สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ศีรษะได้รับบาดเจ็บ(Head injury)

เลือดออกในสมอง(Intracranial hemorrhage)
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาจเป็นได้ทั้งชนิดที่มีแผลเพียงเล็กน้อย อาการฟกช้ำที่หนังศีรษะ กะโหลกศีรษะร้าว หรืออาจกระทบกระเทือนต่อสมอง สมองฟกช้ำหรือฉีกขาด หรือหลอดเลือดสมองฉีกขาดทำให้มีเลือดออกในสมองเป็นอันตรายได้ศีรษะได้รับบาดเจ็บ

ความรุนแรงของบาดแผลที่พบบริเวณหนังศีรษะไม่จำเป็นต้องรุนแรงเหมือนกับที่เกิดในสมองเสมอไป

สาเหตุ
อุบัติเหตุจากการขับขี่รถมักเป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บ มักพบได้ในชายอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่มีพฤติกรรมขับขี่รถขณะมึนเมา ไม่สวมหมวกกันน็อก และอาจเกิดจากการตกจากที่สูง การหกล้มศีรษะกระแทกกับของแข็ง อุบัติเหตุจากการทำงานหรือเล่นกีฬา การถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนในทารกแรกเกิดการคลอดยากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของศีรษะได้

อาการ
อาการแสดงจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมองอาจมีได้หลายลักษณะซึ่งนอกเหนือจากอาการฟกช้ำหรือบาดแผลที่หนังศีรษะแล้ว เช่น

1. สมองได้รับการกระทบกระเทือน อาจไม่มีการฟกช้ำหรือฉีกขาดหรือเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยมักหมดสติไปเพียงชั่วครู่ประมาณ 15 นาที แต่อาจนานเป็นชั่วโมงๆ แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงในบางราย เมื่อฟื้นขึ้นมาอาจรู้สึกงุนงง จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ อาจเป็นเพียงชั่วขณะหรือเป็นวันๆ อาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน หลงลืม ขาดสมาธิ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ในบางราย อาจใช้เวลานานเป็นวันๆ ถึงหลายสัปดาห์แล้วจึงจะหายได้เองในที่สุด

2. สมองฟกช้ำ หรือสมองฉีกขาด หลังจากบาดเจ็บผู้ป่วยจะหมดสติทันที แต่ในบางรายอาจเกิดหลังจากบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมง การหมดสติอาจนานเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาจทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ชัก อาการอาจเลวลงเรื่อยๆ จนถึงตายได้หากเป็นแบบรุนแรง ผู้ป่วยมักฟื้นคืนสติได้ถ้าเป็นแบบไม่รุนแรง แต่อาจมีอาการปวดศีรษะ สับสน เพ้อ เอะอะ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ หลงๆ ลืมๆ บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิมสักระยะหนึ่ง

3. ก้อนเลือดในกะโหลกศีรษะ นับเป็นภาวะร้ายแรงอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งผู้ป่วยจะปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงเรื่อยๆ แขนขาเป็นอัมพาต และตัวเกร็ง

บางรายอาจหมดสติหลังบาดเจ็บอยู่ครู่หนึ่งหลังจากคืนสติจึงค่อยเกิดอาการทางสมอง มักมีอาการเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงในรายที่เป็นเฉียบพลัน

ในรายที่มีเลือดซึมออกทีละน้อยแล้วสะสมเป็นก้อนโตใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกแบบเรื้อรัง อาจมีอาการหลังได้รับบาดเจ็บเป็นวันๆ เป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือนๆ ก็ได้ พบได้บ่อยในผู้บาดเจ็บที่สูงอายุ ผู้ดื่มแอลกอฮอล์จัด หลังจากนั้นจะมีอาการปวดศีรษะจะถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้ อาเจียน ซึม บุคลิกภาพเปลี่ยน แขนขาอ่อนแรง หรือชักแบบโรคลมชัก ในทารกมักร้องเสียงแหลม ซึม อาเจียน ชัก แขนขาอ่อนแรง กระหม่อมโป่งตึง มักมีประวัติคลอดยากหรือศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างคลอดหากพบในทารกแรกเกิด

