สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หลักการพูดเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและถูกต้องกับผู้ป่วย

จิตบำบัดนั้น ไม่ว่าจะทำโดยวิธีไหน หรือใช้ทฤษฎีอะไรก็ตาม จะประสบกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ก็อยู่ที่ว่านักจิตบำบัดสามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ “ได้หรือไม่” เพราะฉะนั้น การพูดเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่นักจิตบำบัดทุกท่าน จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ สำหรับนักจิตบำบัดที่หัดใหม่ ผู้เขียนขอเรียน ให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการพูดกับผู้ป่วยดังต่อไปนี้

1. หลีกเลี่ยงการแสดงความตกใจ หรือแปลกใจเกินกว่าเหตุ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ทุกครั้งที่หนูออกไปกับเพื่อนชาย หนูรู้สึกอึดอัด และอยากร้องตะโกนออกมาดังๆ” และ

ต่อไปนี้เป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ว้า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?”
ข) “รู้สึกว่าน่าเกลียดมาก”
ค) “คุณกลัวว่าเขาจะทำอะไรกับคุณหรือ?”

ต่อไปเป็นคำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ผมสงสัยว่า ทำไมคุณถึงรู้สึกอย่างนั้น?”
ข) “อยากร้องตะโกน?”
ค) “ผมคิดว่า จะต้องมีเหตุผลอะไรอยู่ ที่ทำให้คุณรู้สึกอย่างนั้น”

2. หลีกเลี่ยงการแสดงความเป็นห่วงใยเกินกว่าเหตุ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมรู้สึกเสมอว่า ผมกำลังจะตาย”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “เราเห็นจะต้องรีบจัดการเรื่องนี้โดยเร็ว”
ข) “ทำไมถึงคิดสั้นอย่างนี้?”
ค) “แย่แล้ว น่ากลัวเหลือเกิน”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “เรื่องนี้ คงทำให้คุณไม่สบายใจ”
ข) “คุณทราบไหมว่า ทำไมคุณถึงคิดอย่างนี้ ?”
ค) “คุณรู้สึกอย่างนี้เวลาไหนมากที่สุด?”

3. หลีกเลี่ยงการสอนหรืออบรมศีลธรรมแก่ผู้ป่วย

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมจะต้องขโมยของผู้อื่น ผมห้ามใจตัวเองไม่ได้”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “สิ่งนี้ จะทำให้คุณลำบาก”
ข) “คุณต้องห้ามใจตัวเองให้ได้”
ค) “นั่นเป็นสิ่งที่เลวมาก”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณคิดว่า อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกอย่างนี้?”
ข) “คุณรู้สึกอย่างนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?”
ค) “คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?”

4. หลีกเลี่ยงการลงโทษคนไข้ เช่นเดียวกับที่คนอื่นๆ เคยทำกับเขามาก่อน

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมคิดว่า คุณหมอไม่ได้ช่วยเหลือผมเลย”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ถ้าอย่างนั้นก็เลิกรักษาเลย”
ข) “เป็นเพราะว่าคุณไม่ร่วมมือต่างหาก”
ค) “ถ้าคุณไม่พยายามร่วมมือให้ดีกว่านี้ ผมเห็นจะต้องเลิกรักษาคุณ”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “เราลองมาพูดเรื่องนี้กันดู คุณคิดว่าได้เกิดอะไรขึ้น ระหว่างคุณ
ข) “บางทีคุณอาจคิดว่าผมช่วยคุณไม่ได้”
ค) “ผมคิดว่าจะต้องมีเหตุผลที่ทำให้คุณรู้สึกอย่างนั้น”

5. หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์คนไข้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมขี้เกียจอาบน้ำ”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณไม่รู้หรือว่า คุณกำลังทำตัวสกปรก”
ข) “คุณไม่สนใจตัวคุณเอง แล้วจะให้คนอื่นเขามาสนใจคุณหรือ?”
ค) “คุณอยากทำอย่างนั้นเพื่อประชดใคร?”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ผมคิดว่าต้องมีเหตุผลที่คุณอยากทำอย่างนั้น”
ข) “คุณคิดว่า คุณทำอย่างนั้นเพราะอะไร?”
ค) “แล้วคุณรู้สึกอย่างไร?”

