตุภายนอกมาบั่นทอนชีวิตและรบกวนหัวใจให้มีอายุสั้นลงเพียงใด

คุณภิญโญ  “ผมพอจะเข้าใจละครับ ทีนี้ที่บอกว่าผมเป็นโรคหัวใจนั้นหมายความว่าอย่างไรครับ”

หมอ  “ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจนั้นมีหลายอย่าง แต่ถ้าจะแบ่งสาเหตุของโรคหัวใจที่สำคัญอย่างง่าย ๆ ก็คงได้ดังนี้

๑.  หัวใจพิการมาแต่กำเนิด

หัวใจมีความพิการอยู่แล้วเมื่อเกิดมา เช่น ผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจมีรูโหว่ ขนาด ๕ ถึง ๑๕ มิลลิเมตร หรือลิ้นหัวใจตีบและแคบลง ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่าหัวใจรั่ว เพราะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ ต้องทำงานหนักมากขึ้น  และเนื่องจากมีรูรั่วระหว่างห้องของหัวใจทำให้เลือดรั่ว กลับไปเวลาหัวใจหดตัว และเป็นเหตุให้เลือดแดงและเลือดดำปนกัน ดังนั้นเมื่อเด็กเกิดมาจึงมีผิวหน้าสีเขียวคล้ำ ไม่แดงเหมือนปกติ  และเด็กที่มีหัวใจรั่วแบบนี้ ถ้ารูรั่วมีขนาดโตมาก ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานนัก

๒.  หัวใจพิการจากโรครูมาติซั่ม

หรือโรคปวดบวมตามข้อ  โรคนี้นอกจากจะเป็นตามข้อใหญ่ ๆแล้ว ยังไปทำให้เกิดความพิการที่ลิ้นของหัวใจ ลิ้นนั้นจะหนาและแข็งจนปิดไม่สนิท ทำให้เกิดการรั่วเวลาหัวใจหดตัว และขณะเดียวกัน ช่องระหว่างลิ้นก็แคบด้วย ทำให้หัวใจฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นเดียวกัน และเมื่อหัวใจต้องทำงานชดใช้ส่วนที่รั่วไป ก็เท่ากับบั่นทอนชีวิตของหัวใจลงไปตามส่วน แล้วเจ้าของจะถนอมหัวใจ หรือปฏิบัติตน ตามคำแนะนำของหมอเพียงใด โรคหัวใจรูมาติคนี้ อาจเป็นตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก็ได้ คือเริ่มเป็นตั้งแต่อายุ ๖-๑๐ ปี หัวใจของคุณภิญโญก็อยู่ในชนิดนี้ละครับ”

๓.  หัวใจพิการ จากหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน  ซึ่งบางทีเรียกว่าโรคหัวใจโคโรนารี (โคโรนารีเป็นชื่อของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ  เพราะหัวใจก็เป็นกล้ามเนื้ออันหนึ่งที่ต้องมีหลอดเลือดมาเลี้ยงเหมือนอวัยวะอื่น ๆ ) ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายโดยปัจจุบัน  โดยไม่มีเวลาสั่งเสียหรือให้หมอมาช่วยได้  เพราะจะตายภายใน ๓ ถึง ๕ นาที สาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบนั้น เนื่องจากหลอดเลือดแข็ง โดยที่มีไขมันไปเกาะทีผนังหลอดเลือด นอกจากนี้ถ้ามีโรคเบาหวาน หรือภาวะความดันเลือดสูงอยู่แล้ว โรคหลอดเลือกแข็งก็จะเกิดเร็วขึ้น หรือทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดง่ายขึ้นก่อนวัยอันควร หรือมากขึ้นกว่าที่ควร โรคหลอดเลือดตีบตันนี้ พบได้มากในคนอายุ ๕๐ ถึง ๖๐ ปี แต่มีเหตุอื่นหลายอย่างที่ช่วยให้ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ เมื่ออายุเพียง ๔๐ ปีเท่านั้น  ดังที่คุณภิญโญจะได้ยินหรือเห็นข่าวที่เพื่อนหรือญาติ บางคนเป็นหัวใจวายอย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่ออายุได้เพียง ๔๐ หรือ ๔๕ ปีเท่านั้น  ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง คนทำงานเบา ๆ เป็นมากกว่าคนทำงานหนัก คนอ้วนเป็นมากกว่าคนผอม คนมีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย เป็นบ่อยกว่าคนที่มีจิตใจสงบเยือกเย็น

