สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สัญชาตญาณการดูดนมแม่ของทารก

มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว บ้างก็เชื่อว่าทารกเหมือนผ้าขาวที่เกิดมาเพื่อรอการขีดเขียนแต่งแต้มโดยสภาพแวดล้อม บ้างก็เชื่อว่า ความกลัวตกจากที่สูง เป็นสัญชาตญาณเดียวที่ติดตัวมนุษย์มาสัญชาตญาณการดูดนมแม่ของทารก

เมื่อทารกแรกเกิด เมื่อถูกจับตัวโยนทำให้เกิดความรู้สึกว่าตกจากที่สูง ก็มักจะอ้าแขนและโอบเข้าหาตัว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการทำงานของกล้ามเนื้อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก ผ่านเส้นใยประสาทในไขสันหลังโดยไม่ได้ผ่านการสั่งงานของสมอง ที่เรียกว่า โมโร รีเฟล็กส์ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการที่ทารกกลัวตกจากที่สูงแต่อย่างใด

ปฏิกิริยาตอบสนองหลายอย่างที่ติดมาพร้อมกับทารกตั้งแต่กำเนิด เพื่อการมีชีวิตรอด และมีการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวด้วย การผสมผสานกันอย่างกลมกลืนของสัญชาตญาณและการเรียนรู้จะก่อให้เกิดพฤติกรรมโดยรวมของทารกขึ้น

สัญชาตญาณที่มีมาแต่กำเนิด คือ พฤติกรรมการดูด สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมไม่อาจมีชีวิตรอดอยู่ได้ถ้าปราศจากสัญชาตญาณนี้ เช่น สัญชาตญาณในตัวเองในลูกม้าแรกเกิด ที่ต้องลุกขึ้นยืนให้เร็วที่สุด สัญชาตญาณกระตุ้นให้ลูกม้าเข้าหาวัตถุที่ใหญ่และใกล้ที่สุด ซึ่งก็คือแม่ของมัน พร้อมกับส่ายจมูกไปมาข้างๆ ตัวแม่ แม่ของมันจะขยับให้จมูกของลูกชนกับเต้านม และทำให้ลูกม้าดูดนมแม่ได้ทันที และลูกม้าก็ได้เรียนรู้แล้วว่า ถ้าไปที่เต้านมแม่ มันก็จะได้กินอาหารจนอิ่มท้อง แต่พฤติกรรมเพื่อความอยู่รอดในตอนแรกนี้ ก็เป็นไปตามสัญชาตญาณที่ถูกกำหนดไว้ในหน่วยพันธุกรรมอยู่แล้ว

ลูกลิงชิมแปนซีเมื่อแรกเกิดก็จะใช้มือคว้าสิ่งที่อยู่ใกล้มือที่สุด เพื่อช่วยในการหาอาหาร มันจะคว้าไปที่บริเวณท้องของแม่ แล้วไปจนถึงเต้านม โดยที่แม่ก็จะคอยช่วยอยู่ สัญชาตญาณการคว้าก็มีเช่นเดียวกันในทารก เมื่อหิวทารกก็จะเอามือคว้า เมื่อไปเจอกับเสื้อแม่ก็จะกำไว้แน่นเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยในอกแม่

สัญชาตญาณของทารกในการดูดนมแม่
จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างเมื่อแม่อุ้มลูกขึ้นมาให้ดูดนม
เมื่อแม่อุ้มลูกให้ศีรษะอยู่ในวงแขน แล้วกระชับเข้ามาใกล้อก เต้านมของแม่ก็จะอยู่ที่ระดับแก้มของลูกพอดี เมื่อแก้มของทารกแตะกับหัวนมแม่ ก็จะส่วยหัวไปมาจนพบหัวนม ทารกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งเป็นสัญชาตญาณให้หันหัวไปทางที่มีสิ่งมากระทบข้างแก้มนั้น และจะอ้าปากกว้างพร้อมที่จะงับหัวนมและดูดนมต่อไปเมื่อหัวนมมาแตะที่ส่วนกลางของริมฝีปากบน