6. หลีกเลี่ยงการให้คำมั่นสัญญาผิดๆ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “คุณหมอคิดว่า ผมจะหายเป็นปกติไหม?”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณต้องหายแน่นอน”
ข) “คุณไม่เชื่อมือผมก็คอยดู อีกไม่นานคุณจะเห็นเอง”
ค) “ผมมั่นใจว่าต้องรักษาคุณได้”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะช่วยกันทำงานได้ดีแค่ไหน’’
ข) “รู้สึกว่าคุณสงสัยในเรื่องนี้มาก คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?”
ค) “เรามาลองพูดกันดูว่าที่คุณว่า หายเป็นปกติ นั้น หมายความว่าอย่างไร?”

7. หลีกเลี่ยงการอวดตัวหรือคุยโต
ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ลูกของผมไม่ยอมไปโรงเรียน ผมทุกข์ใจเรื่องนี่มาก”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ผมทราบดีว่าคุณรู้สึกอย่างไร ผมก็เคยมีปัญหาเรื่องนี่มาก่อน”
ข) “ถ้าเป็นผม ผมก็ต้องรู้สึกอย่างเดียวกับคุณแน่นอน”
ค) “ผมดีใจที่คุณนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะผมเป็นผู้เชี่ยวชาญปัญหานี้
โดยตรง”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณทุกข์ใจอย่างไรบ้าง ? ผมอยากทราบรายละเอียด”
ข) “คุณทราบไหมว่า ทำไมเขาจึงไม่ยอมไปโรงเรียน ?”
ค) “เรื่องนี้ทำให้คุณหัวเสีย”

8.  หลีกเลี่ยงการข่มขู่คนไข้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมอยากหยุดการรักษาสัก 2 ครั้ง เพราะผมอยากจะไปดูหนัง”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณไม่สนใจรักษาจริงจังเลย”
ข) “ถ้าคุณคิดว่า การไปดูหนังสำคัญกว่าการรักษาละก็ คุณอย่ามารักษาอีกเลย”
ค) “ถ้าอย่างนั้น คุณไปรักษากับคนอื่นเถอะ”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ผมสงสัยว่า ทำไมการไปดูหนังจึงสำคัญมากกว่าการมาที่นี่?”
ข) “ผมคิดว่า บางทีการไปดูหนังอาจจะทำให้คุณสบายใจมากกว่าการมาที่นี่”
ค) “คุณรู้สึกอย่างไรกับการมาที่นี่?”

9. หลีกเลี่ยงการเอาปัญหาของนักจิตบำบัดไปโยนให้คนไข้รับผิดชอบ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “วันนี้คุณหมอคงเหนื่อยมาก”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ครับ วันนี้ผมมีปัญหาไปหมดทุกเรื่อง จึงรู้สึกเหนื่อยมาก”
ข) “ผมเป็นหวัด ปวดศีรษะมาก”
ค) “ผมนอนไม่หลับ จึงทำให้อ่อนเพลีย”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ผมทราบว่าคุณจะต้องสังเกตเห็น ผมนอนดึกไปหน่อย แต่ว่าคงจะไม่รบกวนการรักษา”
ข) “ผมเป็นหวัดและปวดหัว แต่ไม่เป็นมาก และคงไม่รบกวนการรักษา”
ค) “ผมทำงานมากไปหน่อย แต่คงไม่รบกวนการรักษา”

10. หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์กับผู้ป่วย

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมรู้สึกหมดหวัง และพึ่งคุณหมอก็ไม่ได้”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “เลิกคิดบ้าๆ อย่างนั้นเสียทีเถอะ”
ข) “คุณเล่นละครได้ดีมาก”
ค) “งั้นก็เลิกรักษาเดี๋ยวนี้เลย”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คงจะมีเหตุผลอะไรอยู่ ที่ทำให้คุณรู้สึกอย่างนั้น”
ข) “คุณคิดว่าเกิดจากอะไร?”
ค) “คุณคงจะลำบากใจเกี่ยวกับเรื่องนี้”

11. หลีกเลี่ยงการโต้เถียงกับคนไข้ในเรื่องการเมือง ศาสนาและปรัชญา

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “คุณหมอจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือประชากรไทย?”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ต้องประชากรไทยซิ ถึงจะได้รัฐบาลที่ดี”
ข) “ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ต้องเลือกพรรคของผม”
ค) “ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และคุณก็ควรจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ด้วย”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณคิดว่า ผมจะเลือกพรรคไหน?”
ข) “คุณสงสัยว่าผมจะเลือกพรรคไหน?”
ค) “ผมสงสัยว่าคุณจะคิดอย่างไร ถ้าผมบอกว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือประชากรไทย และคุณเองจะเลือกพรรคไหน?”
ง) “ผมจะเลือกพรรคที่ผมเห็นว่าดีที่สุด ทำไมคุณถึงถาม?”

