สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน(Acute glomerulonephritis/AGN)

ในเนื้อไตจะมีหน่วยไตเป็นหน่วยเล็กๆ ที่กระจายอยู่ ทำหน้าที่กรองของเสียและน้ำออกมาเป็นปัสสาวะ เมื่อหน่วยไตอักเสบร่างกายจะขับปัสสาวะได้น้อยลง ทำให้ในเลือดมีของเสียคั่งอยู่มากกว่าปกติ และทำให้เกิดอาการบวม ปัสสาวะออกมาเป็นสีแดงจากภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงและสารไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

หน่วยไตอักเสบพบได้ในคนทุกวัย อาจเป็นแบบเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ แต่เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก

สาเหตุ
หน่วยไตเกิดการอักเสบหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น ทอลซิลอักเสบ แผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ไฟลามทุ่ง โดยภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นไปมีปฏิกิริยาต่อหน่วยไต ซึ่งจัดว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง เรียกว่า หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส มักพบหลังติดเชื้อในคอ 1-2 สัปดาห์ และหลังติดเชื้อที่ผิวหนัง 3-4 สัปดาห์ มักพบบ่อยในเด็กอายุ 5-10 ปี หรือผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเมื่อติดเชื้อดังกล่าว โรคนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคเอสแอลอี ซิฟิลิส การแพ้สารเคมี เป็นต้น

อาการ
ปัสสาวะของผู้ป่วยมักออกน้อยกว่าปกติ มีสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อหรือน้ำหมาก อาจมีอาการบวมที่หน้า หนังตา เท้า และท้อง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ถ้ามีอาการรุนแรงอาจจะปัสสาวะออกน้อย หอบเหนื่อย หรือชักได้

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้ หน้าบวม หนังตาบวม เท้าบวมกดบุ๋ม ท้องบวม ปัสสาวะขุ่นแดง ตรวจพบสารไข่ขาวขนาด 1+ ถึง 3+ และอาจมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดอาการทางสมอง เช่น ชัก ไม่ค่อยรู้สึกตัว ถ้ามีความดันโลหิตสูงมากๆ หรืออาจพบภาวะปอดบวมน้ำ ใช้เครื่องฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ มีอาการหอบเหนื่อยในบางราย อาจจำเป็นต้องทำการล้างไตเพราะอาจทำให้เกิดภาวะไตวายซึ่งร้ายแรงถึงตายได้

การรักษา
1. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีความสงสัยว่าจะเกิดโรค เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจปัสสาวะจะพบว่าเม็ดเลือดแดงเกาะกันเป็นแพ และพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยวๆ หรือเกาะกันเป็นแพก็ได้

อาจพบว่าไตขับของเสียได้ไม่เต็มที่จากการตรวจเลือดพบความผิดปกติ เช่น สารบียูเอ็น และครีอะตินีน ในปริมาณสูง

ในการรักษา ควรให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน งดอาหารเค็ม ให้ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดัน และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี หรืออีริโทรไมซิน ถ้ามีประวัติทอนซิลอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง

จำเป็นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลหากสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะไตวายหรือความดันโลหิตสูงรุนแรง

2. ให้ฉีดไดอะซีแพม และฟูโรซีไมด์ ½ – 1 หลอด เข้าหลอดเลือดดำ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลถ้าผู้ป่วยมีอาการชักหรือหอบ

ข้อแนะนำ
1. โดยทั่วไปโรคนี้จะมีอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ และส่วนใหญ่จะหายขาดได้ มีน้อยรายที่อาจกลายเป็นเรื้อรัง หรือเสียชีวิตระหว่างที่มีอาการ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ควรตรวจปัสสาวะบ่อยๆ ต่อไปอีกหลายเดือน

2. ผู้ป่วยโรคนี้แม้จะหายดีแล้วแต่เมื่ออายุมากขึ้นอาจกลายเป็นความดันโลหิตสูงหรือภาวะไตวายได้ จึงควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิต และระดับครีอะตินีนในเลือดเป็นครั้งคราว

การป้องกัน
เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อนผู้ป่วยควรกินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อีริโทรไมซิน ติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ หรือไฟลามทุ่ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า