สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สัตว์กัด แมลงต่อย(Bites and stings)

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สัตว์กัด
อาจทำให้มีเลือดออกและติดเชื้ออักเสบได้จากบาดแผลที่เกิดจากสัตว์กัด หรือบางครั้งอาจกลายเป็นบาดทะยักแทรกซ้อนได้จากการติดเชื้อบาดทะยัก และอาจทำให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ถ้าเกิดจากสุนัข แมว สัตว์แทะ หรือสัตว์ป่ากัด หรืออาจมีอันตรายร้ายแรงจากพิษของมันได้ถ้าเกิดจากสัตว์พิษกัด เช่น งูพิษ เป็นต้นแมงกะพรุน

การรักษา
1. ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันทีเมื่อถูกสัตว์กัด และควรใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาทีในการฟอกล้างแผล แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซโดยไม่ต้องเย็บปิดแผล เพราะอาจติดเชื้อเป็นหนองได้ง่าย ควรชะล้างแผลด้วยน้ำเกลือประมาณ 3-4 วัน แล้วค่อยปิดแผลเมื่อล้างให้สะอาดดีแล้ว

2. ควรทำการห้ามเลือดแล้วส่งโรงพยาบาลด่วนถ้าแผลเหวอะหวะและมีเลือดไหลมาก

3. ถ้างูกัดก็ให้การปฐมพยาบาลและรักษาแบบงูกัด

4. ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับสุนัขกัดถ้าเกิดจากสุนัข แมว สัตว์แทะ สัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ กัด

5. ผู้ป่วยที่ถูกสัตว์กัดควรได้รับยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคอะม็อกซีคลาฟ ไซโพรฟล็อกซาซิน หรืออีริโทรไมซิน และฉีดยาป้องกันบาดทะยักทุกราย

ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า มดตะนอย มดคันไฟ
ส่วนปลายของลำตัวแมลงพวกนี้จะมีเหล็กในอยู่ และจะปล่อยพิษออกมาทำให้เกิดอาการต่างๆ เมื่อต่อยเข้าผิวหนังของคนเรา

อาการ
มักเกิดอาการเฉพาะที่เพียงเล็กน้อย คือ จะมีอาการปวด บวม แดง คัน แสบร้อน ตรงบริเวณที่ถูกต่อย ซึ่งอาจมีอาการอยู่นานหลายชั่วโมง ส่วนในรายที่ถูกมดกัดรอยบวมแดงจะยุบหายภายใน 45 นาที แล้วมีตุ่มพองเกิดขึ้น และแตกใน 2-3 วันต่อมา อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนกลายเป็นตุ่มหนองได้

อาการบวมมักจะขยายใหญ่ขึ้นจนอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 ซม.ขึ้นไปในรายที่เป็นมาก หลังจากถูกต่อยอาการมักเกิดขึ้นภายใน 12-36 ชั่วโมง และเป็นอยู่นานหลายวัน จนบางครั้งทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการติดเชื้อ

ถ้าถูกต่อยที่ลิ้นหรือในช่องปาก อาจทำให้เสียชีวิตได้เพราะลิ้นและเยื่อเมือกในช่องปากบวมจนอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งมักพบในเด็ก

ถ้าต่อยถูกบริเวณใกล้เส้นประสาทก็อาจทำให้เส้นประสาทถูกกดทับเกิดอาการชาได้ หรืออาจทำให้เกิดแผลกระจกตาได้ถ้าถูกต่อยที่กระจกตา

อาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรืออาการเป็นพิษต่ออวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้มีอาการริมฝีปากบวม หนังตาบวมคัน ผิวหนังออกร้อนแดง มีลมพิษขึ้นทั่วตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เกิดขึ้นได้ในรายที่พิษเข้ากระแสเลือด

