สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

นักจิตบำบัดกับวิธีใช้ Interpretation

วิธีใช้ Interpretation นั้น นักจิตบำบัดต้องใช้ภาษาง่ายๆ ตามระดับภูมิปัญญาของคนไข้ เช่น เวลาใช้กับชาวบานธรรมดา ก็ต้องพูดอย่างชาวบ้านธรรมดา เวลาพูดกับนิสิตนักศึกษา ก็ต้องใช้ภาษาที่เหมาะสม ฯลฯ ห้ามใช้คำศัพท์ทางวิชาการ เช่น Sadism, Oedipus Complex, Overcompensation, etc.

ผู้ป่วยแต่ละคน มักจะมีลักษณะการพูด การใช้สำนวนโวหารแตกต่างกันไป นักจิตบำบัดจะต้องสังเกตสิ่งเหล่านี้ด้วย สำหรับวิธีพูดนั้น นักจิตบำบัดต้องหัดพูดในหลายรูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดจาซ้ำซาก ตัวอย่างเช่น สมมติว่าผู้ป่วยมีความกลัวต่อการทำร้ายร่างกาย ในระดับจิต “ไร้สำนึก” นักจิตบำบัดก็จะใช้คำพูดในลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้

1. ใช้ในรูปของคำถาม
“เป็นไปได้ไหม ที่คุณอาจจะกลัวการทำร้ายร่างกาย?”

2. ใช้ในรูปของคำแนะนำ
“บางทีคุณอาจจะกลัวการทำร้ายร่างกาย” หรือ “ฟังดูเหมือนกับว่าคุณกลัวการทำร้ายร่างกาย”

3. ใช้ในรูปของการคาคคะเน
“ผมคิดว่า คุณกลัวการทำร้ายร่างกาย”

4. ใช้ในรูปของการพูดตรงไปตรงมา
“คุณนั่นแหละ กลัวการทำร้ายร่างกาย”

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นนักศึกษาชายของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยมองโลกในแง่ร้ายอยู่ตลอดเวลา เคยพูดกับผู้รักษาว่า “คนที่ไม่เห็นด้วยกับผม คือ ศัตรูของผม” (ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับ เรา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นศัตรูกับเราเสมอไป คนเราย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้เป็นเรื่องธรรมดา)
Interpretation ที่ผู้รักษาใช้ในโอกาสต่างๆ กัน มีดังนี้

1. “คุณเคยคิดไหมว่า ทำไมคุณถึงไม่มีเพื่อน?”
2. “คุณคิดว่า คุณปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ยาก ใช่ไหม?”
3. “คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ จำเป็นต้องเป็นศัตรูของคุณด้วยหรือ?
4. “คุณกำลังโกรธคนทั้งโลก รวมทั้งตัวผมในขณะนี้ด้วย”

นอกจากคำพูดแล้ว น้ำเสียง สีหน้า กิริยาท่าทางของนักจิตบำบัด ก็มีความหมายอย่างสำคัญต่อผู้ป่วยด้วยนักจิตบำบัดหัดใหม่มักจะมีปัญหาว่า ควรจะใช้ Interpretation แบบไหน จึงจะเหมาะสม ขอเรียนแนะนำว่าให้ใช้ในรูปของคำถามและการแนะนำ พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดที่ “ดิ้น” ได้ หรือมีทางโต้แย้งได้ ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อผู้ป่วยไม่ยอมรับ ห้ามใช้การบังคับขู่เข็ญ เพราะจะทำให้เกิดผลร้ายตามมา ตามความเป็นจริงแล้ว การใช้ Interpretation เพียงครั้งเดียวหรือสองครั้ง จะยังไม่ได้ผล ต้องใช้เวลาและการพูดจาหลายรูปแบบและในบางครั้ง อาจจะใช้เวลาเป็นปีๆ ก็ได้

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นักจิตบำบัดจะต้องแน่ใจในความถูกต้องของสิ่งที่จะแปลความหมายด้วย (แต่ในบางครั้ง ก็อาจผิดพลาดได้เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญยิ่ง คือ นักจิตบำบัดต้องแน่ใจ เมื่อแน่ใจแล้ว การรักษาความเป็น one-up ก็ทำได้โดยง่าย และเมื่อเกิดการผิดพลาดขึ้น นักจิตบำบัดจะต้อง “กล้าพอ” ที่จะขอโทษผู้ป่วยด้วย)

Reider นักจิตวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า Interpretation ในระยะแรกๆ นั้น ควรจะใช้คำพูดของคนไข้เอง แต่พูดในลักษณะของ Dynamics

