สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความต้องการสารอาหารของทารก

โภชนาการสำหรับทารก (Nutrition for Infancy)
ทารกคือเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ขวบ ในวัยนี้เป็นการวางรากฐานของชีวิตในอนาคต เพราะเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตและพัฒนาทุกส่วนของร่างกาย ถ้าทารกได้รับอาหารดีมีค่าครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย ก็จะทำให้เจริญเติบโตและแข็งแรง ตรงกันข้ามถ้าทารกใด ได้รับอาหารไม่เพียงพอทั้งปริมาณและคุณค่าแล้ว ก็จะทำให้เกิดโรคขาดอาหารเจริญเติบโตช้าหรือเล็กแกรน สติปัญญาเสื่อมทึบและอ่อนแอ เป็นช่องทางให้ติดโรคได้ง่ายและตายได้มากอาหารทารก

ทารกเมื่อแรกคลอดจะมีน้ำหนักระหว่าง 2.5-4.5 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยประมาณ 3.0 กิโลกรัม แต่สำหรับทารกไทยน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3.2 กิโลกรัม น้ำหนักนี้จะลดลงเล็กน้อยใน 3-4 วันแรกหลังคลอด และแล้วน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเท่ากับตอนคลอดอีกเมื่ออายุได้ 10 วัน หรืออายุได้ 5 เดือนน้ำหนักจะเพิ่มเป็น 2 เท่าของแรกเกิด แต่ทารกที่กินนมแม่อาจจะมีน้ำหนักเป็น 2 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุได้ 3-4 เดือนก็ได้ ความเจริญเติบโตของทารกใน 5 เดือนแรก จะรวดเร็วและสูงมาก จะสูงสุดในอายุ 6 เดือนแรก หลังจากนี้น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้นช้าๆ อาจจำง่ายๆ ว่า

อายุ 5 เดือน เด็กจะหนักประมาณ 2 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด
อายุ 1 ขวบ   เด็กจะหนักประมาณ 3 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด
อายุ 2-2 ½ ขวบ เด็กจะหนักประมาณ 4 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด
อายุ 5-6 ขวบ เด็กจะหนักประมาณ 5-6 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด
อายุ 10 ขวบ เด็กจะหนักประมาณ 10 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด

น้ำหนักของเด็กไทย หลังจาก 1 ขวบไปแล้วอาจกะประมาณได้จากสูตร ต่อไปนี้
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)    = 7 + (2 X อายุเป็นปี)
เช่นเด็กอายุ 4 ขวบ ควรหนักประมาณ = 7 + (2 X 4)
= 15 กิโลกรัม

ความสูงของเด็กแรกคลอดประมาณ 50 เซ็นติเมตร ครั้นอายุได้ 1 ขวบ ความสูงจะเพิ่มเป็นประมาณ 75-80 เซ็นติเมตร หลังจากนี้ความสูงจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 9-18 เซ็นติเมตร แล้วความสูงจะเป็น 2 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุ 5-6 ขวบ

ส่วนศีรษะของเด็กแรกคลอดจะมีเส้นรอบศีรษะประมาณ 35 เซ็นติเมตร ศีรษะจะโตเร็วใน 6 เดือนแรก ซึ่งเส้นรอบวงจะยาวขึ้นประมาณ 9-10 เซ็นติเมตร ใน 6 เดือนหลังจะโตขึ้นเล็กน้อย เส้นรอบวงจะยาวขึ้นเพียง 3-4 เซ็นติเมตรเท่านั้น จากนั้นศีรษะจะขยายตัวช้าลงอีก

เด็กแรกคลอดจะหายใจเร็วดูคล้ายหอบ ซึ่งอาจหายใจประมาณ 30-40 ครั้งต่อนาที (ผู้ใหญ่ประมาณ 15-20 ครั้งต่อนาที) ชีพจรหรือการเต้นของหัวใจก็เร็วประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที (ผู้ใหญ่ประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาที) เด็กแรกคลอดมักจะนอนหลับเป็นส่วนใหญ่ อาจถึงวันละ 20 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่ความผิดปรกติ จะร้องเมื่อหิว เปียกแฉะ หรือเจ็บ อุจจาระ ครั้งแรกมักถ่ายภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งเป็นขี้เทาสีดำเหนียว แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวปนน้ำตาลราวๆ วันที่ 3-4 หลังจากนั้นจึงจะเป็นสีเหลือง

ระยะขวบปีแรกนี้ทารกมีความต้องการแม่มาก ความพอใจของเด็กระยะนี้อยู่ที่ปาก (เช่นการดูดนม) และการอุ้มชู ความอบอุ่นที่ได้จากแม่ เด็กที่ได้รับความสุขจากทั้งสองด้านนี้จะเป็นพื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับการเจริญทางด้านจิตใจในวัยต่อมาของเด็ก