ถ้าเกิดการแพ้รุนแรง ผู้ป่วยอาจหายใจลำบากหรือหอบ เนื่องจากกล่องเสียงบวมหรือหดเกร็ง หรือหลอดลมตีบตัวคล้ายหืด หรือเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ซึ่งจะทำให้เป็นลม ชีพจรเบาและเร็ว ความดันเลือดต่ำ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 15-30 นาที ถึง 4 ชั่วโมง หลังจากถูกต่อย 2-3 นาทีอาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงได้ หรืออาจเป็น 24 ชั่วโมงหลังจากถูกต่อยก็ได้ในบางราย

ผู้ที่แพ้ง่าย เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม เคยถูกแมลงตระกูลเดียวกันต่อยมาก่อน หรือเคยแพ้แมลงพวกนี้มาก่อน อาจเกิดอาการแพ้ขึ้นแม้จะถูกต่อยเพียงครั้งเดียว อาจเกิดการแพ้รุนแรงจนเกิดภาวะช็อกได้

ในบางรายหลังจากโดนต่อยประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถึงจะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้น โดยที่ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ผื่นคัน ข้อบวม กดเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป หรืออาจเกิดไตอักเสบ โรคไตเนโปรติก หลอดเลือดอักเสบ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ประสาทตาอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร เป็นต้น

ในรายที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก ถูกต่อยมากกว่า 30-40 แผล มักก่อให้เกิดภาวะพิษต่อร่างกายโดยตรงจากพิษที่ซึมเข้ากระแสเลือดเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดภาวะช็อกแบบเดียวกับภาวะช็อกจากการแพ้ เรียกว่า ปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ มักเกิดขึ้นจากการถูกผึ้งหรือต่อต่อยเป็นครั้งแรกในชีวิต ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น และอาจเกิดภาวะพิษในลักษณะอื่นขึ้นได้ภายใน 48 ชั่วโมง เช่น เม็ดเลือดแดงแตก กล้ามเนื้อลายถูกทำลาย ไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น ผู้ที่ถูกต่อต่อยเป็นจำนวนมากจึงมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ขึ้น

การรักษา
1. ผู้ป่วยที่มีอาการเฉพาะที่ไม่รุนแรง
-ให้รีบนำเหล็กในออกทันทีถ้าพบว่ามีเหล็กในฝังอยู่ โดยใช้สันมีดหรือขอบบัตรขูดออก หรือใช้เทปเหนียวอย่างใสปิดทาบบริเวณที่ถูกต่อยแล้วดึงออก แล้วใช้น้ำกับสบู่ล้างทำความสะอาด

-เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวมให้ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบบริเวณที่ถูกต่อยนานครั้งละ 20 นาที และทำซ้ำทุกชั่วโมงจนกว่าอาการจะทุเลา

-ให้กินพาราเซตามอลถ้ามีอาการปวด

-ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน ครั้งละ ½ -1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง และทาด้วยครีมสตีรอยด์ถ้ามีอาการคัน

-ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักในรายที่ไม่เคยฉีดหรือฉีดไม่ครบ หรือเคยฉีดเข็มสุดท้ายมานานกว่า 5 ปี แล้ว

-ถ้าแผลเป็นหนองให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน

-ควรให้ยาแก้แพ้และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในผู้ป่วยที่เคยถูกแมลงพวกนี้กัดต่อยมาก่อน โดยเฉพาะถ้าเคยมีอาการแพ้ หรือควรส่งโรงพยาบาลด่วนในรายที่เคยมีประวัติการแพ้รุนแรงมาก่อน

-ควรสังเกตดูอาการต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง หรือแผลที่ถูกต่อยทุเลาเป็นปกติแล้ว และควรส่งโรงพยาบาลถ้าพบมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ผื่นคัน ข้ออักเสบ ซีด จุดแดงจ้ำเขียว บวม แขนขาชาหรืออ่อนแรง ตามัว เป็นต้น เพราะอาจเป็นปฏิกิริยาจากภูมิแพ้ที่อาจเกิดขึ้นช้าก็ได้

