สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สายสัมพันธ์หลังคลอดของแม่กับลูก

ชั่วโมงแรกหลังคลอดทารกจะมีความตื่นตัวและไวต่อสัมผัสที่สุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาพิเศษสุด แพทย์คนแรกๆ ที่สังเกตและวิจัยเรื่องความสัมพันธ์แม่ลูก คือ นายแพทย์ มาร์แชล คลอส(Marshall Klaus) ได้สรุปไว้ว่า ช่วงเวลาพิเศษของมนุษย์จะเริ่มต้นจากความสัมพันธ์แม่ลูกเช่นเดียวกับสัตว์อื่น

นักวิทยาศาสตร์ได้พบก่อนหน้านี้ว่า สัตว์ต่างๆ มีช่วงเวลาพิเศษหลังคลอดลูก จากตัวอย่างที่นายแพทย์คอนราด ลอเรนซ์ ได้สังเกตลูกห่านที่เพิ่งออกจากไข่มาใหม่ๆ จะยึดเอาสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเสียงครั้งแรกว่าเป็นแม่ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ความประทับใจแรกเริ่ม เมื่อลูกห่านฟักจากไข่ศาสตราจารย์ผู้นี้ได้ทำเสียงร้องของห่านให้ลูกห่านได้ยินและเห็นตัวท่านเป็นสิ่งแรก ลูกห่านจึงเข้าใจว่าท่านเป็นแม่ และติดตามท่านไปทุกๆ แห่ง จึงสรุปได้ว่า หลังออกจากไข่ในช่วงเวลาสั้นๆ จะเกิดความประทับใจแรกเริ่มขึ้น และลูกห่านจะไม่สามารถจดจำหรือว่ายน้ำตามพ่อแม่ได้หากพ้นระยะดังกล่าวไปแล้ว

ได้มีการค้นพบของ เฮเลน เบลาเวลท์ ว่า ช่วงเวลาพิเศษของแม่แพะหลังจากให้กำเนิดลูก มันจะดม เลีย และยอมให้ลูกดูดนม มันจะจำได้ว่าลูกแพะตัวนี้เป็นลูกของมัน และไม่ยอมรับลูกแพะตัวอื่นอีก ความผูกพันแรกเกิดนี้เรียกว่า สายสัมพันธ์แม่ลูก แต่ถ้าหลังคลอดแม่กับลูกถูกแยกจากกันทันที แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ เพียง 1 ชั่วโมง แต่ช่วงเวลาพิเศษก็ได้ผ่านไปแล้ว แม่แพะก็จะไม่ยอมรับลูกของมัน

แต่สำหรับสัตว์ประเสริฐอย่างมนุษย์เรา ยังยอมรับลูกและสร้างความรักขึ้นใหม่ได้ แม้แม่ลูกจะถูกแยกจากกันในระยะแรก

ความสำคัญของความสัมพันธ์แม่ลูกในระยะแรก
ได้มีการศึกษาของนายแพทย์คลอส(Dr. Klaus) และเพื่อนร่วมงาน เพื่อดูผลของการแยกแม่ลูกในระยะแรก โดยได้เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มแม่ที่ได้เห็นและอุ้มลูกหลังจากที่คลอดไปแล้ว 6-12 ชั่วโมง กับกลุ่มแม่ที่ได้อุ้ม กอด และให้ลูกกินนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังจากคลอดเลย เมื่อลูกอายุได้ 1 เดือน 1 ปี และ 2 ปี จะพบว่ากลุ่มแม่ที่สัมผัสลูกตั้งแต่ชั่วโมงแรกจะมีความใกล้ชิดกับลูกมากกว่า จะกอดและอุ้มลูกมากกว่า เวลาพาลูกมาพบแพทย์ก็จะปลอบลูกมากกว่า ออกคำสั่งกับลูกน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง

แม้การศึกษาในเวลาต่อมาก็ได้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เรามีช่วงเวลาพิเศษ แม่ลูกจะไวต่อกายสัมผัส การมองเห็น การได้ยินเสียง การรับกลิ่นและรส ทารกจะยิ้ม หัวเราะมากกว่า และร้องไห้น้อยกว่าทารกที่ถูกแยกจากแม่ในช่วงหลังคลอด ถ้าได้สัมผัสกับแม่ตั้งแต่ระยะแรกๆ

มีความสำคัญต่อพื้นฐานอารมณ์ของลูก และพฤติกรรมของแม่มากเกี่ยวกับความสัมพันธ์แม่ลูกในระยะแรก ความสัมพันธ์ที่เป็นไปด้วยดีในช่วงนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกที่ดีและยาวนาน และเหมาะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นการให้นมแม่ได้ดีที่สุด

