สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน(Herniated disk)

รากประสาทถูกกด(Spinal nerve root compression)
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน(Herniated disk)
โพรงกระดูกสันหลังแคบ(Spinal stenosis)

รากประสาทถูกกด คือการที่มีสิ่งผิดปกติรบกวนหรือกดถูกรากประสาทของเส้นประสาทสันหลัง

ถ้าเป็นที่ระดับคอมักทำให้มีอาการปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ รู้สึกชาลงมาที่แขนและมือ

ถ้าเป็นที่ระดับเอว มีการกดถูกรากประสาทไซแอติก จะทำให้ปวดหลังร่วมกับปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ รู้สึกชาลงมาที่ขา เรียกว่า อาการปวดตามประสาทไซแอติก อาจเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ที่พบบ่อยๆ คือ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน และโพรงกระดูกสันหลังแคบ ส่วนวัณโรคกระดูกสันหลัง เนื้องอกไขสันหลัง มะเร็งที่แพร่กระจายจากที่อื่น อุบัติเหตุ มักพบได้น้อย

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนและโพรงกระดูกสันหลังแคบ

สาเหตุ
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน พบได้ในช่วงอายุ 20-60 ปี แต่ในคนอายุมากกว่า 60 ปีจะพบได้น้อยมาก สาเหตุเกิดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อมตามอายุมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอก ทำให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลางซึ่งมีลักษณะคล้ายวุ้นแตก หรือเลื่อนมากดทับรากประสาทเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาท มักเกิดขึ้นโดยไม่มีประวัติการบาดเจ็บที่ชัดเจน อาจเกิดจากแรงกระทบเพียงเล็กน้อยหรืออิริยาบถที่ไม่เหมาะสม พบเป็นส่วนน้อยที่เกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน เล่นกีฬา อุบัติเหตุ ยกหรือเข็นของหนัก

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากคือผู้ป่วยเบาหวานหรือสูบบุหรี่ เนื่องจากออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกได้น้อยลงทำให้เสื่อมลงได้ง่าย และผู้ที่เกิดโรคนี้ได้มากขึ้น เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออาชีพที่ต้องเข็นหรือยกของหนักที่อาจกระทบกระเทือนต่อหมอนรองกระดูกได้

โพรงกระดูกสันหลังแคบ พบได้ในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป พบมากในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มักเกิดจากกระดูกสันหลังเสื่อมตามอายุ มีหินปูนหรือปุ่มงอกเกิดขึ้นที่ผิวข้อกระดูกสันหลังมักจะเกาะอยู่โดยรอบ มีการหนาตัวของเอ็นรอบๆ โพรงกระดูกสันหลัง ทำให้โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โดยเกิดขึ้นทีละน้อยนานเป็นปีๆ จนกดทับรากประสาทที่แยกออกจากไขสันหลังผ่านโพรงดังกล่าว มีการบีบรัดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงรากประสาททำให้เกิดอาการของโรคนี้ขึ้น

อาการ
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ส่วนใหญ่พบที่หมอนรองกระดูกบริเวณเอว มักพบในคนอายุ 35-45 ปี บริเวณคอพบในคนอายุ 40-50 ปี แต่พบได้เป็นส่วนน้อย อาการอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบฉับพลันก็ได้ ในบางรายอาจเกิดอาการหลังจากได้รับบาทเจ็บหรือยกของหนัก แต่มักจะไม่ทราบว่ามีเหตุกำเริบจากอะไรเป็นส่วนใหญ่

หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน มักจะปวดตรงกระเบนเหน็บ ปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาจากแก้มก้นมาถึงน่องหรือปลายเท้า เมื่อมีการเคลื่อนไหว ก้ม นั่ง ไอ จาม หัวเราะ หรือเบ่งถ่าย จะปวดมากขึ้น อาจเกิดอาการถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่อยู่ เท้าชาและไม่มีแรงสำหรับรายที่เป็นมากๆ และมักจะเกิดเพียงข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างในรายที่เป็นมาก

หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อน จะปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ บริเวณต้นคอ มีอาการชาลงมาที่ไหล่ แขน และปลายมือ เมื่อแหงนคอไปด้านหลัง หรือหันศีรษะไปข้างที่เป็นมักจะทำให้เกิดอาการ อาจทำให้เกิดมีอาการมืออ่อนแรงหากเป็นมาก

