สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สถานการณ์โรคจากสารพิษในประเทศไทย

โรคจากสารพิษในที่รายงานในสถานการณ์นี้ เป็นโรคจากสารพิษทางเคมี และกายภาพ ไม่รวมเรื่องของพิษจากเชื้อโรค เน้นหนักปัญหาสารพิษที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา และมีขอบเขตในประเทศไทย ทั้งนี้เน้นหนักการได้รับพิษโดยไม่ตั้งใจ เช่นจากอุบัติภัยจากการทำงาน จากการบริโภค และพิษสะสม เป็นสถานการณ์โรคจากสารพิษในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาและนำเข้าสารเคมี มาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ.2504 นับเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์โรคจากสารพิษดีขึ้น จึงขอยกตัวอย่างโรคจากสารพิษกรณีใหญ่ๆ ที่มีผู้คนป่วย ตาย พิการ จำนวนมาก และถึงเป็นเรือนแสนในต่างประเทศ

36 ปีที่ผ่านมา มีกรณีโรคพิษปรอท หรือมินามะตะ ระบาดในประเทศญี่ปุ่น ที่บริเวณอ่าวมินามะตะ สมองและระบบอื่นๆ ของผู้ป่วยถูกทำลาย เด็กพิการ ปัญญาอ่อน เกิดจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารปรอทออกมาสู่ทะเลในอ่าวนั้น และมีการปนเปื้อนปรอทในสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ถึงขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่สามารถจัดการนำมลพิษที่ถูกปล่อยนั้นออกจากระบบนิเวศน์ได้หมด และยังคงมีการระบาดอีก 4 ครั้ง

30 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีกรณีโรคพิษแอสเบสตอส และมะเร็งเมโสเทลิโอมาในผู้ทำงาน และผู้ที่อาศัยอยู่รอบโรงงานและเหมืองที่มีการใช้สารก่อมะเร็งแอสเบสตอส ในประเทศยุโรป อเมริกา แคนาดา อาฟริกา จำนวนมาก ซึ่งหลายประเทศได้ห้ามการใช้ และการนำเข้าแอสเบสตอส

26 ปีที่ผ่านมา มีกรณีโรคอิไต อิไต หรือโรคพิษแคดเมี่ยมระบาดในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากแคดเมียมที่ถูกปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรม เข้าไปปนเปื้อนในดิน และธัญพืชที่ปลูกจากดินนั้น มีผลทำให้เกิดมะเร็งระบบทางเดินบัสสาวะด้วย ซึ่งก็เช่นกันยังคงจัดการสิ่งปนเปื้อนอันตรายนี้ในสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นไม่ได้

25 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการป่วยด้วยมะเร็งเม็ดเลือดจากเบนซีน ที่มีใช้มากตามโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา จนได้มีการนำสารทำละลายอื่นมาใช้แทนเบนซีน

23 ปีที่ผ่านนมา มีกรณีระบาดของโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในเด็กของประ เทศสหรัฐอเมริกา  เด็กอ่อนแอ มีเชาว์ปัญญาต่ำ เนื่องจากได้รับตะกั่วจากอุตสาหกรรม และจากสีทาบ้านที่มีตะกั่วอยู่ ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงจัดการปัญหาโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในเด็กไม่ได้หมดสิ้นจนทุกวันนี้

21 ปีที่ผ่านมา มีกรณีโรคพิษฝนเหลือง ในประเทศเวียตนาม ซึ่งเป็นพิษจากสารกำจัดวัชพืช เกิดในประชากรในเนื้อที่กว่า 1 ใน 5 ของ เวียดนามตอนใต้ ทำให้ประชาชนมีความพิการและเด็กคลอดผิดพิการ