เมื่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจขนาดเล็กตีบหรือตัน จะทำให้กล้ามเนื้อของหัวใจตายเป็นหย่อม ๆ หรือถ้าหลอดเลือดขนาดใหญ่(หลอดเลือดโคโรนารี)ตีบกล้ามเนื้อของหัวใจจะตายทันที อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมอย่างรวดเร็วภายใน ๒-๓ นาที

๔.  หัวใจพิการเนื่องจากภาวะความดันของเลือดสูง

สาเหตุที่ทำให้ความดันของเลือดสูง คือ หลอดเลือดของไตแข็ง ไตอักเสบและพิการชนิดต่าง ๆ เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดใหญ่ตีบ และเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น  นอกนั้นก็มักจะหาเหตุไม่ได้   เมื่อเกิดภาวะความดันเลือดสูงและผนังของหลอดเลือดแดงรัดตัวเล็กลง หัวใจต้องฉีดเลือดแรงขึ้นหรือทำงานมากขึ้น  จนผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนามากขึ้น และเมื่อเพิ่มงานให้หัวใจแบบนี้ ก็เท่ากับทำให้หัวใจโตและหมดแรงเร็วขึ้นกว่าปกติ  ในขณะเดียวกัน หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจก็มักจะตีบเร็วด้วย ฉะนั้นคนที่มีความดันสูงอยู่นาน ๆ หัวใจก็จะหมดแรงเร็วและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจก็มักจะตีบเร็วและเป็นสาเหตุของหัวใจวายอย่างปัจจุบัน คนที่มีโรคไตอักเสบเมื่ออายุน้อย  มักมีความดันเลือดสูงเมื่ออายุน้อย

๕.  หัวใจพิการเนื่องจากโรคซิฟิลิส (กามโรคชนิดหนึ่ง) 

เชื้อโรคซิฟิลิสจะเริ่มต้นจากอวัยวะสืบพันธุ์ แล้วลามไปทำให้เกิดความพิการที่ลิ้นของหัวใจ แบบเดียวกับโรคหัวใจรูมาติคที่กล่าวมาแล้ว แต่มักจะเป็นคนละลิ้น เป็นผลทำให้ช่องของลิ้นหัวใจแคบลงและปิดไม่สนิท ทำให้เกิดหัวใจรั่ว หัวใจโต และหมดแรงลงในที่สุด

๖.  หัวใจพิการจากเชื้อไวรัส และโรคติดเชื้ออย่างแรง

เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโลหิตเป็นพิษอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจพลอยอักเสบไปด้วยและหมดแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวใจวาย ภายในระยะเวลาอันสั้น

๗.  หัวใจพิการจากสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

ซึ่งผมไม่สามารถจะอธิบายให้หมดได้”

คุณภิญโญ  “ขอบคุณมากครับ ผมค่อยเข้าใจในโรคของผมดีขึ้น ต่อไปผมอยากทราบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจจะมีอาการอย่างไรบ้าง”

หมอ  “อาการของโรคหัวใจมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญมีดังนี้ คือ อาการเหนื่อยง่าย หอบง่าย แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ซีด ไอ บวม อาการบวมมักจะเริ่มที่บริเวณเท้าทั้งสองข้างก่อน แล้วลามขึ้นมาตามขา ต่อมาจะบวมบริเวณมือและแขน บวมท้อง และขั้นสุดท้ายจะบวมที่บริเวณหน้า นอนราบไม่ได้ ต้องนั่งหายใจ”