โพรงกระดูกสันหลังแคบ มักจะไม่มีอาการแสดงในระยะแรกๆ อาจตรวจพบจากการถ่ายภาพรังสีกระดูกสันหลังโดยบังเอิญ โพรงกระดูกสันหลังที่ตีบแคบมากขึ้นจะทำให้ไปกดทับรากประสาท จึงทำให้มีอาการปวดหลังและร้าวมาที่ขาในขณะที่วิ่ง หรือยืนนานๆ เมื่อเดินทางไกลๆ เป็นต้น ในรายที่เป็นมากจะรู้สึกปวดน่องแม้จะเดินเพียงไม่กี่ก้าวจนต้องนั่ง หรือหยุดเดินสักครู่อาการจึงจะทุเลาลงและเดินต่อไปได้ จึงต้องหยุดพักเป็นระยะๆ มักพบอาการปวดเพียงข้างเดียว หรือก็อาจพบเป็นทั้งสองข้างได้เช่นกัน

โพรงกระดูกสันหลังจะขยายและลดการกดรากประสาททำให้อาการปวดทุเลาลงเมื่อนั่งหรือก้มตัวไปข้างหน้า หรือขณะเดินขึ้นเนินหรือที่ลาด แต่การแอ่นตัวไปข้างหลังเมื่อเดินลงเนินจะทำให้โพรงกระดูกตีบแคบมากขึ้นจึงทำให้มีอาการปวดหลัง

มักมีอาการเสียวๆ แปลบๆ และชาจากแก้มก้นลงมาที่น่องหรือปลายเท้า เท้าอ่อนแรง ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ อาจมีอาการเดินโคลงเคลง ทรงตัวผิดปกติในรายที่เป็นมากๆ

สิ่งตรวจพบ
ในรายที่มีการกดรากประสาทไซแอติก ตรวจวินิจฉัยได้โดย

1. ให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วจับเท้าข้างที่สงสัยค่อยๆ ยกขึ้นโดยให้หัวเข่าเหยียดตรง ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถยกเท้าเหยียดตรงได้ 90 องศาเช่นคนปกติหรือได้น้อยกว่าเท้าอีกข้างหนึ่ง เพราะจะรู้สึกปวดเสียวตามหลังเท้าจนทนไม่ได้ วิธีนี้เรียกว่า การทดสอบเหยียดขาตรงตั้งฉาก

2. ใช้เข็มจิ้มเบาๆ ที่บริเวณหลังเท้าและน่อง จะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าอีกข้างหนึ่งในรายที่เป็นมาก

3. ให้ผู้ป่วยออกแรงเหยียดหัวแม่เท้าต้านแรงกดของนิ้วมือผู้ตรวจ จะพบว่ามีแรงอ่อนกว่าหัวแม่เท้าข้างที่ปกติในรายที่เป็นมาก

4. จะพบว่ารีเฟล็กซ์ของข้อเข่าและข้อเท้าน้อยกว่าปกติ

ในรายที่มีการกดทับรากประสาทในบริเวณคอ อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนระยะแรก แต่ในเวลาต่อมาอาจพบกล้ามเนื้อแขนมีอาการชาและอ่อนแรง บริเวณข้อศอกและข้อมือเกิดรีเฟล็กซ์น้อยกว่าปกติ

โพรงกระดูกสันหลังแคบ มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในระยะแรก การทดสอบเหยียดขาตรงตั้งฉากพบว่ามีความผิดปกติมักเกิดกับผู้ป่วยส่วนน้อย แต่ก็อาจตรวจพบอาการชาที่หลังเท้าและน่อง ข้อเข่าและข้อเท้ามีรีเฟล็กซ์น้อยกว่าปกติ หัวแม่เท้าอ่อนแรง ในรายที่เป็นมากแล้ว

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการปล่อยให้รากประสาทถูกกดรุนแรงจนทำให้ขาชา เป็นแผลติดเชื้อง่าย กล้ามเนื้อขาลีบ ขาอ่อนแรง เดินลำบาก ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่อยู่

การรักษา
ควรส่งไปโรงพยาบาลเพื่อเอกซเรย์กระดูกสันหลัง ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หากมีความสงสัยว่าจะเกิดโรค หรืออาจต้องถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี

การรักษาในระยะแรกแพทย์จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์เป็นหลัก เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาท ให้ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพมร่วมด้วยในรายที่มีการตึงตัวหรือเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในท่านอนหงายบนที่นอนแข็งตลอดเวลา 1-2 วัน เพื่อบรรเทาอาการปวดในรายที่มีอาการเกิดขึ้นฉับพลันและปวดรุนแรง แต่ไม่ควรนอนติดต่อกันนานหลายวันเพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอ

ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยกายภาพบำบัด เช่น ประคบด้วยความเย็นและความร้อน การถ่วงดึงน้ำหนัก หรือรักษาเพื่อกระตุ้นปลายประสาทด้วยไฟฟ้า การฝังเข็ม เป็นต้น หรืออาจต้องใส่ปลอกคอ หรือเสื้อเหล็กในบางราย

ในรายที่ปวดมากและอาการไม่ทุเลาลงแม้จะได้รับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์และยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แพทย์อาจพิจารณาให้ โคเดอีน กาบาเพนทิน ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่แรงขึ้น ในบางรายอาจลดการอักเสบด้วยการฉีดสตีรอยเข้าบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาทที่อักเสบ

ผู้ป่วยควรบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ปล่อยให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ

เมื่อได้รับการรักษามักจะหายปวดและกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติเป็นส่วนใหญ่ ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงอาการมักจะดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากหมอนรองกระดูกที่ไหลเลื่อนออกมาข้างนอกจะยุบตัวลงจนลดแรงกดต่อรากประสาทไปได้เอง

ในรายที่การรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วก็ยังไม่ได้ผล ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง มีอาการชามาก ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
และในรายที่มีการเลื่อนของกระดูกสันหลังอาจเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังให้แข็งแรงขึ้น การผ่าตัดมีหลายวิธีรวมทั้งการใช้กล้องส่องสำหรับโพรงกระดูกสันหลังแคบ ในปัจจุบันผลการรักษามักได้ผลดีและมีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้วิธีผ่าตัดขยายโพรงกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์

การผ่าตัดเพื่อรักษามักจะได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ พบได้น้อยรายที่อาจมีอาการปวดเรื้อรัง แต่ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนมานานก่อนทำการผ่าตัดผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควร

ข้อแนะนำ
1. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนและโพรงกระดูกสันหลังตีบ จะปวดหลังและร้าวลงมาที่ขาเหมือนกัน แต่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนจะพบในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่าโพรงกระดูกสันหลังตีบ และมักปวดมากเมื่อก้มหรือนั่ง แต่โพรงกระดูกสันหลังตีบมักพบในผู้สูงอายุ ที่มีอาการปวดน่องเวลาเดินแต่เมื่อก้มหรือนั่งจะทุเลาลง เพื่อให้ทราบผลการวินิจฉัยที่แน่ชัดอาจต้องใช้การถ่ายภาพด้วยรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่แนวทางการรักษาทั้งสองโรคนี้มีเหมือนกัน และมักไม่ต้องผ่าตัด

2. ถ้าเป็นระยะแรกและไม่รุนแรงในสองโรคนี้ อาการมักจะหายได้ภายใน 4-6 สัปดาห์เมื่อใช้ยาบรรเทาปวดและลดอักเสบ หลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้อาการกำเริบ

3. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ เมื่อต้องขับรถหรือนั่งทำงานควรปรับท่าทางให้เหมาะสม บริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรงด้วยท่าที่แพทย์แนะนำ อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวเกิน เมื่อมีอาการปวดควรนอนหงายบนที่นอนแข็ง กินยาบรรเทาปวด ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ

4. ควรส่งตรวจหาสาเหตุด้วยการถ่ายภาพรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในรายที่มีอาการแขนหรือขาชาและอ่อนแรง 1-2 ข้าง และอาการเป็นมากขึ้นทีละน้อยนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เพราะเส้นประสาทสันหลังอาจถูกกดทับด้วยเนื้องอกไขสันหลัง ก้อนมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปอดหรือมะเร็งเต้านมแพร่กระจายไปก็ได้

การป้องกัน
1. ออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง
2. ควรมีอิริยาบถที่ถูกต้องในการนอน นั่ง ยืน หรือยกของ
3. หลีกเลี่ยงการนอนในที่นอนที่นุ่มเกินไป การยกหรือเข็นของที่หนักๆ
4. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
5. ไม่ควรสูบบุหรี่เพราะจะทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า