12. หลีกเลี่ยงการทะเลาะกับคนไข้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ดิฉันเบื่อหน้าสามีเต็มทนแล้ว จะไม่ยอมทำอะไรเพื่อเขาอีก”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำอย่างนั้น”
ข) “คุณออกจะเห็นแก่ตัวมากไปแล้ว”
ค) “คุณทำตัวแบบนี้ แล้วจะให้สามีทำตัวดีกับคุณได้อย่างไร?”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำอะไรเพื่อเขาอีก”
ข) “บางทีอาจเป็นเพราะว่าคุณกลัวจะต้องยอมแพ้เขา ผมพูดอย่างนี้ คุณมีความเห็นอย่างไร?”
ค) “เดี๋ยวนี้คุณรู้สึกต่อเขาอย่างไร?”

13. หลีกเลี่ยงการเยาะเย้ยคนไข้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “คนอย่างผมจะทำอะไรก็ต้องทำได้”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณคิดว่าคุณแน่นักหรือ?”
ข) “คุณออกจะคุยโตมากไปหน่อยแล้ว”
ค) “รู้สึกว่าคุณจะโม้ไปหน่อยแล้ว”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ทำอย่างนั้น คุณคงต้องเหนื่อยแน่”
ข) “คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?”
ค) “รู้สึกว่า คุณมีความมั่นใจมาก ผมพูดอย่างนี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไร?”

14. หลีกเลี่ยงการดูถูกคนไข้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมคิดว่าผมเป็นคนฉลาดมาก”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณว่าเอาเองต่างหาก”
ข) “ผมไม่เห็นแม้แต่นิดว่าคุณจะฉลาดกว่าคนอื่น’’
ค) “คนปัญญาอ่อนก็ยังคิดว่าตนเองฉลาด”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “แล้วคุณรู้สึกอย่างไร?”
ข) “ผมเห็นจะต้องทำงานหนักในการรักษาคุณ”
ค) “อาจจะเป็นไปได้ว่า คุณไม่ค่อยแน่ใจในความฉลาดของคุณ ผมพูด อย่างนี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไร ?”

15.  หลีกเลี่ยงการติเตียนคนไข้เมื่อเขาล้มเหลว

ตัวอยาง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมลืมเอารายงานมาให้คุณหมออีกแล้ว”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณเคยคิดไหมว่า คุณเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ?”
ข) “ลืมอีกแล้ว”
ค) “ผมบอกคุณแล้วว่ารายงานนี้สำคัญมาก ผมไม่ได้พูดเล่นนะ”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ผมแปลกใจว่า ทำไมคุณถึงลืม?”
ข) “คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร?”
ค) “คุณอาจจะไม่เต็มใจเอามา ผมพูดอย่างนี้ คุณมีความเห็นอย่างไร?”

16. อย่าทอดทิ้งผู้ป่วย
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมอยากให้คุณหมอชอบผมมากกว่าคนไข้คนอื่นๆ”

ตัวอย่าง
คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ทำไมผมจะต้องทำอย่างนั้น ในเมื่อคนอื่นเขาก็เป็นคนไข้ของผมเหมือนกัน”
ข) “ผมไม่ใช่คนเลือกที่รักมักที่ชัง”
ค) “ผมไม่ชอบคนแบบคุณ”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “คุณต้องการอย่างนั้นเพราะอะไร?”
ข) “ถ้าผมบอกว่า ผมชอบคุณมากที่สุด อาจจะทำให้คุณมั่นใจเพิ่มขึ้น”
ค) “คุณคิดว่าผมมีความรู้สึกต่อคุณอย่างไร?”

17. หลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์ไม่พอใจกับคนไข้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “เมื่ออาทิตย์ก่อน ภรรยาผมขับรถไปชนเขาอีกแล้ว”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “ผู้หญิงขับรถก็เป็นอย่างนี้แหละ”
ข) “ผู้หญิงมักจะทำให้เราลำบาก”
ค) “ผู้หญิงน่ะ ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น”

คำพูดที่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “แล้วคุณรู้สึกอย่างไร?”
ข) “คุณคิดว่าได้เกิดอะไรขึ้น?”
ค) “คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อทราบข่าวนี้?”