การบีบแก้มทั้งสองข้างเพื่อพยายามทำให้ลูกอ้าปาก การยัดขวดนมเข้าปากเด็กอาจทำเช่นนี้ได้ แต่กับนมแม่นั้นใช้ไม่ได้ เพราะทารกจะตื่นตระหนกและไวต่อสัมผัสมาก การส่ายหัวไปมาก็เพื่อพยายามตอบสนองต่อสัมผัสที่แก้มทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน แม่บางคนไม่เข้าใจสัญชาตญาณของลูกว่า การให้นมแม่นั้น ทารกต้องหันไปหาเต้านมเอง จึงคิดเอาเองว่าลูกไม่ยอมกินนมแม่

การตอบสนองต่อสัมผัสจะแตกต่างกันในทารกแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวและความหิวด้วย ทารกที่หิวจะตอบสนองต่อสัมผัสที่แก้มแม้จะแผ่วเบา และหากก่อนคลอดแม่ได้รับยาระงับปวดเข้าไป หลายชั่วโมงหลังคลอดอาจทำให้ลูกง่วงซึมเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพราะผลของยาได้ การกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองก็ไม่อาจทำได้ ต้องรอจนกว่าร่างกายจะขับยาออกไปหมดเสียก่อน

ทารกแรกเกิดร่างกายของเขาเหมาะกับการดูดนมแม่
ทารกแรกเกิดมีอวัยวะต่างๆ ที่เหมาะสมและพร้อมที่จะดูดนมแม่ จากการที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ให้ ไขมันที่พอกพูนพวงแก้มสองข้างเพื่อใช้ในการดูดนม เวลาเด็กดูดนมแม่ ถ้าอมหัวนมได้กระชับและถูกต้อง ข้างแก้มจะขยับเข้าออกโดยไม่บุ๋ม เพราะทารกใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นดูดไขมันที่แก้ม จึงทำให้ผนังข้างแก้มยุบตัวเมื่อดูดนม

ทารกแรกเกิดจะมีจมูกที่เล็ก สั้น ปลายเชิดขึ้น รูจมูกจะโตเพื่อให้อากาศลงหลอดลมได้สะดวก แม้จมูกทารกจะชิดกับเต้านมแม่มากเมื่อตอนดูดนมแต่เพดานปากก็จะโค้งเรียบเป็นรูปโดมพอดีกับหัวนมแม่

ปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งของแตะที่ลิ้นของทารกแรกเกิด คือ การแลบลิ้นออกมา เพื่อเตรียมดูดนมแม่ ทารกจะห่อลิ้นยื่นออกมาเลียด้านล่างของหัวนมเพื่อรีดให้น้ำนมไหลเข้าปากเวลาที่ดูดนมแม่ ปฏิกิริยานี้ยังช่วยป้องกันการสำลักในกรณีที่มีของแปลกปลอมเข้าปากด้วย ก่อนที่ของจะตกลงสู่ลำคอทารกก็จะใช้ลิ้นดุนออกมาก่อน ในทารกแรกเกิดจึงใช้ช้อนป้อนน้ำหรือนมเข้าปากไม่ได้ เพราะเขาจะใช้ลิ้นดุนออกมาทุกครั้ง

ทารกที่ดูดนมแม่หลายราย บริเวณกลางริมฝีปากอาจมีรอยพองอยู่ ซึ่งเกิดจากริมฝีปากบนไปเสียดสีกับหัวนมแม่จนพองเพราะดูดนมแรงเกินไป แต่ต่อมาก็จะลอกออกไปเอง ไม่มีอันตรายหรือเจ็บแต่อย่างใด

การงับหัวนม
ท่าอุ้มเวลาให้นมจะทำให้ทารกงับและดูดเกาะติดกับหัวนมแม่ได้ดี ควรอุ้มทารกแบบตะแคงตัวเข้าหาตัวแม่ โดยบริเวณอกของลูกจะแนบชิดกับลำตัวแม่ ศีรษะอยู่ระดับเดียวกับเต้านม