คุณภิญโญ  “คนเป็นโรคหัวใจสูบบุหรี่ กินเหล้าได้ไหมครับ”

หมอ  “บุหรี่ทำให้หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจบีบตัวเล็กลง คนที่ไม่เป็นโรคหัวใจมาก่อน ถ้าสูบบุหรี่มากตั้งแต่วันละ ๑๐ มวน จนถึงวันละ ๔๐ มวน ก็ทำให้หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบลงเร็วกว่าที่ควร และทำให้อายุสั้นลงตามส่วนดังนี้

สูบวันละ ๑๐ ถึง ๒๐ มวน อายุสั้นลง ๑๐ ปี

สูบวันละ ๒๐ ถึง ๓๐ มวน อายุสั้นลง ๑๕ ปี

สูบวันละ ๓๐ ถึง ๔๐ มวน อายุสั้นลง ๒๐ ปี

ฉะนั้นคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว อายุจะสั้นลงเป็น ๒ เท่า

เหล้ามีแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น เท่ากับเร่งให้หัวใจทำงานหนักขึ้นโดยไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา และเมื่อหัวใจทำงานหนักขึ้น ก็เท่ากับบั่นทอนสังขารของหัวใจให้สั้นเข้า ฉะนั้นคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วมากินเหล้า ก็เท่ากับทำให้หัวใจหมดแรงเร็วขึ้น และทำให้ผู้ป่วยอายุสั้นลงอีก ๒ เท่าเช่นเดียวกับบุหรี่ ฉะนั้นผมจึงห้ามคนที่เป็นโรคหัวใจไม่ให้สูบบุหรี่และกินเหล้า”

คุณภิญโญ  “ทีนี้ผมจะถามคุณหมอเรื่องแต่งงาน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจ คุณหมอจะแนะนำอย่างไรครับ”

หมอ  “คำแนะนำเรื่องแต่งงานกับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจแตกต่างไปแล้วแต่ละราย ว่าเป็นโรคหัวใจชนิดไหน ตามที่กล่าวมาแล้ว และถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามที่หมอแนะนำก็สามารถมีชีวิตสมรสไปได้นานตามสมควร คนที่เป็นโรคหัวใจรั่ว รูเล็ก และไม่มีอาการอะไรมากนัก หรือหัวใจรูมาติค แต่เป็นไม่มากก็สามารถมีชิวตสมรสที่สมบูรณ์เกือบเท่าคนปกติ และสามารถมีบุตรได้

ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและอยู่ในความดูแลและคำแนะนำของแพทย์อยู่ตลอดเวลา  ก็มีชีวิตสมรสได้เกือบปกติ แต่ในจำนวนจำกัดเท่าที่แพทย์เห็นสมควร หรือให้คลอดโดยการผ่าหน้าท้องก็ทำได้

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมาก เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด  โดยมากร่างกายจะไม่สมบูรณ์ทั้งหญิงและชาย และมักจะอายุสั้น แต่ถ้ามีชีวิตอยู่จนหนุ่มสาวก็มักจะแต่งงานไม่ได้ หรือถ้าจะแต่งงานก็ควรคุมกำเนิด  ผู้ชายที่เป็นโรคหัวใจจากความดันสูงมาก ๆ ก็ไม่ควรแต่งงาน มีผู้ป่วยชายเป็นโรคหัวใจจากความดันสูงรายหนึ่งอายุประมาณ ๓๘ ปี ชอบพอกับผู้หญิงมาร่วม ๕ ปี ฝ่ายหญิงก็รบเร้าให้แต่งงานเพราะฝ่ายหญิงอายุก็มากแล้ว ฝ่ายชายเสียอ้อนวอนไม่ได้ก็ตกลงแต่งงาน พอรดน้ำในตอนเย็น ฝ่ายชายก็หัวใจวายในคืนนั้นเอง”

