สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หวัดภูมิแพ้(Allergic rhinitis)

หมายถึงเยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้ในคนทุกวัย มักมีอาการในช่วงวัยรุ่น
ผู้ป่วยมักมีโรคภูมิแพ้อื่นร่วมด้วยเช่น  โรคหืด ลมพิษ ผื่นคัน หวัดภูมิแพ้หวัดภูมิแพ้

โรคนี้มักเรื้อรังเป็นๆ หายๆ อาจมีอาการกำเริบในบางฤดูกาลหรือทั้งปีซึ่งขึ้นอยู่กับสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุกระตุ้น ถ้าเกิดจากการแพ้วัชพืช หญ้า หรือละอองเกสรดอกไม้ต่างๆ เรียกว่า ไข้ละอองฟาง(hay fever)

สาเหตุ
เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ร่างกายจะหลั่งสารเคมีหลายชนิดออกมาทำให้เกิดอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล

ผู้ที่มีอาการกำเริบในบางฤดูกาลมักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ประเภท ละอองเกสร หญ้า วัชพืช สปอร์ของเชื้อรา  แต่สำหรับผู้ที่มีอาการตลอดทั้งปีมักเกิดจากไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง และฝุ่นละอองภายในบ้าน

โรคภูมิแพ้อื่นๆ ที่มักพบจากการแพ้อาหาร เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน

ผู้ที่เป็นโรคหวัดภูมิแพ้ มักมีการตอบสนองไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น เช่น กลิ่นฉุน บุหรี่ ควัน อาหารเผ็ด แอลกอฮอล์ อากาศเปลี่ยน ความชื้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบสัมผัสการก่อภูมิแพ้

อาการ
เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จามบ่อย คันในจมูก คันคอ คันตา น้ำตาไหล เจ็บคอ แสบคอ ไอแห้งๆ ร่วมด้วย อาจมีอาการปวดตื้อบริเวณหน้าผากหรือหัวคิ้ว ปวดศีรษะ หูอื้อ มีเสียงดังในหู รับรู้กลิ่นน้อยลง ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น  มักมีอาการเมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้นเช่น อากาศเย็น ควัน ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ มักมีอาการในช่วงเช้าแล้วค่อยทุเลาลงเมื่อช่วงสายๆ ไปแล้ว อาจมีอาการอ่อนเพลียนอนไม่หลับในบางราย บางรายอาจรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ดซึ่งเป็นอาการของโรคหืดร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
เยื่อจมูกซีดบวมหรือสีม่วงอ่อนๆ น้ำมูกใส เยื่อตาขาวอาจแดงเล็กน้อย ผิวหนังบริเวณขอบตาล่างบวมมีสีคล้ำ พบติ่งเนื้อเมือกจมูก ตรวจปอดมีเสียงวี้ดในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
มักไม่พบภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง  บางรายอาจเป็นหืดร่วมด้วย รายที่เป็นเรื้อรังอาจกลายเป็นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ติ่งเนื้อเมือกจมูก บางรายมีอาการนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ ในรายที่มีอาการขั้นรุนแรงอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การเรียน การทำงาน ทำให้อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

การรักษา
1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นโดยการสังเกตจากการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเอง

2. ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาหากมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ถ้ามีอาการไอ น้ำมูกไหลมากจนน่ารำคาญให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน หรือไดเฟนไฮดรามีน ครั้งละ ½-1 เม็ด วันละ 2-4 ครั้ง หรือยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงนอน เช่น ลอราทาดีน ครั้งละ ½-1 เม็ด วันละครั้ง เป็นต้น  หากคัดจมูกมาก หูอื้อให้กินยาแก้คัดจมูก เช่น สูโดเอฟีดรีน ครั้งละ ½-1 เม็ดวันละ 2-3 ครั้ง อาจใช้ยาป้ายจมูกเอฟีดรีน วันละ 1-2 ครั้งในบางรายแต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 วัน เพราะอาจทำให้เยื่อจมูกบวมมากขึ้นได้ ให้กินยาแก้ไอเมื่อมีอาการไอมาก ยาเหล่านี้ให้หยุดกินเมื่ออาการดีขึ้นและกินใหม่ได้ถ้ามีการกำเริบใหม่ หรืออาจต้องกินเป็นประจำในบางราย

3. หากมีอาการเรื้อรังรักษาเบื้องต้นแล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรงมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ควรให้ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูกวันละ 1-2 ครั้ง เช่น บูโดซีไนด์(budosenide) เบโคลเมทาโซน(beclomethasone) ไตรแอมซิโนโลน(triamcinolone) ฟลูทิคาโซน( fluticasone) เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการจาม คัน คัดจมูก น้ำมูกไหลได้ดีหลังจากใช้ไป 1 สัปดาห์ อาจใช้เดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาแก้แพ้ แก้คัดจมูกก็ได้ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

4. ควรนำส่งแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่แน่ใจ เพื่อจะได้วินิจฉัยโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก ตรวจอิโอซิโนฟิลในเลือดหรือในเสมหะ ทดสอบทางผิวหนัง เอกซเรย์ไซนัส เพื่อหาสาเหตุที่ผิดปกติต่างๆ ให้แน่ชัดซึ่งจะทำให้ผลการรักษาง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถ้าพบเป็นหวัดภูมิแพ้แพทย์อาจปรับเปลี่ยนยา เช่น ให้ไอพราโทรเพียมโบรไมด์ชนิดพ่นจมูกเพื่อช่วยลดน้ำมูก โซเดียมโครโมไกลเคตชนิดพ่นจมูก ยาต้านลิวโคทรีนชนิดกินเพื่อลดอาการคัดจมูกและหืดที่พบร่วมด้วย สตีรอยด์ชนิดกินไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 2 สัปดาห์

การทดสอบทางผิวหนัง เพื่อทดสอบสารที่แพ้แล้วรักษาด้วยการขจัดภูมิไว(desensitization/hyposensitization) โดยฉีดสารที่แพ้เข้าร่างกายทีละน้อยทุก 1-2 สัปดาห์นาน 3-5 ปี วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่แพ้ไรฝุ่น เชื้อรา ละอองเกสร หญ้า วัชพืช ขุยรังแคจากสัตว์เลี้ยง และอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหืดในเด็กแต่ค่ารักษาค่อนข้างแพง

การรักษาด้วยยาแก้แพ้และสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูกสามารถควบคุมอาการได้ดีแต่อาจกำเริบได้เมื่อหยุดยา มีน้อยรายที่ต้องรักษาด้วยการขจัดภูมิไวหรือใช้ยากลุ่มอื่น

การใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หืด ติ่งเนื้อเมือกจมูก อาจทำให้เกิดอาการดื้อยา ควรปรับใช้ยาให้เหมาะสมและรักษาโรคที่พบร่วมด้วย

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังหากเป็นเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือถ้าต้องใช้ก็ควรกินยาแก้แพ้ แก้คัดจมูก แก้ไอ ห้ามซื้อยาที่มีส่วนผสมของสตีรอยด์มากินเอง เพราะจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อใช้ไปนานๆ

2. ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในโรคนี้ เว้นแต่ในรายที่มีน้ำมูกเหลืองหรือเขียว สงสัยว่าเป็นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ

3. ควรให้แพทย์พิจารณาก่อนใช้ยาพ่นจมูก เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เยื่อจมูกอักเสบมากยิ่งขึ้นได้

4. ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ซึ่งจะช่วยให้โรคทุเลาได้

5. ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจนหากเป็นหวัด คัดจมูกนานเกิน 2 สัปดาห์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า