สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สถานการณ์โรคพิษตะกั่วในประเทศไทย

โรคพิษตะกั่วเป็นโรคที่มีรายงานมากในประเทศพัฒนาในช่วงของการพัฒนาประเทศเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น และยังคงมีรายงานโรคนี้อยู่ มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า มนุษย์รู้จักใช้สารตะกั่วมากว่า 6,000 ปีแล้ว ตะกั่วเป็นสารที่ร่างกายไม่ต้องการ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ นอกจากจะทำลายระบบสำคัญต่างๆ ทางกายแล้ว ยังทำให้มีระดับทางปัญญาตํ่าลงด้วย ในประเทศไทยระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา มีรายงานโรคนี้ประปราย เป็นลักษณะการรายงานเฉพาะกรณี รายงานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2495 โดยนายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์, พ.ศ. 2507 รายงานโดย นายแพทย์มุกดา ตฤษณานนท์ และ พ.ศ. 2514 โดย นายแพทย์อุรพล บุญประกอบ และคณะ ต่อมา ใน พ.ศ. 2529 มีรายงานการป่วยหมู่ของนักเรียนเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยโรงงานหลอมโลหะกว่า 20 แห่งด้วยอัตราชุกร้อยละ 10.2 และรายงานผู้ป่วยพิษตะกั่วในพนักงานโรงงานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ ด้วยอัตราร้อยละ 12.

ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมไอซีและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมที่ใช้ตะกั่วประเภทต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยในอุตสาหกรรมอีเล็คโทรนิค มากกว่าอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ทั้งนี้เนื่องจากอุต¬สาหกรรมประเภทนี้มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก นอกจากนั้น ปัญหามลพิษทางอากาศในเขตเมืองได้รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องมาจากนํ้ามันเชื้อเพลิงเบนซินมีตะกั่วอินทรีย์เป็นส่วนประกอบอยู่ ซึ่งได้มีการใช้มายาวนาน แม้เริ่มมีการใช้นํ้ามันไร้สารตะกั่วแล้ว แต่เครื่องยนต์ของรถที่ใช้ในปัจจุบันยังคงเป็นประเภทใช้น้ำมันที่มีสารตะกั่วกันส่วนใหญ่ สารตะกั่วซึ่งปนเปื้อนในบรรยากาศของกรุงเทพฯ จึงยังคงเป็นปัญหาอยู่

ตารางที่ 1. อัตราชุกของโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในคนไทยจำแนกตามกลุ่มประชากรต่างๆ
health-0106 - Copy
ผู้ป่วยด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในอัตราต่างๆ กัน จำแนกตามกลุ่มประชากรดังตารางที่ 1.

เมื่อพิจารณาตามระดับตะกั่วที่ตรวจพบในบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยพิจารณาในด้านการได้รับตะกั่วสะสมในปริมาณแต่ละครั้งที่ไม่มากนักแต่ได้รับยาวนาน (chronic lead absorber) โดยในที่นี้พิจารณาที่ระดับตะกั่ว > 20 ไมโครกรัมต่อเลือด 100 มล. (เนื่องจากตะกั่วเป็นสารที่ไม่ควรมีในร่างกายและโปรดพิจารณาค่าเฉลี่ยของระดับตะกั่วในเลือดและปัสสาวะในตารางที่ 2 ด้วย)

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประมาณการได้ว่า ภาวะพิษตะกั่วในคนไทยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในปัจจุบัน แต่การป้องกันปัญหาดังกล่าวในระดับต่างๆ ยังคงไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่ามีความพยายามในระดับบุคคลที่จะป้องกันปัญหานี้บ้าง เช่น ในกลุ่มตำรวจจราจรพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ใส่ mask ผ้าที่จัดหากันมาเอง รูปร่าง ขนาด และแบบต่างๆ กัน แต่ mask ผ้าเหล่านั้นไม่สามารถป้องกันปัญหาการได้รับสารตะกั่วและ particle อื่นที่มีขนาดเล็ก และสามารถเข้าถึงถุงลมปอด นอกจากนั้น การปนเปื้อนของตะกั่วในอาหาร ลูกกวาด ของเล่น ภาชนะบรรจุอาหาร และเครื่องสำอาง (เช่นแป้ง) บางอย่างก็ควรได้รับการพิจารณาอย่างรีบด่วนเช่นกัน

ตารางที่ 2. ระดับตะกั่วในเลือดและปัสสาวะของคนไทยจำแนกตามกลุ่มต่างๆ และปีที่สำรวจ/ศึกษา
health-0107 - Copy
ที่มา:อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล  พ.บ., M.P.H.
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า