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชายวัยหนุ่ม มีอาชีพเป็นเสมียนพนักงาน มีปัญหาสำคัญ คือ คบเพื่อนไม่ได้ ซึ่งความจริงผู้ป่วยเองต่างหาก ที่คอยยั่วยุคนอื่นๆ จึงไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย ผู้ป่วยเองไม่รู้สึกตัวในเรื่องนี้ เพราะว่าอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก เมื่อได้รับข้อมูลเพียงพอแล้ว ผู้รักษาพบว่า เมื่อผู้ป่วยยังเป็นเด็กเล็กๆ นั้น ผู้ป่วยรักใคร่ชอบพอกับเด็กด้วยกันคนหนึ่ง ต่อมาเด็กคนนั้นประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรม ผู้ป่วยรู้สึกเสียใจมาก และคิดว่าตนเป็นสาเหตุให้เพื่อนตาย ความรู้สึกผิดนี้ ยังคงมีอยู่ในระดับจิต “ไร้สำนึก” ของผู้ป่วยตลอดเวลา

ผู้รักษาจึงใช้ Interpretation ในระยะแรกๆ โดยใช้คำพูดในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่มีความหมายคล้ายคลึงกัน ดังนี้

1. “คุณรู้สึกว่า คุณถูกทอดทิ้งโดยไม่มีเหตุผล”
2. “บางทีคุณอาจจะมีส่วน ทำให้เขาต้องทิ้งคุณไป”
3. “รู้สึกว่า คุณจะยั่วยุเขาบ้างเหมือนกันนะ”
4. ผมสงสัยว่า คุณจะมีส่วนในการทำให้เขาต้องทิ้งคุณไป”

เมื่อผู้รักษาได้แปลความหมายตามที่กล่าวมาแล้ว ในการพบกันหลายครั้ง ผู้ป่วยก็เริ่มเรียนรู้และยอมรับ ผู้รักษาจึงใช้วิธีพูด “ตรงเป้าหมาย” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม และใช้เวลาในการรักษาหลายครั้ง ดังนี้

1. “คุณคิดว่า คุณอาจได้รับอันตราย ถ้าคุณสนิทกับคนอื่นมากขึ้น”
2. “คุณกลัวการใกล้ชิดกับคนอื่น ใช่ไหม ?”
3. “บางที การที่คุณใกล้ชิดกับคนอื่น อาจจะทำให้คุณไม่สบายใจ”
4. “ถ้าคุณสนิทกับใคร เขาก็อาจจะเป็นอันตรายได้”
5. “คุณกลัวว่า ถ้าคุณสนิทกับใครแล้ว ก็จะเกิดอันตรายกับเขา แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเพื่อนของคุณ เมื่อคุณยังเป็นเด็ก”

นักจิตบำบัดหัดใหม่นั้น ควรจะใช้ Interpretation ไม่เกิน 2 ครั้ง ต่อการรักษา 1 ครั้ง (สำหรับนักจิตบำบัดที่มีประสบการณ์มากแล้ว อาจจะใช้เกินกว่านี้ได้) ทั้งนี้ ก็ เพราะว่านักจิตบำบัดหัดใหม่ มักจะมีแนวโน้มที่จะใช้ Interpretation บ่อยครั้ง จนทำให้คนไข้สับสน และจับอะไรไม่ได้ โปรดจำไว้ว่า นักจิตบำบัดที่ดีย่อมจะพูดน้อยกว่าคนไข้เสมอ

สำหรับระยะเวลาที่จะใช้ Interpretation นั้น เป็นสิ่งที่บอกได้ยาก ขอแนะนำสำหรับนักจิตบำบัดหัดใหม่ ดังนี้ ให้ใช้ขณะที่คนไข้มี Resistance น้อยที่สุด และคนไข้เอง ก็เกือบจะรู้สึกตัวอยู่แล้ว นักจิตบำบัดอาวุโสบางท่านกล่าวว่า การที่จะใช้ Interpretation เมื่อใดนั้น ประสบการณ์ของนักจิตบำบัดเอง จะเป็นวิธีกำหนดที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ นักจิตบำบัดยังต้องคำนึงถึง Self-Esteem ของคนไข้ด้วย คนไข้แต่ละคนทนความเครียดได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดจะต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วย

บางครั้ง ผู้ป่วยอาจจะไม่เห็นด้วยกับ Interpretation สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า Interpretation นั้น ผิดเสมอไป ถ้าเราพยายามใช้ Interpretation ในขณะที่ผู้ป่วยมี Resistances สูง ผู้ป่วยย่อมจะไม่ยอมรับเป็นธรรมดา

ขอเตือนนักจิตบำบัดหัดใหม่ว่า ถ้าคนไข้ยังไม่ยอมรับ “ห้ามทะเลาะกับคนไข้” หรือ “บังคับ” ให้คนไข้ยอมรับ Interpretation เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ นักจิตบำบัดอาจจะต้องใช้ “วิธียืดหยุ่น” หรือ “ถอยฉาก” ชั่วคราว และให้กระทำด้วยความประณีต

