สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง(Aortic aneurysm)

หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง(Aortic aneurysm)
ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่(Aortic dissection)

ทั้ง 2 โรค เป็นความผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่หรือเอออร์ตา ที่เกิดจากความอ่อนแอด้วยสาเหตุต่างๆของผนังหลอดเลือด พบบ่อยในผู้สูงอายุและเป็นภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
เป็นความอ่อนแอของผนังหลอดเลือดบางส่วนและถูกแรงดันเลือดดันให้โป่งออกจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว อาจพบได้จากการบาดเจ็บ การอักเสบ ซิฟิลิส หรือกลุ่มอาการมาร์แฟนซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนแอ มีความเสี่ยงมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ พบได้มาในคนอายุ 50-80 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ผนังหลอดเลือดที่โป่งพองมักเกิดในช่องท้องระดับที่ต่ำกว่าจุดแยกของหลอดเลือดแดงไต เรียกว่า หลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนท้องโป่งพอง ที่เกิดในส่วนช่องอกใกล้หัวใจ เรียกว่า หลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนอกโป่งพอง มักพบได้น้อย

อาการ
ส่วนใหญ่มักไม่พบอาการแสดงในโรคนี้ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของโรคอื่นๆ

ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรเต้นอยู่ในท้องบริเวณใต้สะดือ หรือมีอาการปวดลึกๆ ที่หลังในรายที่เป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนท้องโป่งพอง

ส่วนผู้ป่วยที่รู้สึกเหมือนมีอะไรเต้นในทรวงอกหรือปวดหลังด้านบนในรายที่เป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนอกโป่งพอง อาจเบียดกดอวัยวะข้างเคียงหากมีขนาดโต จนทำให้เกิดอาการไอหรือมีเสียงวี้ด ไอเป็นเลือด กลืนลำบาก เสียงแหบ

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจพบมีก้อนเต้นตามจังหวะชีพจรในท้องบริเวณใต้สะดือ หรือใช้เครื่องฟังได้ยินเสียงฟู่ตรงบริเวณกึ่งกลางท้องใกล้สะดือ

ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้ผนังหลอดเลือดแตก มีเลือดตกในจนเกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าหลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดมากกว่า 5 ซม. อาการแรกเริ่มถ้าเกิดในช่องท้องจะมีอาการปวดรุนแรงที่ท้องน้อยและหลังและกดเจ็บ ถ้าเกิดในช่องอกจะปวดรุนแรงที่หลังด้านบนและแผ่ลงด้านล่าง อาจมีเจ็บหน้าอกและแขนคล้ายโรคหัวใจขาดเลือด ต่อมาจะมีภาวะช็อกคือเหงื่อออก ตัวเย็น ซีด ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ

นอกจากนี้อาจทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือด เนื่องจากเกิดภาวะลิ่มเลือดเกาะที่ผนังหลอดเลือดที่โป่งพองและหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดตามที่นั้นๆ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ตามมาได้

การรักษา
หากสงสัยว่าจะเกิดโรค ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มักจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนหากหลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดกว้างน้อยกว่า 5 ซม. และไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เมื่อมีความดันก็ให้ยาลดความดันและติดตามการขยายตัวของหลอดเลือดที่โป่งพองทุก 3-6 เดือน

แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อแก้ไขในรายที่พบว่าหลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดมากกว่า 5 ซม. ซึ่งมักจะเสี่ยงต่อการแตก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีชีวิตเกิน 5 ปีขึ้นไปหลังทำการผ่าตัด และอาจมีการโป่งพองของหลอดเลือดขึ้นมาใหม่ในบริเวณใกล้เคียงได้อีก

แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดโดยเร่งด่วนในรายที่เกิดการแตกของผนังหลอดเลือด

การป้องกัน
ลดความเสี่ยงการเกิดโรคนี้โดยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ดังนี้
1. ไม่สูบบุหรี่
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่อ้วนจนเกินไป
4. ถ้าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ควรรีบควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ

ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่
เป็นภาวะที่เกิดรอยปริเป็นรูรั่วที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงใหญ่ ทำให้เลือดไหลออกไปเซาะผนังชั้นในแยกออกจากผนังชั้นกลางเป็นแนวยาว ถ้ารอยปริเกิดตรงจุดใกล้หัวใจ เรียกว่า ชนิดเอ ถ้าเกิดต่ำกว่าจุดแยกของหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า เรียกว่า ชนิดบีเลือดเซาะผนังหลอดเลือด

โรคนี้เป็นโรคอันตรายร้ายแรง พบมากในคนอายุ 40-70 ปี มักพบในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ส่วนการเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง การบาดเจ็บ โรคกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดโดยกำเนิด พบได้เป็นส่วนน้อย อาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแทรกซ้อน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหัวใจหรือการใส่สายสวนหัวใจหรือหลอดเลือด

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงเกิดขึ้นฉับพลัน และแผ่ขยายไปที่ท้องและต้นขา คอ หลังส่วนล่าง จะปวดรุนแรงและต่อเนื่องเป็นชั่วโมง หรือวัน อาจมีอาการเป็นลมหรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วนในบางราย

สิ่งตรวจพบ
ชีพจรที่มือและขาเต้นเบาหรือคลำไม่ได้ ความดันต่ำ ชีพจร 2 ข้างเต้นไม่เท่ากัน อาจพบความดันโลหิตสูง อาจได้ยินเสียงฟู่เมื่อใช้เครื่องตรวจฟังบริเวณลิ้นเอออร์ติกในรายที่มีลิ้นเอออร์ติกรั่ว หรือพบอาการจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีการอุดกั้นการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดที่แตกสาขาออกไปจากเลือดที่เซาะและขังอยู่ในรอยแยกระหว่างผนังหลอดเลือดชั้นในสุดและชั้นกลาง ทำให้แขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่ง กล้ามเนื้อหัวใจตาย ปวดท้องเนื่องจากลำไส้ขาดเลือด ไตขาดเลือดทำให้ปวดหลัง การอุดกั้นหลอดเลือดเลี้ยงไขสันหลังทำให้ขาอ่อนแรง หรืออาจทำให้เกิดภาวะลิ้นเอออร์ติกรั่วถ้ามีรอยปริอยู่ใกล้หัวใจ

อาจเกิดภาวะหัวใจถูกบีบรัดไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงปอดและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้หากเลือดที่เซาเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ

ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่ทำให้เกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้ คือ ผนังหลอดเลือดแตกและเกิดมีเลือดตกอยู่ภายใน

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากลักษณะอาการร่วมกับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม ด้วยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ้าพบเป็นภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ชนิดเอ จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไขด่วน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตใน 48 ชั่วโมง หรือภายใน 1 เดือนหากไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข หลังผ่าตัดถ้าผู้ป่วยอยู่ได้นาน 2 สัปดาห์อาจมีชีวิตได้เกิน 5 ปี

ถ้าพบเป็นแบบชนิดบี มักมีความเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาทางยา เช่นให้ยาลดความดัน ลดอัตราการเต้นของชีพจรให้ต่ำลงเพื่อลดแรงดันต่อหลอดเลือด ทำให้รูปริผนังหลอดเลือดปิดได้เองในที่สุด เมื่อหายเป็นปกติดีแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยดีแพทย์มักนัดมาตรวจทุก 3-6 เดือน ซึ่งในบางครั้งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดจากภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในระยะต่อมาได้ แต่ภาวะแทรกซ้อนและการลุกลามของโรคพบได้เป็นส่วนน้อย หากเกิดขึ้นก็จะรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขโดยรีบด่วนเช่นกัน ซึ่งจะทำให้มีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปีขึ้นไป

อาจมีการเสียชีวิตได้จากสาเหตุผนังหลอดเลือดแตกและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในผู้ป่วยที่เป็นภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ชนิดบีแต่ไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใดเลย

การป้องกัน
1. ไม่สูบบุหรี่
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่อ้วนจนเกินไป
4. ถ้าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ควรรีบควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า