18. หลีกเลี่ยงการไม่ใช้เหตุผล

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมไม่อยากคบกับผู้หญิง”

คำพูดที่ไม่ถูกต้องของนักจิตบำบัด
ก) “เป็นเพราะว่าคุณกลัวผู้หญิงนะซิ”
ข) “คุณเป็นคนแยกตัวเองต่างหาก”
ค) “คุณไม่ชอบผู้หญิง ก็เพราะเข้ากับเขาไม่ได้”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “น่าสนใจ ทำไมคุณจึงรู้สึกอย่างนั้น?”
ข) “คุณเป็นอย่างนี้มานานเท่าไหร่?”
ค) “ถ้าคุณต้องอยู่ในที่ซึ่งมีผู้หญิง คุณรู้สึกอย่างไร?”

19. หลีกเลี่ยงการแปลความหมายก่อนเวลาอันสมควร

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมบอกคุณหมอแล้วว่า ผมไม่ชอบอะไรบ้าง คุณหมอคิดว่าเกิดจาก

ตัวอย่าง
คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “คุณเป็นคนต้องพึ่งคนอื่นเสมอ แล้วก็เกลียดพ่อแม่ของคุณด้วย”
ข) “คุณเป็นคนมีปมด้อย”
ค) “คุณเกลียดพ่อของคุณ และเลยพาลเกลียดเจ้านายของคุณด้วย”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “ผมคิดว่าข้อมูลยังไม่เพยงพอ ผมขอศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดเสียก่อน จึงจะตอบคุณได้”
ข) “ยังไม่ทราบแน่ครับ ผมขอเวลาศึกษาอย่างละเอียดเสียก่อน”
ค) “เราจะต้องช่วยกันศึกษาเรื่องนี้อีก ถ้าผมบอกคุณตอนนี้ ก็คงไม่เกิด ประโยชน์อะไร”

20. หลีกเลี่ยงการแปลความหมายของความฝันอย่างกำปั้นทุบดิน

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเล่าว่า “วันก่อนผมฝันว่า ขณะที่ผมนั่งอยู่ในครัว ซึ่งมีเศษอาหารกระจายอยู่บนพื้น ผมจึงนั่งลงเก็บเศษอาหาร แล้วผมก็ถูกเตะที่หน้าเมื่อผมเงยหน้าขึ้น ก็เห็นชายคนหนึ่งมีมีดอยู่ในมือกำลังจะแทงหลังผม”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “คุณกำลังกลัวว่า คุณจะเป็น Homosexual”
ข) “คุณขาดความรักในวัยทารก”
ค) “คุณแม่ของคุณต้องไม่รักคุณแน่ๆ”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?”
ข) “คุณคิดว่าเกิดจากอะไร?”
ค) “คุณรู้สึกอย่างไร ที่ฝันอย่างนี้?”

21. หลีกเลี่ยงการขุดคุ้ยเรื่องราวของคนไข้ขณะที่มี Resistance สูง

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมไม่อยากพูดถึงเรื่องเพศ”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “ถ้าคุณไม่อยากพูด ผมก็ช่วยคุณไม่ได้”
ข) “คุณต้องกล้าสู้ความจริง”
ค) “แล้วความรู้สึกทางเพศของคุณเป็นอย่างไร”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “คุณคงจะลำบากใจที่จะพูดเรื่องนี้”
ข) “เอาละ งั้นก็พูดเรื่องอื่นที่คุณคิดว่าสำคัญ”
ค) “การพูดถึงเรื่องเพศ มักจะทำให้เราไม่สบายใจ”

22. หลีกเลี่ยงการยกยอสรรเสริญคนไข้โดยไม่สมควร

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยถามว่า “หนูแต่งตัวสวยไหม?”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “สวยมาก คุณมักแต่งตัวสวยเสมอ”
ข) “คุณสวยมากจริงๆ”
ค) “ผู้ชายทุกคนที่เห็นก็ต้องชอบคุณละ”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “สวย แต่ ทำไมคุณถึงถาม?”
ข) “คุณเองชอบไหม?”
ค) “คุณอาจจะคิดว่า ผมคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวคุณ?”

