สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สารเป็นพิษในอุตสาหกรรมกับมาตรการป้องกันของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะอาศัยกฎหมายความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี 4 ฉบับ คือ

1. ปมท. เรื่อง ความปลอดภัยเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี)
2. ปมท. เรื่อง ความปลอดภัยเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย
3. ปมท. เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสถานที่อับอากาศ และ
4. ปมท. เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง

เมื่อพิจารณาการใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว อาจกล่าวได้ว่ามีมาตรการตามกฎหมายที่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของลูกจ้างได้อย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การนำสารเคมีหรือสารไวไฟเข้าสู่สถานประกอบการ จนกระทั่งนำออกไปจากสถานประกอบการ

เพื่อให้ท่านได้เข้าใจเจตนารมณ์และข้อกฎหมายความปลอดภัยได้ง่าย เข้า ขอลำดับเหตุการณ์ เพื่ออธิบายถึงมาตรการทางกฎหมายที่ควบคุมดูแล ซึ่งจะขอเริ่มจาก

1. การขนส่งสารเคมีอันตรายไปยังโรงงานอุตสาหกรรม
ท่านคงจำได้เป็นอย่างดีต่ออุบัติภัยจากกรณีที่มีการขนส่งสารเคมีที่มีความไวไฟที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ คือ เหตุการณ์ที่รถบรรทุกแก๊สของบริษัทหนึ่งพลิกคว่ำ และเกิดการลุกไหม้ขึ้นอย่างรุนแรงคลอบคลุมไปทั่วบริเวณ ทำความเสียหายอย่างมากทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถ ใช้ถนน และผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บพิการ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง และในเวลาต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันอีกหลายครั้ง เมื่อมีการขนส่งสารเคมีที่เป็นอันตรายหากได้ติดตามข่าวสารคงจะทราบกันเป็นอย่างดี

ในเรื่องนี้มีหน่วยงานที่ควบคุมดูแลอยู่หลายหน่วยงาน เช่น กรมโยธากรมตำรวจ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นการดูแลที่สภาพของรถและภาชนะบรรจุ แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากคน หรือพนักงานขับรถยนต์ ในเรื่องนี้ทางกรมฯ มีกฎหมายที่กำหนดชั่วโมงการทำงานสำหรับงานขนส่ง การตรวจโรคเป็นประจำ ซึ่งอาจเน้นเรื่องยาบ้าหรือสิ่งเสพติดก็ได้ และกฎหมายความปลอดภัยที่กำหนดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถและฝึกปฏิบัติกรณีฉุกเฉิน เช่น สารเคมีรั่ว เกิดเพลิงไหม้ หรือระเบิด เพื่อให้พนักงานขับรถได้บรรเทาหรือแก้ไข เหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ เพราะบางครั้งเป็นเหตุการณ์ที่แก้ไขได้ ซึ่งหากพนักงานกลัวหลบหนีไปก็จะเกิดมหันตภัยขึ้นได้

2. การนำสารเคมีอันตรายเข้าไปในสถานประกอบการ
การนำสารเคมีอันตราย เข้าสู่สถานประกอบการ เพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้า โดยที่พนักงานผู้ขนย้ายหรือใช้สารเคมีดังกล่าวไม่ทราบถึงอันตรายและวิธีป้องกันตัวให้ปลอดภัย เป็นเรื่องที่เป็นปัญหามากในปัจจุบันทั้งนี้เพราะลูกจ้างสัมผัสและตาย เนื่องจากสารเคมีโดยไม่ทราบหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น โรคเกี่ยวกับสารตะกั่ว แมงกานีส ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น หรือบางครั้ง เกิดอุบัติภัยกรณีทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายหรือสารไวไฟมีจำนวนมากๆ แล้วเกิดการระเบิดหรือไฟไหม้ เช่น โรงงานน้ำมัน หรือโรงงานปิโตรเคมี

กฎหมายความปลอดภัยได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยไว้หลายประการ เช่น

2.1 การกำหนดให้จัดทำฉลากสารเคมีที่ลูกจ้างสัมผัสถูก หรือใช้ในการผลิตให้จัดทำฉลาก ซึ่งมีข้อความระบุที่จำเป็น เช่น ชื่อสารเคมี การก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ทางเข้าสู่ร่างกาย การ ป้องกันแก้ไขกรณีสัมผัสถูกและการ เยียวยารักษา เป็นต้น

2. 2 ให้รายงานสารเคมีอันตรายที่ครอบครอง ซึ่งได้กำหนดไว้ในตารางสารเคมีอันตราย ตามแบบ สอ. 1 ซึ่งเน้นถึงชนิดของสารเคมี การก่ออันตราย มาตรการป้องกันแก้ไข และการควบคุมกรณี ไฟไหม้หรือรั่วไหล การกำหนดดังกล่าว เพื่อให้สถานประกอบการมีความพร้อมและเตรียมตัวป้องกันแก้ไข แต่เนิ่นๆ

2.3 ให้จัดทำรายงานความปลอดภัยและประเมินการก่ออันตราย (สอ.2) กำหนดให้สถานประกอบการที่มีสารเคมีอันตรายครอบครองไว้ในปริมาณมากๆ ที่จะก่อให้เกิดอุบัติภัย จะต้องจัดทำรายงานการประ เมินความเสี่ยง ซึ่งจะได้ทราบว่าก่อนเกิดเหตุได้มีมาตรการใดในการควบคุมป้องกัน หลังเกิดเหตุได้มีมาตรการใดในการระงับภัย และมีผู้ใดบ้างที่จะได้รับอันตรายดังกล่าว เป็นต้น