-ควรสังเกตอาการบวมของเยื่อบุช่องปากถ้าถูกแมลงต่อยในช่องปาก นอกจากให้ยาแก้แพ้แล้ว และควรส่งโรงพยาบาลด่วนถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการปากคอบวม พูดลำบาก หายใจลำบาก หรือพบเป็นในเด็ก

-ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อป้องกันและรักษาแผลกระจกตาถ้าถูกแมลงต่อยที่ตา

2. ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้หรือเกิดพิษรุนแรง ควรส่งโรงพยาบาลด่วน เช่น ถ้าพบว่ามีลมพิษขึ้นทั่วตัว บวมคันนอกรอยแผลที่ถูกต่อย หายใจลำบากหรือมีเสียงวี้ด มีภาวะช็อก และควรฉีดอะดรีนาลิน 0.3-0.5 มล. (เด็กให้ขนาด 0.01 มล./กก.) เข้าใต้ผิวหนัง และฉีดไดเฟนไฮดรามีน 25-50 มก. (เด็กให้ขนาด 1 มก./กก.) เข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ ก่อนส่งโรงพยาบาล หรือให้สูดด้วยยากระตุ้นบีตาถ้ามีเสียงวี้ด หรือให้น้ำเกลือนอร์มัลทางหลอดเลือดดำถ้ามีภาวะช็อก และควรเอาเหล็กในของสัตว์ที่ต่อยออกให้มากที่สุด

แพทย์มักให้การรักษาตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น ฉีดยาแก้แพ้และอะดรีนาลินในรายที่เป็นลมพิษหรือบวม คันทั้งตัว แต่ถ้ายังไม่ได้ผลอาจฉีดรานิทิดีน 50 มก.เข้าทางหลอดเลือดดำ

ในรายที่หายใจมีเสียงวี้ด อาจฉีดเมทิลเพร็ดนิโซโลน 40-60 มก.(เด็กใช้ขนาด 1 มก./กก.) เข้าหลอดเลือดดำ หรือให้กินเพร็ดนิโซโลน 60 มก. เด็กให้ขนาด 0.5-1 มก./กก. นอกเหนือจากการให้สูดด้วยยากระตุ้นบีตา 2 แล้ว

ให้การรักษาแบบภาวะช็อกจากการแพ้ทั้งในรายที่มีภาวะช็อกจากภาวะแพ้หรือภาวะพิษ เช่น ฉีดอะดรีนาลิน ยาแก้แพ้ รานิทิดีน และสตีรอยด์ ให้น้ำเกลือนอร์มัล หรือริงเกอร์แล็กเทต รวมทั้งให้โดพามีน

ควรสังเกตอาการอย่างน้อย 24 ชั่วโมงในรายที่มีภาวะช็อกจากการแพ้ เพราะอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีกหลังจากหยุดยาแม้จะรักษาจนดีขึ้นแล้ว หรืออาจต้องใส่ท่อหายใจหรือทำการเจาะคอช่วยหายใจในรายที่มีอาการหายใจลำบาก

3. ผู้ป่วยที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก ก่อนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลควรให้การดูแลแบบมีอาการเฉพาะที่ และให้ฉีดอะดรีนาลิน ไดเฟนไฮดรามีนและให้น้ำเกลือนอร์มัลถ้ามีภาวะช็อกเกิดขึ้น

แพทย์มักจะเฝ้าสังเกตอาการจากผู้ป่วยอยู่อย่างน้อย 48 ชั่วโมงในรายที่ยังไม่มีอาการแสดงเกิดขึ้น และทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดดูค่าอิเล็กโทรไลต์และการทำงานของไต รักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น รักษาภาวะช็อก หรือล้างไตในผู้ที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ควรรีบเขี่ยออกทันทีเมื่อถูกแมลงที่มีเหล็กในต่อย เพื่อลดปริมาณพิษที่จะเข้าสู่ร่างกาย และป้องกันมิให้แพ้รุนแรง ซึ่งปกติเมื่อถูกผึ้งต่อยพิษจะถูกปล่อยออกมาหมดภายใน 2-3 นาที