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นหญิงวัยสาว มารับการรักษาด้วยอาการ Obsessive Compulsive Neurosis ผู้ป่วยมีความห่วงใยมารดาเกินกว่าเหตุ มักจะคิดอยู่เสมอว่า มารดาจะต้องตกอยู่ในอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่ผู้ป่วยทำงาน ผู้ป่วยต้องโทรศัพท์ไปที่บ้านวันละ 7-8 ครั้ง เพื่อ สอบถามดูว่า มารดาสบายดีอยู่หรือไม่ เมื่อได้รับการรักษามานานพอสมควรแล้ว ผู้รักษาจึงได้ข้อมูลว่า การที่ผู้ป่วยเป็นห่วงมารดาเหลือเกินนั้น ที่แท้เป็น Defense ของผู้ป่วย ที่มีความประสงค์ร้ายต่อมารดาของตนเอง

ในการรักษาครั้งนี้ ผู้ป่วยได้เล่าถึงการที่เธอทะเลาะกับมารดาเรื่องการใช้เงิน ผู้ป่วยโกรธมากถึงกับเดินหนีออกจากบ้านชั่วคราว

ผู้รักษาจึงถามว่า “แล้วคุณรู้สึกอย่างไร ”
ผู้ป่วยตอบว่า “เบื่อไปทั้งโลก เงินเพียงไม่กี่สตางค์” ทำไมจะต้องมาทะเลาะกันถึงเพียงนี้”

ผู้รักษาทดลองใช้ Interpretation (ซึ่งคิดว่าถูกต้อง แต่ว่าเร็วเกินไป จึงถูกต่อต้าน) โดยพูดว่า “คุณรู้สึกโกรธคุณแม่ของคุณบ้างหรือเปล่า?”

ผู้ป่วยแสดงความโกรธผู้รักษาขึ้นมาทันที และตอบว่า “ไม่เคยเลยย่ะ ! มีอย่างหรือ ถามแบบนี้ ! หนูรักแม่ของหนูมาก”

ผู้รักษาจำเป็นจะต้องถอยฉาก และพูดอย่างสุภาพว่า “ผมเดาเอาเอง คุณกรุณาอย่าถือเป็นเรื่องจริงจังเลย ผมก็เคยเดาผิดๆ บ่อย ที่ผมถามก็คือ คุณรู้สึกอย่างไรในตอนนั้น เมื่อคุณไม่เคยโกรธคุณแม่ของคุณ ก็หมายความว่าคุณรักท่าน ก็เท่านั้นเอง”

ผู้ป่วยจึงพูดต่อว่า “ใช่แล้ว หนูรักคุณแม่มาก ถึงแม้บางครั้งอาจจะเถียงกันบ้างก็ตาม”

ผู้รักษารีบฉวยโอกาสถามทันที “คุณเคยเถียงกันเรื่องอะไรบ้าง?”

ข้อสังเกต
ในตัวอย่างที่ผ่านมา ผู้รักษาใช้ Interpretation เร็วเกินไป ทำให้กระทบกระเทือนต่อความปรารถนาในระดับจิตไร้สำนึกของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยทนไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังนับว่าได้ผลบ้าง เพราะผู้ป่วยเปิดทางให้ผู้รักษาซักถามเพิ่มเติมได้ในตอนหลัง

การประเมินผล
การประเมินผลของ Interpretation นั้น เป็นสิ่งที่นักจิตบำบัดหัดใหม่มักจะสงสัยว่า ได้ผลหรือไม่? ในทางปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่บอกได้ยาก ถ้าจะใช้การยอมรับของคนไข้เป็นเครื่องวัดแล้ว ถือว่าไม่เพียงพอเพราะว่า ผู้ป่วยอาจจะยอมรับเพื่อเอาใจ หรือ “กลัว” ผู้รักษาก็ได้ วิธีที่ถูกต้อง คือ ให้สังเกตพฤติกรรมของคนไข้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่า เดิมหรือไม่

นักจิตบำบัดอาวุโสหลายท่านให้ข้อสังเกตว่า Interpretation ที่ถูกต้องนั้น มักจะทำให้ผู้ป่วยแปลกใจ ทึ่ง หรือสะดุ้งเล็กน้อย บางครั้งผู้ป่วยอาจหัวเราะ ลืมตาเบิกโพลง ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักจะเก็บเอาไปคิดเป็นการบ้านด้วย Whitehead นักจิตวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า “คุณสมบัติที่ดีของ Interpretation นั้น จะถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญนัก แต่ถ้าทำให้ผู้ป่วยตื่นตัว หรือสนใจ ก็เป็นอันว่าใช้ได้” นอกจากนี้ นักจิตวิเคราะห์หลายท่านยังให้ความเห็นว่า Interpretation จะถูกต้องหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ วิธีที่เราพูดกับคนไข้ !!!