คุณแม่อาจเมื่อยเมื่อต้องอุ้มลูกแรกเกิดที่ยังตัวเล็กอยู่ให้ขึ้นมาถึงระดับเต้านม คุณแม่ควรใช้หมอนรองตักเพื่อพยุงอ้อมแขนไว้ หรือวางเท้าบนม้านั่งเตี้ยๆ เพื่อให้ตักสูงขึ้น

ทารกจะดูนมได้ดีไม่หลุดง่าย หากใช้ท่าอุ้มที่ถูกต้อง ลูกอาจใช้ปากเกาะยึดหัวนมไม่สะดวกถ้าลานหัวนมของแม่มีน้ำนมอยู่เต็ม ทำให้ลื่นหลุดบ่อยๆ คุณแม่ควรบีบน้ำนมออกก่อนเล็กน้อยจนลานหัวนมยุบตัวลง แล้วค่อยให้ลูกดูดนมใหม่ ก็จะทำให้การยึดเกาะดีขึ้น

พฤติกรรมการดูดนม
ทารกจะอ้าปากกว้าง ริมฝีปากจะยื่นแหลมเหมือนลูกนกที่รอรับอาหาร เมื่อแม่เอาหัวนมแตะที่ส่วนกลางของริมฝีปากบน ถ้าคุณแม่สอดหัวนมเข้าไปให้ลึกจนถึงลานหัวนม ก็จะมีความกระชับแน่นระหว่างปากลูกกับลานหัวนม จึงทำให้ทารกไม่กลืนลมเข้าไปในท้อง อาการท้องอืด ปวดท้องก็จะมีน้อยกว่าการให้นมขวด

ทารกจะใช้ขากรรไกรล่างและบนกดลงบนลานหัวนมเมื่อเริ่มดูด ทำให้ลานหัวนมกลายเป็นรูปทรงกรวยคล้ายจุกนม หัวนมก็จะลึกเข้าไปด้านในปาก ลิ้นจะยื่นออกมาเหนือเหงือกของขากรรไกรล่าง ทำให้มีความแน่นยิ่งขึ้นและบังขอบเหงือกล่างไว้ เป็นการป้องกันไม่ให้หัวนมและลานหัวนมเสียดสีกับเหงือกด้วย

ขากรรไกรล่างที่ทารกขยับขึ้นลง จะกดกระเปาะน้ำนมใต้ลานหัวนม และลิ้นก็จะขยับเป็นลูกคลื่นจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อรีดน้ำนมออกจากกระเปาะ มาสู่หัวนมและเข้าในปากของทารก

จังหวะการดูดนม
เวลาลูกดูดนมแม่ จะสังเกตเห็นว่า ลูกกลืนนมเสียงดังเอื๊อก แล้วผ่อนหายใจดัง ฮา ติดต่อกัน จะหยุดพักสั้นๆ แล้วดูดต่อไปอีก นี่เป็นเพราะว่าขณะที่น้ำนมพุ่งไหลแรงจากกลไกน้ำนมพุ่ง ลูกก็ต้องกลืนนมให้ทันสลับกับการหายใจ จึงทำให้เกิดเสียงดังขึ้น

ระหว่างกินนม บางครั้งทารกจะขยับขากรรไกรขึ้นลงเร็วๆ จนเหมือนการสั่นพลิ้วเบาๆ ซึ่งแบบนี้เป็นการดูดโดยไม่มีการกลืน ในช่วงก่อนอิ่ม ก่อนจะมีน้ำนมพุ่ง และขณะหยุดพักทารกจะใช้วิธีการดูดแบบนี้ ที่เขาดูดแบบนี้บางคนอาจเข้าใจว่าเพราะทารกไม่สนใจนมแม่

แต่การดูดโดยไม่มีการกลืนนี้ เป็นเรื่องปกติ และเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดกลไกน้ำนมพุ่ง ทำให้กล้ามเนื้อบนใบหน้าบางส่วนได้พักผ่อน และเพราะมีการกระตุ้นสัมผัสที่ริมฝีปากจึงเหมือนการปลอบใจให้ทารกสงบโดยไม่ง่วงซึม