2. ส่วนใหญ่มักถูกแมลงพวกนี้ต่อยเพียงตัวเดียวหรือไม่กี่ตัว มีอาการแบบเฉพาะที่ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง พบเป็นส่วนน้อยที่เกิดพิษหรือแพ้รุนแรง โดยเฉพาะในผู้ที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก หรือเคยมีประวัติถูกแมลงตระกูลเดียวกันต่อยมาก่อน หรือเคยแพ้แมลงพวกนี้มาก่อน

3. ควรป้องกันอย่าให้ถูกต่อยซ้ำในผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ผึ้งหรือต่อมาก่อน หรือควรพกยาแก้แพ้และยาฉีดอะดรีนาลินไว้ปฐมพยาบาลเมื่อถูกต่อยหากต้องเข้าไปอยู่ในที่เสี่ยงต่อการถูกต่อย

4. ควรมีชุดปฐมพยาบาล เช่น ยาฉีดอะดรีนาลิน พร้อมอุปกรณ์การฉีดยา ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน ครีมสตีรอยด์ เป็นต้น ไว้ปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงต่อยสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแมลงต่อย เช่น หนักงานป่าไม้ นักเดินป่า ลูกเสือเมื่อต้องออกค่าย เป็นต้น

5. อาจลดการแพ้ด้วยการขจัดภูมิไวในผู้ที่แพ้แมลงบ่อยๆ โดยการฉีดน้ำสกัดของแมลงพวกนี้ทีละน้อยบ่อยๆ ซึ่งควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการทางโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะ

การป้องกัน
1. ควรกำจัดขยะและเศษอาหารบริเวณบ้านเพื่อไม่ให้แมลงพวกนี้มาตอม

2. ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาดลายดอกไม้หรือใส่น้ำหอมเมื่อต้องเดินทางไปในที่ที่มีแมลงพวกนี้ชุกชุม เพราะอาจล่อให้แมลงออกมาต่อยได้

3. การกำจัดรังต่อรังผึ้งควรใช้ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะไม่ควรแหย่ทำลายรังผึ้งรังต่อเอง

4. ควรวิ่งหนีให้เร็วที่สุดและให้ห่างจากรังเกิน 7 เมตรเมื่อถูกแมลงโดยเฉพาะต่อต่อย เพราะมักจะไม่ตามไปอีก ควรป้องกันการถูกต่อยซ้ำด้วยการใช้ผ้าคลุมศีรษะป้องกันไม่ให้ต่อติดอยู่ในผม

เห็บ
เห็บบางชนิดมีพิษทำลายระบบประสาทให้กลายเป็นอัมพาตได้ นอกจากจะเป็นพาหะนำโรคไข้รากสาดใหญ่ชนิด epidemic typhus แล้วก็ตาม

อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเฉพาะที่ เป็นตุ่มคัน และภายใน 2-3 วันจะหายได้เอง แต่อาจเกาจนเป็นหนองได้ และตุ่มคันนี้อาจโตขึ้นได้ถ้านำเอาตัวที่ยังมีหัวของมันฝังอยู่ในผิวหนังออกมาไม่หมด บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการอัมพาตคล้ายโปลิโอ และจะค่อยๆ หายเองได้ถ้านำหัวของมันออกไป แต่ก็อาจทำให้หยุดหายใจตายได้ถ้าปล่อยไว้จนกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต

การรักษา
1. ให้ดึงเห็บออกอย่าให้มีส่วนของหัวค้างอยู่ในผิวหนัง เพื่อช่วยให้ตัวเห็บหลุดออกง่ายอาจใช้น้ำมันหรือยาหม่องทา หรือใช้บุหรี่ติดไฟรนใกล้ตัวเห็บ

2. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน ถ้าเกาจนเป็นหนอง

3. ควรสำรวจว่ามีหัวของเห็บติดอยู่ส่วนไหนแล้วเอาออกหรือผ่าออกเสียถ้ามีอาการอัมพาตเกิดขึ้น และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