8 ปีที่ผ่านมา เกิดกรณีโรคพิษจากกาซ MIC (Methyl iso-cyanate)ในโบภาล ประเทศอินเดีย เนื่องจากกาซ MIC รั่ว จากโรงงานผลิตสารกำจัดศัตรูพืช เข้าทำอันตรายต่อชีวิต สุขภาพของประชาชนที่อยู่อย่างสงบ มีผู้ป่วย และเสียชีวิตกว่าแสนคน ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยพิษ MIC ในครั้งนั้นทะยอยเสียชีวิตทุกวัน

6 ปีที่ผ่านมา เกิดโรคพิษจากสารกัมมันตรังสี เมื่อโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิดที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย เกิดการสูญเสียชีวิต ป่วยเฉียบพลัน และเรื้อรัง และการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี ได้ครอบคลุมไปถึงรัศมีพื้นที่ของประเทศยุโรป และปนเปื้อนมากับอาหาร

และยังมีการเกิดโรคและภัยจากสารพิษ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอีกมาก ได้แก่พิษสารกำจัดแมลงในประ เทศอเมริกาใต้ เนื่องจากรถบรรทุกสาร เคมีดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ และโรคไข้เท้าดำ หรือ Black foot disease ซึ่งเป็นพิษสารหนูที่ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำใต้ดินในไต้หวัน กรณีสารพิษ สาร Dioxin สาร PCB ใน love canal ซึ่งเกิดจากการดั๊มกากสารเคมีทิ้งของโรงงานผลิตสารเคมี และในพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนือ

สำหรับประเทศไทย มีรายงานโรคจากสารพิษในกรณีเช่นเดียวกับต่างประเทศที่กล่าวแล้วเกือบทั้งสิ้น เว้นยังไม่มีรายงานโรคจากสารพิษ PCB และ Dioxin กรณีโรคจากสารพิษที่มีการป่วยเป็นกลุ่ม ที่เป็น อุบัติภัย มีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมถึงการเกิดพิษสะสม ได้แก่

ระยะก่อน 2526 หรือก่อน 10 ปีมานี้ มีการระบาดของโรคพิษเมโทมิล ในนักเรียนโรงเรียนราชดำริจำนวนมาก ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากดื่มน้ำหวานที่ทำจากน้ำตาลที่ปนเปื้อนด้วยสารกำจัดแมลง เนื่องจากมีการวางน้ำตาลที่ใช้บริโภค ในบริเวณเดียวกับสารพิษกำจัดแมลง และยังมีการระบาดลักษณะคล้ายกันในชนบท ที่มีการใช้สารพิษกำจัดแมลงจำนวนมาก รวมถึงการได้รับพิษเฉียบพลันของสาร พิษออร์แกโนฟอสเฟต จากการทำงานผสม พ่น และใช้สารกำจัดแมลงในเกษตรกร มีการเสียชีวิตไม่น้อย รวมถึงโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชเรื้อรัง และในพื้นที่ซึ่งมีการใช้สารพิษนี้จำนวนมาก มีปัญหาโรคมะเร็งเป็นอันดับแรกๆ ของโรคที่เป็นสาเหตุการตายของจังหวัด โดยเฉพาะมะเร็งตับ รวมถึงในปี 2507 มีรายงานการป่วยโรคพิษแมงกานีสในผู้ผลิตถ่านไฟฉาย ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่มาของการที่กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีโครงการอาชีวอนามัย และกองอาชีวอนามัย ในกรมอนามัยในที่สุดถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2529 มีการระบาดของโรคพิษสารหนู หรือโรคไข้ดำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีผู้ที่เป็นมะเร็งผิวหนังจากสารหนูในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้จากการที่แหล่งนํ้า และดิน บริเวณดังกล่าวปนเปื้อนด้วยสารหนู จากการทำเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมร่อนแร่ดีบุก และกำจัดสารหนูทิ้ง โดยปล่อยระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

