สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมองอักเสบ(Encephalitis)

เป็นการอักเสบของเนื้อสมอง อาจพบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วยในบางครั้ง เป็นโรคอันตรายร้ายแรง พบได้ประปรายทั้งปี บางครั้งอาจพบว่ามีการระบาด พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่สมองอักเสบ

สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่สำคัญคือ กลุ่มไวรัสอาร์โบ ได้แก่ ไวรัสเด็งกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหนะ และไวรัสแจแพนีสบี เป็นต้นเหตุของสมองอักเสบชนิดเจอี เชื้อชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในสัตว์ เช่น หมู ม้า วัว แพะ หนู นก เป็นต้น ติดต่อโดยมียุงประเภทคิวเล็กซ์ และเอดีส หรือที่เรียกกันว่ายุงรำคาญบางชนิดเป็นพาหะนำโรค

ไวรัสกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของโรค คือ
-ไวรัสเริม ไวรัสอีสุกอีใส-งูสวัด ไวรัสพิษสุนัขบ้า เชื้อชนิดนี้จะเข้าสมองทางเส้นประสาท

-ไวรัสหัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้ผื่นดอกกุหลาบในทารก โปลิโอ ไวรัสเอนเทอโร ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อนี้จะผ่านทางกระแสเลือดแล้วเข้าสู่สมอง

-ไวรัสเอชไอวี ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์

-ไวรัสนิพาห์ ซึ่งเชื้อนี้จะอยู่ในหมู ติดต่อสู่คนโดยการสัมผัสจึงพบโรคนี้มากในผู้มีอาชีพเลี้ยงหมู

นอกจากเชื้อไวรัสแล้ว โรคนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิล ซิฟิลิส วัณโรค เชื้อรา เช่น แคนดิดา คริปโตค็อกคัส เชื้ออะมีบา เช่น Naegleria fowleria เชื้อเหล่านี้มักทำให้มีการอักเสบของเนื้อสมองร่วมกับเยื่อหุ้มสมอง

ยังพบภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรีย ที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมอง ในโรคนี้ด้วย

โอกาสที่ทำให้เกิดโรคนี้น้อยมากจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันหัด คางทูม ไข้หวัดใหญ่ และสมออักเสบชนิดเจอี

อาการ
มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาการที่สำคัญคือ ภายใน 24-72 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะซึมลงเรื่อยๆ จนไม่รู้สึกตัว อาจมีอาการชัก สับสน พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนแปลงคล้ายอาการโรคจิตในบางราย ในเด็กเล็กอาจมีไข้สูง ไม่ดูดนม ซึม อาเจียน

สิ่งตรวจพบ
พบมีอาการไข้สูง ซึม หมดสติ รีเฟล็กซ์ของข้อไวกว่าปกติ อาจมีอาการอัมพาตของแขนขา มือสั่น เดินเซ อาการคอแข็งอาจพบได้ในรายทีมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย อาจพบกระหม่อมโป่งตึงในเด็กเล็ก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดความจำเสื่อม โรคลมชัก แขนขาเป็นอัมพาต สมองพิการ หูหนวก พูดไม่ได้ สายตาพิการ อาจหยุดหายใจ หมดสติและตายได้ในรายที่เป็นแบบรุนแรง

การรักษา
ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลหากสงสัยว่าจะเกิดโรคนี้ เช่น ถ้ามีอาการชักให้ยาแก้ชัก เช่น ไดอะซีแพม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเหน็บทวารหนัก ถ้ามีภาวะขาดน้ำให้น้ำเกลือไปด้วยระหว่างทาง แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคด้วยการเจาะหลังเพื่อนำน้ำไขสันหลังไปตรวจหาชนิดและปริมาณของเม็ดเลือดขาว เพื่อหาเชื้อต้นเหตุ การเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีนและน้ำตาล และอาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส ตรวจคลื่นสมอง ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

ให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาลดไข้ ยากันชัก ปรับดุลสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ เจาะคอช่วยหายใจในรายที่หมดสติ ให้อาหารทางสายยางในรายที่กินไม่ได้ และให้ยารักษาเฉพาะตามสาเหตุ เช่น ให้ยาต้านไวรัส อะไซโคลเวียร์ ถ้าเกิดจากเชื้อเริม เชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด ให้ยาต้านจุลชีพตามชนิดของเชื้อต้นเหตุหากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ยาต้านไวรัสเอดส์หากเกิดจากเชื้อเอชไอวี อาจพิจารณาให้ยาสตีรอยด์ร่วมด้วยในบางราย ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น ถ้าเกิดจากเชื้อแจแพนีสบี อาจพิการ หรือตายได้ หรืออาจหายเป็นปกติได้ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย

ข้อแนะนำ
โรคนี้อาจมีสาเหตุมาจากมาลาเรียได้ หากพบคนที่อยู่ในเขตป่าเขาหรือเคยเดินป่าในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมาและมีอาการสมองอักเสบ ควรเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียและให้การรักษาแบบมาลาเรียขึ้นสมอง

การป้องกัน
อาจป้องกันสมองอักเสบบางชนิดได้โดย
1. ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม และอีสุกอีใส
2. ป้องกันโรคสมองอักเสบจากเชื้อแจแพนีสบีด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ระวังอย่าให้ยุงกัด ให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ในเด็กอายุ 1 ½ -2 ปี 3 เข็ม 2 เข็มแรกห่างกัน 1-2 สัปดาห์ และเข็มที่ 3 ฉีดเพื่อกระตุ้นอีกเมื่อ 1 ปีต่อมา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า