ในบางครั้ง เราจะพบว่า Interpretation อาจจะไม่ได้ผลในทางตรง แต่กลับได้ผลในทางอ้อม

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชายหนุ่ม มารับการรักษาเพื่อให้ช่วยตัดสินใจว่า จะพักการเรียนดีหรือไม่ บิดามารดาต้องการให้ผู้ป่วยเรียนต่อ ผู้ป่วยเองรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณมากมาย จะไม่เรียนต่อก็กลัวบาปกรรม แต่สำหรับผู้ป่วยเอง ก็ไม่ค่อยจะตั้งใจเรียนเท่าใดนัก ผู้ป่วยสนใจอาชีพอย่างอื่น เมื่อมีการลังเลใจในทำนองนี้ ทำให้ผู้ป่วยเครียดและซึมเศร้า

ก่อนที่จะมาพบผู้รักษาในครั้งนี้ ผู้ป่วยได้ไปในงานเลี้ยงที่เพื่อนๆ จัดขึ้น เผอิญอาจารย์คนหนึ่งของผู้ป่วยมาร่วมงานด้วย พอผู้ป่วยเห็นอาจารย์ ก็เริ่มเครียด และไม่สบายใจทันที อาจารย์คนนี้เป็นเพื่อนของบิดามารดา และรู้ดีว่าผู้ป่วยไม่ตั้งใจเรียน

ผู้รักษาจึงถามว่า “คุณกำลังคิดอะไรในตอนนั้น”
ผู้ป่วยตอบว่า “อาจารย์คนนั้นรู้จักผมดี แต่เพื่อนๆ คิดว่าผมพยายามตั้งใจเรียนอย่างดีที่สุด ผมรู้สึกละอายและผิดอยู่ในใจ”

ผู้รักษาจึงกล่าวว่า “บางทีคุณอาจจะกลัวว่าอาจารย์จะเปิดเผยความลับของคุณ ให้เพื่อนคุณทราบ”

ผู้ป่วยพูดต่อว่า “ผมจำได้ว่า เมื่อผมเป็นเด็กก็เคยรู้สึกอย่างนี้ ตอนนั้นแม่ของผมมักจะออกมาดูผม เวลาผมเล่นกับเพื่อนๆ ผมไม่ต้องการให้ใครเห็นคุณแม่ผม เพราะทุกคนรู้ว่า คุณแม่ผมเป็นโรคจิต”

หมายเหตุ
ผู้รักษาพยายามจะชี้ให้ผู้ป่วยเข้าใจ Dynamic ในขณะที่ร่วมงานเลี้ยง แต่ผู้ป่วยจับประเด็นไม่ได้

ผู้ป่วยพูดต่อไปว่า “ผมไม่เคยลืมเรื่องนี้เลย เวลาผมเล่นกับเพื่อนๆ คุณแม่มักจะโผล่ออกมา และตะโกนด่าผม ผมอยากหนีไปให้พ้นๆ และก็รู้สึกอยู่ในใจเหมือนกับว่า ได้ทำผิด”

หมายเหตุ
เมื่อผู้รักษาประสบความล้มเหลว ที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ความจริงผู้ป่วยกลัวอาจารย์จะเปิดเผยความไม่ดีของตน แต่ผู้ป่วยกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตแทน ผู้รักษาจึงต้องเปลี่ยนเรื่องเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์โดยถามว่า “คุณรู้สึกว่า คุณมีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณแม่ของคุณหรือ?”

ผู้ป่วยตอบว่า “ใช่ครับ แต่ผมจำไม่ได้ว่า ผมได้ทำผิดอะไร ได้ยินแต่คนเขาพูดกันว่า การที่ท่านคลอดผมมา ทำให้ท่านต้องเสียสติ”

ผู้รักษาจึงพูดว่า “ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า คุณมีส่วนในการทำให้คุณแม่ป่วย”

ผู้ป่วยพูดว่า “ครับ ผมคิดอย่างนั้น ผมรู้สึกอับอายขายหน้าและอยากหนีไปให้พ้นๆ”

ข้อสังเกต
ถึงแม้ว่า Interpretation ครั้งแรกจะไม่ได้ผล แต่กลับมีผลสำคัญยิ่งในการเชื่อมโยงให้คนไข้จำเหตุการณ์ที่สำคัญในอดีต เกินกว่าที่ผู้รักษาคาดคะเนเอาไว้

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า