พ.ศ. 2529 มีการระบาดของโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในนักเรียนจำนวนมากที่เรียนอยู่ในโรงเรียน ซึ่งมีที่ตั้งล้อมรอบด้วยโรงงานหลอมโลหะกว่า 20 โรง ในเขตกรุงเทพมหานคร นักเรียนโตช้า แคระ เชาว์ปัญญาต่ำ อ่อนแอ และมียังคงมีการระบาดอย่างเงียบๆ ของโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในเด็กไทยอีกหลายกณี รวมถึงโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในเด็กนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ติดกับถนนใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น เป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรังจากมลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร

พ.ศ.2529 มีรายงานการเกิดโรคพิษแอสเบสตอส ในผู้ทำงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน จำนวนกว่า 20 โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ป่วยมีพังผืดรุนแรงที่ปอด และบางรายป่วยด้วยมะเร็งปอดตาย

พ.ศ.2530 มีรายงานผู้ทำงานโรคพิษสารทำละลายในผู้ทำงานกับ เบนซีนในอุตสาหกรรมรองเท้า พบความผิดปกติในระดับโครโมโซมด้วย

พ.ศ.2531 มีรายงานผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมป่วยด้วยโรคพิษ
แคดเมี่ยมเรื้อรัง จังหวัดสมุทรปราการ มีการปล่อยแคดเมี่ยมออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วย

พ.ศ. 2533 มีรายงานผู้ป่วยโรคพิษปรอทเรื้อรัง ในผู้ทำงานอุตสาหกรรม จังหวัดปทุมธานี

พ.ศ.2534 ต้นปี มีกรณีลังสารเคมีที่ท่าเรือคลองเตยไหม้ไฟ เกิดโรคพิษสารเคมีรวมพิษเมธิล โบรไมด์ และพิษฟอร์มาลดีไฮด์ ในระยะ เฉียบพลัน มีผู้เข้ารับการรักษาในที่ต่างๆ เนื่องจากโรคจากสารพิษเฉียบพลัน กว่า 2000 คนทันที และผู้ป่วยระดับอื่นๆ กว่าหนึ่งหมื่นคน ยังไม่มีรายงานผลระยะล่า รวมถึงโรคมะเร็งจากสารพิษดังกล่าวที่อาจ เกิดขึ้นได้จากสารบางชนิดในกรณีนี้ที่มีรายงานว่า เป็นสารก่อมะเร็ง ปัจจุบันสารดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่จังหวัดกาญจนบุรี

พ.ศ. 2534 ปลายปี มีรายงานต่อสาธารณะ กรณีการเกิดโรคพิษตะกั่ว เรื้อรังและโรคพิษสารทำละลาย ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ มีผู้ป่วยหลายร้อยราย มีผู้ทำงานที่ป่วยและลาออกจากงานที่ต้องเกี่ยว ข้องกับตะกั่วในระยะเวลานี้จำนวนมาก

พ.ศ. 2535 มีรายงานการเกิดโรคพิษเฉียบพลัน จากกรณีถังบรรจุ ไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ ล่มและรั่วที่อ่าวไทย ซึ่งยังไม่ทราบผลระยะล่าของผู้สัมผัสสารพิษซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดนี้ในรัศมีต่างๆ ได้

พ.ศ.2535 มีรายงานโรคจากมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ใช้ลิกไนท์เป็นแหล่งพลังงาน มีผู้ป่วยด้วยโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และกาซพิษอื่นๆ เข้ารับการรักษาในที่ต่างๆ จำนวนมากกว่า 1000 คน โดยเกิดระบาดของโรคนี้ถึง 3 ครั้งติดกันในระยะเวลา 20 วัน และยังขาดมาตรการที่ดีพอทางวิชาการในการกำจัดมลพิษ โดยมีมลพิษสูงมาก เกินค่าที่ยอมให้มีได้ในขณะนั้น ถึง 4 ครั้งในระยะเวลาเดียวกัน

พ.ศ. 2536 วันที่ 5 มกราคม ก็มีรายงานการเกิดระบาดอีกครั้งของโรคจากมลพิษที่แม่เมาะอีก