ดังกล่าวแล้ว เด็กในวัยนี้มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทั้งกระดูก เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อกว่าทุกระยะในชีวิต จึงจำเป็นต้องได้สารอาหารครบถ้วนเพียงพอ ซึ่งจะช่วยวางรากฐานที่ดี สำหรับชีวิตในอนาคต ทารกไม่มีสารอาหารสะสมเช่นผู้ใหญ่ ถ้าขาดสารอาหารก็มักมีอาการรุนแรง

ความต้องการสารอาหารของทารก
ทารกก็ต้องการสารอาหารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่มีความพิเศษที่จะต้องพิจารณาถึงสารอาหารต่อไปนี้ที่เด็กต้องการมาก คือ

1. พลังงาน โดยเฉลี่ยทารกอายุภายใน 6 เดือนหลังคลอด ต้องการพลังงานวันละ 120 แคลอรี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อายุ 7-12 เดือน ต้องการพลังงานวันละ 100 แคลอรี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ที่เด็กวัยนี้ต้องการพลังงานมากก็เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วในระยะนี้

2. โปรตีน ทารกต้องการโปรตีนมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งในวันหนึ่งทารกต้องการโปรตีนประมาณ 3-4 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในขณะที่ผู้ใหญ่ต้องการโปรตีนวันละ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อสร้างพลาสม่า เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ให้เติบโต ทำเอนไซม์ และฮอร์โมน และบำรุงประสาทและสมองซึ่งกำลังเจริญอย่างมากในวัยนี้ ฉะนั้นหากทารกคนใด ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอหรือขาดโปรตีนจะทำให้สมองเสื่อม ปัญญาทรามไปตลอดชีวิต ถึงแม้จะมีการบำรุงให้โปรตีนอย่างดีในระยะหลังก็ไม่สามารถจะช่วยให้สมองดีขึ้นได้ ฉะนั้นจึงต้องให้เด็กได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอในวัยนี้

โปรตีนสำหรับทารกควรเป็นโปรตีนประเภทสมบูรณ์ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับวัยนี้ครบทั้ง 9 ชนิดรวมทั้งกรดฮิสตีดีนด้วย เพราะเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับการเติบโต อาหารโปรตีนที่ดีเลิศของทารกคือ นม ทั้งนมแม่ (Breast Milk) และนมวัว ไข่แดง ตับไก่ เนื้อสัตว์ บดละเอียด ที่ใช้เนื้อสัตว์ที่บดละเอียดก็เพราะเด็กยังไม่มีฟัน และกระเพาะอาหารก็ยังไม่แข็งแรงพอ แล้วอาหารที่กินเข้าไปนั้นก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

3. ไขมัน เป็นสารที่นอกจากจะให้พลังงานแล้ว กรดไขมันชนิดจำเป็นและไม่อิ่มตัว ซึ่งมีอยู่ในนมคนมากกว่านมโค โดยเฉพาะกรดไลโนลีอิคมีมากกว่าถึง 5 เท่า ทำหน้าที่ป้องกันการเสียน้ำจากร่างกาย ป้องกันการอักเสบของผิวหนัง ผิวหนังแห้ง หนา และเป็นขุย เรียก Seborr- hoeic Dermatitis ดังนั้นอาหารสำหรับทารกควรจะมีกรดไลโนลีอิค 2-4% ของพลังงานจากอาหารทั้งหมด

4. คาร์โบไฮเดรท ทารกควรได้คาร์โบไฮเดรทในสภาพน้ำตาลสองชั้น โดยเฉพาะแลคโทสเพราะทารกมีเอนไซม์แลคเทสในลำไส้เล็กแล้ว แลคโทสสลายในลำไส้เล็กทำให้เกิดกรดมาก เป็นการช่วยลดการบูดเน่าของอาหาร ช่วยการซึมผ่านของแคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก โปรตีน และวิตะมิน ส่วนพวกแป้งไม่ควรให้จนกว่าทารกอายุได้ 3 เดือนแล้ว คาร์โบไฮเดรทที่ให้ทารกควรเป็น 40-50% ของพลังงานทั้งหมด

5. แร่ธาตุ ทารกต้องการแร่ธาตุไม่น้อยกว่า 16 ชนิด เพื่อสร้างเสริมอวัยวะ และใช้ในขบวนการเมตาโบลิซึมต่างๆ ของร่างกาย แร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับทารกได้แก่

5.1 เหล็ก ทารกมักขาดธาตุเหล็กเสมอ เนื่องจากในน้ำนมคนหรือนมโคมีเหล็กน้อยมาก จึงจำเป็นต้องให้ทารกได้กินอาหารอื่นที่มีธาตุเหล็กด้วย ได้แก่ ไข่แดง ตับ เนื้อสัตว์ และผักใบเขียว ฯลฯ ให้เพียงพอ ที่จริงทารกแรกเกิดมีเหล็กสะสมอยู่ในร่างกายบ้าง พอที่จะใช้ไปได้ประมาณ 5-6 เดือน แต่หลังจากนั้นหากไม่ได้รับเหล็กจากอาหารเพียงพอก็จะเกิด โรคโลหิตจางได้ง่าย