23. หลีกเลี่ยงการให้กำลังใจเกินความจำเป็น

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมคิดว่า ผมเป็นคนน่าเกลียดที่สุด อ่อนแอที่สุด และเหลวใหลที่สุดในโลก”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “อย่าคิดโง่ๆ อย่างนั้นซิ คุณเป็นคนหน้าตาดี และดีอีกหลายๆ อย่าง เชื่อผมเถอะ”
ข) “ผมรับรองได้ว่า คุณไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
ค) “คุณเป็นคนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ที่ผมเคยรู้จัก”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “ทำไมคุณจึงรู้สึกอย่างนั้น?”
ข) “แล้วทำให้คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับตัวคุณเอง?”
ค) “มีคนอื่นพูดถึงคุณเช่นนี้ไหม?”

24. ควรให้กำลังใจเมื่อจำเป็นจริงๆ

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมรู้สึกว่า ผมกำลังจะบ้า”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “อาจจะเป็นไปได้”
ข) “คุณอาจรู้สึกอย่างนี้ได้ ทั้งๆ ที่ได้รับการรักษาอยู่”
ค) “ถึงคุณจะบ้า เราก็ยังรักษาคุณได้”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “ผมไม่พบหลักฐานอะไรเลยว่าคุณกำลังจะบ้า”
ข) “ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่ว่าน้อยคนนักที่จะเป็นอย่างนั้น”
ค) “ผมสงสัยว่า คุณอาจจะกังวลเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย”

25. ต้องทำใจกว้าง ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่ใช้เหตุผล

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “หนูเชื่อว่า ผู้ชายทุกคนล้วนแต่ชีกอทั้งนั้น”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “คุณออกจะมีอคติมากไปแล้ว”
ข) “คุณไม่ชอบผู้ชาย และว่าเอาเอง”
ค) “ถ้าคุณคิดอย่างนี้ คุณจะไปไหนไม่รอด”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “อะไรทำให้คุณรู้สึกอย่างนั้น?”
ข) “คุณคงมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับผู้ชายมาก่อน คุณจึงรู้สึกอย่างนั้น ผมพูดเช่นนี้ คุณมีความเห็นอย่างไร?”
ค) “ผมเข้าใจที่คุณรู้สึกเช่นนั้น แต่คนเราก็อาจเปลี่ยนใจได้ ถ้ามีประสบการณ์มากขึ้น”

26. เคารพความคิดเห็นและค่านิยมของคนไข้ ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกับของนักจิตบำบัดเอง

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมไม่ชอบศาสนาที่เชื่อว่ามีพระเจ้าเลย โกหกกันแท้ๆ”

คำที่พูดไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “คุณคิดอย่างนั้นไม่ถูก เพราะถ้าไม่ดี ทำไมคนจึงนับถือกันมากมาย”
ข) “ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้น ผมไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน”
ค) “คุณอาจจะเปลี่ยนใจ ถ้าคุณรักษากับผมต่อไป”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “ทำไมครับ?”
ข) “แล้วคุณเอง นับถือศาสนาอะไร?”
ค) “คุณคิดว่าผมมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?”

27. อธิบายวิธีการรักษาเมื่อจำเป็น
ผู้ป่วยพูดว่า “ผมจะต้องทำอะไรบ้าง จึงจะหายป่วย?”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “ใจเย็นๆ ผมจะจัดการเรื่องนี้เอง คุณไม่ต้องห่วง”
ข) “ถ้าคุณมั่นใจในตัวผมเมื่อไหร่ คุณก็จะเริ่มดีขึ้นเมื่อนั้น”
ค) “คุณยิ่งร่วมมือมากเท่าไหร่ คุณก็จะหายเร็วเท่านั้น”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “เราจะต้องพูดกันเพื่อศึกษาปัญหาและความคิดของคุณก่อน แล้วคุณจะค่อยๆ เข้าใจตัวคุณ เมื่อถึงตอนนั้น คุณจะทราบเองว่า คุณควรจะทำอย่างไร”

ข) “เราจะพูดกันถึงความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของคุณ แล้ว คุณจะค่อยๆ เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวคุณ เมื่อคุณเข้าใจแล้ว คุณก็ จะแก้ไขปัญหาของคุณได้”

ค) “ผมทราบว่า คุณจะต้องสงสัยว่า การพูดจากันจะช่วยคุณได้อย่างไร แต่การรักษาชนิดนี้จำเป็นจะต้องใช้การพูดจากัน เพื่อศึกษาปัญหาของคุณ เมื่อคุณทราบความจริงแล้วคุณก็จะแก้ไขปัญหาของคุณได้เอง”