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจพบบริเวณศีรษะมีบาดแผลหรือไม่ก็ได้ ในรายที่สมองได้รับบาดเจ็บรุนแรงอาจตรวจพบอาการไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ แขนขาอ่อนแรง ตัวเกร็ง ชีพจรเต้นช้า หายใจตื้นขัด ความดันโลหิตสูง คอแข็ง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน โดยข้างที่มีก้อนเลือดจะโตกว่าและไม่หดลงเมื่อใช้ไฟส่อง

ในบางรายอาจมีการบาดเจ็บหรือบาดแผลหลายแห่ง เช่น กระดูกแขนขาหัก บาดแผลที่ทรวงอก กระดูกสันหลังหัก เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้ เช่น สมองพิการ โรคลมชัก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง แขนขาเป็นอัมพาต ความจำเสื่อม หรืออาจถึงตายได้

การรักษา
1. ถ้ามีอาการทางสมองต่อไปนี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งให้รีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน เช่น หมดสติ ปลุกไม่ค่อยตื่น ซึม ปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ อาเจียนรุนแรง คอแข็ง เพ้อคลั่ง ชัก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง แขนขาอ่อนแรง รูม่านตาไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง มีเลือดหรือน้ำใสๆ ออกจากจมูก ปาก หรือหู เป็นต้น อาจต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรืออาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าจำเป็น มักจะต้องทำการผ่าตัดสมองทันทีหากตรวจพบว่ามีเลือดออกในสมอง หากผู้ป่วยมีก้อนเลือดในสมองขนาดเล็กก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หรือในรายที่ผ่าตัดไม่ได้ เช่น สมองฟกช้ำหรือฉีกขาด ก็จะให้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ

2. ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรดูอาการทางสมองทุก 2-4 ชั่วโมงในเวลา 24 ชั่วโมงแรก แม้ผู้ป่วยจะไม่มีประวัติหมดสติหลังบาดเจ็บก็ตาม ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีหากพบอาการทางสมองแทรกซ้อนตามมา

ผลการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค หากเป็นแค่ภาวะกระทบกระเทือนของสมองมักจะหายได้รวดเร็ว แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองฟกช้ำหรือฉีกขาด เลือดออกในสมอง มีก้อนเลือดเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างทันท่วงทีเพื่อลดความรุนแรงและแก้ไขความผิดปกติของสมอง

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน หลังได้รับบาดเจ็บ หรือชักแบบโรคลมชักแม้จะไม่มีความผิดปกติทางสมอง แต่บางรายอาจเนื่องมากจากหูชั้นในได้รับการกระทบกระเทือน หรือภาวะบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่าแบบเรื้อรัง จึงทำให้มีอาการวิงเวียน หรือบ้านหมุน อาจใช้เวลาหลายๆ วัน เป็นเดือนๆ หรือนานกว่านั้นจึงจะทุเลาลงได้

2. ผู้ป่วยบางรายอาจปรากฏอาการหลังบาดเจ็บนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ซึ่งบางครั้งอาจทำให้จำประวัติการได้รับบาดเจ็บของตนเองไม่ได้ เช่น ในผู้สูงอายุ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะรุนแรงไม่ทุเลาลง อาเจียนรุนแรง แขนขาอ่อนแรง หรือชัก ก็อาจจะเกิดภาวะก้อนเลือดใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกแบบเรื้อรังก็ได้

3. แม้จะไม่มีบาดแผลให้เห็น หรือมีเพียงบาดแผลเล็กน้อยในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ หรือผู้ป่วยยังรู้สึกปกติดี ก็ไม่ควรชะล่าใจควรเฝ้าสังเกตอาการทางสมองภายใน 24 ชั่วโมงแรก หากมีอาการน่าสงสัยควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน

4. หลังผ่าตัดสมองจนปลอดภัยและร่างกายฟื้นตัวดีแล้วในผู้ป่วยที่มีก้อนเลือดในสมอง จำเป็นต้องกินยากันชักควบคุมอาการตลอดไปเพื่อป้องกันการเกิดโรคลมชักแทรกซ้อนตามมา

การป้องกัน
ควรป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรหรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ด้วยการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับขี่รถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเป็นสาเหตุของศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือเลือดออกในสมอง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า