สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สายตาสั้น(Myopia)

เมื่อแสงจากวัตถุเดินทางผ่านกระจกตาและแก้วตาแล้วแสงจะหักเห รวมเป็นจุดรวมแสงบนจอตาซึ่งเป็นเซลล์ประสาท ส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อแปลผลออกมาเป็นภาพวัตถุต่างๆ ที่เรามองเห็นสายตาสั้น

เป็นหน้าที่ของกระจกตาและแก้วตาที่คอยปรับการหักเหของแสงให้เกิดเป็นจุดรวมแสงคล้ายการปรับโฟกัสของเลนส์ถ่ายรูป และจะทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนถ้าจุดรวมแสงตกลงบนจอตาพอดี ในบางคนมองเห็นภาพมัวๆ ไม่ชัดเจนคล้ายภาพถ่ายที่โฟกัสไม่ชัดเนื่องจากจุดรวมแสงอาจตกอยู่หน้าหรือหลังจอตา เรียกว่า สายตาผิดปกติ
พบภาวะนี้ได้บ่อยในเด็กวัยเรียน อาจเป็นกับตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ หรือสายตาทั้งสองข้างอาจสั้นไม่เท่ากันก็ได้ และมักพบเป็นในหมู่ญาติพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน

สายตาสั้น มีอยู่ 2 ชนิด คือ สายตาสั้นชนิดธรรมดา และสายตาสั้นชนิดร้าย

สาเหตุ
สายตาสั้นชนิดธรรมดา เกิดจากความโค้งของกระจกตามีมากกว่าปกติ กำลังการหักเหแสงจึงมากขึ้น มีอาการมองไกลๆ ไม่ชัด เนื่องจากจุดรวมแสงของภาพวัตถุที่อยู่ไกลตกอยู่ข้างหน้าจอตา

เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิดโดยธรรมชาติของบุคคลนั้นในความผิดปกติของกระจกตา ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และเชื้อชาติ เช่นเดียวกับความสูงเตี้ย ลักษณะรูปร่างหน้าตาของแต่ละคน

สายตาสั้นชนิดร้าย เกิดจากการมีกระบอกตายาวกว่าปกติจุดรวมแสงของภาพวัตถุที่อยู่ไกลๆ จึงตกอยู่ข้างหน้าจอตา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้

อาการ
สายตาสั้นชนิดธรรมดา โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการแสดงในระยะที่เริ่มเข้าโรงเรียนด้วยอาการมองไกลๆ ไม่ชัด แต่สามารถมองใกล้หรืออ่านหนังสือได้ชัดเจน และจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 25 ปี สายตาจะไม่สั้นมากขึ้น ชนิดนี้จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด และจะสั้นไม่มาก

สายตาสั้นชนิดร้าย มักเป็นมาแต่กำเนิดด้วยอาการสายตาสั้นขนาดมากๆ เมื่อเด็กเริ่มหัดเดินมักจะสังเกตเห็นว่าเด็กมักจะเดินชนสิ่งกีดขวาง หกล้มบ่อย ต้องเข้าไปใกล้ๆ จนตาแทบชิดกับวัตถุที่มองเวลาจะมองดูอะไร ต้องสวมแว่นหนาๆ และเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่ทำให้ตาบอดได้ เช่น มีเลือดออกที่จอตา จอตาฉีดขาดหรือหลุดลอก เป็นต้น และอาจมีอาการตาเขร่วมด้วยในเด็กเล็กที่มีสายตาสั้นมากๆ

การรักษา
ควรแนะนำให้ไปตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัย อาจต้องแก้ไขด้วยการใส่แว่นชนิดเลนส์เว้า หรือเลนส์สัมผัสถ้าพบว่าสายตาสั้นจริง

ควรตรวจวัดสายตาและปรับเปลี่ยนแว่นเป็นระยะๆ ในผู้ที่เป็นสายตาสั้นชนิดร้าย

ข้อแนะนำ
1. ควรมีแผ่นวัดสายตาตามโรงเรียนต่างๆ ไว้ตรวจวัดสายตานักเรียนทุกคน จะได้ส่งเด็กไปตรวจที่โรงพยาบาลและตัดแว่นใส่ถ้าพบว่ามีความผิดปกติของสายตา

2. ธรรมชาติของคนที่เกิดมามีโครงสร้างของตาที่ผิดปกติจนทำให้เกิดสายตาสั้น เช่นเดียวกับคนที่เกิดมาสูง หรือเตี้ย ไม่ได้เกิดจากการใช้สายตามากเกินไปดังที่เข้าใจกันทั่วไป เมื่อเป็นแล้วก็ต้องใส่แว่นเพื่อแก้ไขเพราะไม่มีวิธีป้องกันและยารักษาที่ได้ผลแน่นอน

3. ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสายตาไม่ว่าจะใส่แว่นประจำหรือไม่ในผู้ที่สายตาสั้น จึงไม่เป็นความจริงในความเชื่อที่ว่าใส่แว่นประจำหรือเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ แล้วจะทำให้สายตาสั้นมากขึ้น แต่เพราะธรรมชาติของคนคนนั้นที่ทำให้สายตาสั้นมากขึ้น และสายตามักจะอยู่ตัวไม่สั้นขึ้นอีกหรือไม่ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยเมื่ออายุประมาณ 25 ปี

4. วิธีการรักษาโรคนี้ในปัจจุบันมักจะทำการผ่าตัดกรีดกระจกตาเป็นแฉกๆ บริเวณรอบนอกของกระจกตาให้ลดความโค้งลง เพื่อให้จุดรวมแสงตกบนจอตาพอดี หรือทำลายพื้นผิวตรงกลางกระจกตาให้แบนราบลงด้วยการใช้แสงเลเซอร์

นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดร่วมกับการใช้เลเซอร์ ที่เรียกว่า เลซิก(laser assisted in situ keratomileusis) เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้จุดรวมแสงตกบนจอตาพอดี เพื่อเป็นการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ อีกวิธีหนึ่งในปัจจุบัน แต่ต้องกระทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญโดยเฉพาะเท่านั้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า