สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด(Deep vein thrombosis/DVT)

หลอดเลือดดำบริเวณขา ภายในหลอดเลือดอาจเกิดลิ่มเลือดอยู่ในบางครั้ง ถ้าเกิดที่หลอดเลือดดำบริเวณผิวจะทำให้หลอดเลือดอักเสบ เรียกว่า หลอดเลือดดำส่วนผิวอักเสบมีลิ่มเลือด แต่ถ้าเกิดที่หลอดเลือดดำส่วนที่อยู่ในในกล้ามเนื้อมักจะไม่มีอาการอักเสบแต่อาจหลุดลอยไปในปอดเป็นอันตรายได้ เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด การกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายหรือไหลเวียนช้า

สาเหตุ
เกิดจากการก่อตัวของลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานจากการนั่งรถหรือนั่งทำงานนานๆ การนอนพักฟื้นนานๆ ของผู้ป่วยหลังผ่าตัด กระดูกหัก หรือเป็นโรคหัวใจ แขนขาเป็นอัมพาต มะเร็งตับอ่อนที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่าย หรือภาวะเลือดแข็งตัวง่ายจากการกินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดใหม่ๆ ที่ทำให้ในหลอดเลือดดำบริเวณเชิงกรานและขามีแรงดันสูง ผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่หรือมีภาวะขาดน้ำ มีน้ำหนักตัวมากเกินไป เกิดภาวะบาดเจ็บต่อหลอดเลือดดำจากการผ่าตัดหรือฉีดสารระคายเคืองเข้าหลอดเลือด หรือการมีความผิดปกติที่ทำให้เลือดจับเป็นลิ่มง่าย หรือมีประวัติพ่อแม่พี่น้องมีภาวะนี้

อาการ
จะไม่มีอาการแสดงใดๆ ในผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนที่ปอดจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นได้

ในกลุ่มที่แสดงอาการโดยเฉพาะเวลาเดินจะรู้สึกปวดหน่วงๆ ตึงๆ หรือเจ็บบริเวณน่อง หรือขาข้างหนึ่ง มักเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า และต้นขาร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบผู้ป่วยมีอาการกดเจ็บบริเวณน่อง เท้าบวม ขาบวมข้างเดียว หรือชีพจรเต้นเร็ว มีไข้ต่ำๆ ในบางราย

สามารถตรวจได้โดยจับปลายเท้ากระดกขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บน่องมากขั้น เรียกว่า อาการโฮแมน

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดลิ่มเลือดหลุดลอยเข้าสู่หัวใจและไปอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด เรียกว่า ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด อาจรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง

ลิ่มเลือดอาจหลุดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจหรือสมองทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในรายที่มีผนังหัวใจรั่วโดยกำเนิดอยู่ก่อน

อาจทำให้เกิดหลอดเลือดขอดที่ขา เท้าบวม ผิวหนังบริเวณข้อเท้าด้านในกลายเป็นสีน้ำตาลแดง และอาจเกิดเป็นแผลได้ง่าย หากมีการทำลายลิ้นเล็กๆ ในหลอดเลือดดำขา ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เลือดไหลกลับลงเท้า

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหากมีความสงสัยว่าจะเกิดโรค แต่ควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วนหากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก หรือหายใจหอบร่วมด้วย

แพทย์มักตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดดำด้วยการฉีดสารทึบรังสี เพื่อทำการวินิจฉัยโรค แต่มักจะทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมหากสงสัยว่ามีภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด

แพทย์จะรักษาโดยให้ผู้ป่วยนอนพักและยกเท้าสูง 6 นิ้ว ให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม เช่น เฮพาริน ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แล้วให้กินยาเม็ดวาร์ฟารินต่อ อาจต้องกินต่อเนื่องนาน 2-6 เดือน จำเป็นต้องตรวจเลือดดู clotting time ก่อนแล้วจึงปรับยาให้เหมาะสมเพราะยานี้ทำให้เลือดออกได้ง่าย

การรักษาอื่นๆ เพื่อแก้ไขอาการบวมและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การพันด้วยผ้าพันแผลชนิดยืด หรือการสวมใส่ถุงเท้าชนิดยืด เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดลอยเข้าปอดอาจสอดใส่ตัวกรองไว้ในท่อเลือดดำส่วนล่างในกรณีผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออก

ข้อแนะนำ
1. หากมีความสงสัยจากอาการเจ็บปวดน่องและขาบวมข้างหนึ่งเกิดขึ้นฉับพลันควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะโรคนี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

2. ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดแผลในผู้ป่วยที่รับสารกันเลือดเป็นลิ่มเพราะอาจมีเลือดออกได้ง่าย และควรรีบไปโรงพยาบาลหากมีเลือดออก

3. สาเหตุที่สำคัญอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการขาบวมข้างหนึ่งแต่ไม่มีอาการเจ็บปวด เช่น ทางเดินน้ำเหลืองอุดกั้น อาจเกิดจากมะเร็ง ภาวะแทรกซ้อนจากการฉายรังสี การติดเชื้อ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบหากเกิดอาการขาบวมข้างหนึ่งเกิดขึ้น

การป้องกัน
1. การป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำสำหรับผู้ที่ต้องนั่งโดยสารรถหรือเครื่องบินนานๆ ควรปฏิบัติดังนี้
-ควรลุกขึ้นเดินในห้องโดยสารทุกๆ ชั่วโมงถ้านั่งเครื่องบิน และควรหยุดรถและเดินไปมาสักครู่หากนั่งรถ
-หมั่นบริหารขาโดยการงอเหยียดข้อเท้าขึ้นลง 10 ครั้งขณะนั่งอยู่กับที่
หากโดยสารเครื่องบินนานเกิน 6 ชั่วโมงควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดรัดเอว ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

2. ควรมีการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ดื่มน้ำมากๆ งดการสูบบุหรี่ หมั่นบริหารขาโดยการงด-เหยียดข้อเท้าขึ้นลงในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต คนอ้วน ผู้ที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน

3. ถ้าจำเป็นต้องรับการผ่าตัดหรือเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานๆ แพทย์มักให้สารกันเลือดจับเป็นลิ่มเพื่อป้องกันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เคยมีภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดมาก่อน มีภาวะเลือดจับเป็นลิ่มง่าย ผู้ที่ต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ผู้ป่วยโรคหัวใจหรืออัมพาต เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า