คุณภิญโญ  “ที่มีข่าวตามหนังสือพิมพ์ ว่าผู้ชายไปสิ้นใจในโรงแรมบ่อย ๆ นั้นเกิดจากอะไรครับ”

หมอ  “ผู้ชายที่ไปสิ้นใจในโรงแรมนั้นมี ๒ พวก พวกหนึ่งเป็นพวกกลางคน อายุประมาณ ๓๕-๕๐ ปี แต่มีโรคทางหัวใจอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ตัวเองอาจจะไม่รู้หรือไม่คิดว่าตัวเป็น  เพราะอาจจะไม่มีอาการที่ชัดเจนออกมา  การร่วมหลับนอนกับผู้หญิงนั้นจะทำให้ความดันของเลือดสูงสุดเมื่อถึงจุดยอด และหัวใจจะเต้นแรงและเร็ว  ฉะนั้นผลร้ายที่เกิดขึ้นคือหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหมดแรงเอง  หัวใจวายจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตก(ถ้าผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงอยู่แล้ว)

พวกที่สองคือผู้ชายสูงอายุ ตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป อาจจะมีหรือไม่มีโรคหัวใจมาก่อนก็ได้ แต่ในวัยนี้หัวใจชักจะหมดแรงลงไปบ้างแล้วตามสังขาร และหัวใจจะหมดแรงหรือที่เรียกว่าหัวใจวายลงนั้นเมื่อใดก็ได้ ตามที่มีข่าวตามโรงแรมนั้นเป็นของธรรมดา เพราะเจ้าของโรงแรมต้องแจ้งความ มิฉะนั้นจะมีความผิด เมื่อมีคนตายภายในโรงแรมจึงเกิดเป็นข่าวขึ้น  แต่ตามความจริงหัวใจวายแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นในบ้านไหนก็ได้ แต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้น และจะเห็นได้ว่า ในวัย ๕๐ ไปแล้วนั้น หัวใจเริ่มหมดแรงและจะประมาทสังขารไม่ได้  เพราะอาจไปเกิดหัวใจวายในสนามมวย เมื่อมวยชนะ หรือในสนามฟุตบอลเมื่อฟุตบอลชนะ หรือในสนามกอล์ฟ ขณะที่เหวี่ยงไม้กอล์ฟไป หรืออาจจะวายลงหลังกินอาหารเย็นภายในบ้านเมื่อใดก็ได้”

คุณภิญโญ  “คนเป็นโรคหัวใจ  ออกแรงบ้างได้ไหมครับ”

หมอ  “คนปกติก็อาจจะออกแรงโดยการเดินหรือการวิ่งได้ตามความแข็งแรงของแต่ละคน หรือจะเล่นกีฬาเบา ๆตามสมควร  ถ้าตนยังสามารถเล่นได้โดยไม่มีอาการเหนื่อย  แต่ถ้าเล่นแล้วเหนื่อยมาก ก็หมายความว่าหัวใจของคนนั้นไม่เหมาะที่จะออกแรงอะไรที่เกินกำลังของตนไปแล้ว และควรออกแรงเท่าที่เหมาะสมกับอาการเหนื่อยของตนเอง

ส่วนคนไข้ที่มีโรคหัวใจนั้น หัวใจหมดแรงอยู่ก่อนแล้ว ถ้าไปออกแรงเพิ่มงานให้หัวใจมากขึ้นไปอีก ก็ไม่มีปัญหาว่า หัวใจจะต้องวายลงก่อนถึงเวลาอันสมควร  ฉะนั้นการออกแรงในโรคหัวใจจึงห้ามเด็ดขาด หากผู้ป่วยที่ยังเดินไปมาได้โดยไม่มีการเหนื่อยเลยนั้น  ก็อาจจะบริหารโดยการเดินช้า ๆ วันละเล็กละน้อย  ตามอาการที่คิดว่าจะไม่เพิ่มงานแก่หัวใจ  และผู้ป่วยที่รู้สังขารตัวเองว่าเมื่อเดินหรือขึ้นบันไดแล้วจะเหนื่อยหรือไม่ ก็อาจทำได้ตามความสามารถของแต่ละคน”