ครั้งแรกที่ลูกดูดนมแม่
ทารกที่คลอดตามกำหนด หากแม่ไม่ได้ใช้ยาระงับปวดในช่วงการคลอด แรกคลอดทารกก็จะไม่ง่วงซึม และมีความตื่นตัวอยู่ 1 ชั่วโมงหลังจากที่คลอด จะสบตากับแม่ หันหาเสียงแม่ ชอบให้แม่อุ้มและกอด หลังจากคลอด และทารกมีความเป็นปกติดี โรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะนำทารกมาให้แม่ทันที เพื่อให้ลูกได้ดูดนมแม่เป็นมื้อแรก

หากให้ทารกมาดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด บางคนอาจแย้งว่าห้องคลอดมักติดเครื่องปรับอากาศอาจทำให้ทารกตัวเย็นได้ แต่ความร้อนจากอ้อมแขนแม่จะถ่ายเทสู่ผิวหนังของลูกโดยตรง และเป็นที่ที่อบอุ่นที่สุด หรืออาจจะหาผ้าคลุมไหล่มาคลุม เพื่อเก็บความอบอุ่นให้กับสองแม่ลูกก็ได้

คุณแม่ไม่จำเป็นต้องลุกจากเตียงเมื่อต้องให้นมลูกมื้อแรกหลังคลอด ก่อนจะให้ลูกดูดนมแม่ พยาบาลจะนำลูกมานอนคว่ำบนอกแม่ เพื่อให้แม่ได้กอดลูกก่อนให้นม

เมื่อขยับตัวได้ถนัดขึ้นจึงค่อยนอนตะแคงหันเข้าหาลูกทั้งตัว โดยที่พยาบาลก็จะช่วยจับลูกให้นอนตะแคงด้วยเพื่อให้ปากลูกตรงกับหัวนมพอดี แต่ถ้าทารกนอนหงายทำให้ต้องแหงนหน้ามากและดูดไม่สะดวก แม่ต้องโอบลูกเข้ามาให้ใกล้เต้านมมากที่สุด มืออีกข้างก็ต้องประคองเต้านมให้นิ้วหัวแม่มืออยู่บนเต้านม และอีกสี่นิ้วอยู่ด้านล่าง ให้หัวนมแตะริมฝีปากด้านล่างของลูก เมื่อลูกอ้าปากกว้างก็กระชับเข้ามาใกล้เพื่อให้งับหัวนมและลานหัวนมเข้าไปให้ลึกที่สุดในปาก ถ้าริมฝีปากของลูกม้วนเข้าในปากก็รอให้เขาดูดนมก่อนแล้วจึงค่อยๆ ดึงออกมา

ท่าให้นมลูกสำหรับแม่ที่ผ่าคลอดทางหน้าท้อง
คุณแม่อาจเพลียและไม่ค่อยมีแรง แม้แต่การให้นมลูกชั่วโมงแรกหลังคลอด เมื่อฟื้นตัวดีแล้วก็ควรให้นมลูกด้วยการนอนตะแคงข้างเช่นกัน และเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหน้าท้องต้องรับน้ำหนักมากทำได้โดยวางหมอนพยุงบริเวณหลังและหน้าท้องไว้ แล้วอุ้มลูกให้นอนตะแคงดูด แต่ถ้านอนตะแคงไม่ถนัดก็ให้นอนหงาย ให้ลูกนอนคว่ำบนหน้าอก เพื่อจะได้ไม่ไปทับแผลผ่าตัดของแม่

ต้องระวังเชื้อเริมจะติดต่อไปสู่ลูก หากผ่าท้องคลอดเพราะเป็นเริมที่ช่องคลอด เพราะการสัมผัสก็ทำให้ติดเชื้อนี้ได้ ดังนั้น หลังจากเข้าห้องน้ำ หรือก่อนจะอุ้มลูกให้ดูดนม คุณแม่ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง ไม่ควรเกาบริเวณที่คัน และเพื่อป้องกันการติดเชื้อก็ให้ใช้ผ้าสะอาดปูรองช่วงตักจากเอวลงไปคลุมเข่าของคุณแม่ด้วย