ทารกอาจจะได้รับนมน้อยและหัวนมแม่จะเจ็บได้ ถ้าทารกดูดแบบไม่กลืนเป็นเวลานานถึง 20-30 นาที แต่ดูดกลืนนมเพียง 2-3 นาที แต่ก็อาจจะช่วยได้ให้ดีขึ้นได้ด้วยการสลับมาให้ลูกดูดนมอีกข้าง แล้วจึงค่อยสลับมาด้านเดิม

ความสับสนเรื่องหัวนม
คุณแม่ที่เพิ่งคลอดได้ไม่กี่วัน ยังผลิตน้ำนมได้ไม่มาก มักจะมีคำร้องขอที่ได้ยินกันบ่อยๆ คือ “ขอนมผสมสักขวดเถอะค่ะ กลัวลูกหิว” แต่ความจริงแล้วน้ำน้ำแม่ขณะนั้นเพียงพอสำหรับทารกแรกเกิดปกติแน่นอน ถ้าให้ลูกดูดทุกมื้อตั้งแต่หลังคลอดทันที ไม่จำเป็นต้องให้นมผสมเพิ่มเติม และยังอาจทำให้ทารกสับสนอีกด้วยถ้าให้ดูดนมขวดในวันแรกๆ

ทารกจะปฏิเสธนมแม่ หากได้เรียนรู้การดูดนมขวดก่อนที่จะได้รับนมแม่ เพราะนมทั้งสองชนิดนี้มีกลไกในการดูดที่แตกต่างกันมาก

ทารกจะอ้าปากไม่กว้างมากถ้าดูดนมจากขวด แต่จะทำปากจู่ดันอากาศให้น้ำนมจากขวดไหลเข้าปาก ถ้านมไหลเร็วเกินไปตลอดเวลาทารกก็ต้องหยุดเพื่อหายใจเข้า ในช่วงหายในเข้าเขาก็จะเอาลิ้นไปอุดที่ปลายหัวนมยางเพื่อกั้นไม่ให้น้ำนมไหล

การดูดนมขวดกับนมแม่จะมีเทคนิคที่แตกต่างกันทุกประการ การดูดนมแม่ทารกต้องอ้าปากกว้างเพื่องับลานหัวนมเข้าไปให้หมด แต่การดูดนมขวดต้องทำปากจู๋ ขณะดูดนมแม่ลิ้นต้องยื่นออกไปอยู่เหนือเหงือก และเลียใต้ลานหัวนม แต่ถ้าดูดนมขวดก็จะเอาลิ้นกลับเข้าไปในปากแทน

หากทารกได้เรียนรู้เทคนิคการดูดนมจากขวด เขาก็จะใช้วิธีนี้กับการดูดนมแม่ด้วย แต่การดูดนมแม่ไม่สามารถใช้เทคนิคของการดูดนมขวดมาใช้ได้ เพราะนมแม่จะไม่ออก จึงเกิดความล้มเหลวในการให้นมแม่ การให้ทารกเรียนรู้การดูดนมขวดก่อนการดูดนมแม่จึงเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เป็นเช่นนี้

ดังนั้นเพื่อให้ทารกเรียนรู้การดูดนมแม่ให้ช่ำชอง หลังคลอดจึงควรให้ทารกดูดนมแม่ทันที และใน 4 สัปดาห์แรกก็ไม่ควรให้จุกนมยางแก่ทารกเลยจนกว่าน้ำนมแม่จะมีเต็มที่

ทารกมีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ในการดูดนมแม่ เพราะทารกมีสัญชาตญาณนี้มาตั้งแต่แรกคลอดแล้ว

เพื่อให้ลูกได้ซึมซับความอบอุ่นจากอ้อมกอด และได้รับรสชาติหอมหวานที่เปี่ยมด้วยคุณค่าของนมแม่ จึงควรให้โอกาสลูกได้สัมผัสและเรียนรู้การดูดนมแม่ก่อนการดูดหัวนมยาง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า