แมงมุม
เมื่อถูกแมงมุมกัดมักจะเป็นเพียงแผลบวมแดง ไม่ปวด อาจใช้ยาหม่องหรือครีมสตีรอยด์ทาเพื่อรักษา ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่มีพิษเกิดขึ้น

แต่แมงมุมที่อาจมีพิษต่อประสาท ทำให้อ่อนแรง เวียนศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็งและปวด อาจหายใจลำบาก และช็อกถึงเสียชีวิตได้ คือ แมงมุมดำ ที่มักพบในแถบลาตินอเมริกา ต้องรักษาด้วยการฉีดเซรุ่มแก้พิษ และควรให้การปฐมพยาบาลแบบเดียวกับถูกงูกัดในรายที่สงสัยว่าถูกแมงมุมมีพิษต่อย

แมงป่อง
ที่หางของแมงป่องจะมีเหล็กใน หากถูกต่อยจะทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงจะโต อาจปวดอยู่นานเป็นชั่วโมงๆ ควรให้การรักษาแบบเดียวกับถูกผึ้งต่อย คือ ให้รีบนำเหล็กในออก ประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง บรรเทาปวดด้วยพาราเซตามอล หรือฉีดยาชาบริเวณที่ถูกต่อยถ้าปวดมาก

ต้องฉีดเซรุ่มแก้พิษหากถูกแมงป่องที่มีพิษร้ายแรงต่อย เพราะจะทำให้มีพิษต่อประสาท ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก ชัก อาเจียน น้ำลายฟูมปาก หยุดหายใจ และตายได้ และควรให้การปฐมพยาบาลแบบเดียวกับถูกงูกัดถ้าสงสัยถูกแมงป่องมีพิษต่อย

ตะขาบ
บริเวณที่ถูกตะขาบกัดอาจมีอาการบวมแดงและปวดเล็กน้อย แต่ตะขาบมักไม่มีพิษร้ายแรง แต่บางรายก็อาจมีอาการปวดรุนแรงได้ ที่ทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มักพบได้น้อยราย และยังไม่รายงานว่ามีคนถูกตะขาบกัดตาย

การรักษา
1. ทาบริเวณที่ถูกกัดด้วยแอมโมเนีย หรือครีมสตีรอยด์
2. ให้กินยาแก้ปวดและใช้น้ำแข็งประคบถ้ามีอาการปวด
3. ให้ใช้ยาฉีดตรงบริเวณที่ปวดถ้ามีอาการปวดมาก
4. ให้ยาแก้ปวดลดไข้และให้นอนพัก ถ้ามีไข้และปวดศีรษะ อาการมักจะหายไปได้ภายใน 12 ชั่วโมง

แมงกะพรุน
พิษของแมงกะพรุนจะถูกปล่อยออกมาจากหนวดพิษหลายอันซึ่งมีเข็มพิษอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อหนวดพิษสัมผัสถูกผิวหนังแล้วปล่อยพิษออกมาจะทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังจะมีผื่นแดงหรือแดงเข้ม หรือเหมือนรอยไหม้ในบางครั้ง

บางรายอาจมีผิวหนังบวมนูนขึ้นเป็นทางยาวและเกิดเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มพองและแตกเป็นแผลเรื้อรังหายยากถ้าแพ้พิษมาก และอาจกำเริบเป็นแผลใหม่ได้อีกแม้จะตกสะเก็ดแล้ว และมักจะกลายเป็นแผลปูดหรือคีลอยด์แลดูน่าเกลียดเมื่อหายแล้ว

