สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจากพิษตะกั่วในประเทศไทย

ปีหนึ่งๆ มีความต้องการใช้ตะกั่วในกิจการต่างๆ ของประเทศไทย 20,000 เมตริกตัน มีการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 10,000 เมตริกต้น/ปี ส่วนที่เหลือได้จากโรงงานถลุงแร่ตะกั่วและโรงงานถลุงตะกั่วจากเศษแบตเตอรี่ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ ได้แก่ โรงงานถลุงแร่ ตะกั่วที่จังหวัดกาญจนบุรี และสงขลา และโรงงานถลุงตะกั่วจากเศษแบตเตอรี่ที่อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ, อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และที่จังหวัดนครปฐม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นตะกั่วอนินทรีย์และสารประกอบ สำหรับตะกั่วอินทรีย์ เช่น ตะกั่วเตตระเอธิล และตะกั่วเตตระเมธิลนั้น มีใช้ในนํ้ามันเบนซินชนิดมีสารตะกั่ว

การที่ประเทศมีการใช้ตะกั่วปริมาณมากเช่นนี้สะสมมาโดยตลอด ทำให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีตะกั่วปนเปื้อนไม่มากก็น้อย และเข้าสู่ร่างกายของเราโดยปนเปื้อนกับอาหาร เครื่องดื่ม พืชผัก ขนม สิ่งแวดล้อมในการทำงาน สิ่งแวดล้อมในที่พักอาศัย และอื่นๆ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับตะกั่วเข้าไปในระดับความเข้มข้น และระยะเวลาที่ต่างกัน มีทั้งผู้ที่มีตะกั่วในร่างกายโดยที่ร่างกายไม่มีอาการผิดปรกติที่สังเกตและรู้สึกได้ จนถึงผู้ที่ได้เกิดอาการของพิษตะกั่วทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยพิษตะกั่วเข้าขอรับบริการรักษาตามโรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

คณะผู้วิจัยและนักวิชาการจากหลายสถาบันได้พยายามศึกษาระบาดวิทยาของปัญหาตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกายของคนไทยกลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ใน,ขณะนี้ใช้เส้นตะกั่วที่เหงือก และตะกั่วในปัสสาวะต่อวัน เป็นเกณฑ์ บอกการมีตะกั่วสะสมในร่างกาย และใช้ตะกั่วในเลือดเป็น
เกณฑ์บอกถึงตะกั่วที่ได้รับเข้าไปเฉียบพลัน หรือตะกั่วที่ mobilized มาจากที่สะสมในกระดูกในขณะใดขณะหนึ่ง

ตารางที่ 1. อัตราชุกของเส้นตะกั่วที่เหงือก (lead line) ในประเทศไทย จำแนกตามกลุ่มประชากร และปีที่สำรวจ พ.ศ.2530-2534
health-0108 - Copy

ตารางที่ 2  ระดับตะกั่วในปัสสาวะและในเลือดของคนไทยกลุ่มต่างๆ จำแนกตามปีที่ศึกษา พ.ศ. 2525-2534
health-0109 - Copy
ทั้งนี้เนื่องจากในระยะก่อน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศเรามีข้อมูลทางด้านนี้น้อยมาก การนำข้อมูลของต่างประเทศมาใช้อย่างกระจัดกระจายโดยขาดข้อมูลของประชาชนไทยเอง ทำให้เกิดความสับสนทั้งทางด้านวิชาการ ในด้านการแพทย์ การอนามัย การควบคุมป้องกันโรค การ วินิจฉัยทางกฎหมาย ทางด้านสิทธิของผู้ป่วย ตลอดจนการสงเคราะห์ผู้ป่วย

ปัญหาอีกประการหนึ่ง เป็นเรื่องของข้อจำกัด เรื่องความรู้ทางด้านพิษวิทยาคลินิกของประเทศ ทำให้ไม่สามารถให้การวินิจฉัยผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรังได้ คงมีเพียงการรายงานเฉพาะรายของผู้ป่วยพิษตะกั่วแบบเฉียบพลันที่ร่างกายได้รับตะกั่วเข้าไปมากๆ ในระยะเวลาสั้น และพบระดับตะกั่วในเลือดสูง ในกรณีโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ซึ่งกำลังเป็นปัญหารุนแรงของประเทศไทย และอีกหลายประเทศนั้น เกิดเนื่องจากประชากรได้สัมผัสตะกั่วระยะที่มีการนำแร่ตะกั่วมาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยสัมผัสอยู่เป็นเวลานานครั้งละไม่สูงนัก ตะกั่วจะเข้าสู่ร่างกายและสะสมไว้ในกระดูก ในกรณีของการสัมผัสเรื้อรังนี้จะไม่พบตะกั่วในเลือดสูง แต่จะพบในปัสสาวะต่อวันสูงเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อผู้มีตะกั่วในร่างกายมีลักษณะทางคลินิก ได้แก่ อาการ และอาการแสดงของพิษตะกั่วแล้ว จะเรียกว่าผู้ป่วยพิษตะกั่ว  ถ้าผู้นั้นไม่มีอาการ และอาการแสดง ก็ยังคง เป็นผู้มีตะกั่วในร่างกาย ซึ่งต้องได้รับการเฝ้าระวังมิให้เกิดภาวะพิษได้
ในระยะที่ผ่านมาถึงปัจจุบันการวินิจฉัยทางกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วจากการทำงาน ได้ใช้ระดับตะกั่วในเลือดที่ระดับ 70 ไมโครกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยการป่วยด้วยโรคพิษตะกั่ว ซึ่งการมีตะกั่วในร่างกายไม่ว่าระดับใดก็ตาม จะบอกแต่เพียงว่าผู้นั้นมีตะกั่วหรือ lead absorber เท่านั้น ดังนั้น การใช้เกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และยังทำให้ไม่สามารถค้นพบผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ซึ่งมีอัตราชุกค่อนข้างสูง ในประเทศได้ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยพิษตะกั่วเรื้อรังจะมีลักษณะทางคลินิกได้โดยที่ระดับตะกั่วในเลือดไม่สูง แต่ส่วนใหญ่จะมีระดับตะกั่วในปัสสาวะต่อวันสูง ดังนั้น ความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหามีตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกายของคนไทยกลุ่มต่างๆ จึงมีความจำเป็นยิ่งดังแสดงในตาราง ที่ 1 และ 2.

จากข้อมูลในตารางที่ 1-2 แสดงถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจากตะกั่วในประเทศไทย ทั้งในด้านปัญหา มีตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกายคนไทย และปัญหาผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วได้ขยายขอบเขตกว้างขวาง และครอบคลุมกลุ่มประชากรจำนวนมาก ควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะได้ตระหนักถึงภัยสุขภาพในด้านนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการสะสมของตะกั่วเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ยังได้ถูกมองข้ามไป ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่มีอัตราชุกสูง และมีความพิการทั้งด้านสติปัญญา สุขภาพจิต และสุขภาพกาย ในประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาเรื้อรังของตะกั่วเพิ่มมากขึ้นมาก จึงควรที่ปัญหานี้จะได้รับการวางแผนป้องกันและแก้ไขอย่างเป็นระบบมากขึ้น จะช่วยให้เยาวชนของชาติในอนาคตไม่เป็นผู้มีระดับเชาว์ปัญญาต่ำจากการมีตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานได้

ที่มา:อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล พ.บ., M.P.H.
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า