สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สรรพคุณของยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ในยากลุ่มนี้ ตัวยาสำคัญมักเป็นสมุนไพรกลุ่มเครื่องเทศที่มีน้ำมันระเหย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กานพลู สะระแหน่ โหระพา กะเพรา ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย กระเทียม หอมแดง กะทือ ไพล เม็ดพริกไทย ลูกกระวาน อบเชย ลูกเร่ว ลูกผักชีลา ผิวและใบมะกรูด ผิวและใบมะนาว ดีปลี จันทน์เทศ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เป็นต้น สมุรไพรเหล่านี้จะมีสารจำพวกเทอร์ปีน(terpenes)อยู่ในน้ำมันระเหย มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหารให้มีการบีบตัว ทำให้มีการขับลมออกมา ส่วนการบูร(camphor) ก็จัดเป็นสารในกลุ่มเทอร์ปีนด้วยเช่นกัน ซึ่งเดิมการบูรจะได้มาจากการกลั่นและตกผลึกจากต้นการบูร(Cinnamomum camphora) แต่ในปัจจุบันได้จากกรรมวิธีกึ่งสังเคราะห์จากสารแอลฟา-ไพนีน ที่ได้จากน้ำมันสน และเกล็ดสะระแหน่หรือเมนธอล(menthol) ซึ่งอนุญาตให้ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้ด้วย

นอกจากนี้ ในสมุนไพรบางชนิดยังมีสารสำคัญพวกเคอร์คูมิน(curcumin) เช่นในขมิ้นชัน มีสารสีเหลือง ในน้ำมันขมิ้นชันมีสาร พารา โทลิล เมธิลคาร์บินอล(p-tolyl-methylcarbinol) และสารซินีโอล(cineole) ที่มีฤทธิ์ในการเร่งขับน้ำดีให้ช่วยย่อยไขมัน โดยการกระตุ้นการบีบตัวของถุงน้ำดี และเร่งสร้างน้ำดีขึ้น จึงทำให้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ได้ด้วย

ส่วนชันน้ำมันที่ได้จากรากและลำต้นใต้ดินของพืชสกุล Ferula เช่น Ferula asssa-foetida ที่เรียกว่า มหาหิงคุ์ ในน้ำมันระเหยจะมีสารจำพวกกำมะถันเป็นองค์ประกอบ จึงทำให้มีกลิ่นเหม็น ช่วยในการขับลม ในประเทศไทยไม่มีพืชชนิดนี้อยู่ สรรพคุณตามตำรายาโบราณว่าใช้แก้พรรดึกอันผูก ช่วยขับฝายลม ขับลมและเสมหะ หรือใช้ผสมกับแอลกอฮอล์ใช้ทาท้องเด็กแก้อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ คนไทยโบราณจะรับทั้งตัวยาและชื่อยามาจากอินเดีย เพราะคำว่า หิงค์ มาจากคำว่า Hingu ที่เป็นภาษาสันสกฤต และคนไทยได้เติมคำนำหน้าว่า “มหา” เข้าไป ในตำรับยาอายุเวทของอินเดียก็มีตัวยานี้เป็นตัวยาที่สำคัญเช่นเดียวกัน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า