28. แสดงความเห็นใจเมื่อจำเป็น

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยพูดว่า “สามีของหนูเอาแต่ดื่มเหล้าทั้งวัน แล้วชอบทะเลาะตบตีหนูต่อหน้าลูกๆ”

คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “แล้วคุณยังทนอยู่กับเขาทำไม?”
ข) “บางทีคุณอาจจะผลักดันให้เขาดื่มเหล้าก็ได้”
ค) “สามีคุณเลวจริงๆ”

คำพูดที่ถูกต้อง ฯลฯ
ก) “คุณคงลำบากใจมาก”
ข) “คงเป็นการยากมากสำหรับคุณที่จะอยู่กับเขาในสภาพอย่างนี้”
ค) “ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก คุณคงจะหนักใจมาก”

ตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นักจิตบำบัดหัดใหม่อาจนำไปใช้เป็นแนวทาง และประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ผู้เขียนใคร่ขอเรียนให้ทราบว่า นักจิตบำบัดหัดใหม่ ควรจะศึกษาให้เข้าใจความหมายของการพูดและนำไปใช้ โดยพูดออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ของตนเอง ในขณะทำการรักษา กรุณาอย่าท่องจำแล้วนำไปใช้ เพราะอาจจะขัดกับความรู้สึกจริงๆ ของนักจิตบำบัด และยังเป็นการฝืนธรรมชาติของการพูดด้วย

ลักษณะของ Working Relationship
Working Relationship หรือตำราบางเล่มเรียกว่า Working Alliance เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการรักษา เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ การทำจิตบำบัดก็จะประสบความล้มเหลว ลักษณะของ Working Relationship จะสังเกตได้ดังต่อไปนี้

นักจิตบำบัดจะมีความรู้สึกว่าชอบหรือสนใจผู้ป่วย สามารถพูดจากันรู้เรื่อง ผู้ป่วยร่วมมือดี มีความมั่นใจว่าสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ถึงแม้ว่าจะยากหรือต้องทำงานหนักก็ตาม สำหรับผู้ป่วยเองจะรู้สึกว่า ชอบหรือพอใจผู้รักษา มีความมั่นใจ หรือเชื่อฝีมือผู้รักษา สิ่งเหล่านี้สังเกตได้จากการพูด และพฤติกรรมของคนไข้

ระยะเวลาที่ใช้สำหรับสร้าง Working Relationship นี้ แตกต่างกันแล้วแต่ชนิด และบุคลิกภาพของผู้ป่วย บางรายอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่พบกับผู้ป่วยครั้งแรก แต่ว่าส่วนมากนั้น ต้องใช้เวลานานพอสมควร คือพบกันเกินกว่า 10 ครั้งขึ้นไป ในผู้ป่วยที่มีความหวาดกลัว ความใกล้ชิด แยกตัวเอง มองโลกในแง่ร้าย มีความโกรธแค้นและอาฆาตมาก หรือไม่มี Motivation บางทีอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี หรือมากกว่านี้ก็ได้ ในรายที่มี Transference และ Countertransference รบกวนมาก นักจิตบำบัดจะต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ก่อน จึงจะมี Working Relationship ในลักษณะที่ก่อประโยชน์เกิดขึ้นได้

ต่อไปเป็นตัวอย่างของ Working Relationship ที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 32 ปี หย่ากับสามี มารับการรักษาเพราะว่ามีความวิตกกังวล เครียด และไม่สนไจผู้อื่น ในการพบกัน 4 ครั้งแรก ผู้ป่วยและผู้รักษาได้พูดกันถึงปัญหาทั่วๆ ไปของผู้ป่วย ในการพบกันครั้งที่ 5 ผู้ป่วยได้เล่าถึงว่า การที่เธอไม่สบายก็เพราะว่า เมื่อตอนเป็นเด็กนั้น ได้ถูกลวนลามและยั่วยวนทางเพศจากบิดา มารดา และพี่สาว ผู้ป่วยจำรายละเอียดไม่ได้ ผู้รักษาตั้งใจฟังเรื่องราวของผู้ป่วย แต่ว่าไม่ได้แสดงท่าที่สนับสนุนหรือคัดค้าน ด้วยท่าทีดังกล่าว จึงทำให้เกิด Working Relationship เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นตอนหนึ่งของการพบกันครั้งที่ 6