อาจทำให้ปวดตา ตาแดง หนังตาบวม และอาจทำให้สายตาพิการได้ถ้าสัมผัสถูกตา

โดยทั่วไปแมงกะพรุนไฟจะมีพิษร้ายแรงกว่าแมงกะพรุนชนิดธรรมดา

สำหรับแมงกะพรุนไฟ อาจทำให้เกิดอาการอยู่นาน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หลังจากสัมผัสถูก นอกจากจะทำให้เป็นแผลเรื้อรังแล้ว อาจทำให้มีอาการชาตามือเท้า กล้ามเนื้อหดเกร็ง ชัก จุกเสียด อาเจียน ท้องเดิน ไอ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและมีไข้ อาจกินเวลานาน 24-48 ชั่วโมงอาการจึงจะทุเลาลง หรืออาจเกิดอาการหายใจหอบ ช็อก และเสียชีวิตได้ภายใน 10-15 นาทีในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ภาวะแพ้พิษรุนแรงมักพบได้น้อย มักเกิดจากแมงกะพรุนที่มีชื่อว่า แมงกะพรุนกล่อง ที่พบในน่านน้ำของประเทศออสเตรเลีย แต่แมงกะพรุนที่พบในบ้านเรามักจะทำให้เกิดอาการเพียงปวดแสบปวดร้อนหรือเป็นแผลเรื้อรังเฉพาะที่บริเวณที่สัมผัสถูกเท่านั้น

การรักษา
1. ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำเกลือนอร์มัล ไม่ควรใช้น้ำจืดล้าง

2. ให้เขี่ยหนวดพิษที่ค้างอยู่บนแผลออกให้หมด เช่น การใช้ปากคีบหยิบออก หรือโรยแป้งแล้วใช้สันมีดเขี่ยออก และประคบบริเวณแผลด้วยน้ำแข็ง

3. ให้ยาแก้ปวดถ้ามีอาการปวด หรือให้ยาชาชนิดเจลทา หรือชนิดสเปรย์พ่นถ้าปวดมาก หรืออาจต้องฉีดมอร์ฟีนระงับปวดถ้าใช้ยาแล้วยังไม่ได้ผล

4. ให้กินยาแก้แพ้และทาด้วยครีมสตีรอยด์ถ้าเป็นผื่นแดงคัน

5. ให้กินสตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน วันละ 40-60 มก. นาน 2-3 วัน แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงที่ละน้อย จนหยุดยาได้ภายใน 7-10 วัน ถ้ามีอาการแพ้พิษมากจนเกิดเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มพอง จะทำให้แผลหายเร็วและไม่กำเริบเรื้อรัง ควรกินยานี้ภายใน 2-3 วันแรกที่ถูกแมงกะพรุน เพราะอาจไม่ได้ผลถ้าเลยช่วงนี้ไปแล้ว

6. ให้ฉีดแคลเซียมกลูโคเนตขนาด 10% จำนวน 10 มล.เข้าหลอดเลือดดำช้าๆ หรือฉีดไดอะซีแพม 10 มก. เข้าหลอดเลือดดำ ถ้ามีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือเป็นตะคริว

7. ให้ฉีดอะดรีนาลิน และฉีดเดกซาเมทาโซน 5-10 มก. เข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำถ้ามีอาการหอบหรือช็อก แต่ควรส่งโรงพยาบาลด่วนถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือให้น้ำเกลือไประหว่างทางถ้ามีภาวะช็อก

ข้อแนะนำ
1. ควรเตรียมน้ำเกลือนอร์มัล น้ำส้มสายชู และครีมสตีรอยด์ไว้ที่ชายหาดให้พร้อมก่อนลงเล่นน้ำในทะเล เพื่อจะได้ให้การปฐมพยาบาลได้ทันทีเมื่อถูกแมงกะพรุนไฟ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน และเพื่อลดการอักเสบของผิวหนังและป้องกันมิให้กลายเป็นแผลเรื้อรังอาจต้องกินสตีรอยด์ด้วย

2. ควรระมัดระวังอันตรายจากแมงกะพรุนเวลาลงเล่นน้ำในทะเล โดยเฉพาะในขณะฝนตกลมแรงอาจพัดพาแมงกะพรุนมาอยู่ใกล้ๆ ได้

3. ไม่ควรใช้มือเปล่าจับแมงกะพรุนที่ถูกน้ำพัดขึ้นมาบนชายหาดเพราะอาจทำให้แพ้พิษขึ้นได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า