คุณภิญโญ  “เรื่องอาหารล่ะครับคุณหมอ จะห้ามอาหารอะไรบ้าง”

หมอ  “ในหัวใจของคนที่อ้วนนั้น ปรากฎว่าเม็ดไขมันจะแทรกเข้าไปอยู่ในระหว่างเซลล์ของกล้ามเนื้อของหัวใจเป็นจำนวนมาก  ทำให้การยืดและการหดตัวของหัวใจเสียไป  เพราะเท่ากับไขมันไปแยกทำให้กล้ามเนื้อเล็กลงและกระจายออกไป แทนที่จะรวมกัน ฉะนั้นคนอ้วนจึงรู้สึกเหนื่อยภายหลังวิ่งหรือออกแรงได้ง่ายกว่าคนผอม  นอกจากนี้ การกินอาหารมาก ๆ จะทำให้กระเพาะอาหารพองมาก และมักจะดันหัวใจขึ้นไปทำให้หัวใจหดและขยายตัวไม่สะดวก ทำให้มีอาการจุกแน่นภายหลังที่กินอาหารอิ่มมากเกินไป  โดยมากจึงแนะนำผู้ป่วยโรคหัวใจให้จำกัดอาหารทุกอย่างที่มีไขมันและโปรตีนมาก ทั้งจำกัดจำนวนแต่ละมื้อ  เพื่อมิให้กระเพาะอาหารพองและดันหัวใจจนเกิดอาการอึดอัดและหายใจไม่สะดวก บางคนกินอาหารอิ่มมากเกินไปจนนั่งไม่ได้  ต้องลุกขึ้นเดินสักพักหนึ่ง  เพื่อให้อาหารเดินทางออกจากกระเพาะอาหารไป  จนรู้สึกสบายขึ้น  หายแน่นหายอึดอัดและอาการหัวใจวายมักจะเกิดขึ้น ภายหลังกิน อาหารมากเกินไปบ่อย ๆ”

คุณภิญโญ  “ขอบคุณมากครับคุณหมอ ผมเป็นโรคหัวใจมานานแต่ไม่ค่อยได้หาความรู้เพิ่มเติม บางทีก็ขัดคำสั่งของหมอ บางทีก็ลืมไปบ้าง อดไม่ค่อยได้ ผมต้องขออภัยนะครับ ถ้าผมทำอะไรที่นอกคำสั่งของคุณหมอไปบ้าง”

ก่อนที่คุณภิญโญจะมาอยู่โรงพยาบาลครั้งสุดท้าย คุณภิญโญได้ซื้อล๊อตเตอรี่ไว้ที่บ้าน ๑ ใบ เป็นงวดวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ศกนี้ ปรากฎว่าโชคดีล๊อตเตอรี่ใบนี้ถูกรางวับที่ ๑ เงิน ๑ ล้านบาท ภรรยาคุณภิญโญเกรงว่าถ้าบอกคุณภิญโญโดยตรง ก็อาจจะทำให้คุณภิญโญดีใจจนหัวใจวายได้  จึงวานให้คุณหมอช่วยเลียบเคียงบอกข่าว อย่าให้คุณภิญโญดีใจจนเกินไปนัก คุณหมอจึงนำล๊อตเตอรี่ใส่กระเป๋า เพื่อนำมาให้คุณภิญโญในวันนี้ เมื่อคุณหมอคุยเรื่องการเจ็บไข้ด้วยโรคหัวใจเสร็จแล้ว ก็เอาเครื่องฟังใส่หูทำการตรวจหัวใจคุณภิญโญตามปกติเช่นเคย