ผู้ป่วยพูดว่า “ดิฉันไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นตรงไหน เพราะว่าดิฉันรู้สึกสบายขึ้นเมื่อได้พูดกับคุณหมอครั้งที่แล้ว”
ผู้รักษาตั้งใจฟัง และไม่พูดอะไร
ผู้ป่วยพูดต่อไปว่า “ดิฉันรู้สึกพอใจมาก ที่คุณหมอได้ให้โอกาสได้เล่าถึงทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวดิฉันเอง ถ้าดิฉันไม่ได้พูดถึงมันแล้ว คงทำให้ดิฉันไม่สบายใจไปอีกนาน เมื่อได้พูดแล้วรู้สึกว่าโล่งอกและมีความหมายมากต่อตัวดิฉันเอง”

ผู้รักษาถามว่า “ในแง่ไหน?”
ผู้ป่วยตอบว่า “ในแง่ที่คุณหมอเข้าใจดิฉัน เข้าใจถึงความรู้สึกของดิฉันด้วย”

ผู้รักษาพูดขึ้นว่า “ขอบคุณครับ”
ผู้ป่วยพูดต่อไปว่า “คุณหมอสนใจดิฉันอย่างจริงจัง คุณหมอจะเชื่อเรื่องราวของดิฉันหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญยิ่งก็คือ คุณหมอสนใจและจริงใจต่อดิฉันมาก”

ผู้รักษาตั้งใจฟังเฉยๆ โดยไม่พูดอะไร
ผู้ป่วยเล่าต่อว่า “ดิฉันรู้สึกสบายใจมาก ที่คุณหมอเข้าใจดิฉัน ไม่มีใครเข้าใจดิฉันเหมือนคุณหมอ เมื่อคุณหมอจริงใจกับดิฉัน ดิฉันก็ต้องจริงใจกับคุณหมอด้วย แล้วดิฉันก็คิดขึ้นมาว่า ถ้ามีคนเชื่อถือดิฉันอย่างคุณหมอ ย่อมมีความหมายต่อดิฉันมาก และดิฉันจะต้องตอบแทนเขาในลักษณะเดียวกัน”

ผู้รักษาพยักหน้าและตั้งใจฟังต่อไป
ผู้ป่วยพูดว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ ดิฉันก็ต้องตอบสนอง ซึ่งแต่ก่อนนี้ดิฉันทำไม่ได้ เพราะดิฉันไม่ไว้ใจคนง่ายๆ ดิฉันต้องเห็นเสียก่อนว่า เขาจริงใจและสนใจจริง จึงจะสามารถเปิดเผยความรู้สึกของตนเองได้อย่างไม่ต้องปิดบัง”

ผู้รักษาเงียบฟังต่อไป ผู้ป่วยจึงพูดต่อไปว่า “ดิฉันรู้สึกอย่างนี้จริงๆ” (แล้วผู้ป่วยก็หยุดพูด)

ผู้รักษาจึงพูดว่า “เมื่อคุณมาพบผมครั้งแรก คุณคงสงสัยเกี่ยวกับตัวผมว่า ผมจะเข้าใจคุณถูกต้องหรือไม่ หรืออาจจะไม่เข้าใจคุณเลยก็ได้”

ผู้ป่วยตอบว่า “ใช่ค่ะ ดิฉันเคยคิดอย่างนั้น เพราะว่ายังไม่แน่ใจว่าคุณหมอจะทอดทิ้งดิฉันหรือไม่ เมื่อพบกันนานเข้า คุณหมอก็ให้ดิฉันพูดทุกสิ่งทุกอย่าง และยังให้พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อคุณหมอด้วย คุณหมอไม่เคยตำหนิดิฉันเลย ทำให้ดิฉันรู้สึกกล้าพูดและอบอุ่นใจ ดิฉันไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลย และต้องขอขอบคุณคุณหมอค้วย”

ผู้รักษาตอบว่า “ขอบคุณครับ”
ผู้ป่วยพูดต่อไปว่า “คุณหมอรู้ไหม? ดิฉันไม่เคยไว้ใจใครง่ายๆ นึกแปลกใจเหมือนกันว่า ดิฉันไว้ใจคุณหมอเพราะอะไร แต่ก็ไม่สำคัญหรอก เมื่อดิฉันไว้ใจคุณหมอแล้ว ทำให้ดิฉันสบายใจ ดิฉันจะพยายามร่วมมือกับคุณหมอให้ดีที่สุด เพราะดิฉันมั่นใจว่า คุณหมอ ต้องช่วยดิฉันได้….”

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า