2.4 กำหนดให้เก็บรักษาสารเคมีอันตรายไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัยโดยกำหนดสถานที่เก็บให้มีโครงสร้างที่ปลอดภัย และมีระยะห่างจากผู้ปฏิบัติงาน

3. การใช้สารเคมีอันตรายและสารไวไฟ

3.1 การขนย้ายสารเคมีอันตรายให้ใช้ภาขนะที่ปลอดภัยป้องกันการรั่วไหล ลูกจ้างที่ขนย้ายต้องจัดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้ใช้

3.2 การตรวจสอบหรือวัดปริมาณสารเคมีอันตรายในอากาศ (แบบ สอ.3) ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีสารเคมีอันตรายชนิดฟุ้งกระจายในอากาศที่ลูกจ้างสัมผัสถูก จะต้องทำการตรวจวัดว่า มีปริมาณสูงเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ และถ้าเกิดจะต้องทำการแก้ไขให้ปลอดภัย

3.3 การทำงานในสถานที่อับอากาศ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานที่อับอากาศจะได้รับอันตราย เนื่องจาก ก๊าซพิษ หรือการขาดอากาศในการหายใจกรณีที่เพิ่งเป็นข่าวลูกจ้าง 7 คน ทำงานในท่อส่งก๊าซ เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นแสดงว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างแน่นอนถึงเกิดการตายขึ้นได้ ทั้งนี้ เพราะกฎหมายความปลอดภัยได้ควบคุมตั้งแต่ก่อนเข้าทำงานในสถานที่อับอากาศต้องมีใบอนุญาตเข้าไปได้ ต้องตรวจสอบสารเป็นพิษและอากาศว่าพอเพียงหรือไม่ ต้องควบคุมตลอดเวลาให้ปลอดภัย และต้องจัดเครื่องช่วยหายใจติดตัวลูกจ้างพร้อมที่จะหยิบใช้ได้กรณีฉุกเฉิน เป็นต้น

3.4 การป้องกันอันตรายจากสารไวไฟหรือสารระเบิดได้ ในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่า อัคคีภัยที่เกิดในสถานประกอบการใด ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะกฎหมายความปลอดภัยได้กำหนดมาตรการ ควบคุมป้องกันไว้ครบถ้วนแล้ว เช่น กรณีอ้างว่า เกิดจากไฟฟ้าช๊อต ซึ่งเป็นสาเหตุที่เร็วกว่าแพะรับบาป ต่อไปนี้คงจะอ้างไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องตรวจสอบสายไฟและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ปลอดภัยป้องกันการช๊อตหรือไฟฟ้าลัดวงจรไว้แล้ว สำหรับมาตรฐานป้องกันและระงับอัคคีภัยกำหนดไว้หลายประการ เช่น

1. การควบคุมอาคารให้ปลอดภัย นอกจากจะกำหนดให้มีอาคารเก็บสารไวไฟไว้โดยเฉพาะแล้ว ยังกำหนดให้อาคารโดยทั่วไปต้องจัดสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เครื่องดับเพลิงชนิดมือถือ และนํ้าสำรองดับเพลิง ไฟฉุกเฉินใช้ในเวลากลางคืน ตลอดจนกำหนดเส้นทางหนีไฟและป้ายชี้นำ เป็นต้น

2. กำหนดการควบคุมวัสดุเชื้อเพลิง ที่ชนิดของแข็ง ของเหลวและก๊าซ โดยกำหนดการเก็บรักษา ห้องทนไฟ ควบคุมปริมาณที่สามารถเก็บได้การขนถ่าย และการทำลายขยะเชื้อเพลิง เป็นต้น

3. การควบคุมแหล่งก่อกำเนิดความร้อน เช่น เปลวไฟ ประกายไฟ ไฟฟ้าช๊อต ฟ้าผ่า การเสียดสี เสียดทาน หรือแม้กระทั่ง ไฟฟ้าสถิตย์ เป็นต้น

4. การกำหนดให้สถานประกอบการมีความพร้อมในการป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยและฝึกปฏิบัติ เพื่อให้มีการป้องกันอัคคีภัยมิให้เกิดขึ้น และกรณีเกิดขึ้นก็ให้ระงับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

4. การตรวจสารเป็นพิษในร่างกายลูกจ้าง
กฎหมายความปลอดภัยได้กำหนดให้นายจ้างที่ให้ลูกจ้างทำงานสัมผัสต่อสารเคมีอันตราย จะต้องทำการตรวจหาปริมาณสารเคมีอันตรายดังกล่าวในร่างกายลูกจ้างตามแบบ สอ. 4 เป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง

การตรวจสารเป็นพิษในร่างกายลูกจ้างจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายประการ เช่น ปัญหาแรงงานสัมพันธ์ที่ลูกจ้างอ้างว่าได้รับอันตรายจากสารเคมีในขณะปฏิบัติงาน ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ การตรวจสารเป็นพิษในร่างกายลูกจ้างนอกจากจะทราบถึงการเข้สู่ร่างกายลูกจ้างของสารเป็นพิษแล้วยังทราบถึงแนวโน้มและโอกาสการเกิดโรคจากการทำงาน ทั้งนี้เพราะหากเกิดอันตรายดังกล่าวกฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างต้องดูแลรักษาทันทีด้วย

5. การกำหนดให้มีเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลลูกจ้างที่ได้รับอันตรายจากสารเคมี เป็นต้น

ที่มา:นายสุวุฒิ  กลิ่นหอม
ผู้อำนวยการกองตรวจความปลอดภัย
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า