ที่กล่าวมา เป็นสถานการณ์การเกิดโรคจากสารพิษที่พบมาก และบ่อย ถึงแม้สถานการณ์ในเรื่องนี้ ของประเทศยังไม่รุนแรงเท่ากับสากล แต่ประเทศไทยก็มีปัจจัยก่อโรคจากสารพิษทุกชนิดที่กล่าวแล้ว มีทั้ง โรงงานที่ผลิตสารกำจัดศัตรูพืช โรงงานที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก ซึ่งพร้อมที่จะเกิดอุบัติภัยจากสารพิษได้ตลอดเวลา สำหรับสถานการณ์โรคพิษกำจัดแมลงนั้น ในส่วนที่เป็นพิษเฉียบพลัน ปรากฏอยู่ในข่ายงานเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปรากฏว่าเพิ่มขึ้นมาก

สำหรับในโรงพยาบาล สถานที่ผลิตยา หรือที่มีงานซึ่งมีการทำให้ปราศจากเชื้อ ก็มีปัญหาการใช้กาซ ethylene oxide ซึ่งหลายรายงานระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับบุคลากรทางสาธารณสุข สารนี้อยู่ในบรรยากาศที่มีการนำสิ่งของที่นึ่งฆ่าเชื้อโรคด้วยกาซนี้ได้อีกนานหลายชั่วโมงจนเป็นวันๆ จึงเป็นสารพิษที่อันตรายซึ่งพบได้มากในวงการสาธารณสุข ที่ยังต้องช่วยกันหามาตรการในการป้องกันปัญหานี้ต่อไป นอกจากปัญหาสารพิษปนเปื้อนในอาหารแล้ว ยังมีปัญหาสารพิษปนเปื้อนในเครื่องดื่มที่จริงๆ แล้วมีความเป็นพิษอยู่ในตัว คือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากในกระบวนการผลิตสุราในบ้านเราขณะนี้มิได้ใช้ธัญพืช เช่นในอดีต แต่ใช้กากนํ้าตาลมาทำแอลกอฮอล์ และผสมสารปรุงแต่งสี กลิ่น และรส ซึ่งในจำนวนนี้มีที่เป็นสารพิษอยู่ด้วย โดยไม่มีการควบคุมคุณภาพแบบเดียวกับอาหารและยา นอกจากนั้นในสุราปลอม และสุราเถื่อน ก็มีการใช้สารพิษ เช่น เมทานอล และสารกำจัดแมลงต่างๆ ผสมกัน เข้าไป และเกิดการระบาด ของผู้ที่เป็นโรคจากสารพิษในสุรามาแล้วหลายครั้งหลายแห่ง เช่นที่จังหวัดระยอง เป็นต้น

สำหรับผลจากการได้รับพิษสะสมของสารในกลุ่มนี้ เกิดได้ทั้งในผู้ทำงาน ผู้บริโภค และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในอาหารปัจจุบัน ก็มีการปนเปื้อนสารพิษกำจัดศัตรูพืช โลหะหนักอยู่ด้วย แต่ยังหารายงานโรคจากสารพิษอื่นๆ อย่างเป็นระบบไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยยังขาดระบบเฝ้าระวังปัญหาโรคจากสารพิษที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับ แต่จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่ามีผู้มารับบริการด้วยโรคจากสารพิษชนิดเรื้อรัง ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่ภาวะวิกฤตในเรื่องปัญหาจากสารพิษ มีสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่เคยบริสุทธิ์อยู่ทั่วประเทศ มีทั้งในป่า ในท้องทุ่ง ในดิน ในน้ำ ในอากาศ ในเมือง ในโรงงาน ในสำนักงาน ในบ้านเรือน และในตัวเราเอง และมีแนวโน้มของสถานการณ์ที่จะชุกชุม และรุนแรงขึ้น หากขาดมาตรการในการป้องกันแก้ไข และควบคุมที่มีประสิทธิภาพดีพอ

ที่มา:แพทย์หญิงอรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
MD.,MPH.,FETP.,Prev Med.,Occ & Env Med.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า