5.2 แคลเซียม การเจริญเติบโตของทารกมีทั้งเลือดเนื้อและกระดูก การที่กระดูกซึ่งเป็นโครงร่างของร่างกายจะเจริญได้เต็มที่ก็ต้องได้รับแคลเซียมพอกับความต้องการ ซึ่งทารกจะได้แคลเซียมส่วนใหญ่จากนม นอกนั้นก็เป็นปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว และถั่วต่างๆ ฯลฯ
การที่ทารกได้แคลเซียมน้อย จะทำให้ร่างกายเล็ก เป็นโรคกระดูกอ่อน

6. วิตะมิน วิตะมินทุกชนิดจำเป็นสำหรับทารก แต่ในน้ำนมมักขาดวิตะมิน ซี และ ดี จึงต้องให้เพิ่มเติม มิฉะนั้นเด็กจะขาดวิตะมินทั้ง 2 นี้

6.1 วิตะมินซี มีน้อยในน้ำนม ยิ่งในน้ำนมโคด้วยแล้วจะยิ่งน้อยกว่านมคนเสียอีกเพราะน้ำนมโคต้องผ่านกรรมวิธีทำลายเชื้อแบคทีเรียจึงทำให้วิตะมิน ซี ถูกทำลายไปด้วย ดังนั้น ทารกควรได้กินอาหารที่มีวิตะมินซี ด้วย เช่น ส้ม น้ำส้ม น้ำสับปะรด น้ำต้มผัก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ขาดวิตะมิน ซี เพราะทารกก็ต้องการวิตะมินซีเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

6.2 วิตะมินดี ช่วยแคลเซียมสร้างกระดูกและฟัน แต่ในนมคนหรือนมโคมีวิตะมิน ดี น้อยหรือเกือบไม่มีเลย ดังนั้นจึงควรให้เด็กกินน้ำมันตับปลา ซึ่งน้ำมันตับปลานอกจากจะให้วิตะมินดีแล้ว ยังให้วิตะมิน เอ ด้วย

7. นํ้า ทารกต้องการน้ำมากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 5 เท่า คือวันละ 150 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทั้งนี้เพราะทารกสูญเสียน้ำทางผิวหนังและทางไตมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ทารกยังจะสูญเสียน้ำจากการอาเจียนหรือท้องเดินบ่อยๆ หากสูญเสียในปริมาณสูงอาจทำให้ ตายได้ การที่อากาศร้อนก็ทำให้น้ำระเหยจากร่างกายได้มากขึ้น

การที่ทารกได้น้ำน้อยจะทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย คือจะทำให้ความดันภายในระบบขับถ่ายปัสสาวะสูง การขับถ่ายปัสสาวะทำได้น้อย เป็นเหตุให้มีการคั่งของของเสีย อุณหภูมิร่างกายสูง สิ่งที่จะสังเกตได้ว่าเด็กได้น้ำน้อย คือ ตัวเหลือง (ผิวหนังและตาขาวมีสีเหลือง) แล้วทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มมากน้อยตามความเหลืองของผิวหนังและตาขาว ซึ่งอาการตัวเหลืองนี้ มักพบในทารกระหว่างวันที่ 3-14 หลังคลอด แต่เด็กจะปรกติสบายดี ให้ดื่มน้ำสะอาดเพียงพอก็จะหาย เพราะสารที่ทำให้เกิดสีเหลืองถูกเจือจางและขับถ่ายออกทางปัสสาวะ

อาการตัวเหลืองเกิดจากการคั่งค้างของสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า บิลิรูบิน(Bilirubin) ซึ่งเกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง ถ้าเป็นมากคือมีบิลิรูบินสูงมาก อาจจะทำให้สมองพิการได้

ปรกติทารกได้น้ำจากนม ฉะนั้นถ้าทารกดื่มนมมากพอ ก็ย่อมได้น้ำที่ผสมอยู่ในนมพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เพิ่มอีก เพียงแต่หลังดื่มนมแล้วให้ดูดน้ำตามสักอึกสองอึกได้ก็ดี เพื่อเป็นการล้างปาก แต่ถ้าทารกดื่มนมน้อย ก็ควรให้ดื่มน้ำเพิ่มอีก ข้อสำคัญถ้าเด็กดื่มนมมากอยู่แล้ว อย่าได้พยายามคะยั้นคะยอให้เด็กดื่มน้ำอีก เมื่อเด็กไม่ยอมดื่มก็ผสมน้ำตาลกลูโคสเพื่อให้หวาน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเด็กที่ดื่มน้ำกลูโคสมากๆ จะได้น้ำตาลทำให้หิวน้อยลง แล้วดื่มนมได้น้อยตามไปด้วย

การได้น้ำมากเกินความต้องการก็ไม่ดีทำให้เกิดอันตรายได้เหมือนกัน คือทำให้ฟลูอิดต่างๆ ในร่างกายไม่สมดุลเกิดการบวม และปัสสาวะมาก และเจือจาง

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า