หมอ  “คุณภิญโญเคยถูกล๊อตเตอรี่บ้างหรือเปล่าครับ”

คุณภิญโญ  “ตั้งแต่เล่นล๊อตเตอรี่มาจนถึงวันนี้ผมเคยถูกเลขท้ายหนเดียว ๒๐๐ บาทเท่านั้น แล้วก็ไม่เคยถูกอีกเลย

หมอ  “คุณภิญโญยังโชคดี เคยได้ตั้ง ๒๐๐ บาท ผมก็เคยซื้อแต่ไม่เคยถูกเลยในชีวิต  คราวนี้คุณภิญโญซื้อไว้บ้างหรือเปล่า”

คุณภิญโญ  “ก่อนที่ผมจะมาอยู่โรงพยาบาลคราวนี้ ผมซื้อไว้ ๑ ใบ ฝากแม่เด็กเขาไว้ ยังไม่รู้ว่าจะถูกหรือไม่”

หมอ  “สมมุติว่า ถ้าคุณภิญโญเกิดโชคดี ถูกรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาทล่ะ คุณภิญโญคิดว่าจะใช้เงินอย่างไรบ้าง”

คุณภิญโญ  “ถ้าผมถูกรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท ก็ตั้งใจไว้ว่าจะเอาไว้ให้ลูกบ้าง เอาไว้รักษาตัวบ้าง”

หมอ  “ดีแล้วคุณภิญโญ  ทีนี้สมมุติว่า เกิดถูกรางวัล ๕๐๐,๐๐๐ บาทล่ะ จะทำอย่างไรดี”

คุณภิญโญ  “ถ้าถูก ๕๐๐,๐๐๐ บาท ผมก็เห็นจะต้องทำบุญบ้างสัก ๕๐,๐๐๐ บาท  สำหรับคุณหมอเองผมก็ยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณให้สมกับที่คุณหมอได้รักษาผมมาเลย คราวนี้ก็ตั้งใจว่าถ้าถูกล๊อตเตอรี่ใบนี้ก็เห็นจะต้องแบ่งให้คุณหมอบ้างตามสมควร”

หมอ  “นี่คุณภิญโญพูดจริง ๆ หรือว่าล้อผมเล่น”

คุณภิญโญ “พุทโธ่ คุณหมอ คุณหมอช่วยชีวิตผมไว้แท้ ๆ แล้ว ผมจะไม่ตอบแทนคุณหมอได้อย่างไร ผมเองก็คงมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกไม่นานเท่าไร ผมรู้สังขารของผมดี”

หมอ  “ก็เผื่อว่าคุณภิญโญเกิดโชคดีจริง ๆ ถูกล๊อตเตอรี่ตั้ง ๑ ล้านบาทล่ะครับ คุณภิญโญมีโครงการใช้เงิน ๑ ล้านบาทนี้อย่างไรบ้าง”

คุณภิญโญ  “ถ้าผมโชคดีจริง ๆ ได้เงินตั้ง ๑ ล้านบาท ผมก็ต้องแบ่งไว้ครึ่งหนึ่ง สำหรับการศึกษาของลูก ๆ เอาไว้ใช้ส่วนตัวบ้าง แล้วก็ทำบุญบ้างอย่างที่ตั้งใจไว้ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ผมยกให้คุณหมอหมดเลย”

        คุณหมอเอามือล้วงล๊อตเตอรี่ใบที่ถูกรางวัลที่หนึ่งเงิน ๑ ล้านบาท เพื่อจะยื่นส่งให้คุณภิญโญ พร้อมกันนั้นคุณหมอก็เป็นลม หน้ามืด หัวใจวาย ล้มฟาดลงข้างเตียงคุณภิญโญนั่นเอง

โดย ศจ.น.พ.ประดิษฐ์  ตัณสุรัต

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า