สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สครับไทฟัส(Scrub typhus)

เป็นโรคที่แพร่เชื้อมาจากสัตว์ มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ ทหาร นักวิทยาศาสตร์ และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า ชาวบ้านมักเรียกโรคนี้ว่า ไข้แมงแดงสครับไทฟัส

สาเหตุ
เป็นโรคที่เกดจากเชื้อริกเกตเชีย ที่มีชื่อว่า โอเรียนเทียซูซูกามูชิ (Orientia tsutsugamushi ซึ่งเดิมเรียกว่า Rickettsia tsutsugamushi หรือ Rickettsia orientalis ซึ่งพานะนำโรคจะเป็นไรอ่อน chigger หรือ laval-stage trombiculid mites มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 4-18 วัน

ตัวไรแก่จะอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน แล้วไข่จะฟักมาเป็นตัวอ่อนสีแดงที่มี 6 ขา และกระโดดเกาะสัตว์เลี้ยยคลาน สัตว์แทะ นก หรือผู้ที่เดินผ่านไปมาเพื่อดูดน้ำเหลืองกินเป็นอาหาร ถ้าคนหรือสัตว์มีเชื้อริกเกตเชียชนิดนี้อยู่เชื้อก็จะเข้าไปอยู่ในลำไส้และต่อมน้ำลายของไรอ่อน แล้วเจริญแบ่งตัวในขณะที่ไรอ่อนกลายเป็นตัวแก่ เมื่อตัวแก่วางไข่ก็จะมีเชื้อโรคแพร่ติดอยู่และเมื่อฟักเป็นไรอ่อนก็จะมีเชื้อโรคอยู่ด้วย และเมื่อไปกัดคนหรือสัตว์ก็จะแพร่เชื้อต่อไป

ส่วนใหญ่สัตว์ที่เป็นรังโรคมีเชื้ออยู่ในร่างกาย คือหนู และอาจพบได้บ้างเป็นส่วนน้อยใน กระแต และกระจ้อน ซึ่งสัตว์ที่เป็นรังโรคและไรอ่อนที่เป็นพาหะนำโรคอาจอยู่ตามพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ตามหญ้าคา ไร่พริก สวนยาง พุ่มไม้เตี้ยๆ และป่าสูง ซึ่งมีอยู่ทั่วไป

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะที่ขมับและหน้าผาก จับไข้หนาวสั่น ไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง และกลัวแสง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูก หลังจากถูกไรอ่อนกัดประมาณ 4-18 วัน

บริเวณที่ถูกกัดจะเจ็บ มีรอยไหม้ดำเหมือนถูกจี้ด้วยบุหรี่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีอาการบวมแดงรอบๆ แผล แต่จะไม่เจ็บ มักเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ มักพบเป็นได้บ่อยที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้จะโตและเจ็บด้วย

ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงคล้ำขึ้นที่ลำตัวแล้วกระจายไปแขนขาหลังจากมีไข้ประมาณวันที 5-7 ผื่นมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วันแล้วหายไปได้เอง และจากการอักเสบของเนื้อปอดอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูง อาจพบต่อมน้ำเหลืองทั่วไปโต ตับโต ม้ามโต รอยแผลไรกัดลักษณะเหมือนถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า สะเก็ดแผลไหม้ หรือ เอสคาร์(eschar) ประมาณวันที่ 6 ของไข้อาจพบผื่นแดงตามผิวหนัง ดีซ่าน หรือคอแข็ง

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายอุจจาระดำ เพ้อคลั่ง หมดสติ หัวใจวาย สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวการณ์หายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน หรือภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ ในรายที่เป็นแบบรุนแรง

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และแพทย์มักจะวินิจฉัยโรคด้วยการทดสอบทางน้ำเหลืองโดยวิธี indirect immunofluorescence assay (IFA), indirect immunoperoxidase assay (IIP) หรือ dot-ELISA ซึ่งมักทำเป็นชุดตรวจสำเร็จรูป หรือ dipstick test หรืออาจตรวจด้วยวิธี polymerase chain reaction(PCR) ในบางราย หรืออาจตรวจปัสสาวะ เจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดยิ่งขึ้น

แพทย์มักให้การรักษา โดย
1. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน ครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง เด็กให้ขนาด 40 มก./กก./วัน แบ่งหวันละ 4 ครั้ง หรือ คลอแรมเฟนิคอล ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ให้ขนาด 50-100 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 4 กรัม/วัน นาน 7 วัน หรือดอกซีไซคลีน ครั้งละ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง เด็กให้ขนาด 4 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน สำหรับรายที่มีอาการไม่รุนแรง

หรือให้ยาปฏิชีวนะอื่น เช่น อะซิโทรไมซิน ผู้ใหญ่ให้ 500 มก. เด็กให้ขนาด 10 มก./กก.ครั้งเดียว หรือให้ ไรแฟมพิซน ผู้ใหญ่ให้ 900 มก. เด็กให้ 20 มก./กก./วัน วันละครั้ง นาน 7 วัน สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หรือในรายที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะอื่นๆ

2. แพทย์มักรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบ หัวใจวาย ไตวาย ช็อก หรือหมดสติ

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักมีอาการคล้าย มาลาเรีย ไทฟอยด์ เล็ปโตสไปโรซิส ไข้เลือดออก และหัด เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น และอาจมีไข้อยู่นาน 2-3 สัปดาห์ ตาแดงและมีผื่นขึ้น แต่ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปต่างจังหวัด หรือเข้าไปในป่าในสวนในไร่ และอาจพบสะเก็ดแผลไหม้จากไรกัด มีลักษณะไหม้ดำเหมือนถูกจี้ด้วยบุหรี่มักเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

ควรค้นหารอยแผลไรกัด โดยการสอบถามจากผู้ป่วยว่ามีแผลตามร่างกายหรือไม่ และตรวจดูตามผิวหนังอย่างถี่ถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ก้น อวัยวะเพศ หากพบผู้ป่วยที่เป็นไข้และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด ซึ่งอาจมีสาเหตุจากสครับไทฟัสก็เป็นได้

2. อาการไข้ของผู้ป่วยจะลดลงภายใน 24-72 ชั่วโมงถ้าได้รับการรักษา โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนและมักจะหายขาดได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจมีไข้อยู่นาน 2-3 สัปดาห์แล้วอาจหายไปได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาได้ ซึ่งอัตราการตายจากโรคนี้มีไม่มากนัก

การป้องกัน
1. พยายามอย่าเข้าไปในพุ่มไม้ และถางบริเวณตั้งค่ายให้โล่งเตียน ถ้าต้องออกไปตั้งค่ายในป่า ให้พ่นยาฆ่าไรบนพื้นดิน และไม่ควรนั่งหรือนอนอยู่กับที่นานๆ ควรทายาป้องกันและใส่เสื้อผ้าให้รัดกุม

2. ให้กินดอกซีไซคลีน 200 มก. สัปดาห์ละครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้อยู่ ก่อนเดินทาง 3 วันควรเริ่มกินเป็นครั้งแรก และกินต่อจนกระทั่ง 6 สัปดาห์หลังจากเดินทางกลับออกมาแล้ว

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า