การให้ลูกดูดนมในครั้งแรก เป็นการทำความรู้จักกันระหว่างแม่กับลูก ให้ลูกรับรู้กลิ่นของแม่ ได้รู้สัมผัสจากอ้อมกอดแม่ และให้ได้รับรู้รสชาติของน้ำนมแม่ จึงไม่จำเป็นต้องให้ดูดทั้งสองข้างก็ได้ ในตอนนี้ทารกบางรายก็ไม่ได้ดูดอย่างจริงจัง อาจต้องการแค่ชิมเล่นๆ เพราะเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับเขา หัวน้ำนมแค่ 2-3 หยดที่เขาได้ดูดในครั้งแรกก็มีคุณค่าเพียงพอแล้ว คุณแม่ไม่ควรกังวลใจในเรื่องนี้

หัวน้ำนมยอดอาหารของทารก
อาหารที่สมบูรณ์เพียบพร้อมสำหรับทารกแรกเกิด คงไม่มีอะไรมากเกินไปกว่า หัวน้ำนม ที่มีในระยะหลังคลอด 2-3 วันแรก ในหัวน้ำนมจะมีโปรตีนสูง มีเซลล์และภูมิคุ้มกันโรค หัวน้ำนมจะเหมาะกับลำไส้ของทารกแรกเกิดเพราะย่อยง่าย ยิ่งหากในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้หรือแพ้นมวัวก็ต้องยิ่งระมัดระวังเป็นพิเศษ ในระยะปีแรกก็ไม่ควรให้นมวัวเร็วเกินไป การที่เด็กได้รับหัวน้ำนมจะเป็นการดีที่สุด

มีข้อเสียหลายอย่างหากอาหารมื้อแรกของลูกเป็นน้ำกลูโคสหรือนมผสม ทารกจะไม่ได้รับหัวน้ำนม เพราะอิ่มจนไม่อยากดูดนมแม่ และในระยะแรกหากไม่มีการดูดกระตุ้น ก็จะไม่มีการผลิตน้ำนม จึงทำให้น้ำนมออกน้อยได้ในภายหลัง

ท่าให้นมลูก
1. ท่านั่งให้นมลูกที่ถูกต้อง
ตะแคงลำตัวลูกแนบกับตัวแม่ พยุงศีรษะลูกให้อยู่ในวงแขน ให้รองรับศีรษะลูกไว้ เท้าวางสูงจากพื้นเล็กน้อย ใช้หมอนหนุนด้านหลัง และหนุนใต้ตัวของลูกด้วย หรือใช้แขนที่พยุงศีรษะลูกอยู่ขึ้นมาทำให้ปากทารกอยู่ในระดับอกแม่โดยที่แม่ไม่ต้องโน้มตัวลงมาหาลูกมาก ยกเต้านมแตะริมฝีปากล่างให้ลูกอ้าปากด้วยมืออีกข้าง ให้หัวนมและลานหัวนมเข้าไปลึกในปากทารกอย่างพอเหมาะ

2. ท่านั่งให้นมลูกที่ไม่ถูกต้อง
ทารกจะต้องแหงนศีรษะเอี้ยวมาดูดนมถ้าลำตัวทารกราบไปกับตัวแม่ การกลืนนมก็ลำบาก ลูกอาจหันหัวไปมาไม่สะดวกถ้าแม่เอามือพยุงที่ศีรษะลูก ลูกจะงับหัวนมได้ไม่ลึกพอเพราะเต้านมห่างจากปาก และอาจทำให้หัวนมแม่แตกและเจ็บได้

3. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล
แม่ให้ลูกดูดนมข้างขวาโดยอุ้มลูกไว้ใต้แขนขวา พยุงคอและไหล่ลูกด้วยมือขวา ให้หันศีรษะไปมาได้อย่างสะดวก ขาลูกจะงอชิดพนักหลังของเก้าอี้ ทำให้ลูกสงบได้เพราะเหมือนท่าทารกในครรภ์ ลูกอาจกลืนนมได้ไม่สะดวกถ้านอนหงาย ลูกจะกลืนได้สะดวกขึ้นถ้าใช้หมอนหรือเบาะหนุนหลังและศีรษะลูกให้ยกตัวขึ้น

การให้นมในมื้อต่อไป
ในมื้อต่อไปที่จะให้นมลูก ถ้าแม่แข็งแรงดีแล้ว อาจเปลี่ยนมาเป็นท่านั่งหรือท่าอุ้มลูกฟุตบอลก็ได้ ท่านี้จะทำให้ฮอร์โมนออกซีโตซินหลั่งเกิดการหลั่งของน้ำนม และสามารถกระตุ้นพฤติกรรมของความเป็นแม่ได้มากที่สุดด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า